14 เม.ย. เวลา 04:00 • ธุรกิจ

กรณีศึกษา เจ้าของร้านซูชิ ที่จ้างโจรสลัดโซมาเลีย มาจับ ปลาทูน่า

โจรสลัดโซมาเลีย คือ อาชญากร ที่สร้างความเสียหาย หลายหมื่นล้านบาทต่อปี
จนถึงขนาดที่พวกประเทศมหาอำนาจ และ UN
ต้องร่วมกันส่งทหารเรือ และเสียงบประมาณเกือบ 8,000 ล้านบาทต่อปี
รวมไปถึงพวกธุรกิจเดินเรือ ก็ยังต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้น เพราะต้องนำไปจ้างธุรกิจคุ้มกันเรือสินค้า แบบติดอาวุธ
1
แต่ทั้งหมดนี้ ก็เหมือนเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
และเมื่อใดก็ตามที่สบโอกาส เหล่าโจรสลัดโซมาเลีย ก็พร้อมที่จะก่อเหตุได้ทุกเมื่อ
ซึ่งนอกจากวิธีการแก้ปัญหาที่เราได้เล่าไปแล้ว
ก็ยังมีอีกหนึ่งตัวอย่างการแก้ปัญหาโจรสลัดโซมาเลีย ที่น่าสนใจ
โดยวิธีนี้ไม่ต้องใช้อาวุธ ไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ แถมยังคิดค้นโดยนักธุรกิจ อย่างคุณคิโยชิ คิมูระ เจ้าของเชนร้านซูชิรายใหญ่ อันดับต้น ๆ ของญี่ปุ่น ซึ่งก็คือ Sushi Zanmai
1
แล้วคุณคิโยชิ คิมูระ ใช้วิธีอะไร ?
และทำไมต้องเป็น โจรสลัดโซมาเลีย ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่น สำหรับใครที่ยังไม่รู้จัก คุณคิโยชิ คิมูระ
เขาเป็นที่รู้จักในฐานะ “ราชาปลาทูน่า”
จากการสร้างสถิติ ประมูลปลาทูน่าครีบน้ำเงิน ที่แพงที่สุดในโลก เมื่อปี 2019 ในราคาสูงถึง 116 ล้านบาท เพื่อปลาเพียง 1 ตัว
นอกจากนี้ เขายังมักจะสร้างสถิติการประมูลปลาทูน่า ที่แพงที่สุดในแต่ละปี มาแล้วหลายครั้ง
อย่างเช่น ในปี 2020 ซึ่งเขาได้ประมูลปลาทูน่าครีบน้ำเงิน 1 ตัว ไปในราคา 67 ล้านบาท
ซึ่งการประมูลราคาปลาทูน่า ที่สูงจนน่าประหลาดใจนี้
ยังเป็น Marketing อย่างดีให้กับธุรกิจของเขา
นั่นก็คือ Sushi Zanmai เชนร้านซูชิกว่า 55 สาขา
และถึงจะเห็นว่า มีจำนวนสาขาไม่มาก
แต่ธุรกิจของเขาก็สามารถทำเงินได้หลายพันล้านบาทต่อปี
จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมเขาถึงกล้าประมูลปลาทูน่าตัวละหลายสิบล้าน หรือร้อยล้านบาท
นอกเหนือจากเรื่องความสำเร็จทางธุรกิจแล้ว
เขาก็ยังได้สร้างตำนาน ด้วยการจ้างโจรสลัดโซมาเลีย มาจับปลาทูน่า เพื่อป้อนวัตถุดิบให้ธุรกิจของเขา
โดยต้นตอสำคัญของปัญหาโจรสลัดโซมาเลีย เกิดขึ้นจาก สงครามความขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มต่าง ๆ ในประเทศ ซึ่งทุกกลุ่มต่างก็พยายามที่จะแย่งชิงอำนาจขึ้นมาปกครองประเทศ
จนทำให้ประเทศแห่งนี้ กลายเป็น “รัฐล้มเหลว” หรือ Failed State
ซึ่งหมายถึง รัฐที่ขาดความมั่นคง และไร้ประสิทธิภาพในการควบคุมความสงบ และการบริหารจัดการประเทศ จนไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้
หรือถ้าจะให้พูดแบบบ้าน ๆ ก็คือ “บ้านเมือง ไม่มีขื่อ ไม่มีแป” นั่นเอง
เรื่องนี้ทำให้ชาวโซมาเลียบางคน แม้ว่าจะไม่ได้เต็มใจที่จะเป็นโจรสลัด แต่ก็ต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะประเทศไม่เหลือหนทางทำมาหากินอะไรให้พวกเขามากนัก
ดังนั้น คุณคิโยชิ คิมูระ จึงได้เข้ามาหยิบยื่นโอกาสกลับใจให้โจรสลัดโซมาเลีย
ด้วยการใช้ทักษะเดินเรือที่พวกเขามี มาเปลี่ยนเป็นการจับปลาทูน่าให้เขา
โดยเขาได้เดินทางไปเจรจากับโจรสลัดโซมาเลียด้วยตัวเอง
พร้อมสนับสนุนเรือประมงทันสมัย
และสอนวิธีการจับปลาอย่างมีประสิทธิภาพ
ไปจนถึง วิธีรักษาความสดของปลา
1
หลังจากนั้น เขาก็จะรับซื้อปลาทูน่าในราคาที่ยุติธรรม
นอกจากนี้ เขายังช่วยสนับสนุนให้ โซมาเลียได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก IOTC หรือ ภาคีคณะกรรมาธิการ ปลาทูน่า แห่งมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่มีหน้าที่จัดการทรัพยากรพวกปลาทูน่า ในบริเวณมหาสมุทรอินเดีย
4
ซึ่งคุณคิโยชิ คิมูระ ก็ได้บอกว่า ทั้งหมดที่เขาทำลงไปนี้ ไม่ได้ตั้งใจที่จะทำเพื่อโลก แต่แค่ทำเพื่อความฝันของเขาเอง
2
เนื่องจาก ดินแดนของโซมาเลีย ตั้งอยู่บริเวณมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นแหล่งชุกชุมของปลาทูน่า ยิ่งโดยเฉพาะในน่านน้ำที่อยู่ใกล้ ๆ กับโซมาเลีย ว่ากันว่าเป็นแหล่งที่ปลาทูน่าอาศัยอยู่อย่างชุกชุม และสมบูรณ์มาก แต่ก็ไม่มีใครอยากที่จะเสี่ยงเข้าไปจับเท่าไร เพราะคงไม่คุ้มกัน หากต้องโดนปล้น หรือซ้ำร้ายก็อาจถูกจับเป็นตัวประกัน..
แล้วเราได้เรียนรู้อะไร จากเรื่องนี้บ้าง ?
ต้องบอกว่า ไอเดียของคุณคิโยชิ คิมูระ เป็นแผนการที่ Win-Win กันทุกฝ่าย
เพราะเขาก็ได้วัตถุดิบ ไปขายในร้านของตัวเอง
ส่วนโจรสลัด ก็ได้โอกาสทำมาหากิน แบบไม่ต้องไปปล้นจี้ใคร
2
ซึ่งเรื่องนี้อาจทำให้เรา ต้องกลับมาคิดใหม่ว่า
ในบางครั้ง ปัญหาที่ทุกคนคิดว่า มันไม่มีทางแก้ไขได้
หรือจริง ๆ แล้ว เราอาจจะแค่ยัง คิดวิธีแก้ไม่ออก มากกว่า..
1
โฆษณา