12 เม.ย. 2024 เวลา 05:45 • สุขภาพ

ฝุ่น PM 2.5 “เชียงใหม่” คร่าชีวิตอาจารย์ มช.เพิ่มอีก 1

ฝุ่น PM2.5 “เชียงใหม่” คร่าชีวิตอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพิ่มอีก 1 คน รวมมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปอดที่สืบเนื่องมาจากปัญหามลพิษแล้ว 4 ราย
จากกรณีที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิชญ์อาภา พิศุทธ์เศรณี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความเสียใจต่อการจากไปของ ศาสตราจารย์ ดร.ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมระบุว่า ท่านเป็นอาจารย์ มช. คนล่าสุด ที่เสียชีวิตเพราะมะเร็งปอด
โดยก่อนหน้านี้ มีอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดมาแล้ว พร้อมไล่เรียงให้ด้วย เริ่มจาก
ฝุ่น PM 2.5 ที่เชียงใหม่
  • มีนาคม 2565 : รองศาสตราจารย์ ดร.ภาณุวรรณ จันทวรรณกูร ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • กันยายน 2566 : รองศาสตราจารย์ ดร.มงคล รายะนาคร ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และท่านเป็นอดีตคณบดีของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่ง อาจารย์ริเริ่มศึกษาฝุ่นพิษมาตั้งแต่ปี 2550 ที่ยังไม่มีใครรู้จัก PM 2.5 ในชื่อโครงการวิจัยเรื่องการวิเคราะห์เพื่อหามลพิษทางอากาศในอนุภาคฝุ่นในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน ทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกว.)
  • ธันวาคม 2566 : นพ.กฤตไท ธนกฤตสมบัติ อาจารย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • เมษายน 2567 : ศาสตราจารย์ ดร.ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิชญ์อาภา ตั้งคำถามด้วยว่า ยังต้องรอให้สูญเสียอีกเท่าไร จึงจะแก้ปัญหาการเผาและ PM 2.5 ได้ ซึ่งหลังจากที่เรื่องนี้ถูกเผยแพร่ออกไป ก็มีคนเข้ามาแสดงความเสียใจเป็นจำนวนมาก
ขณะที่ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อายุรแพทย์โรคหัวใจและที่ปรึกษาศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า อาจารย์ มช. ที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดทั้ง 4 ท่านนั้น จากการตรวจสอบพบว่าผู้ป่วยไม่มีประวัติการสูบบุหรี่ ซึ่งปกติจะมีสัดส่วนที่น้อย แต่จากการศึกษาวิจัยจากต่างประเทศพบว่าการมาอยู่ในพื้นที่ที่มี PM 2.5 ในระดับที่ไม่ปลอดภัยเป็นระยะเวลานาน มีโอกาสกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของยีนส์ทำให้มีโอกาสที่เกิดมะเร็งปอดสูงขึ้นอย่างมาก
ด้าน นายจิตรกร โอฬารรัตน์มณี สามีของ ดร.ระวิวรรณ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ภรรยาป่วยเป็นมะเร็งปอดเมื่อประมาณ 1 ปีที่แล้ว ตอนแรกคิดว่าเป็นลองโควิด-19 แต่ช่วงหนึ่งไอและมีเลือดปนมาด้วยเลยตัดสินใจไปหาหมอจนพบว่าป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะที่ 4 แล้ว
หลังจากนั้น แพทย์จึงได้วางแนวทางในการรักษา เริ่มจากการหาสาเหตุของการเกิดมะเร็งว่ามะเร็งปอดตัวนี้มันเกิดจากอะไร โดยการนำตัวอย่างเนื้อเยื้อไปตรวจพบว่าเป็นผลจาก PM 2.5 ทำให้เกิดยีนส์กลายพันธุ์เกิดขึ้น ซึ่งยีนส์กลายพันธุ์ตัวนี้มักจะเกิดผู้หญิงเอเชีย
อย่างไรก็ตาม นายจิตรกร ฝากถึงรัฐบาลว่า จริงๆ เราพบปัญหา PM 2.5 มานานแล้ว เพียงแต่ว่ามันไม่ได้เกิดผลกระทบกับเราอย่างชัดเจนเราจึงไม่ให้ความสำคัญ อยากให้กรณีของ อ.ระวิวรรณ เป็นกรณีศึกษาว่าหลังจากนี้ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ถ้าใส่ใจในการแก้ไขปัญหามากกว่านี้ อย่างน้อยที่สุดมันอาจจะไม่ทำให้ปัญหาหมอกควันหายไปแต่หวังว่าให้ลดความรุนแรงลงได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา