14 เม.ย. เวลา 13:00 • หนังสือ

สรุปหนังสือ อยู่อย่างไรให้สมองไม่แก่

สมองเสื่อม
.
.
ในที่นี้คงไม่มีใครอยากเป็นแน่ แต่ถ้าคุณมีอาการเหล่านี้ พูดจาไม่รู้เรื่อง อ่านหนังสือไม่ค่อยเข้าหัว ขี้ลืม วอกแวกง่ายหงุดหงิดง่าย ขี้รำคาญ เบื่อง่าย ขาดความกระตือรือร้น นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนของสมองว่าทำงานไม่มีประสิทธิภาพ หรืออาการ “สมองแก่” ในวันนี้จึงอยากพาทุกคนมาลองอ่านหนังสือ อยู่อย่างไรให้สมองไม่แก่
ผู้เขียนคือ ซุกิยะมะ ทะคะชิ จบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ รักษาคนไข้ในฐานะศัลยแพทย์สมอง ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทางการแพทย์โคโนะ หนังสืออยู่อย่างไรให้สมองไม่แก่ เกิดจากการถ่ายทอดประสบการณ์การรักษาผู้ป่วยสมองเสื่อม รวบรวมจนกลายมาเป็น 15 พฤติกรรมที่ทำให้สมองของเราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีผลงานเขียนทางการแพทย์อีกหลายเล่ม
เข้าสู่เนื้อหาในหนังสือ
หนังสือมีทั้งหมด 15 พฤติกรรมที่ผู้เขียนกล่าวว่าเป็นพฤติกรรมง่ายๆ ที่สามารถทำตามได้ โดยแบ่งตามการเรียนรู้ คือ
  • พฤติกรรมที่ 1-3 จะช่วยให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีสมาธิ ทำงานไว
  • พฤติกรรมที่ 4-6 จะช่วยฝึกสมองกลีบหน้ามีหน้าที่คือเป็นศูนย์กลางของระบบความคิด ทำให้จัดระเบียบชีวิตได้ดียิ่งขึ้น
  • พฤติกรรมที่ 7-8 จะช่วยเพิ่มความสามารถในการรับรู้ และความจำ
  • พฤติกรรมที่ 9-10 จะช่วยเพิ่มความสามารถในการถ่ายทอดข้อมูล
  • พฤติกรรมที่ 11-12 วิธีดูแลสมองให้มีสุขภาพดี
  • พฤติกรรมที่ 13-15 จะเป็นการประยุกต์ใช้
สำหรับบทสุดท้ายจะเป็นการทดสอบการทำงานของสมองว่าเสื่อมประสิทธิภาพลงหรือเปล่า (ซึ่งเราก็ได้ทดสอบแล้ว...ยังปกติดี)
สรุปหัวข้อที่น่าสนใจ
1. การตื่นเช้ายังคงเป็นสิ่งที่หนังสือหลายเล่มแนะนำเสมอ หนังสือเล่มนี้ก็เช่นกัน โดยให้ลองตื่นมาลองรับแดดยามเช้า ตื่นมาเพื่ออุ่นเครื่องก่อนที่จะเริ่มทำงานที่ต้องใช้ความคิด เช่น เดิน ขยับร่างกาย ทำงานบ้านเบาๆ
2. ใช้สมองเมื่อพร้อม เพราะสมองเองก็มีช่วงเวลาพร้อมและช่วงเวลาพัก ถ้าคุณเป็นคนขยันก็เป็นเรื่องที่ดีแต่บางครั้งการขยันเกินไป ไม่หยุดพักสมองจะทำให้สมองล้า ไม่เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ
3. การนอนหลับคือกระบวนการคิด ประโยคนี้มีไว้บอกคนที่ชอบคิดว่า การนอนหลับทำให้เสียเวลาก็เลยเลือกนอนน้อยแล้วเอาเวลาไปทำงานดีกว่า ซึ่งจริงๆแล้วการนอนหลับที่เพียงพอจะทำให้สมองมีประสิทธิภาพมากกว่าและเวลาที่ตื่นนอนช่วงแรกเราอาจจะได้ไอเดียใหม่ๆก็ได้
4. สำหรับคนที่มีปัญหานอนไม่หลับ มีวิธีแก้ง่ายๆคือ อย่าทำกิจกรรมที่ใช้สมองก่อนนอน เช่น การท่องจำหนังสือ การดูหนังที่กระตุ้นอารมณ์มากๆ และการออกกำลังกาย ให้ลองเปลี่ยนเป็นการอ่านหนังสือที่จรรโลงใจ การเขียน Diary ทำสมาธิ เป็นต้น
5. เพิ่มสมรรถภาพสมองด้วยการทำสิ่งที่ไม่เคยทำ ลองเสนอตัวทำงานดูบ้าง หรือสิ่งที่หนังสือเสนอก็คือ ถ้าคุณเป็นผู้ชายให้ลองทำงานบ้าน เช่น ล้างจาน ซักผ้า
6. จัดระเบียบความคิดแล้ว อย่าลืมจัดระเบียบชีวิต ลองหันกลับมาดูโต๊ะ ดูบ้านของเราว่าเป็นระเบียบหรือยัง ยิ่งโต๊ะทำงานจะยิ่งสะท้อนความมีระเบียบและยังส่งผลต่อการทำงานได้ด้วย ลองนึกดูว่าถ้าโต๊ะรกเราก็จะหาของลำบาก ใช้เวลาหานานขึ้น เราก็จะเริ่มหงุดหงิด การทำงานก็แย่ลง
7. การจด ยังเป็นสิ่งที่ไม่ล้าสมัย ถ้าคุณมีไอเดียที่อยู่ ๆก็ผุดขึ้นมาเราต้องรีบจดทันที หรือการจัดลำดับความสำคัญให้ลองเขียนปัญหาใส่กระดาษแล้วเรียงลำดับในการแก้ปัญหาดู (เชื่อว่าเดี๋ยวนี้คงใช้มือถือจดกัน แต่ส่วนตัวมีความรู้สึกว่าการจดใส่กระดาษทำให้มีแรงจูงใจในการทำเป้าหมายมากกว่า)
8. รับข้อมูลก็ต้องมีการส่งออกข้อมูลบ้าง วิธีการที่ดีในการจำคือการจำเพื่อจะไปบอกต่อ ไม่ว่าจะเป็นการไปเล่าด้วยปากตัวเองหรือจะเป็นการเขียนเผยแพร่ผ่านทางโซเชียลมีเดียก็ได้
9. การดูแลสุขภาพสมอง ด้วยการออกกำลังกาย ทานอาหารเช้าที่มีประโยชน์ กินอาหารให้รู้สึกแค่อิ่ม ยกตัวอย่าง หลังทานมื้อกลางวันหรือช่วงบ่ายจะเป็นช่วงที่เรารู้สึกง่วง นั่นเป็นเพราะว่าเลือดไหลไปอยู่ที่กระเพาะ ดังนั้นเลือดที่หล่อเลี้ยงสมองช่วงนั้นจะน้อย จึงทำให้ง่วงนอน
10. ความคิดสร้างสรรค์มาได้ง่ายๆ ด้วยการลองทำกิจกรรมหลายๆอย่าง ออกไปเจอผู้คนเยอะ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เกิดไปเดียใหม่ๆ
หนังสืออยู่อย่างไรให้สมองไม่แก่ ของซุกิยะมะ ทะคะชิ เป็นหนังสือที่พูดถึงพฤติกรรมที่จะช่วยบริหารสมอง ชะลอการเสื่อมของสมองได้ เช่น การตื่นเช้า การจัดระเบียบชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย สามารถทำได้ในชีวิตประจำวันเพียงปรับเปลี่ยนนิสัยของเราทุกวัน เท่านี้สมองของเราก็จะไม่เรียกว่า “สมองแก่” นั่นเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา