18 มิ.ย. เวลา 16:00 • สุขภาพ

“Stroke in the young” คนวัยทำงานอายุน้อยเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้

"โรคหลอดเลือดสมอง" เป็นโรคที่มักพบช่วงวัยกลางคนถึงวัยสูงอายุ โดยอุบัติการณ์มักเพิ่มขึ้นตามอายุที่สูงขึ้น แต่ปัจจุบันสามารถพบในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 45 ปี ประมาณร้อยละ 5 ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เรียกว่าโรคหลอดเลือดสมองในคนอายุน้อย (stroke in the young)
5
"โรคหลอดเลือดสมองในคนอายุน้อย" หรือ stroke in the young สาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในคนอายุน้อยจะมีความหลากหลายมากกว่าในคนอายุมาก
โดยโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตและการทุพพลภาพ ที่พบได้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงวัย แต่ว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน "โรคหลอดเลือดสมอง" เป็นโรคที่ความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้น เมื่ออายุเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองจะเพิ่มขึ้นโดยเท่าตัว ถ้าอายุมากกว่า 45 ปีและมากกว่า 70% ของโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด มักจะพบในกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 65 ปี
1
แต่จากประสบการณ์ของหมอ ในฐานะแพทย์อายุรกรรมระบบประสาทและสมองเราเจอคนไข้ที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ ที่เริ่มเป็น โรคหลอดเลือดสมองครั้งแรก
คำว่าอายุน้อยในที่นี้ หมายถึง อายุน้อยกว่า 50 หรือ 55 ปี เพราะฉะนั้นตอนนี้ "โรคหลอดเลือดสมอง" ไม่ใช่โรคของคนสูงอายุ แต่พบในกลุ่มคนที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะวัยทำงาน
1
📌 สาเหตุที่ทำให้คนอายุน้อยเสี่ยง "Stroke in the young"
พญ.จิรัชญา ดีสุวรรณ แพทย์สมองและระบบประสาท ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพญาไท 2 กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมองในคนอายุน้อย มักเกิดจากการมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การสูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย มีภาวะเครียด โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองในคนอายุน้อย จะเกิดจาก 3 สาเหตุใหญ่ๆ ได้แก่
3
1. สาเหตุจากหัวใจผิดปกติ แบ่งเป็น
  • โครงสร้างของหัวใจผิดปกติ ที่พบบ่อยคือ มีรูรั่วที่ผนังกั้นห้องหัวใจแต่กำเนิด (patent foramen ovale)
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น atrial fibrillation, atrial flutter, heart block
2. สาเหตุจากหลอดเลือดผิดปกติ แบ่งเป็น
  • โครงสร้างหลอดเลือดสมองผิดปกติ (vasculopathy) เช่น Moyamoya disease, Premature atherosclerosis
  • หลอดเลือดอักเสบ (vasculitis) มักเป็นผลมาจากโรคทางภูมิคุ้มกันผิดปกติ (autoimmune disease) เช่น SLE เป็นต้น
3. สาเหตุจากการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ (hypercoagulable state) โดยมักสัมพันธ์กับโรคทางภูมิคุ้มกันผิดปกติ (autoimmune disease) หรือโรคมะเร็ง เป็นต้น
"การเกิดโรคหลอดเลือดสมองในผู้ที่มีอายุน้อยมีปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุในการเกิดโรค ได้แก่ การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน โรคหัวใจ และสาเหตุอื่น ๆ ได้แก่ โรคหัวใจที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิดหรือเกิดขึ้นทีหลัง (congenital and acquired heart problems) โรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติทางด้านโลหิตวิทยา (hematologic conditions) โรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของหลอดเลือด (vasculopathies) หรือจากความผิดปกติทางเมตาบอลิซึม (metabolic disorders) เป็นต้น"
📌 4 ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้คนอายุน้อยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง
จากการศึกษา พบว่าคนอายุน้อยเป็นโรคหลอดเลือดสมองกันมากขึ้นคือ กลุ่มช่วงอายุตั้งแต่ 18-55 ปี มีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้เป็น 4 ลำดับแรกๆ ที่ทำให้คนอายุน้อยๆ ก็สามารถเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้มากกว่าคนทั่วไป
1. ภาวะอ้วนลงพุง (Abdominal Obesity)
ภาวะอ้วนลงพุง น่ากลัวกว่าที่คิด เพราะ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่พบมากที่สุดเป็นอันดับแรกเลย ว่าสัมพันธ์กับโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดสมองถึง 66%
ภาวะอ้วนลงพุงนั้นคำนวณมากจาก Waist-to-Hip Ratio หรือ ตัวย่อคือ WHR โดยมีวิธีการวัดคือ เอาเส้นรอบเอว ที่วัดตรงระดับสะดือ หน่วยเป็น นิ้ว มาหารกับ เส้นรอบสะโพก ที่วัดตรงระดับ ปุ่มกระดูกต้นขา (Greater trochanter) โดยนำค่าที่ได้มาเทียบกับสัดส่วนแยกตามเพศ หากเป็นเพศชาย ได้ค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 0.93 เพศหญิงได้ค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 0.86 จะถือว่า มีภาวะอ้วนลงพุง หรือ Abdominal obesity
2. การสูบบุหรี่
จากการศึกษาพบว่า คนที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองนั้น พบว่า เป็นคนที่สูบบุหรี่มากถึง 56% ทั้งนี้ น่าจะเป็นเพราะว่า การสูบบุหรี่ ทำให้เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ เพิ่มความดันโลหิตสูง ดังนั้น การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดหัวใจตามมาได้
โดยหากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังคิดที่อยากจะเลิกบุหรี่ ว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก และถ้าทำได้เร็วมากแค่ไหน ก็จะดีกับตัวคุณมากเท่านั้น เพราะว่า การหยุดสูบบุหรี่ นั้น จะช่วยลดความเสี่ยงที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง ได้ตั้งแต่ปีแรกหลังจากเลิกสูบบุหรี่
3. การไม่ออกกำลังกายเป็นประจำ
“แค่ขยับ…ก็เท่ากับออกกำลังกาย” คำกล่าวนี้ อาจจะยังไม่เพียงพอ ในแง่ของการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง และหัวใจ เพราะคำว่า นิยามของการออกกำลังกายที่เหมาะสมนั้นคือ การออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องมากกว่า 30 นาทีต่อครั้ง เป็นจำนวนมากกว่า 5 ครั้งภายใน 1 สัปดาห์ แต่ถึงกระนั้น ก็อาจะจะไม่ใช่ทุกคนที่สามารถหาเวลาออกกำลังกายได้เท่านี้
1
อย่างน้อย ถ้าคุณสามารถหาเวลาออกกำลังกายได้ปานกลาง เช่น ประมาณ 20-30 นาที ได้ประมาณสัก 3 ครั้ง/สัปดาห์ ก็ยังพบว่ามีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ออกกำลังกายเลย หรือ กลุ่มคนที่เดินน้อยกว่า 1 ไมล์ต่อวัน (ประมาณ 1.6 กม. หรือประมาณ 2,000 ก้าว/วัน)
1
การที่ร่างกายของเราขยับน้อยในแต่ละวัน (Physical inactivity) จากงานวิจัยชิ้นนี้พบว่า มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ได้ถึงประมาณ 48% โดยจะพบมากขึ้นถึง 50% ถ้าเป็นเพศหญิง และ 47%ในเพศชาย
4. ความดันโลหิตสูง
ภาวะความดันโลหิตสูงเป็นเหมือนผลลัพธ์ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อเนื่องมาจาก 3 สาเหตุแรก ไม่ว่าจะเป็นภาวะอ้วนลงพุง การสูบบุหรี่ การไม่ออกกำลังกาย ปัจจัยเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดภาวะความมดันโลหิตสูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และภาวะความดันโลหิตสูงเอง ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงต้นๆที่ทราบกันว่า เป็นสาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ไม่ว่าจะเป็นเส้นเลือดสมองตีบหรือแตก
1
โดยจากการศึกษานี้พบว่า โรคความดันโลหิตสูงมีความสัมพันธ์กับภาวะโรคหลอดเลือดสมองสูงถึงประมาณ 47% เลยทีเดียว
ในปัจจุบัน หมอพบว่าในคนไทย เป็นโรคความดันโลหิตสูงกันเร็วขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่อายุยังน้อย คือช่วงวัย 30-45 ปี ก็เริ่มที่จะพบโรคความดันโลหิตสูงกันบ้างแล้ว แต่ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ การได้รับการรักษาเพื่อลดความดันโลหิตสูงนั้นได้ประโยชน์ทั้งนั้น ในแง่ของการป้องกันโรคเส้นเลือดสมอง
แม้ว่าผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไป การรักษาด้วยยาเพื่อช่วยลดความดันโลหิตจะสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ถึง 30% และสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึง 21% แต่กระนั้นเอง สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือ คนส่วนมาก ไม่ค่อยทราบว่าตนเองเป็นโรคความดันโลหิตสูง และมีส่วนน้อย ประมาณเพียงแค่ ⅓ เท่านั้น ที่สามารถจะควบคุมความดันโลหิตสูงของตนเอง ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมได้
3
📌 BEFAST สัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดสมอง
2
อาการของโรคหลอดเลือดสมองในคนอายุน้อย (stroke in the young) ยังคงเหมือนกันกับโรคหลอดเลือดสมองในผู้สูงวัยทั่วไปทุกประการ โดยสังเกตได้จากสัญญาณเตือน BEFAST ดังนี้
1
B = Balance เดินเซ เวียนศีรษะ บ้านหมุนฉับพลัน
E = Eyes ตาพร่ามัว มองไม่เห็น เห็นภาพซ้อนฉับพลัน
F = Face Dropping ใบหน้าชาหรืออ่อนแรง ยิ้มแล้วมุมปากตก
A = Arm Weakness แขนขาอ่อนแรงข้างใดข้างหนึ่ง กำมือไม่ได้
S = Speech Difficulty ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดลำบาก พูดไม่ได้ พูดไม่ออก
T =Time to call รีบโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่และนำส่งโรงพยาบาลทันที
"อาการที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ผู้อยู่ใกล้ชิดควรรู้ว่า หากเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ให้รีบเรียกรถพยาบาล หรือรีบนำตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด"
📌 การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองนั้นจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุการเกิดและความรุนแรงของโรค ดังนั้น สิ่งสำคัญในการรักษาโรคหลอดเลือดสมองในคนอายุน้อย (stroke in the young) คือการหาสาเหตุโดยละเอียดอย่างรวดเร็วและครอบคลุมโดยทีมแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต พิการ หรือเสียชีวิตได้ดี
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองแบบตีบ
  • การให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ (recombinant tissue plasminogen activator; rt-PA) ภายในเวลา 4.5 ชั่วโมงหลังจากเกิดอาการ ช่วยทำให้อาการกลับมาเป็นปกติและดีขึ้นมากกว่า90% แต่ก็มีผู้ป่วยบางส่วนที่ไม่ได้รับยาละลายลิ่มเลือดสามารถกลับมาดีขึ้นเป็นปกติได้เช่นกันหากมีอาการน้อยหรืออาการดีขึ้นเร็ว
  • การให้ยาต้านเกล็ดเลือดและยาต้านการแข็งตัวของเลือด
  • การผ่าตัดด้วยการใส่สายสวนเพื่อเอาลิ่มเลือดที่อุดตันออก (mechanical thrombectomy)
  • การผ่าตัดเปิดกะโหลก (craniectomy)
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองแบบแตก
  • การควบคุมความดันและให้ยาลดความดัน
  • การผ่าตัดในกรณีที่มีเลือดออกมาก
📌 วิธีป้องกันและลดเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง
สำหรับวิธีการป้องกันเพื่อไม่ให้เป็นโรคหลอดเลือดสมองในวัยทำงานนั้น สามารถทำได้ดังนี้
1
  • ตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ และควบคุมให้อยู่ในระดับปกติ
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่เกณฑ์ปกติ ลดน้ำหนักเมื่อเริ่มสูงเกินเกณฑ์
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ
  • เลือกรับประทานอาหาร โดยลดอาหารที่มีคอเรสเตอรอลและไขมันอิ่มตัวสูง อาหารเค็ม มัน หวานจัด ฟาสต์ฟู้ด และอาหารแปรรูป เน้นการทานผักและผลไม้ไม่หวานให้มากขึ้น
  • ลดการดื่มแอลกอฮอล์
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือรับควันบุหรี่มือสอง และไม่ใช้สารเสพติด
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำปีทุกปี
เมื่อเราทราบถึงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองในคนที่มีอายุน้อยแล้ว ดังนั้นควรหันมาสนใจและดูแลสุขภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง
โฆษณา