16 เม.ย. เวลา 23:00 • หนังสือ
House of Commons - Book Cafe & Space (HOC)

Ultimate Skills : 20 ทักษะแห่งอนาคตที่จำเป็นต้องมี (ตอนที่ 2/4)

วันนี้เราจะมาต่อกันอีก 5 ทักษะ ได้แก่
• การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking)
• การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ (Effective Communication)
• การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)
• การคิดเชิงโครงสร้าง (Structured Thinking)
• ความเข้าใจและความสามารถในการใช้เทคโนโลยี (Digital Literacy)
6. การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking)
การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) คือ การคิดวิเคราะห์ประเด็นต่างๆ โดยยึดตามข้อเท็จจริง และแยกแยะได้ว่าอะไรคือความจริง อะไรคือความคิดเห็นส่วนบุคคล และอื่นๆ เพื่อที่เราจะได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ และนำผลสรุปที่ได้ไปใช้ในการตัดสินใจ
การคิดเชิงวิพากษ์ไม่ได้หมายความว่าเรามองโลกในแง่ลบหรือโฟกัสไปที่ความเท็จอย่างเดียว แต่หมายถึงการเลือกรับข้อมูลอย่างมีสติ และใช้ความสามารถในการแยกแยะข้อมูลเพื่อตีความและตรวจสอบ โดยพยายามลดอคติทางความคิด (Cognitive Bias) ให้ได้มากที่สุด
ขั้นตอนการคิดเชิงวิพากษ์
1. Clarify : แจกแจงวัตถุประสงค์และบริบทให้กระจ่าง ด้วยคำถามเบื้องต้น เช่น ประเด็นหรือปัญหาที่กำลังพูดถึงคืออะไร วัตถุประสงค์ของเราคืออะไร มีมุมมองหรือข้อโต้แย้งอื่นๆที่เราต้องพิจารณาไหม เราเข้าใจประเด็นนี้เพียงพอหรือเปล่า เป็นต้น
2. Question : ตั้งคำถามกับแหล่งที่มาของข้อมูล เพราะหลายๆแหล่งข้อมูลนั้นอาจบิดเบือนความจริงหรือเต็มไปด้วยอคติทางความคิด ต้องระวังด้วยว่าข้อมูลที่เราได้มามีโอกาสมี จุดโหว่บ้างไหม
3. Identify : ระบุข้อโต้แย้งว่าคืออะไร และมีเหตุผลอะไรที่ใช้ในการสนับสนุนบ้าง
4. Analyse : วิเคราะห์แหล่งที่มาและข้อโต้แย้งอย่างเป็นกลาง อย่าเพิ่งใช้ความเชื่อเดิมๆของเราตัดสินว่าอะไรถูกหรือผิด
5. Evaluate : ประเมินข้อโต้แย้งและความเห็นอื่นๆ เป็นต้นว่า จุดแข็งและจุดอ่อนของข้อโต้แย้งนี้คืออะไร เหตุผลรองรับนั้นหนักแน่นพอไหม หรือประเด็นไหนบ้างที่ต้องสำรวจเพิ่ม
6. Synthesis : สร้างข้อโต้แย้งของตนเอง โดยเริ่มต้นที่การเลือกประเด็นหลักหรือใจความสำคัญที่มีเหตุผลสนับสนุนขัดเจน เข้าใจง่าย และหนักแน่น รวมถึงเตรียมคำตอบไว้สำหรับข้อโต้แย้งที่อีกฝ่ายอาจจะยกขึ้นมา
ในแง่การทำงานหากมีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ เราจะเป็นคนเก่งรอบด้าน ตัดสินใจได้ดี และหาทางออกให้แก่ปัญหาที่พบเจอได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการคิดเชิงวิพากษ์จะช่วยเราในหลายๆด้าน ตั้งแต่การเพิ่มความสามารถในการสืบค้นและคัดกรองข้อมูลที่มีคุณภาพ
นอกจากนี้ยังช่วยให้เราตระหนักถึงอคติทั้งของตนเองและของผู้อื่น และแยกแยะระหว่างความคิดเห็นและความจริง ในโลกการทำงานเราต้องทำงานร่วมกับผู้อื่นอยู่แล้ว มีการออกความเห็นและโต้เถียงกันเป็นธรรมดา เพื่อนร่วมงานหลายๆคนจะมีมุมมองและจุดยืนแตกต่างกัน ความเห็นของบางคนอาจมีอคติบ้าง เป็นความคิดเห็นส่วนตัวบ้าง หรือตรรกะอาจจะไม่เป็นเหตุเป็นผลบ้าง
การคิดเชิงวิพากษ์จะช่วยให้เราไม่ยึดติดกับความเชื่อของตนเอง เปิดใจกว้างรับฟังผู้อื่น และเลือกข้อมูลที่เป็นจริงและมีประโยชน์มาใช้ ทั้งยังช่วยให้เราวิเคราะห์จนเข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนตัดสินใจเลือกตัวเลือกที่ดีที่สุด
ลับคมสมอง พัฒนาความคิดเชิงวิพากษ์
เฮเลน ลี บูอีก อดีตพาร์ตเนอร์ในทีม Transformation ของ McKinsey ได้แนะนำ 3 วิธีในการพัฒนาความคิดเชิงวิพากษ์ไว้ดังนี้
1. ตั้งคำถามกับสมมติฐาน
ยิ่งความเสี่ยงสูงมากเท่าไร เรายิ่งต้องตั้งคำถามกับความเชื่อของเรา เช่น ถ้ากำลังจะปรับใช้กลยุทธ์ทางธุรกิจใหม่ อาจถามว่าทำไมวิธีที่เราเลือกถึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด
2. สำรวจตรรกะของเรา
ลองประเมินข้อสรุปของเราว่า มีเหตุมีผลจริงไหม มีเหตุผลวิบัติ (Fallacy) บ้างหรือเปล่า
3. ตามหามุมมองใหม่ๆ
คนส่วนใหญ่หลายๆครั้งก็เผลอคิดตามความคิดแบบกลุ่ม (Groupthink) ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายมาก เพราะถ้าคนเรารายล้อมด้วยความคิดเดิมไปนานๆจะยึดติด และไม่ค่อยเปิดรับความเชื่ออื่น สิ่งที่ช่วยได้คือตระหนักและตั้งคำถามว่าที่เราคิดแบบนี้อาจจะเป็นเพราะอิทธิผลจากคนรอบตัวหรือเปล่า จากนั้นก็ลองพูดคุยกับคนที่แตกต่างดู มุมมองของพวกเขาอาจจะให้แง่คิดดีๆกับเราก็ได้
การมีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์จะช่วยให้เรามองรอบด้านและใช้เหตุผลในการตัดสินใจ ไม่คิดเร็ว และรีบด่วนสรุปจนเกินไป ในขณะเดียวกันการคิดเชิงวิพากษ์ก็ทำให้เราระมัดระวังและรู้เท่าทัน โดยเฉพาะในโลกที่ข้อมูลถาโถมเข้ามาตลอดเวลา จึงคุ้มค่าอย่างยิ่งที่จะฝึกใช้การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) เป็นเครื่องมือคู่กายตั้งแต่วันนี้
7. การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ (Effective Communication)
นิยามของการสื่อสารคือ การส่งสารและรับสารระหว่างสองคนขึ้นไป ไม่ว่าจะผ่านลายลักษณ์อักษร (Written) วาจา (Verbal) อวัจนภาษา (Nonverbal) หรือผ่านรูปภาพ (Visual) อธิบายง่ายๆ การสื่อสารก็เหมือนกับการโยนบอลไปมาระหว่างคนสองคนหรือมากกว่านั้น
แต่มีคนบอกว่าการเปรียบเปรยสารเหมือนลูกบอลคงไม่ถูกต้องเท่าไหร่ สารน่าจะเปรียบเหมือนก้อนโคลนนุ่มๆที่ปรับรูปได้มากกว่า เพราะสารที่เรารับมาหน้าตาจะเปลี่ยนไปตามการตีความของแต่ละคน ขึ้นอยู่กับความรู้ที่มี ประสบการณ์ เชื้อชาติ อายุ เพศ วัฒนธรรม ไปจนถึงภาษาและอารมณ์ ณ ขณะนั้น ด้วยเหตุนี้จึงมีโอกาสสื่อสารที่ผิดพลาด แม้จะอยู่ต่อหน้ากัน และใช้ภาษาเดียวกันก็ตาม
รายงานจาก McKinsey พบว่ามีหลายทักษะที่ HR ระบุว่าเป็นที่ต้องการ แต่ก็ตามหายากมากๆในตัวแคนดิเดต และทักษะการสื่อสารนั้นถูกจัดอยู่ในสามอันดับแรก นอกจากนั้นยังมีหลายการศึกษาที่พบว่าการสื่อสารนั้นสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กรอย่างยิ่ง
วิธีการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพเบื้องต้น
1. ชัดเจนและกระชับ
กุญแจสำคัญของการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนหรือพูด คือความชัดเจนและกระชับ ดังนั้นก่อนที่จะเริ่มสื่อสาร ต้องระบุให้ได้ก่อนว่าเป้าหมายหรือสิ่งที่เราอยากสื่อคืออะไร และใครคือผู้ฟังของเรา เอาต์ไลน์คร่าวๆเช่นนี้จะช่วยให้เราโฟกัสที่ใจความสำคัญ ไม่ออกนอกทะเล และไม่ใช้ภาษาที่ฟุ่มเฟือยจนผู้ฟังสับสน
2. เตรียมตัวก่อนเสมอ
การเตรียมตัวไม่ได้หมายถึงแค่การฝึกฝนซ้ำๆเท่านั้น แต่ให้เริ่มตั้งแต่คิดว่าเราจะพูดอะไรและจะพูดอย่างไร รวมถึงการศึกษาข้อมูลอย่างลึกซึ้งเพื่อรับมือกับคำถามและคำวิจารณ์ที่อาจตามมา ลองจินตนาการถึงการพิตช์งานลูกค้าก็ได้ครับ แม้จะนำเสนออย่างน่าฟังและสมบูรณ์แบบ หากตอบคำถามที่ลูกค้าถามไม่ได้ ความน่าเชื่อถือจะลดลงทันที
เคล็ดลับอย่างหนึ่งที่อยากแนะนำในการพิตช์งานสำคัญ หรือต้องไปบรรยายงานสำคัญ ให้เตรียมสไลด์ไปมากกว่าที่จะพูดเสมอ เรียกว่ามีสไลด์ข้อมูลไว้แบ็กอัปเต็มที่ เวลาใครถามอะไร แล้วเราตอบด้วยข้อมูลที่เตรียมไว้แล้ว จะทำให้การนำเสนอนั้นน่าสนใจขึ้น
3. ระวังเรื่องอวัจนภาษาและน้ำเสียง
อวัจนภาษา (สีหน้า ท่าทาง และภาษากาย) และน้ำเสียงนั้นมีผลต่อการสื่อสารอย่างมาก การศึกษาพบว่าเมื่อคุยกันตัวต่อตัว เราสื่อสารผ่านอวัจนภาษาถึง 55% ผ่านน้ำเสียง 38% และผ่านคำพูดเพียงแค่ 7% ดังนั้นเวลาสื่อสารต้องฝึกอ่านภาษากายของผู้ฟัง ในขณะเดียวกันก็ต้องตระหนักถึงภาษากายและโทนเสียงของเราด้วย
4. ฟังอย่างตั้งใจ
การสื่อสารที่ดีต้องอาศัยความร่วมมือ ในขณะที่อีกฝ่ายพูด เราควรฟังอย่างตั้งใจ (Active Listening) ไม่ใช่แค่ได้ยิน (Passive Hearing) สบตาผู้พูด ไม่หันหน้าหรือหันตัวหนี และฟังโดยปราศจากอคติ
5. พัฒนาความฉลาดทางอารมณ์
ผู้พูดที่มีความฉลาดทางอารมณ์ นอกจากจะเข้าใจอารมณ์ของตัวเองและรู้วิธีควบคุมตัวเองให้ใช้น้ำเสียงและภาษากายที่เป็นมิตรแล้ว ยังต้องมีความเข้าใจผู้อื่น (Empathy) ด้วย
6. ตั้งข้อตกลงเรื่องการสื่อสารภายในองค์กร
ในองค์กรมีการสื่อสารข้อมูลอยู่ตลอดเวลา การมีไกด์ไลน์ว่าการสื่อสารในแต่ละเรื่องควรสื่อสารกับใคร และสื่อสารอย่างไรบ้าง จะช่วยลดปัญหาความเข้าใจผิดได้มาก ตัวอย่างเช่น หากจะแจ้งการเปลี่ยนแปลงสำคัญในโปรเจ็กต์ก็ควรนัดผู้เกี่ยวข้องให้เข้าร่วมประชุมมากกว่าจะใช้วิธีส่งอีเมลหรือคุยในแชต เป็นต้น
7. สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นมิตร
หากองค์กรปกครองกันแบบเป็นลำดับขั้นและไม่ค่อยมีพื้นที่ปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological Safety) พนักงานจะมีแนวโน้มไม่ค่อยกล้าแสดงความคิดเห็น และอาจสื่อสารไม่ชัดเจนเพราะต้องใช้ภาษาที่เป็นทางการ แตกต่างกับวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นมิตร ซึ่งพนักงานจะกล้าออกความคิดเห็น ตั้งใจฟัง และมีส่วนร่วมในการเสนอไอเดียมากกว่า
8. การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)
หลายคนบทบาทของนักเรียนสิ้นสุดเมื่อสำเร็จการศึกษา
จริงอยู่ว่าในวัยทำงาน เราก็ได้เรียนทักษะใหม่ๆบ้างในช่วงแรก แต่หลังจากนั้นก็เป็นการใช้ทักษะเดิมเหล่านั้นซ้ำๆวนไป นานๆทีจะมีปัญหาใหม่เกิดขึ้นให้สมองได้ขบคิดหาทางแก้ไข แต่ในชีวิตการทำงานของใครหลายๆคนแทบไม่ได้เรียนรู้ทักษะใหม่เลย ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรในอดีต แต่นี่เป็นเรื่องใหญ่มากในปัจจุบัน
ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงเร็วและรุนแรงอย่างมาก แน่นอนว่าองค์กรก็เปลี่ยนแทบตลอดเวลา มีการดิสรัปชันเกิดขึ้น มีโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ หรือไม่ก็มีเทคโนโลยีใหม่ผุดขึ้นมาบ่อยๆ ไหนจะพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอีก สำหรับผู้บริหารแล้ว โลกการทำงานในยุคนี้ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการตามกระแสโลกให้ทันและปรับตัวไม่ให้องค์กรล้าหลัง
ความสามารถในการเรียนรู้ได้เร็วกว่าคู่แข็ง อาจเป็นข้อได้เปรียบเดียวที่ยั่งยืน
อารี เดอ จีอุส
ผู้คนพูดถึงการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆเป็นประจำ เชื่อว่าในทศวรรษที่ผ่านมาเราคงได้ยินคำว่า Upskill, Reskill, Unlearn และ Relearn กันบ่อยมาก เราได้ยินข่าวทุกวันว่าถ้าไม่เรียนรู้จะตกงานนะ จะถูกหุ่นยนต์แย่งงานแน่ๆ
ลึกๆ หลายคนรู้อยู่แล้วครับว่าต้องปรับตัว แต่ความกลัวไม่ใช่ตัวขับเคลื่อนการเรียนรู้ที่ดีเลย เพราะการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ หรือพัฒนาทักษะใหม่นั้นต้องใช้ทั้งเวลา แรงกาย แรงใจ และความมีวินัย ความกลัวอย่างเดียวอาจทำให้เราล้มเลิกกลางคัน
ทำให้เราต้องมาตั้งคำถามว่า พอจะมีหนทางไหนที่ทำให้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆได้โดยไม่ใช้ความกลัวเป็นตัวขับเคลื่อน
ผลการศึกษาของจอห์น เฮเกล และทีมของเขาในบริษัท Deloitte พบว่าพนักงานที่เรียนรู้และเติบโตในการทำงานมีสิ่งที่เรียกว่า “ความหลงใหลในการเป็นผู้บุกเบิกสิ่งใหม่ๆ (Passion of the Explorer)” เป็นตัวกระตุ้น โดยลักษณะเด่นที่การศึกษาพบคือ
• พนักงานเหล่านี้มีความมุ่งมั่นว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือผลกระทบเชิงบวกในเรื่องที่พวกเขาสนใจ
• พวกเขาตื่นเต้นเมื่อเจอความท้าทายที่ไม่คาดคิด
• พวกเขามองอุปสรรคเป็นโอกาสในการเรียนรู้
• ถ้างานไม่ค่อยมีความท้าทาย พวกเขาจะรู้สึกเบื่อ
• เมื่อเจอความท้าทายใหม่ๆ พวกเขาไม่ลังเลที่จะขอความช่วยเหลือจากคนรอบตัว เพื่อหาคำตอบหรือแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในการศึกษาของ Deloitte ได้สรุปไว้ว่า คนที่มีใจรักการเรียนรู้เช่นนี้ เรียนรู้ได้รวดเร็วกว่ากลุ่มที่ขับเคลื่อนด้วยความกลัว อย่างไรก็ตามมีพนักงานเพียง 14% จากการศึกษานี้ที่มี Passion หรือใจรักในงานที่ทำ
ตามหา Lifelong Learner ในตัวเรา
เอริกา แอนเดอร์สัน นักเขียนและผู้ให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ เธอพบเจอกับกลุ่มคนที่รักในการเรียนรู้บ่อยครั้ง เธอพบว่า 4 คุณลักษณะของนักเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learner) คือ
1. ความมุ่งมั่น (Aspiration)
โดยธรรมชาติแล้ว เมื่อมนุษย์เจอความเปลี่ยนแปลงก็มักต่อต้านก่อน ด้วยการโฟกัสไปที่ข้อเสียของการเปลี่ยนแปลงนั้น เช่น เครื่องมือใหม่นี้ยุ่งยากกว่าเดิม ไม่รู้จะเปลี่ยนทำไม แบบเดิมก็ดีอยู่แล้ว ซึ่งถ้าเราตกอยู่ในกรอบความคิดลบๆแบบนี้ จะเกิดการเรียนรู้ยากมาก เพราะความอยากเรียนรู้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเรามีความรู้สึกเชิงบวก ให้เรามองการเปลี่ยนแปลงนั้นในข้อดีที่จะได้รับ ก็จะสร้างความมุ่งมั่นให้เราอยากเรียนได้
2. การตระหนักรู้ตนเอง (Self-Awareness)
มนุษย์เรามักประเมินความสามารถตัวเองสูงกว่าความเป็นจริง เราคุ้นเคยกับปรากฏการณ์นี้ในชื่อว่า Dunning-Kruger Effect หากเราคิดว่าตัวเองเก่งก็คงไม่คิดจะพัฒนาตัวเอง นี่เป็นสาเหตุว่าทำไมการตระหนักรู้ตนเองถึงเป็นเรื่องสำคัญ
เวลาได้รับฟีดแบ็ก สิ่งแรกที่เรามักทำคือเถียงในใจ แต่ถ้าลองเปลี่ยนคำพูดในหัวเป็นคำถาม เช่น สิ่งที่เขาพูดเป็นเรื่องจริงไหม หลักฐานที่สนับสนุนมีอะไรบ้าง และถ้าเป็นเรื่องจริง เราควรปรับปรุงอย่างไร
อย่าเชื่อว่าความคิดและความรู้สึกของเราเป็นความจริงเสมอไปครับ ต้องตั้งคำถามท้าทายข้อสันนิษฐาน (Assumption) ของตัวเองบ่อยๆ
3. ความช่างสงสัย (Curiosity)
ความช่างสงสัยกระตุ้นให้เราถามในสิ่งที่ไม่รู้ และทดลองในสิ่งที่ไม่เคยลอง ซึ่งจะนำไปสู่การเรียนรู้ใหม่ๆ
4. ความเปราะบาง (Vulnerability)
ข้อนี้สำคัญมาก บางคนพอโตขึ้นและมีความเชี่ยวชาญในบางด้านแล้ว ก็ไม่อยากกลับไปเป็นคนที่ไม่รู้อะไรอีก พูดง่ายๆคือไม่ชอบเวลารู้สึกว่าตัวเองดูโง่
2
แต่การเรียนรู้ทักษะใหม่ๆจะเกิดจากประสบการณ์ จากความผิดพลาดซ้ำๆจนกลายเป็นบทเรียน หลายคนที่ไม่ยอมให้ตัวเองเปราะบาง และอยากให้ตัวเองเก่งอยู่ตลอดมักมีปัญหาในการรับมือเมื่อทำพลาด พวกเขาจะคิดลบว่า ทำไมฉันไม่เก่งเลย เรื่องแค่นี้ก็ทำไม่ได้ สุดท้ายก็ล้มเลิกการเรียนรู้ทักษะนั้น
แต่ถ้าคุณคือคนหนึ่งที่อยากพัฒนาทักษะใหม่ จงทำใจตั้งแต่แรกครับว่าเราจะทำพลาดบ้าง จงเตรียมใจกับการเป็นมือใหม่อีกครั้ง ต้องยอมรับความจริงที่ว่าเราไม่ได้รู้ทุกเรื่องให้ได้
9. การคิดเชิงโครงสร้าง (Structured Thinking)
ในการทำงานบางครั้งก็เต็มไปด้วยสิ่งที่เราไม่รู้ แต่ถ้าใช้กึ๋นตัดสินใจอย่างเดียวก็อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายได้ ในโลกที่มีข้อมูลมหาศาล เราควรใช้ข้อมูลให้เป็นประโยชน์สูงสุด
การรู้จักคิดเชิงโครงสร้างจะช่วยให้เราเป็นคนละเอียด คิดเป็นระบบ และมองภาพใหญ่ทั้งหมดออก ยิ่งถ้ามีข้อมูลมากเท่าไรจะช่วยให้เชื่อมโยงจุดสำคัญ (Connect the Dots) ได้มากเท่านั้น ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินใจที่ดีหรือการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ
เครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยเราจัดโครงสร้างความคิด คือ กฎพีระมิด
กฎพีระมิด (Pyramid Principle) คิดค้นโดยบาร์บารา มินโต อดีตพนักงาน McKinsey จุดประสงค์ของกฎนี้คือ การจัดความคิดให้เป็นระบบเพื่อให้เกิดการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ
การทำงานของกฎพีระมิดจะเป็นการคิดในรูปแบบแนวตั้ง (Vertical Logic) ซึ่งมีทั้งรูปแบบบนลงล่าง (Top-down) และล่างขึ้นบน (Bottom-up)
มาดูแบบบนลงล่าง (Top-down) กันก่อนครับ วิธีนี้เป็นการตอบคำถามหรือการนำเสนอที่ต้องการโน้มน้าวใจผู้ฟัง โดยที่เรามีคำตอบและเหตุผลครบถ้วนแล้ว เช่น การตอบคำถามในการสัมภาษณ์งานของผู้สมัคร โดยมีคำถามว่า “ในการทำงานที่ผ่านมา คุณประทับใจผลงานไหนบ้าง?” ลองเปรียบเทียบ 2 คำตอบนี้ดูนะครับ
คำตอบแบบแรก
“โปรเจ็กต์ที่ประทับใจคือโปรเจ็กต์ที่เราทำงานตามไทม์ไลน์ที่วางไว้ได้เป๊ะหมดเลยครับ ทั้งการเตรียมเนื้อหา การซ้อม แล้วก็ไม่เกินงบด้วย ผู้เรียนต่างบอกว่าเวิร์กช็อป Time Management ของเราน่าประทับใจมากและให้คะแนนในแบบสอบถามหลังเรียนไว้ในระดับดีเยี่ยม แถมยังบอกต่อบนโลกออนไลน์ด้วย อีกทั้งงานนี้เป็นงานแรกของผมในฐานะโปรเจ็กต์เมเนเจอร์ด้วย เลยได้พัฒนาทักษะใหม่ๆเยอะเลย เช่น การทำ Gantt Chart และการใช้ซอฟต์แวร์อย่าง Asana”
กับคำตอบแบบที่สอง
“ผลงานที่ผ่านมาที่ผมทำได้ดี คือ เวิร์กช็อป Time Management ครับ เพราะประการแรกทุกอย่างเป็นไปตามเอาต์ไลน์ที่วางไว้ ทั้งงบประมาณ และไทม์ไลน์ในการเตรียมเนื้อหาและการซ้อม ประการที่สองก็คือเวิร์กช็อปครั้งนี้ได้รับผลตอบรับอย่างดี ทั้งด้านคะแนนการประเมินและการบอกต่อบนโลกออนไลน์ ส่วนเหตุผลสุดท้ายคือโปรเจ็กต์นี้ทำให้ผมได้พัฒนาทักษะใหม่ๆในฐานะที่ได้เป็นโปรเจ็กต์เมเนเจอร์ครั้งแรก ได้รู้จักเครื่องมืออย่าง Gantt Chart และซอฟต์แวร์อย่าง Asana”
จะเห็นว่าเราในฐานะผู้ฟังหรือผู้อ่านจำข้อมูลในรูปแบบที่สองได้มากกว่า เพราะเปิดด้วยว่าคำตอบคืออะไร ก่อนจะให้เหตุผลสนับสนุนพร้อมหลักฐาน
แต่ถ้าเรากำลังอยู่ในขั้นตอนการคิดและพยายามทำความเข้าใจก็สามารถใช้รูปแบบล่างขึ้นบน (Bottom-up) ได้ครับ โดยอันดับแรกคือขั้นตอนรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นและวิเคราะห์ อันดับต่อมาคือการรวมกลุ่มและสรุปข้อมูลต่างๆ ให้เป็นข้อมูลเชิงลึก (Insight) จากนั้นก็ตกผลึกให้เป็นประโยคใจความสำคัญที่สั้นกระชับ (1 Key takeaway) ที่คนเข้าใจและจำได้ง่าย
ตัวอย่างเช่นในการสัมภาษณ์งานหากถามผู้สมัครว่า “คุณคิดว่าประเทศไทยขายแป้งทาหน้าได้วันละกี่ตลับ?”
ผู้สมัครหลายคนเมื่อเจอคำถามนี้เข้าไปก็เงียบสักพัก ก่อนจะตอบตัวเลขจำนวนหนึ่ง แต่พอถูกถามต่อว่าเอาตัวเลขนี้มาจากไหน พวกเขาจะตอบเพียงว่าเดาครับ/เดาค่ะ
ขณะที่ผู้สมัครบางคน ที่มีความคิดเชิงโครงสร้าง ก็จะตอบมาว่าประมาณ 700,000 ตลับ
เมื่อถามต่อว่าเอาตัวเลขนี้มาจากไหน ก็จะตอบว่าตัวเลขนี้มาจากประชากรไทยและนักท่องเที่ยวที่คาดว่าน่าจะซื้อแป้งตลับ ถ้าตีว่าประชากรไทยมี 66 ล้านคน ครึ่งหนึ่งเป็นผู้หญิง และตัดเด็กที่อายุน้อยออกไป ก็น่าจะเหลือ 30 ล้านคน ถ้าประมาณว่ามีคนใช้แป้งราว 25% ก็จะมีคนใช้แป้ง 7.5 ล้านคน ถ้าซื้อเฉลี่ยคนละ 6 ตลับต่อปี ก็จะได้ 45 ล้านตลับต่อปี หาร 365 วันก็จะได้ประมาณ 700,000 ตลับต่อวัน
โลกใบนี้เต็มไปด้วยความรู้มากมาย หากเราจดจำทุกอย่างได้ก็จะเป็นประโยชน์ไม่น้อย แต่ในความจริงเราไม่สามารถจดจำทุกอย่าง และบางเรื่องอาจไม่มีคำตอบให้เราจำแต่แรกด้วย จึงควรฝึกฝนวิธีคิดอย่างโครงสร้างไว้ ถ้าเรารู้วิธีคิดในการหาคำตอบ ไม่ว่าปัญหาใดๆก็จะมีทางออกเสมอ
10. ความเข้าใจและความสามารถในการใช้เทคโนโลยี (Digital Literacy)
ทักษะความเข้าใจ และความสามารถในการใช้เทคโนโลยี (Digital Literacy) คือ ความสามารถในการมีปฏิสัมพันธ์กับเทคโนโลยีได้อย่างคล่องแคล่ว มั่นใจ และปลอดภัย โดยมีตั้งแต่ระดับพื้นฐานอย่างการเปิด-ปิด และใช้อุปกรณ์ดิจิทัล การใช้ซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชันต่างๆในการทำงานหรือสื่อสารกับผู้อื่น ไปจนถึงการใช้เอไอเข้ามาช่วยในการทำงานและการท่องโลกดิจิทัลอย่างปลอดภัย
ทาง McKinsey ได้แบ่งเทคโนโลยีที่เข้ามาดิสรัปต์โลกการทำงานไว้ 4 ประเภทดังนี้
1. เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเชื่อมต่อข้อมูล และพลังการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ เช่น คลาวด์เทคโนโลยี อินเตอร์เน็ต บล็อกเชน และเซนเซอร์
2. เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์ เช่น เอไอ และ Machine Learning
3. เทคโนโลยีที่เข้ามาเชื่อมมนุษย์กับโลกดิจิทัล เช่น อุปกรณ์ Virtual Reality (VR) หุ่นยนต์ ไปจนถึงรถยนต์ไร้คนขับ
4. เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับวิศวกรรมขั้นสูง เช่น เทคโนโลยีการพิมพ์แบบเติมเนื้อวัสดุ (อย่างภาพพริ้นต์สามมิติ) และอนุภาคนาโน
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นแค่ส่วนหนึ่ง การที่องค์กรจะเติบโตได้อย่างดีต้องอาศัยบุคลากรที่มีความเข้าใจและทักษะการใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สุดท้ายความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เช่น การตั้งรหัสผ่าน การกำหนดสิทธิ์ผู้ใช้งาน เพราะถ้าไม่กำหนดให้ดีมีความเสี่ยงที่ข้อมูลขององค์กร และข้อมูลส่วนบุคคลจะรั่วไหลไปได้ เพราะมีภัยคุกคามทางไซเบอร์ (Cybercrime) หลายรูปแบบ
“นายเรียนรู้”
บุญเลิศ คณาธนสาร
วิทยากร ที่ปรึกษา และนักเขียนอิสระ
ติดตามอ่านบทความของ “นายเรียนรู้” เพิ่มเติมได้ที่ www.nairienroo.com
ติดต่องานฝึกอบรม และที่ปรึกษาได้ที่ Line : @Lert และที่ www.alertlearning.co.th
โฆษณา