17 เม.ย. เวลา 10:57 • ข่าวรอบโลก

โลกร้อน พายุฝนถล่ม น้ำท่วม "นครดูไบ" เมืองในทะเลทราย

เกิดพายุฝนฟ้าคะนองรุนแรงกระหน่ำสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ส่งผลให้ "ดูไบ" ซึ่งเป็นนครรัฐในทะเลทรายเกิดน้ำท่วมทางหลวงสายหลักและสนามบินนานาชาติ โดยฝนเริ่มตกในช่วงสายของวันจันทร์ที่ 15 เมษายน และตกต่อเนื่องรุนแรงขึ้น ปริมาณน้ำฝนที่ตกในวันที่ 16 เมษายน 2567 วัดได้มากกว่า 142 มม. (5.59 นิ้ว) ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยฝนตกทั่วไปของเมืองดูไบในหนึ่งปี ถือเป็นสถานการณ์เลวร้ายของดูไบขณะนี้
.
เที่ยวบินเข้าและออกจากดูไบ เกือบ 50 เที่ยวบินถูกยกเลิก โดยมีคลิปวิดีโอที่แสดงให้เห็นเครื่องบินไอพ่นหลายลำวิ่งตัดผ่านผืนน้ำขุ่นที่สนามบินนานาชาติดูไบ ซึ่งเป็นสนามบินที่พลุกพล่านที่สุดสำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ
.
ทั้งนี้ ปกติในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นประเทศในคาบสมุทรอาหรับที่แห้งแล้ง แต่จะมีฝนตกเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ในช่วงฤดูหนาว และมีปริมาณเล็กน้อย ถนนหลายสายและพื้นที่อื่นๆ ของเมือง ขาดการวางระบบระบายน้ำเนื่องจากไม่มีฝนตกสม่ำเสมอ จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงครั้งนี้
.
ศูนย์อุตุนิยมวิทยาแห่งชาติของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คาดการณ์ว่าสภาพอากาศที่ไม่แน่นอนจะดำเนินต่อไปในภูมิภาคนี้ไปจนถึงวันพุธที่ 17 เมษายน 2567
สำนักข่าวอัลจาซีรา (Al-Jazeera) ยังได้รายงาน เหตุภาวะอากาศแปรปรวนที่ทำให้เกิดพายุและน้ำท่วมหลายแห่ง เช่นที่ รัฐสุลต่านโอมาน มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 18 ราย ซึ่งเป็นเด็กนักเรียนถึง 9 คน โดยแค้วนอัชชาร์กียะห์เหนือ (Ash Sharqiyah North) ได้รับความเสียหายหนักที่สุด
.
นอกจากนี้ ยังมีรายงานฝนตกหนักและฟ้าผ่าทั่วปากีสถานและอัฟกานิสถาน ในช่วง 3 วันที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 50 ราย โดยเฉพาะในแค้วนไคเบอร์ปัคตุนควา (Khyber Pakhtunkhwa) ทางตะวันตกเฉียงเหนือ ติดชายแดนอัฟกานิสถาน ซึ่งมีฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลัน ทำให้เกิดดินถล่ม บ้านเรือนได้รับความเสียหาย มีผู้เสียชีวิตถึง 21 ราย ส่วนในรัฐปัญจาบ ของอินเดียก็ได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน
.
หน่วยงานบริหารจัดการภัยพิบัติแห่งชาติของอัฟกานิสถาน (ANDMA) รายงานเมื่อวันอังคารที่ 16 เมษายน 2567 โดยเจ้าหน้าที่ตอลิบาน ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 33 ราย บ้านเรือนมากกว่า 600 หลังได้รับความเสียหาย ปศุสัตว์ราว 200 ตัวเสียชีวิต
.
นักวิทยาศาสตร์สรุปว่า วิกฤตสภาพอากาศที่รุนแรง และกำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกด้วยความถี่ที่สูงขึ้นขณะนี้ ถูกกระตุ้นโดยภาวะโลกร้อน
ที่มา :
โฆษณา