17 เม.ย. 2024 เวลา 19:14 • นิยาย เรื่องสั้น
นครนิวยอร์ก

เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยที่นิวยอร์ก…

คำพังเพยโบราณกล่าวไว้ว่า “การไม่มีโรค...เป็นบุญอันประเสริฐ” สมัยผมเป็นเด็กพอได้ยินผมก็ได้แต่ส่ายหัว ไม่เชื่อเลยสักนิด ก็เพราะผมเป็นคนร่างกายแข็งแรง ตอนวัยรุ่นนะ กินเหล้ายันสว่าง สูบบุหรี่ แถมควบทำงานข้ามวันข้ามคืนก็ยังสบาย นี่แหละ เขาเรียกว่า ‘พลังงานวัยหนุ่ม‘ หนักแค่ไหนร่างกายก็ทนไหว
พอย้ายสำมะโนครัวเข้ามาอยู่ที่นิวยอร์ก มีป่วยบ้างตามประสาคนจากประเทศโคตรเมืองร้อนอย่างบ้านเรา พอมาอาศัยอยู่เมืองที่หนาวแบบติดลบ ก็มี ป่วยบ้าง เจ็บคอ ไอบ้าง แบบว่าคงจะแพ้ความหนาว แพ้สาวต่างชาติที่นี่
ประเทศไทยเวลาป่วยก็เดินเข้าไปหาหมอเลย ตรวจวินิฉัย รักษาและก็จ่ายตัง จบ! แต่ที่นิวยอร์กมันไม่ได้นะครับ แบบจะเดินเข้าไปหาหมอเลยเนี่ย มันไม่ได้นะ เค้าต้องนัดหมอกันก่อน นัดทีนึงเนี่ยก็ล่วงหน้าเป็นสัปดาห์นะ ฉะนั้นเวลาจะป่วย จะไปหาหมอเนี่ย เราต้องคาดเดาได้ก่อนแล้วว่า อีกกี่วันจะไม่สบาย 555 ใครมันจะไปรู้วะ
ก็เลยเริ่มเข้าใจว่า คนอเมริกันเนี่ยเขามีการนัดตรวจสุขภาพเป็นประจำ เขาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากกว่าการไปรักษาหาหมอนะ คือเขาต้องมีตรวจสุขภาพกันทุกหกเดือน เผื่อว่าพบเจออะไรก็จะได้จัดการเสียแต่ต้นลม ไม่เหมือนกับของไทยเรา ที่มักจะใช้ร่างกายจนทรุดโทรม พังกันไปก่อน จนไม่ไหวแล้วถึงจะไปหาหมอ บางทีก็ตรงไปวัดเลย! ประโยคที่มักจะได้ยินอยู่เสมอก็เช่น “ไม่ไปตรวจ ก็ไม่เจอหรอก...มะเร็งน่ะ” “ไม่ตรวจ ก็ไม่รู้...ไม่รู้ ก็ไม่เป็น” แหม่ คิดบวกที่แท้ทรู!
และมันก็เสมือนพื้นฐานของอเมริกันชนเลยทีเดียวที่จะต้องทีการนัดหมอทุกสามเดือน หกเดือน ที่เขาทำแบบนี้ก็เพราะว่าบริษัทประกันจะต้องจ่ายค่าตรวจร่างกาย ตรวจเป็นประจำถ้าเจอก็จะได้รักษาก่อนที่จะลุกลามใหญ่โต โดยที่ค่าประกันนั้นก็จะแตกต่างกันออกไป มากบ้างน้อยบ้าง มีตั้งแต่เดือนละ ร้อยกว่าเหรียญไปจนถึงหลักพันก็มีครับ
อย่างไรก็ตามคนไทยส่วนใหญ่เราไม่ค่อยมีหรอกครับประกันแบบเสียเงินน่ะ ใช้แบบฟรีทั้งนั้นแหละ อย่างพวกที่อยู่อาศัย แบบพลเมืองชั้นสอง ชื่อย่อของ พลเมืองย้ายถิ่นฐานมาอาศัยประเทศเขาอยู่ บ้างก็ว่าแพงไป ไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วยกันบ่อย จะมาเสียเงินรายเดือนเพิ่มทำไม วันนึงทำงานก็เหนื่อยจะแย่อยู่แล้ว สู้เก็บเงินเอาไว้ใช้รักษาดีกว่า
ฉะนั้นพอคนไทยเราป่วย หรือไม่สบาย สิ่งแรกที่มักจะทำเลยก็คือ กินพาราเข้าไปซิ ถ้ามันหายก็โอเค ซึ่งส่วนใหญ่จะหายนะ! 555 อย่างไรก็ตาม ถ้าพารายังช่วยไม่ได้ กินแล้วอาการไม่ดีขึ้นล่ะ ก็ต้องเริ่มหาที่พึ่งกันล่ะ แล้วใครล่ะจะเป็นที่พึ่งได้ ก็มีอยู่สองอย่างคือ ลุง Google, หรือ ไม่ก็ Chat GPT ที่ใช้ค้นหาอาการของตัวเอง แล้วก็หายามารักษากันไปตามอาการ กับอีกอย่างที่นิยมมากกว่า คือ หมอแม๊ะ แล้วพี่หมอแม๊ะ คือ ใคร เก่งมาจากไหน วันนี้ ‘นิวยอร์กกู’ จะมาเล่าให้ฟังครับ
พี่หมอแม๊ะ ก็คือ ชื่อเราใช้เรียก ผู้รู้หรือผู้อวดรู้เกี่ยวกับโรคอะไรก็ตาม ที่ล้วนแล้วแต่วินิจฉัยมาจากประสบการณ์เท่านั้น ถูกมั่งผิดมั่งก็ว่ากันไปแล้วแต่ตามวาสนา 555
โรคของคนไทยเราส่วนใหญ่ที่เป็นที่นิวยอร์ก ก็มักจะเกี่ยวข้องกับการทำงานของพวกเราทั้งนั้นแหละ แหม การทำงานร้านอาหารที่นี่น่ะ มันโหดเสียจนร่างกายดีๆ ก็ชำรุดสึกหรอไปหมดนั่นแหละ อาการส่วนมากที่เรามักจะได้ยินก็ เช่น นิ้วล็อค อย่างเชฟคนนึงชื่อพี่แนน เคยไปเที่ยวในเมืองกับแกครั้งนึง ขณะที่โหนราวรถไฟกันจนจะถึงป้ายแล้ว แกก็เรียกบอกผม
“อ็อตโต้ เอ็งช่วยแกะมือให้พี่หน่อย” พี่แนนบอก เพราะอีกมือนึงถือถุงอยู่เลยไม่ว่าง ผมเองก็เลิ่กคิ้ว พร้อมกับทำหน้างง พี่แนนจะให้ผมแกะมือทำไมวะ ก็แบออกซิครับ พี่แนนเห็นผมทำหน้าสงสัย แกก็เลยบอกว่า
“พี่เป็นนิ้วล็อค มันกางนิ้วเองไม่ได้” พี่แนนอธิบาย
“นิ้วร็อคค์” ผมพูดแบบเน้น ร.เรือ พลางทำนิ้วแบบร็อคเกอร์ ชูนิ้วชี้กับนิ้วก้อย
“ไม่ใช่อันนั้น!” พี่แนนเสียงดัง ไม่ขำไปกับการเล่นของผม ก่อนจะพูดต่อ
“นิ้วกูมันล็อค กำแล้วแบบไม่ได้ แกะออกให้ที ถึงป้ายแล้ว เดี๋ยวประตูปิด!” พี่แนนบอก
“โห่ย นิ้วล็อค...น่าร็อคอ่ะ” ผมพูดแบบกระแดะ ก่อนจะแงะนิ้วพี่แนนออกจากเสา แต่พี่แนนตอบมาว่า “น่าร็อคบ้านเอ็งซิ!”
‘นิ้วล็อค’ อาการของมันก็คือ นิ้วมันล็อคอยู่กับที่ขยับเขยื้อนไม่ได้ ประมาณว่ากำอะไรเอาไว้แล้วนิ้วมันก็ล็อค ค้างอยู่อย่างนั้น ต้องเอามืออีกมือนึงมาแกะนิ้วออก ฟังดูเหมือนเรื่องตลก แต่มันเรื่องจริง! ส่วนมากก็จะเกิดกับพวกมือผัดรุ่นใหญ่ เพราะว่ามือต้องกำด้ามกระทะ แล้วก็โยกผัดไว้ตลอดเวลาโยกไป เคาะไป วันนึงโยกก็ประมาณ 10 ชั่วโมง แล้วแต่ว่าร้านจะยุ่งมากน้อยแค่ไหน ก็ด้วยเหตุที่เกร็งกำมือแบบนี้เป็นเวลานาน ก็เลยทำให้เกิดนิ้วล็อคขึ้น
โรคต่อมาที่มักจะเป็นกันบ่อย โดยเฉพาะพวก Food Runner อย่างเรา ก็พวกหมอนรองกระดูกปลิ้น เพราะว่าต้องยืน ต้องวิ่ง แบกจานอย่างหนักทั้งวัน ทำให้กระดูกสันหลังของร่างกายเนี่ยมันคดงอ วันดีคืนดี ก็ระเบิดออกมา เล่นเอาทำงานไม่ได้ไปเป็นครึ่งเดือนเลยเชียว อาการของโรคนี้ คือ ปวดหลังมาก จะนั่ง จะยืน จะนอน นานหน่อยเป็นไม่ได้ ปวดตลอด เหมือนคนพิการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตอะไรหยั่งงั้นเลยทีเดียว
ผมเองก็เคยเป็นครั้งนึง สมัยตอนนั้นอยากจะเป็น Busboy ที่เก่งที่สุดในนิวยอร์ก ก็แบกเข้าไปซิ หนักขนาดไหนก็แบกเข้าไป โต๊ะปาตี้โต๊ะนึง 8 คน กี่จานกี่จานก็เก็บจานทั้งหมดทีเดียวเลย หนักแค่ไหนก็สู้! ตอนแรกก็ไหวอยู่หรอกนะ แต่พอนานเข้า ก็เริ่มปวดแปล๊บบริเวณหลังช่วงล่าง แต่ก็ไม่ได้คิดไรมาก คิดว่าน่าจะสาเหตุมาจากทำงานหนัก กินยาแก้ปวดกลับไปลุยต่อ ต่อมาพออาการมันแสดงเท่านั้นแหละ เข่าอ่อน แค่จะยืน ยังไม่ได้เลย
สุดท้ายก็ต้องไปหาหมอ หมอก็อธิบายครับว่า หลังคนเราเนี่ย มันก็ไม่ค่อยจะตรงเท่าไหร่อยู่แล้วนะ แถมเมื่อต้องถือของหนัก และไม่ได้ถือแบบใช้สองมืออย่างถูกวิธี กระดูกสันหลังมันก็จะพยายามดัดตัวเองเพื่อให้มันสามารถรองรับน้ำหนักที่แบกได้ พอมันดัดตัวเองนานเข้า หลังก็เริ่มงอ แล้วก็คด ปวดไปหมดแบบนี้แหละ กว่าจะฉลาด!
ค่าหมอค่ายาที่นี่ก็โคตรแพง ไปหาหมอครั้งนึงล่อไป $200 เหรียญ หมอนัดผมสัปดาห์ละ สองครั้ง เดือนนึงก็เท่ากับ $1600 โชคยังพอมีที่ตอนนั้นเนี่ยผมมีประกันกับทางโรงเรียน เลยรอดตัวไป คิดดูถ้าเกิดไม่มีประกัน ก็อาจต้องขายบ้านขายรถกันไปเลย หลังก็ปวดจนทำงานไม่ได้ แถมยังต้องมาเสียค่าหาหมอ ไหนจะค่าบ้าน ค่ากิน ที่แสนจะแพงอีกล่ะ
เลยอยากจะมาแชร์ว่า การดูแลสุขภาพให้ดี มันคนละเรื่องเลยกับการไปรักษาเพื่อให้สุขภาพกลับมาดีนะ ร่างกายคนเรามันไม่เหมือนกับเครื่องจักร ที่เมื่อมันพัง ก็สามารถเปลี่ยนอะไหล่ ยกเครื่อง ให้กลับมาทำงานดีเหมือนเดิม ไม่ใช่ว่าสู้อุตส่าห์ทำงานเก็บเงินมาทั้งชีวิต สุดท้ายต้องมาหมดไปกับค่ารักษาพยาบาลเสียอย่างนั้น เราเปลี่ยนอวัยวะเราไม่ได้ทั้งหมดแบบเครื่องจักร ฉะนั้นการดูแลจึงเป็นการจัดการที่ต้นเหตุที่ดีที่สุดครับ
#nyku #นิวยอร์กกู #newyorkkitchenuniversity
โฆษณา