23 เม.ย. 2024 เวลา 03:00 • สิ่งแวดล้อม
ทะเลน้อย

“นกช้อนหอยขาว” นกอพยพที่น่าสนใจแห่งทุ่งแหลมดิน เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จ.พัทลุง

นกช้อนหอยขาว (Black-headed Ibis) มีชื่อเรียกหลายชื่อแตกต่างกันไปในแต่ล่ะท้องถิ่น บางแห่งเรียก นกช้อนหอยขาว บางแห่งเรียก นกกุลาขาว จัดอยู่ในวงศ์ Threskiornithidae มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Threskiornis melanocephalus
นกช้อนหอยขาว เป็นนกที่มีขนาดใหญ่ มีปากสีดำเรียวยาว ปลายปากโค้งลงมาก ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของนกช้อนหอย หัวและคอช่วงบนเป็นหนังเกลี้ยง ๆ สีดำ ลำตัวและปีกมีขนสีขาวปกคลุมทั่ว นอกจากด้านใต้ปีกบริเวณใกล้กับขอบปีกมีเพียงหนังเปลือยเปล่าสีแดง ซึ่งเห็นได้ชัดเจนเมื่อนกบิน
แต่เมื่อยังอ่อนอยู่ขนที่คอสีขาว ที่หัวมีขนบาง ๆ สีน้ำตาลแก่ เมื่อโตขึ้น ขนจะค่อย ๆ บางลงจนเหลือแต่หนังสีน้ำเงินแก่หรือดำ นกกุลาขาวเป็นนกที่มีหางสั้นมาก ขายาวสีดำ ตาสีน้ำเงินดำ ขนทั่วตัวสีขาว ทั้งตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะเหมือนกัน
นกช้อนหอยขาวมีถิ่นกำเนิดในอินเดีย ศรีลังกา ทางเหนือและตะวันออกของเนปาล พม่า ไทย จีน กัมพูชา เวียดนาม ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย สำหรับประเทศไทย เคยเป็นนกประจำถิ่นที่พบทั่วไปในที่ราบลุ่มภาคกลาง
แต่ภัยคุกคามจากการโดนล่า รวมทั้งแหล่งหากินและทำรังวางไข่ถูกทำลาย มันจึงหายสาบสูญไปจากแหล่งทำรัง ในอดีต โดยไม่พบหลักฐานการทำรังวางไข่มากกว่า 60 ปีแล้ว ที่พบเห็นในปัจจุบันส่วนใหญ่คาดว่าเป็นนกอพยพ นอกฤดูผสมพันธุ์ในช่วงฤดูหนาว
อย่างไรก็ตาม บางแห่งมีรายงานการพบตลอดทั้งปี จึงเป็นไปได้ว่าอาจยังเหลือประชากรเล็กๆ ทำรังในไทยอยู่ สำหรับในพื้นที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๖ เป็นนกอพยพมาในช่วงฤดูหนาว พบได้ที่ทุ่งแหลมดิน บริเวณคลองบ้านกลาง ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย
นกช้อนหอยขาว มีพฤติกรรมเดินลุยน้ำหรือย่ำไปบนพื้นโคลนช้า ๆ พร้อมใช้ปากยาวโค้งแหย่ลงไปในน้ำ หรือชอนไชในโคลนเพื่อจับเหยื่อ เมื่อพบแล้วจะรีบใช้ปากงับและกลืนกิน และใช้วิธีจิกกินเหยื่อตามผิวน้ำด้วย อาหารส่วนใหญ่ได้แก่ ปลากบ งู ปู กุ้ง หอย และสัตว์เลื้อยคลานเล็ก ๆ นอกจากนี้แล้วยังไล่งับแมลงตามกอหญ้าหรือชายน้ำด้วย
นกช้อนหอยขาว ปกติเป็นนกเงียบไม่ส่งเสียง ชอบอยู่เป็นฝูง หากินตามหนองบึง หรือชายทะเลที่มีโคลน หากินปะปนกับ นกอื่น เช่น นกยาง นกปากห่าง นกกระสา ฤดูผสมพันธุ์เริ่มในราวเดือนมิถุนายน-กันยายน ช่วงนี้นกจะมีขนงอกสีเทาออกมาจากปีกคลุมบนหลังและตะโพก ทางหลังคอและอกก็มีขนงอกยาวออกมาด้วยเช่นกัน จะเลือกทำรังเป็นกลุ่มบนยอดไม้สูงของต้นไม้ใหญ่ใกล้แหล่งน้ำ
บางครั้งอาจพบทำรังปะปนกับนกน้ำชนิดอื่น ๆ เช่น นกกระสา นกกระยาง และนกกาน้ำ ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง โดยใช้กิ่งไม้มาวางซ้อนกันเป็นรังขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 45-50 เซนติเมตร แล้วรองพื้นด้วยกก ใบไม้ หรือหญ้า หลังจากนั้นจึงวางไข่ครั้งละ 2-4 ฟอง ใช้เวลากกไข่นาน 23-24 วัน ลูกนกแรกเกิดมีขนอุยสีดำบนหัวและลำตัวสีขาว ใช้เวลาอยู่ในรังนาน 40 วัน จึงบินออกหากิน เป็นนกที่มีน้อยและหายาก
ปัจจุบันนกช้อยหอยขาว จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทนก ลำดับที่ 411 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 The IUCN Red List of Threatened Species จัดให้อยู่ในกลุ่ม Near Threatened (NT) : ใกล้ถูกคุกคาม แม้นกช้อนหอยขาวจะบินอพยพเข้ามาในประเทศไทยทุกปีเป็นประจำ แต่จำนวนประชากรน้อยมาก
จัดได้ว่าเป็นนกหายากและใกล้สูญพันธุ์ในประเทศไทย ปัจจุบันเป็นนกที่ย้ายถิ่นเข้ามาหากินเป็นบางช่วงของฤดูกาลเท่านั้น โดยมีรายงานพบทางภาคกลาง ภาคอีสานตอนล่าง และภาคใต้ โดยจะพบได้ที่หน่วยอนุรักษ์นกท่าเสด็จ จังหวัดสุพรรณบุรี และที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง
ที่มา : กลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 (สงขลา)
#เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย #พัทลุง #นกช้อยหอยขาว #กรมอุทยานแห่งชาติ
โฆษณา