21 เม.ย. เวลา 01:47 • ท่องเที่ยว

ซากุระไม่ได้มีแค่ในญี่ปุ่น

ว่ากันว่า ความงดงามของซากุระที่ผลิดอกเบ่งบานต้นฤดูใบไม้ผลินั้นแสนสั้นนัก เพียงแค่ 2 สัปดาห์ในหนึ่งปีที่จะได้เห็นกลีบดอกสีชมพูอ่อนระเรื่อ ชูช่อแน่นขนัดตัดกับสีน้ำตาลเข้มจนเกือบดำของเปลือกไม้ ไร้ซึ่งใบเขียวชะอุ่มมาแซมให้ขัดตา ซึ่งแตกต่างจากพรรณไม้ทั่วไป ความพิเศษนี้ดึงดูดให้ผู้คนทั่วโลกเดินทางมาชมซากุระในญี่ปุ่นอย่างแน่นขนัดทุก ๆ ปี
ซากุระกับคนญี่ปุ่น
มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมายที่แสดงถึงการมีอยู่ของซากุระบนผืนแผ่นดินญี่ปุ่นมาตั้งแต่อดีตพันกว่าปีก่อน ไม่ว่าจะเป็นบทประพันธ์ชื่นชมความงามของซากุระในมังโยชู (万葉集) กวีนิพนธ์เก่าแก่ที่มีอายุมากกว่า 1,200 ปี หรือแม้แต่ในนิฮงโชกิ (日本書紀) พงศาวดารเก่าแก่ของญี่ปุ่นก็ได้กล่าวถึงซากุระกับความเชื่อเรื่องเทพเจ้าเอาไว้เช่นกัน
1
ภาพเจ้าหญิงโคโนะฮานะซากุยะในพิพิธภัณฑ์ศิลปะเกียวโต (Kyoto Prefectural Insho-Domoto Museum of Fine Arts)
โดยความเชื่อตามตำนานเทพที่ว่า ซากุระเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่สถิตของเจ้าหญิงโคโนะฮานะซากุยะ (木花之開耶姫) เทพธิดาแห่งซากุระ ที่เชื่อกันว่าช่วยปัดเป่าภัยอันตรายโดยเฉพาะอัคคีภัย อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ซากุระกลายเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นฤดูกาลทำนา จนกลายเป็นตัวแทนของการเริ่มต้นปีงบประมาณใหม่ อีกทั้งยังมีการใช้สัญลักษณ์ดอกซากุระบนเหรียญกษาปณ์และธนบัตรญี่ปุ่น นั่นจึงทำให้ “ซากุระ” กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่น
1
แม้ว่า “ซากุระ” จะกลายเป็นภาพจำของญี่ปุ่น แต่จริง ๆ แล้ว ซากุระสามารถเติบโตได้บริเวณพื้นที่เขตอบอุ่นในซีกโลกเหนือที่มีภูมิอากาศคล้ายคลึงกับญี่ปุ่น อย่าง ไซบีเรีย จีน เกาหลี ยุโรป และอเมริกาเหนือ และนี่คือความงดงามของซากุระในที่ต่าง ๆ ทั่วโลก
1
ซากุระริมอ่างเก็บน้ำไทดัล เบซิน เครดิตภาพ : https://www.nippon.com/ja/features/c02002/
【ซากุระรอบอ่างเก็บน้ำไทดัล เบซิน East Potomac Park, Washington, DC สหรัฐอเมริกา】
ซากุระสายพันธุ์โซเมโยชิโนะและคันซากุระสีขาวอมชมพูยืนต้นรายล้อมรอบอ่างเก็บน้ำไทดัล เบซิน ราว 3,800 ต้น โดยมีอนุสรณ์สถานเจฟเฟอร์สันเป็นฉากหลัง ถือได้ว่าเป็นทัศนียภาพอันงดงามต้อนรับฤดูใบไม้ผลิที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วสหรัฐอเมริกาให้มาเยือนได้มากถึงหนึ่งล้านห้าแสนคนในแต่ละปี และได้รับการชื่นชมว่าเป็น “หนึ่งในสามสถานที่ชมซากุระที่สวยที่สุดในโลก”
จากภาพความประทับใจสู่สัญลักษณ์เชื่อมความสัมพันธ์
ซากุระรอบอ่างเก็บน้ำไทดัล เบซินที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน มีต้นกำเนิดมาจากช่างภาพ-นักเขียนหญิง ผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกในขณะนั้น Eliza Ruhamah Scidmore ที่เดินทางมายังญี่ปุ่นเพื่อเยี่ยมพี่ชายซึ่งเป็นนักการทูตประจำอยู่ที่โตเกียว ในปี ค.ศ. 1885 เธอได้เห็นความงดงามของต้นซากุระที่ออกดอกสะพรั่งเรียงรายริมฝั่งแม่น้ำซูมิดะจึงเกิดความประทับใจและอยากนำความงดงามนี้กลับไปยังสหรัฐอเมริกาด้วย
ณ ขณะนั้นเป็นช่วงที่กรุงวอชิงตันกำลังดำเนินการถมที่ริมฝั่งแม่น้ำโพโทแมก บริเวณอ่างเก็บน้ำไทดัล เบซิน Eliza จึงเสนอให้ปลูกต้นซากุระริมอ่างเก็บน้ำ ทว่ากลับไม่มีใครให้ความสนใจไอเดียของเธอ แม้เป็นเช่นนั้น Eliza กลับไม่ละความพยายาม เธอเรียกร้องและเสนอข้อคิดเห็นเรื่องการปลูกต้นซากุระอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 24 ปี
Eliza Ruhamah Scidmore สตรีชาวอเมริกันผู้ไม่ละความพยายามในการนำซากุระกลับบ้านเกิด เครดิตภาพ : http://itami-kankou.com/sakura
ในที่สุดด้วยความร่วมมือระหว่าง Eliza, มิซูโนะ โคคิจิ (水野幸喜) กงสุลใหญ่ประจำสหรัฐอเมริกา และ ดร.ทาคามิเนะ โจคิจิ (高峰譲吉) นักวิทยาศาสตร์และผู้ก่อตั้งกิจการ ได้หารือร่วมกับสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งในขณะนั้น “เฮเลน เฮอร์รอน ทาฟต์” (Helen Herron Taft) ถึงการส่งมอบต้นซากุระเพื่อเป็นของขวัญเชื่อมสัมพันธไมตรีกับสหรัฐอเมริกา
ความจริงไม่ง่ายอย่างที่ฝัน
แม้ว่าความฝันของ Eliza ที่จะได้ชื่นชมความงดงามของซากุระในสหรัฐอเมริกากำลังจะกลายเป็นจริง แต่เส้นทางนั้นก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ในปี ค.ศ. 1909 นายกเทศมนตรีกรุงโตเกียว, โอซากิ ยูกิโอะ (尾崎行雄) ผู้รับผิดชอบนำส่งซากุระ 2,000 ต้น ลงเรือขนสินค้ามุ่งสู่อเมริกา ทว่าซากุระทั้งหมดติดโรคและเสียหาย ทำให้ต้องเผาทิ้งทั้งหมด
ต่อมาในปี ค.ศ. 1912 โอซากิได้คัดเลือกกิ่งซากุระสายพันธุ์โซเมโยชิโนะที่มีความแข็งแรงต่อโรคและแมลง ซึ่งปลูกไว้ริมแม่น้ำอารากาวะ ส่งไปทาบกับตอที่เมืองอิตามิ จังหวัดเฮียวโกะ ให้ได้เป็นต้นซากุระที่แข็งแรงที่สุด แล้วทำการล้างรากแล้วรมควันด้วยก๊าซไซยาไนด์เพื่อฆ่าแมลงที่อาจจะติดไปกับต้นซากุระ จำนวนทั้งสิ้น 3,020 ต้น ส่งลงเรือออกจากท่าเรือโยโกฮามามุ่งสู่กรุงวอชิงตัน
ซากุระริมฝั่งแม่น้ำซูมิดะ ความประทับใจแรกของ Eliza เครดิตภาพ : https://jp.wamazing.com/activity/detail/1884
ในที่สุดพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำไทดัล เบซิน ก็เต็มไปด้วยต้นซากุระมากกว่าสามพันต้น ออกดอกสะพรั่งในฤดูใบไม้ผลิปีถัดมาจนถึงปัจจุบัน สัญลักษณ์แห่งไมตรีจิตระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริกาได้กลายเป็นสถานที่เผยแพร่วัฒนธรรมแห่งแดนอาทิตย์อุทัย
นอกจากการชื่นชมความงดงามของซากุระที่เรียกว่า “โอฮานามิ” แล้ว สมาคมชาวญี่ปุ่นในอเมริกายังรวมตัวกันจัดเทศกาลชมซากุระ – ซากุระมัตสึริ ที่ให้บรรยากาศเหมือนอยู่ในญี่ปุ่น ทั้งการออกร้านขายอาหารและขนมญี่ปุ่น การจัดแสดงพิธีชงชา การทดลองสวมชุดกิโมโน เป็นต้น ทำให้ชาวอเมริกันสนใจในวัฒนธรรมญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ฤดูกาลแห่งซากุระที่ Stanley Park เครดิตภาพ : https://4travel.jp/travelogue/11747974
【ซากุระหลากหลายสายพันธุ์กว่า 4 หมื่นต้น Stanley Park, แคนาดา】
เป็นหนึ่งในแลนด์มาร์คสำคัญสำหรับการชมซากุระของแคนาดา ซากุระในสวนสาธารณะ Stanley Park แวนคูเวอร์ มีที่มาจากการส่งต้นแม่พันธุ์ 500 ต้นจากเมืองโกเบและโยโกฮาม่าในปี ค.ศ. 1930 เพื่อร่วมจัดสร้างอนุสรณ์สถาน รำลึกถึงทหารแคนาดาเชื้อสายญี่ปุ่นผู้สละชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1
จากต้นแม่พันธุ์ 500 ต้น ค่อย ๆ ขยายพันธุ์ออกไปเรื่อย ๆ จนในปัจจุบันมีซากุระหลากหลายสายพันธุ์ยืนต้นเรียงรายมากกว่า 4 หมื่นต้น ออกดอกให้ได้ชมความงดงามกันตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์จนถึงปลายเดือนเมษายน แตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ โดยเฉพาะช่วงปลายเดือนมีนาคมยังมีการจัดงาน Vancouver Cherry Blossom Festival และการเปิดไฟให้ชมซากุระช่วงพลบค่ำที่เรียกกันว่า โยซากุระ (夜桜) ด้วย
ซากุระเก้าพันต้นเรียงรายไปตามเส้นทางที่เคยเป็นกำแพงเบอร์ลิน เครดิตภาพ : https://www.afpbb.com/articles/-/3345722?pid=23311960
【ยาเอะซากุระ 9,000 ต้นบนซากประวัติศาสตร์ที่เบอร์ลิน เยอรมนี】
ที่แห่งนี้เป็นอีกหนึ่งสถานที่พิเศษที่เราจะได้เพลิดเพลินกับความงดงามของซากุระซ้อนชั้นพันธุ์ยาเอะที่เรียงรายไปตามเส้นทางประวัติศาสตร์ เริ่มตั้งแต่ถนน TV-Asahi-Kirschblütenallee ตามเส้นทางที่เคยเป็นกำแพงเบอร์ลิน จนไปถึงสะพาน Glienicker Brücke และสิ้นสุดที่อดีตจุดผ่านแดนระหว่างเยอรมนีตะวันออกกับตะวันตก “บอร์นโฮล์มเมอร์ สตราช - Bornholmer Straße” ระยะทางกว่า 4 กม.
จากภาพเหตุการณ์แห่งประวัติศาสตร์การทำลายกำแพงเบอร์ลินสัญลักษณ์ของสงครามเย็นที่ถ่ายทอดสดไปทั่วโลก เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1989 สถานีโทรทัศน์อาซาฮี (TV Asahi Corporation) ได้จัดกิจกรรมระดมทุนเพื่อร่วมกันส่งต้นซากุระไปเป็นของขวัญเฉลิมฉลองการกลับมารวมตัวกันอีกครั้งระหว่างเยอรมนีตะวันออกกับตะวันตก
โดยในปี ค.ศ. 1990 ระดมทุนจากผู้ชมได้ถึง 140 ล้านเยน จึงได้เริ่มทะยอยส่งยาเอะซากุระจำนวน 9,000 ต้น ไปยังประเทศเยอรมนี จนกระทั่งส่งซากุระต้นสุดท้ายเสร็จสิ้นลงเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 2010 ปัจจุบันยาเอะซากุระทั้ง 9,000 ต้นได้บานสะพรั่งทั่วกรุงเบอร์ลินในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคม
ซากุระที่สวนสาธารณะคุงสแทรดกอร์เดน เครดิตภาพ : https://www.vacationistmag.com/cherryblossomseason/
【อุโมงค์ซากุระที่สวนสาธารณะคุงสแทรดกอร์เดน สวีเดน】
สีชมพูที่ไล่ระดับจากอ่อนไปเข้มเรียงรายกันมองแล้วคล้ายอุโมงค์ซากุระแห่งนี้อยู่ใจกลางเมืองหลวงของสวีเดน ภายในสวนสาธารณะคุงสแทรดกอร์เดน – Kungstradgarden (King’s Garden) ถือได้ว่าเป็นสวนเก่าแก่แห่งหนึ่งของสวีเดน สร้างขึ้นเมื่อราว ๆ ปี ค.ศ. 1530 โดยพระเจ้ากุสตาฟที่ 1 แห่งสวีเดน
ในปี ค.ศ. 1998 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ส่งต้นซากุระสายพันธุ์ยาเอะจำนวน 63 ต้น เป็นของขวัญแก่สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟแห่งสวีเดน เพื่อเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้แน่นแฟ้นขึ้น ซากุระที่นำไปปลูกในสวีเดนจะเริ่มผลิดอกประมาณกลางเดือนเมษายนไปจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม
นอกจากการออกไปชมดอกซากุระในวันฟ้าใสแล้ว ทุก ๆ ปียังมีการจัดงานเทศกาลชมดอกซากุระโดยสมาคมญี่ปุ่น ซึ่งมีกิจกรรมที่หลากหลาย ตั้งแต่การออกร้านอาหารญี่ปุ่น บูธทดลองใส่ชุดกิโมโน เวทีแสดงศิลปะวัฒนธรรม เป็นต้น
นั่งรถไฟชมซากุระที่อาลีซาน ไต้หวัน เครดิตภาพ : https://www.klook.com/th/blog/sakura-spots-taiwan/
【ซากุระสีสดบนเขาอาลีซาน ไต้หวัน】
อีกหนึ่งจุดชมซากุระที่สวยไม่แพ้ญี่ปุ่น แถมไม่ใกล้ไม่ไกลจนเกินไป พอพูดถึงเกาะไต้หวันหลายคนจะนึกถึงการมาเที่ยวไหว้พระและหาของกินอร่อย ๆ แต่ถ้าเล็งวันเที่ยวดี ๆ แล้วอย่างช่วงปลายเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน นอกจากจะได้สัมผัสอากาศเย็นสบายยังมีซากุระหลากหลายสายพันธุ์ให้ชื่นชมความงดงามอีกด้วย
ซากุระในไต้หวันเริ่มมาจากการที่คนญี่ปุ่นนำต้นแม่พันธุ์โซเมโยชิโนะและซากุระป่าที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ให้พันธุกรรมคงที่เข้ามาปลูกตั้งแต่ช่วงที่ไต้หวันอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟ Alishan Forest Railway ที่มีจุดชมซากุระที่สวยงาม
ชูฟุชิดาเระซากุระที่หาชมได้เฉพาะในไต้หวัน เครดิตภาพ : https://topics.tbs.co.jp/article/detail/?id=2639
นอกจากซากุระที่มีต้นกำเนิดจากญี่ปุ่นแล้ว เรายังสามารถชื่นชมความงดงามของซากุระสายพันธุ์เฉพาะหายากที่ไม่อาจหาได้นอกเกาะไต้หวัน ไม่ว่าจะเป็น ชูฟุชิดาเระซากุระ (洲府枝垂桜) ซากุระที่ใช้เวลาปรับปรุงสายพันธุ์ให้เข้ากับภูมิอากาศกึ่งเขตร้อนยาวนานถึง 18 ปี สามารถชื่นชมความงดงามได้สองแบบ โดยในช่วงเริ่มบานกลีบดอกจะมีสีขาวอมชมพูคล้ายโซเมโยชิโนะ แต่เมื่อบานเต็มที่จะกลายเป็นสีชมพูเข้ม สดใส
ซากุระพันธ์ุฟอร์โมซ่า เครดิตภาพ : https://sokonote.exblog.jp/28004704/
อีกหนึ่งสายพันธุ์ที่เกิดจากการกลายพันธุ์จนได้ความงามเฉพาะแบบไต้หวัน ฟอร์โมซ่าซากุระ ซากุระป่าไต้หวันที่มีกลีบดอกสีขาวบริสุทธิ์ตัดกับก้านดอกสีเขียวดูแปลกตา ชื่อของซากุระสายพันธุ์นี้ได้ตามชื่อของเกาะไต้หวันในอดีตที่ชาวยุโรปใช้เรียกเกาะที่สวยงามแห่งนี้ว่า Formosa Island
ลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์ของมุฉะซากุระ เครดิตภาพ : https://blog.goo.ne.jp/rocky63/e/292c3d9eeb7d1448f837e4243e459fc5
และซากุระหายากขั้นปราบเซียนที่แม้แต่ชาวไต้หวันยังตั้งฉายาให้ว่าเป็นซากุระในตำนาน นั่นก็คือ มุฉะซากุระ (霧社桜) ซากุระป่าดอกจิ๋วน่ารัก ในอดีตหากถึงช่วงที่ซากุระสายพันธุ์นี้บานเต็มที่จะมีสีชมพูระเรื่อตัดกับท้องฟ้าสีฟ้าสดมองได้ไม่เบื่อเลยทีเดียว ทว่าจุดเด่นของมุฉะซากุระคือเป็นไม้เนื้อแข็งที่มีความทนทานเป็นอย่างมาก ลำต้นจึงกลายเป็นที่นิยมในการนำมาสร้างที่พักอาศัยและเฟอร์นิเจอร์ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ซากุระสายพันธุ์นี้ลดน้อยลงอย่างมาก
ซากุระ ไม่ได้มีแค่ความงดงามจนผู้คนหลงเสน่ห์ สำหรับคนญี่ปุ่นแล้วยังมีความหมายในแง่ของสัญลักษณ์แห่งชีวิตและการเริ่มต้น ด้วยความแข็งแกร่งของต้นซากุระที่สามารถทนทานต่อความเหน็บหนาวที่ยาวนานแล้วกลับมาเบ่งบานได้อีกในฤดูใบไม้ผลิถัดไป “ซากุระ” จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอักษรคันจิ (桜) ที่คนญี่ปุ่นนำไปตั้งเป็นชื่อตัวให้แก่ลูกหลานอีกด้วย
โฆษณา