21 เม.ย. เวลา 10:44 • ความคิดเห็น

The chasm between rich and poor -Homeless in the Weathy West (DW Documentary)

เป็นสารคดีสั้นของ DW (Deutsche Welle)เพิ่งโพสในยูทูป สัก 1 วันมีคนเข้าฟังมากกว่าห้าแสนครั้ง สารคดีนำเสนอเกี่ยวกับสถานการณ์การสตรีไร้บ้านที่เกิดขึ้นในออสเตรเลียในเมืองใหญ่ๆ เช่นเมลเบิร์น ซิดนีย์ โดยวิธีการนำเสนอก็จะเป็นเล่าถึงประสบการณ์ของผู้หญิง 6 คน ที่ครั้งนึงในชีวิตหรือในปัจจุบันถือว่าเป็นคนไร้บ้าน โดยตัวต้นเรื่องจะเป็นผู้หญิงที่มีความแตกต่างกันในเรื่องของเชื้อชาติ ศาสนา อาชีพ โดยจะเล่าคร่าวๆว่าทำไมถึงได้กลายเป็นคนไร้บ้าน พร้อมๆกับจะนำเสนอทางแก้ไขหรือการตระหนักถึงปัญหานี้ของรัฐไปพร้อมๆกัน
ชื่อเรื่องนี่เน้นว่าช่องว่างระหว่างการเป็นคนไร้บ้านระหว่างคนจนกับคนรวยของคนตะวันตก (เอาจริงเป็นเรื่อง ออสเตรเลียดังนั้นควรจะเรียกว่าของประเทศที่ถือว่าพัฒนาแล้วมากกว่า) สำหรับสตรีต้นเรื่อง 6 คน นี้มีความเหมือนกันสองอย่างคือ โสด อายุเกิน 50 ปีขึ้นไป และไม่เคยมีใครคิดว่าตัวเองจะมาเป็นคนไร้บ้าน ไม่ว่าจะสมัครใจหรือไม่สมัครใจ
มีอยู่ 4 คนที่พลัดมาอยู่ในภาวะไร้บ้านแบบไม่ได้ปราถนา ประมาณว่า วันนึงสามีบอกเราไม่มีเงินแล้ว จากนั้นก็ไม่มีพูดถึงสามีอีก อีกสองคนถูกให้ออกจากงาน ถูกคนรักทิ้ง ป่วย อาการเคราะห์ซ้ำกรรมซัด อีกคนเป็นคุณแม่บ้านร่ำรวยแต่โดนสามีกักขังเหมือนนักโทษและทาสในเรือนเบี้ยสามีทารุณกรรมจนวันนึงตัดสินใจหนีออกจากบ่อกรรมได้ สองคนเป็นขาว อีกคนเป็นคนพื้นเมืองออสเตรเลีย และคนสุดท้ายนี่แน่นอนเอเชียใต้ของเรานี่เอง
สำหรับประเทศพัฒนาแล้วนี่นะ ก็มีความดีของสวัสดิการในสังคมที่มีไว้สำหรับสนับสนุนคนที่บังเอิญเจออุบัติเหตุในชีวิต แต่แน่นอนคนที่จะได้รับการสนับสนุนได้นั้นก็ต้องมีประวัติการจ่ายค่าสมาชิกสมัยตัวเองยังอยู่ในสังคมคนมีงานทำมาก่อนในสภาวะที่ตัวเองยังเป็นหน่วยเศรษฐกิจตามปรกติของสังคม เช่นประกันสังคมในบ้านเรา คนเหล่านี้ก็ได้รับการช่วยเหลือจากสวัสดิการของสังคมในช่วงชีวิตเจอกราฟตกแล้วพยายามหาทางรอดของชีวิตปรับระดับกราฟใหม่
หน่วยงานของรัฐก็มีโครงการจัดหาที่พักอาศัยชั่วคราวในหลายระยะและหลายรูปแบบแต่สำหรับผู้หญิงเท่านั้น อาจเป็นลักษณะแชร์บ้าน อพาร์ทเม้นท์ส่วนตัวที่ทั้งตึกเฉพาะสำหรับผู้อยุ่อาศัยหญิงล้วน หรือที่อยู่อาศัยที่ผู้หญิงเท่านั้นเป็นเจ้าของได้ ลักษณะของสวัสดิการแบบนี้แน่นอนจะต้องสำหรับคนที่มีเงินสวัสดิการรองรับพอที่จะจ่ายค่าเช่าได้ หรือซื้อเองได้ หรืออาจเป็นที่พักช้่วคราวรายวันรายสัปดาห์มีเอาไว้ให้เพื่อคนสามารถฟื้นตัวสามารถกลับเข้าสู่สังคมได้
ส่วนอีกฟากนึงคือสมัครใจจะไม่มีบ้าน คนนึงย้ายจากเยอรมันบอกว่าหนีหนาวและค่าครองชีพหรืออาจสังคม แต่ฟังไปเรื่อยๆจะรู้สึกว่าแกสันโดษไม่อยากยุ่งกับใคร แรกๆก็เช่าบ้านอยู่สบายดี แต่แล้ววันนึงเจ้าของบ้านเช่าบอกให้แกออกไปเหอะเพราะแกสันโดษเกินไม่ยอมพบปะสังสรรค์กับใครๆ แกคงมึนเหมือนกันจ่ายค่าเช่าตรงเวลาแล้วยังต้องไปปะทะสังสรรค์อีกเหรอ แกเลยตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ในรถแวน กินนอนจอดค้่งคืนตามสวนสาธารณะสามปีเห็นจะได้ ช่วงโควิดแกได้กลับไปอยู่บ้านแป๊บนึง นี่ก็ออกมาเดินสายตามสวนสาธารณะอีก แกว่าชีวิตแกดูดีๆก็โรแมนติค
อีกคนนี่เริ่มต้นมีชีวิตเหมือนชีวิตในฝันของคนออสเตรเลียทั่วๆไป แต่แล้วพอลูกอายุกำลังน่ารักแกก็เลิกกับสามีต้องขอเงินค่าเลี้ยงดูลูก คนฝันสลาย แต่สุดท้ายนี้แกเอาตัวรอดมาได้ ลูกๆโตแกมีฟาร์มเป็นกิจการของตนเอง แต่แกเลือกทางที่ไม่อยากมีบ้าน แกตัดสินใจซื้อรถแล้วทำเป็นบ้านเคลื่อนที่เอง สองคนหลังนี่ไร้บ้านเพราะเลือกเอง อันนี้นี่จะเป็นปรากฎการณ์ที่น่ากลัวขึ้นเรื่อยๆเหมือนกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะสังคมที่ค่าดาวน์บ้าน ค่าผ่อนบ้าน ค่าดูแลและรักษาบ้านกับมูลค่าเพิ่มของบ้านเริ่มไม่คุ้มกับความวุ่นวายของชีวิต
บ้านเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ ในสารคดีก็พูดไว้ว่าการมีบ้านนั้นเป็นความมั่นคงของชีวิตประเภทหนึ่งเอาจริงนะรัฐบาลในหลายๆประเทศนี่ถูกวัดผลงานด้วยจำนวนคนไร้บ้านที่มีอยู่ คุณภาพของสังคมก็วัดได้จากปริมาณคนที่มีที่อยู่อาศัยที่ตนเองเป็นเจ้าของ แต่สภาพหลังโควิดนี่ ทำให้ทัศนคติชองคนเกี่ยวกับบ้านและความต้องการของอสังหาริมทรัพย์เปลี่ยนไป อัตราการเกิดอัตราการตายและอายุขัยเฉลี่ยของคนก็ทำให้ทัศนคติของการใช้ชีวิตตามรูปแบบเดิมๆเปลี่ยนไป ไม่รู้กระทรวงความมั่นคงและสวัสดิการประเทศเราทำอะไรบ้างหวังว่าคงมีเรื่องดีๆเช่นกัน
อีกประการหนึ่งสภาพการที่ญี่ปุ่นมีจำนวนบ้านร้างเกิดขึ้นมากมาย มันก็ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับแค่อีกเรื่องที่อีกสี่สิบปีประชากรญี่ปุ่นจะเหลือไม่ถึงแปดสิบล้านคนแค่นั้น แต่อาจเกี่ยวกับสภาวะเงื่อนไขของการจะมี “ที่อยู่อาศัย” อาจไม่ใช่สิ่งที่ทำใ้ห้คนยุคนี้ต้องอดออมเพื่อเป็นเจ้าของทรัพย์นั้นๆอีกต่อไป การที่อิตาลีมีบ้านร้างเยอะหรือกระทั่งในกรุงเทพที่มีบ้านร้างหรือคอนโดที่กลางคืนเปิดไฟจำนวนไม่มากหรือจำนวนผู้พักอาศัยไม่ถึงครึ่งนั้นมีมากมาย ส่อให้เห็นว่าจำนวนที่พักอาศัยมากกว่าจำนวนคนที่ต้องการที่อยู่อาศัยแล้ว
เหตการณ์ต่างๆเหล่านี้น่าจะทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของราคาตลาดอสังหาริมทรัพย์ไปในรูปแบบที่คาดไม่ถึงมาก่อนเช่น อัตราการเพิ่มราคาของอสังหาริมทรัพย์ต่างๆอาจไม่เป็นอย่างในอดีต คนอาจอยู่อาศัยแบบแชร์กันมากขึ้น อาจมีผลิตภัณฑ์ประเภทเจ้าของควบกับไทม์แชร์ริ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่ญี่ปุ่นให้คนไทยเป็นเจ้าของร่วมแล้วกำหนดจำนวนวันเข้าพักให้ผลตอบแทนในแง่ค่าเช่าและมูลค่าเพิ่มของทรัพย์สิน รอดูกันต่อไปแต่คิดว่าโลกที่คนใช้ชีวิตแบบมีสภาพคล่องร้อยเปอร์เซนต์ (cash or near cash assets) น่าจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ รอดูต่อไป
ในคลิปนี่เริ่มต้นเค้าขึ้นประโยคว่า At its cores, homelessness is about absence and loss แต่สังเกตเนื้อหาไม่ได้บอกตรงๆ เพียงแต่ถ้าเรามองลึกๆลงไป สุดท้ายการเป็นคนไร้บ้าน (แบบไม่เต็มใจ)เป็นสภาวะสำหรับคนคนเดียวที่ต้องเผชิญเพียงลำพัง ทำไม? ถ้าต้องเดาคิดว่า คนที่เคยจูงมือกันเลิกจูงแล้วไง ส่วนใหญ่คนพวกนี้จะบอกว่าไม่เคยคิดเลยว่าจะมีวันนี้ ดังนั้น ”อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ โก หิ นาโถ ปโร สิยาอตฺตนา หิ สุทนฺเตน นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ แปล. “ตนแลเป็นที่พึ่งของตน คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งจริงได้“ แสนจะแท้ทรู
โฆษณา