22 เม.ย. เวลา 02:52 • การเมือง

อาชีพ​เก่า 30 นายกรัฐมนตรี​ไทย​

‘เลขที่ 1 ถนนพิษณุโลก’
หนังสือล่าสุด ‘เนติบริกร’ 2 ทศวรรษครึ่ง
ตารางการจำแนกอาชีพของนายกรัฐมนตรีไทย นำมาจากหนังสือเล่มล่าสุดของวิษณุ เครืองาม
วิษณุ เครืองาม คือนักกฎหมายคนสำคัญที่มีประสบการณ์การเมืองมากกว่าใคร เพราะทำงานให้ศูนย์กลางอำนาจหลายยุคหลายสมัย รวมเวลา 25 ปี และนับได้ว่าเป็นผู้ ‘ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง’ เพราะทำงานกับทั้งรัฐบาลจากรัฐประหารและรัฐบาลจากการเลือกตั้ง เพราะเขาเชื่อว่าไม่ว่าใคร (และมาแบบไหน) ที่เข้ามาบริหารล้วนตั้งใจทำงานเพื่อบ้านเมืองในมุมของคนคนนั้น
👉 รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี :
รัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (สมัยที่ 2)
รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน (ทั้ง 2 สมัย)
รัฐบาลพล.อ.สุจินดา คราประยูร (1 สมัย)
👉เลขาธิการคณะรัฐมนตรี :
รัฐบาลชวน หลีกภัย (ทั้ง 2 สมัย)
รัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา (1 สมัย)
รัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ (1 สมัย)
👉รองนายกรัฐมนตรี :
รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร (2 สมัย)
รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (2 สมัย)
ข้อพิเศษอย่างหนึ่ง คือ เขาเป็นนักฎหมายที่เป็นนักเล่าเรื่อง ชอบเขียนหนังสือเล่าเรื่องรัฐบาล-นักการเมือง-การบริหาราชการแผ่นดิน ด้วยความสามารถเฉพาะตัว เขาสามารถวิจารณ์แบบหยิกแกมหยอกพร้อมกับชื่นชมผู้นำรัฐบาลได้เนียนๆ แม้ผู้อ่านจะรู้ได้ว่า มีเรื่องที่เป็น ‘แก่น’ ซึ่งเขาผู้อยู่รอดปลอดภัยมาตลอด 25 ปีจะไม่เล่า แต่ลำพังเพียง ‘เกร็ด’ เล็กๆ น้อยๆ ที่เล่าก็ทำให้สนุกและรู้อะไรต่อมิอะไรในวงอำนาจมากขึ้นบ้าง
หนังสือเล่มล่าสุด ‘เลขที่ 1 ถนนพิษณุโลก’ เล่าเรื่องของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา 2 (2562-2566) ชื่อเรื่องล้อกับทำเนียบรัฐบาลอังกฤษ เลขที่ 10 ถนนดาวนิง ลอนดอน
เล่มนี้พิมพ์กับสำนักพิมพ์คณะรัฐมนตีและราชกิจจานุเบกษา ไม่ได้พิมพ์กับสำนักพิมพ์มติชนเหมือนเล่มก่อนๆ ไม่ว่าจะ ‘ลงเรือแป๊ะ’ ‘หลังม่านการเมือง’ ‘โลกนี้คือละคร’ ‘เล่าเรื่องผู้นำ’ ฯลฯ และไม่ได้จัดจำหน่ายกับสายส่งวางขายตามร้านทั่วไป
เทียบกับ ‘ลงเรือแป๊ะ’ เล่มล่าสุดนี้ถือว่า ‘น่าเบื่อกว่ามาก’ ด้วยเหตุนี้หรือเหตุไหนไม่เป็นอันทราบทางมติชนจึงไม่ได้เป็นผู้จัดพิมพ์ ปกติแล้ววิษณุเม้ามอยเก่ง แต่เล่มนี้เรียกว่าน้อย และไม่พบอะไรที่แหลมคมมากนัก อาจเพราะเป็นรัฐบาลประยุทธ์ 2 ที่ไม่มีอะไรให้ตื่นเต้นเหมือนรัฐบาลประยุทธ์ 1 ยุคที่เป็น คสช.
หรืออาจเป็นความเจ็บป่วย เหนื่อยล้าของผู้เขียนที่ทำงานหนักมายาวนาน และมักบอกกล่าวในหนังสือตั้งแต่เล่มลงเรือเป๊ะแล้วว่า ไม่คิดจะดำรงตำแหน่ง แต่ก็มักถูกทาบทามอย่างยากจะปฏิเสธ เล่มนี้ก็เช่นกันหลังจบยุครัฐบาล คสช. วิษณุคิดจะพักผ่อน ท่องเที่ยว แต่แล้วก็ ‘เซอร์ไพรส’ (อีกแล้ว) ว่าจู่ๆ ก็ได้รับราชื่อ ครม.มาตรวจสอบคุณสมบัติและพบชื่อตัวเองอยู่ในนั้น
“ผมถือบัญชีรายชื่อไปถามท่านว่าเอาแน่หรือครับ ที่นั่งแต่ละที่ ตำแหน่งแต่ละตำแหน่ง มีคนเล็งกันอยู่ทั้งนั้น คืนให้ สส.ไปเป็นกันเถอะครับ แค่นี้ก็แบ่งกันไม่พอแล้ว ท่านตกใจอุทานว่านึกว่าเคยบอกไว้แล้ว แต่เอาเถอะ เป็นไปก่อนแล้วกัน ผมออกตัวว่ามีปัญหาสุขภาพ ท่านบอกว่าถ้าไม่ล้มหนอนนอนเสื่อก็ช่วยๆ กันไปก่อน พี่ป้อม พี่ป๊อก อาจารย์สมคิด (จาตุศรีพิทักษ์) ยังอยู่ช่วยผมเลย”
เล่มลงเรือเป๊ะ วิษณุตั้งชื่อเรื่องล้อกับลักษณะของ คสช. เพราะผู้คนมักเปรียบรัฐบาลกับเรือเป็น ‘รัฐนาวา’ และเรือรับจ้างสมัยก่อนจะมีคนจีน ‘ตาเป๊ะ’ ที่ดุมาก ชอบเอ็ดผู้โดยสาร เรือของ คสช.จึงเป็นเรือเป๊ะ มาถึงรัฐบาลประยุทธ์ วิษณุให้สมญาใหม่เป็น ‘เรือเหล็ก’ พร้อมกระเซ้าว่า แม้จะดูแข็งแรง แต่มักเกิด ‘สนิมเนื้อใน’
“มีผู้สื่อข่าวไปถามคุณอนุทินเรื่องนี้ คุณอนุทินหัวเราะก๊ากตามประสาคนอารมณ์ดี ตอบว่า โอ๊ย! อาจารย์วิษณุแกรู้แต่กฎหมาย ไม่รู้เรื่องช่างเรื่องก่อสร้าง ผมสิเป็นช่างทำเรื่องก่อสร้างมามาก เวลาสร้างเขาใช้เหล็กกล้าจึงไม่เป็นสนิม แต่ถ้าจะมีสนิมเกาะบ้าง เขามีน้ำยาโซแนกซ์ฉีดพ่นกันสนิม เรือนลำนี้จึงไม่ผุไม่ล่มหรอก”
เนื้อเรื่องส่วนใหญ่เป็นเหมือนการบันทึกเหตุการณ์สำคัญทั้งสถานการณ์โลกและสถานการณ์ไทย บันทึกคดีที่ประยุทธ์โดนทั้ง 4 คดี พร้อมๆ กับการเขียนถึงหลักการบริหารราชการตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และดูจะเน้นประชาสัมพันธ์ผลงานรัฐบาลในด้านต่างๆ รวมถึงอธิบายความยากลำบากช่วงโควิดแทนรัฐบาลเสียมาก
ตลอดทั้งเล่ม แทบไม่พูดถึงการลุกฮือชุมนุมประท้วงเรียกร้องเรื่อง ‘ปฏิรูปกษัตริย์’ ของคนหนุ่มสาว จะมีบ้างก็พูดเป็นแบ็คกราวน์ของการบริหารช่วงม็อบ ซึ่งวิษณุแปล flash mob เป็นภาษาไทยสไตล์เขาว่า ‘ม็อบแดดเดียว’
อย่างไรก็ดี ข้อที่น่าสนใจคือ การบันทึกการตอบคำถามของตนเองเวลาที่ต้องไปเลกเชอร์กฎหมายในสถาบันต่างๆ ช่วงท้ายมักมีคนยกมือถามวิษณุ คำถามหนึ่งคือ “รู้สึกอย่างไรที่ถูกเรียกว่า เนติบริกร”
“ที่จริงผมชอบนะ ที่สื่อตั้งฉายาหรือสมญาให้ว่า เนติบริกร เพราะเราเป็นศาสตราจารย์ด้านกฎหมาย เป็นราชบัณฑิตทางกฎหมาย และเป็นรองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย จะให้เขาเรียกว่า นายทุน ขุนศึก ศักดินา มือเศรษฐกิจ หรือเซียนการเมือง ได้อย่างไร เราก็ทำหน้าที่ของเราไป”
วิษณุขยายความว่า หน้าที่ของเขาในรัฐบาลคือ 1.ช่วยกลั่นกรองตรวจสอบร่างกฎหมายของรัฐบาล 2.ตีความปัญหากฎหมายเบื้องต้น ก่อนส่งกรณีที่ซับซ้อนให้กฤษฎีกา 3.ให้คำแนะนำกฎหมายและวิธีปฏิบัติราชการและประเพณีทางการเมืองแก่นายกฯ รัฐมนตรี และข้าราชการประจำ 4. ถ้ารัฐบาลถูกฟ้องร้องก็ช่วยให้คำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่
“อย่างนี้ถ้าไม่เรียกเนติบริกรแล้วจะเรียกอะไร แต่รับรองว่าไม่ใช่บ๋อย หรือสุนัขรับใช้ หลับหูหลับตาทำตามที่เขาสั่งทุกเรื่องเสมอไป เพราะบางทีผมเสียอีกที่แนะหรือขอให้คนอื่นยอมปฏิบัติตามมากกว่าจะยอมทำตามที่เขาสั่งมา เรื่องอย่างนี้ผมก็มีศักดิ์ศรี ความรู้และจริยธรรมหรือจรรยาบรรณในการทำหน้าที่ ต้องว่ากันตามตัวบทกฎหมาย ต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ แต่หากบอกกล่าวกันแล้ว แนะนำกันแล้ว คุณไม่เชื่อก็ช่างคุณ”
“มีเหมือนกันที่เกิดความผิดพลาดขึ้น ส่วนใหญ่เกิดจากการนำปัญหาเข้าสู่ที่ประชุม ครม.แบบวาระจร คือ ไม่มีใครเตรียมเนื้อเตรียมตัวมาก่อน ผมเองก็กางตำราไม่ทัน อีกประเภทหนึ่งคือ เพราะนายกฯ หรือเสียงข้างมากจะเอาอย่างนั้นให้เได้ เรียกว่าตั้งธงไว้แล้วขวางไม่อยู่ และประเภทสุดท้ายคือ ผิดพลาดโดยสุจริต เพราะความไม่รู้ไม่เข้าใจจริงๆ”
สำหรับเกร็ดต่างๆ ที่ปรากฏในหนังสือซึ่งพอจะมีให้ผู้อ่านบันเทิงอยู่บ้างและสะท้อนวิธีคิดของผู้เขียนไปด้วยในตัว ก็เช่น
โฆษณา