22 เม.ย. เวลา 11:39 • ท่องเที่ยว

ปฐมบทแห่งเบี้ยแก้ "หลวงปู่รอด วัดนายโรง"

ประวัติหลวงปู่รอด
หลวงปู่รอด วัดนายโรง ตามประวัติความเป็นมาของท่าน ทราบแต่เพียงว่าพื้นเพของท่านเป็นชาวบ้านบางพรหม ตลิ่งชัน
เมื่ออายุครบบวช ได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดเงิน หรือ วัดรัชฎาธิษฐาน ในคลองบางพรหม ซึ่ง วัดเงิน นั้นได้ชื่อว่าเป็นสำนักวิปัสสนากัมมัฏฐานที่ขึ้นชื่อมากในยุคนั้น จึงทำให้สันนิษฐานว่าท่านได้ศึกษาเล่าเรียนเกี่ยวกับวิปัสสนากัมมัฏฐานในสำนักนี้ก่อนจะย้ายไปพำนักจำพรรษาที่วัดนายโรง
ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดนายโรง เป็นรูปที่ ๒ ในเวลาต่อมา และได้เป็นพระอุปัชฌาย์ อุปสมบทให้แก่กุลบุตร นับแต่ชั้น พ่อ ลูก หลาน ของแต่ละตระกูลในแถบย่านคลองบางกอกน้อย คลองชักพระ ตลิ่งชัน บางระมาด บางพรม บางกรวย บางใหญ่ บางคูเวียง ท่านจึงมีลูกศิษย์ลูกหาเป็นจำนวนมาก
หลวงปู่รอด วัดนายโรง
หลวงปู่รอดเป็นพระเถระที่สำคัญองค์หนึ่งในย่านคลองบางกอกน้อย ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านวิปัสสนา กัมมัฏฐาน และมีเกียรติคุณเป็นพิเศษในทางพุทธาคมและเวทย์วิทยาคม
จากการสืบค้นตามประวัติ พอสืบหาได้ว่า วิชาการทำเบี้ยแก้ของท่านได้ศึกษามาจาก หลวงปู่แขก วัดบางบำหรุ ซึ่งท่านเป็นพระคณาจารย์ยุคเก่า มีอาวุโสใกล้เคียงกับ หลวงปู่ทอง วัดกลางบางแก้ว ก่อนที่ท่านจะธุดงค์จากลุ่มน้ำนครชัยศรี และมาพำนักที่วัดบางบำหรุ ทำให้เบี้ยแก้ของสำนักวัดนายโรง และสำนักวัดกลางบางแก้ว จึงมีความละม้ายคล้ายกัน อันด้วยอาจมีต้นตอหรือแหล่งกำเนิดจากสำนักเดียวกันก็เป็นได้
หลวงปู่รอดท่านได้ถึงแก่มรณภาพเมื่อประมาณ
ปี พ.ศ.๒๔๗๒ รวมสิริอายุ ๘๐ ปี โดยประมาณ
เบี้ยแก้หลวงปู่รอด วัดนายโรง ได้รับการยกย่องว่าเป็นปฐมบทแห่งเบี้ยแก้ทั้งปวง แม้ตำรับวิชาว่าด้วยการสร้างเบี้ยแก้จะมีมาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา และตกทอดมารุ่นต่อรุ่นแต่ประจักษ์พยานเป็นรูปธรรมไม่ปรากฎให้เห็นอย่างชัดเจนโดยเฉพาะตัวเบี้ยแก้ยังไม่เคยปรากฎให้พบเห็นมาก่อน ดังนั้นจึงยกเครดิตให้ท่านว่าเป็นปฐมบท เพราะนับเป็นเบี้ยแก้สำนักแรกที่ปรากฎในสารบบ
ถือว่าเป็น เครื่องรางอมตะ จนมีคำกล่าวว่า หมากดี ต้องวัดหนัง เบี้ยขลัง ต้องวัดนายโรง เบี้ยแก้หลวง ปู่รอด เป็นหนึ่งในเบญจภาคีที่ได้รับความที่นิยมสูงสุดในปัจจุบัน จัดเป็นเครื่องรางสารพัดดี มีพุทธานุภาพเข้มขลัง ใช้สำหรับแก้และป้องกันคุณไสย ภูตผี ปีศาจ สัตว์ที่มีพิษ เป็นเครื่องรางเมตตา และมหานิยมอีกด้วย
เบี้ยแก้ หลวงปู่รอด
ประวัติวัดนายโรง
วัดนายโรง เป็นวัดราษฎร์ ปัจจุบันตั้งอยู่เลขที่ ๖๙๒ ถนนบรมราชชนนี ๑๕ แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ในบริเวณด้านหลังของเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า สังกัดมหานิกาย สร้างขึ้นในต้นสมัยรัชกาลที่ ๔ (ประมาณปี ๒๔๐๓) โดย นายกรับ ซึ่งเป็นนายโรงละคร ภายหลังมีจิตศรัทธาสร้างวัดขึ้นในภูมิลำเนาเมื่อแล้วเสร็จจึงตั้งชื่อว่า วัดละครทำ ภายหลังทราบว่าชื่อวัดไปพ้องกับ วัดละครทำ ที่อยู่ย่านพรานนก จึงเปลี่ยนชื่อเสียใหม่เป็น วัดนายโรง
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่เป็น วัดสมัชชผล แต่ชาวบ้านยังคงนิยมเรียกติดปากว่า วัดนายโรง หรือ วัดนอก คู่กับ วัดใน หรือ วัดบางบำหรุ
วัดนายโรง
สถานที่ตั้งและการเดินทางมาที่วัด
ที่ตั้งของวัดด้านหน้าทิศตะวันตกจรดคลองบางกอกน้อย ทิศตะวันออกจรดคูน้ำกั้นระหว่างที่ของเอกชนกับโรงเรียนวัดนายโรง ทิศเหนือจรดคูน้ำกั้นระหว่างที่ของเอกชน และทิศใต้จรดคลองบางบำหรุ
การเดินทางมาที่วัดสามารถมาได้ทั้งทางบกและทางเรือ ถ้ามาทางบกหรือรถยนต์ให้เข้าตรง ซอยบรมราชชนนี ๑๕ หรือ ๑๗ ผ่านหมู่บ้านพันธ์ศักดิ์ เลี้ยวซ้ายตรงมาเรื่อย ๆ จนถึงแนว กำแพงวัดบางบำหรุ แล้วให้เลี้ยวขวาไปตามแนวถนนจนสุดซอย
ส่วนทางเรือ สามารถขึ้นเรือหางยาวจากท่าช้างเส้นทางที่จะไปบางกรวยหรือบางใหญ่ คลอง ชักพระ คลองมหาสวัสดิ์ เรือจะวิ่งผ่านหน้าวัดนายโรง แล้วขึ้นที่ท่าจอดเรือวัดนายโรง
โฆษณา