23 เม.ย. เวลา 02:39 • การเมือง

เส้นทางสู่ ‘ผู้ถือดาบ’

เปิดกระบวนการสรรหา ป.ป.ช.
เป็นกระแสฮือฮาอย่างมาก กรณี ‘บิ๊กโจ๊ก’ สุรเชษฐ์​ หักพาล รอง ผบ.ตร.ทำหนังสือขอคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ของ ‘สุชาติ ตระกูลเกษมสุข’ หนึ่งใน ป.ป.ช. ที่จะต้องดูแลคดีบิ๊กโจ๊กและพวกที่เกี่ยวพันกับเว็บพนันออนไลน์ โดยระบุว่าเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน
เนื้อหาที่ชี้แจงความไม่เหมาะสมของ ป.ป.ช.คนดังกล่าวน่าสนใจอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพราะโกรธเคืองกันเรื่องอะไร แต่เพราะมีการพาดพิง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เนื่องจากบิ๊กโจ๊กเคยพาสุชาติเมื่อครั้งเพิ่งสมัครเป็น ป.ป.ช.เข้าพบ เพื่อขอให้สนับสนุนการดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช.
ป.ป.ช.เป็นองค์กรอิสระที่มีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 และเป็นที่รับรู้กันว่าเป็น ‘มือฟัน’ นักการเมืองมานักต่อนัก อำนาจมีมากขนาดว่า หากอัยการเห็นควร ‘ไม่ฟ้อง’ ในคดีใด ป.ป.ช.ก็สามารถเป็นโจทก์ส่งฟ้องต่อศาลเองได้ ในขณะที่หลายเรื่องที่ผู้คนอยากให้เป็นคดี อย่างคดีฟ้องร้องผู้รับผิดชอบออกคำสั่งสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 ป.ป.ช.ก็สามารถปัดตกได้โดยง่ายและเป็นอันสิ้นสุดกระบวนการ
จนปัจจุบันมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีแก้กฎหมาย ป.ป.ช.ให้อัยการมีอำนาจฟ้องต่อเองได้ และเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการ แม้ ป.ป.ช.จะปัดตกก็ตาม นอกจากนี้ ป.ป.ช. ไม่จำเป็นต้อง passive ทำเฉพาะการทุจริตที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ยังสามารถ ‘ชี้นำ’ นโยบายของรัฐบาลก่อนจะลงมือทำได้ด้วย เช่น นโยบายดิจิทัลวอลเล็ท เป็นต้น
ด้วยเหตุที่สปอตไลท์ส่อง ป.ป.ช.อย่างหนัก ‘วอยซ์’ จึงรวบรวมข้อมูลเพื่อทำความรู้จัก เส้นทางการได้มาของ ป.ป.ช.อีกครั้ง
เริ่มต้นผู้ที่จะสมัครเป็น ป.ป.ช. จะต้องผ่าน ‘คณะกรรมการสรรหา’ ซึ่งประกอบด้วย 9 คน (จะกล่าวถึงต่อไป) ก่อนจะส่งชื่อให้ สว.อนุมัติหรือปัดตก แม้ สว.จะไม่ใช่คนเลือกแต่ต้น แต่ก็มีส่วนอย่างมากในการเลือก เพราะหากปัดตกก็จะต้องคัดเลือกกันใหม่แต่ต้น คนที่ถูกปัดตกจะสมัครใหม่ไม่ได้ ที่ผ่านมา เคยมีการปัดตกผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในด่าน สว.มาแล้ว อย่างน้อย 5 ครั้ง ได้แก่
1. สถาพร วิสาพรหม
รองประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ที่ถูกปัดตกไม่ได้เป็น ป.ป.ช. แม้จะผ่านขั้นตอนสุดเข้มเอาชนะคู่แข่งกว่า 21 คนมาได้ เหตุเพราะ ‘บัตรสนเท่ห์’ ที่ลงชื่อผู้ช่วยผู้พิพากษารุ่นที่ 29 รุ่นเดียวกับสถาพร ร้องเรียนว่า สถาพรไม่มีคุณสมบัติ เนื่องจากไม่เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลใดมาก่อนตามกฎหมายกำหนด
2. ศ.อารยะ ปรีชาเมตตา
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูก สว. ปัดตกไม่ให้ดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช. โดยสำนักข่าวอิศราอ้างแหล่งข่าวจากวุฒิสภาเปิดเผยว่า มีคนส่งเรื่องร้องเรียนมายังกรรมการตรวจสอบประวัติฯ โดยอ้างว่า ศ.อารยะ มีพฤติการณ์และแนวคิดทางการเมืองตรงข้ามฝ่ายอนุรักษ์นิยม จึงนำไปสู่การอภิปรายในที่ประชุมลับ กระทั่งที่ประชุม ส.ว. มีมติไม่เห็นชอบในที่สุด
3. วิษณุ วรัญญู
รองประธานศาลปกครองสูงสุด ถูก สว.ปัดตก ไม่เห็นชอบดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด สร้างความคลางแคลงใจของผู้คนในสังคม เนื่องจากวิษณุถือเป็นบุคคลที่มีผลงานวิชาการมากมาย และเป็นนักกฎหมายมหาชนผู้เอกอุ ไม่มีปัญหาคุณสมบัติใดๆ อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้วิษณุถูกโจมตีจากกรณีเคยเป็นประธานงานแต่งงานให้กับ ปิยบุตร แสงกนกกุล หลายฝ่ายคาดว่าอาจเป็นชนวนเหตุของการปัดตกครั้งนี้
4. รัชนันท์ ธนานันท์
อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ถูก สว.ปัดตก ไม่เห็นชอบดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด โดยสำนักข่าวอิศราเคยรายงานข่าวว่า เหตุที่ สว. ปัดตก อาจเพราะเมื่อปี 2558 เมื่อครั้งรัชนันท์ยังเป็นทูต เคยไปต้อนรับและถ่ายภาพคู่กับทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ตอนไปเยือนฟินแลนด์
5. พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง
ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ถูก สว. ตีตก ชวดนั่งเก้าอี้ ป.ป.ช. แม้จะผ่านด่านกรรมการสรรหามาแล้ว โดยให้เหตุผลว่า ตำแหน่งทางราชการ ไม่เทียบเท่าตำแหน่งอธิบดี แม้จะมีการตรวจสอบกันแล้วในขั้นตอนของการพิจารณาของคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติฯ
อันที่จริงสื่อมวลชนโจษจันกันมานานแล้วว่า สว.นั้นเหมือนจะมี ‘สายใครสายมัน’ เช่น กรุงเทพธุรกิจวิเคราะห์กรณี พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ไว้ว่า “ล็อกถล่มหลัง สว. โหวตคว่ำ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ชวดนั่งกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งที่ถูกจับจ้องว่ามีพลังพิเศษจาก ‘ลุง’ คอยสนับสนุน ทว่าอีกหนึ่ง ‘ลุง’ อาจจะไม่แฮปปี้ หาก พล.ต.ท.ธิติ เข้าวิน เพราะยืนอยู่คนละฝั่ง หากปล่อยอาจจะเป็นหนามยอกอก” และยังมีบทวิเคราะห์อื่นๆ อีกมากมาย
📌 ป.ป.ช. คือใคร สรรหาอย่างไร
● ป.ป.ช. ประกอบด้วยกรรมการ 9 คน ซึ่งจะต้องผ่าน 1.คณะกรรมการสรรหา 2.วุฒิสภา
● คณะกรรมการสรรหา มี 9 คน ประกอบด้วยประธานศาลฎีกา, ประธานสภาผู้แทนราษฎร, ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร, ประธานศาลปกครองสูงสุด, และบุคคลจากองค์กรอิสระ ที่ไม่ใช่ ป.ป.ช.
📌 ด่านหินสรรหา กรรมการ ป.ป.ช.
● ประกาศรับสมัคร รวมทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการสรรหา ระยะเวลาการเปิดรับสมัคร
● ส่งรายชื่อผู้สมัคร ไปตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครจาก 32 หน่วยงาน และการตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์จาก 19 หน่วยงาน
● คณะกรรมการสรรหา พิจารณาวินิจฉัยคุณสมบัติของผู้สมัคร ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 มาตรา 9 วรรค 2 และมาตรา 10 และลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 11
● คณะกรรมการสรรหารให้ผู้สมัครได้แสดงความเห็นเรื่องเกี่ยวกับ ‘หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ’ หรือสัมภาษณ์ผู้สมัคร โดยกำหนดเวลาการแสดงความเห็นหรือการสัมภาษณ์ คนละไม่เกิน 20 นาที แบ่งเป็น แสดงความเห็น 10 นาที และ/หรือ สัมภาษณ์ 10 นาที
● คณะกรรมการสรรหาลงคะแนน โดยอาจจะปรึกษาหารือโดยวิธีการประชุมลับก่อนการลงมติคัดเลือกในแต่ละรอบก็ได้ การลงคะแนน มี 2 แนวทาง คือ ลงคะแนนโดยเปิดเผย และให้กรรมการสรรหาแต่ละคนบันทึกเหตุผลในการเลือกไว้ด้วย หรือใช้ใบลงคะแนนที่สำนักเลขาธิการวุฒิสภาจัดทำขึ้น
● การลงคะแนน สามารถทำได้ถึง 3 รอบ ดังนี้
รอบที่หนึ่ง - กรรมการสรรหาแต่ละคน ลงคะแนนได้ไม่เกินจำนวนที่ต้องการสรรหา (หากสรรหาแค่ 1 คน ก็ลงได้แค่ 1 คะแนน) โดยผู้ชนะรอบแรกต้องได้รับคะแนนเสียง 2 ใน 3 (ต้องได้รับ 6 คะแนน)
รอบที่สอง - ถ้าไม่มีผู้สมัครคนใดได้รับคะแนนเสียง 2 ใน 3 ให้ลงคะแนนใหม่
รอบที่สาม - ถ้าไม่มีผู้สมัครคนใดได้รับคะแนนเสียง 2 ใน 3 ให้ดำเนินการสรรหาใหม่
● คณะกรรมการสรรหาส่งชื่อ ‘บุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ ป.ป.ช.’ 1 คน ต่อวุฒิสภาเพื่อให้พิจารณาเห็นชอบต่อไป
● ผู้ได้รับการสรรหาเป็น ป.ป.ช. ต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา ด้วยคะแนนเสียง ‘ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง’ ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
● ในกรณีที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบ ให้ดําเนินการสรรหาบุคคลใหม่ โดยผู้ซึ่งไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาในครั้งนี้ จะเข้ารับการสรรหาในครั้งใหม่ไม่ได้
● ประธานวุฒิสภา นําความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการ และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
โฆษณา