23 เม.ย. เวลา 03:03 • ความคิดเห็น

ช่างอิจฉาพวกที่โชคดีเสียนี่กระไร

ผมมีโอกาสฟังพอดคาสต์ coming of age ของ the cloud ในการสัมภาษณ์พี่เล็ก บุษบา ดาวเรือง แห่งแกรมมี่
พี่เล็กยังดูสดใส มีพลังความคิดสร้างสรรค์ มีความสุขกับการทำงานแม้ในวัยที่ย่างเจ็ดสิบแล้ว ผมได้มีโอกาสรู้จักพี่เล็กในช่วงสั้นๆที่ผมทำงานที่แกรมมี่ พี่เล็กเป็นคนที่ร่าเริง มีทัศนคติในการมองโลกที่บวกมากๆ และดูสนุกกับทุกงานที่ได้ทำ
ในบทสัมภาษณ์พี่เล็กนั้น พี่เล็กชอบพูดว่าตัวเองนั้นโชคดีอยู่บ่อยครั้ง โชคดีที่ได้เจอเพื่อนที่ดี ได้เจอเจ้านายที่ดี ทำงานก็ได้เจอกัลยาณมิตรที่ดีจนทำให้พี่เล็กมีวันนี้
พี่เล็กชอบใช้คำว่า “พระเจ้าจัดสรร” ซึ่งเป็นคำเดียวกับที่คุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรมเจ้านายพี่เล็กที่แกรมมี่อีกทีชอบใช้ คุณไพบูลย์ก็เป็นคนที่ชอบพูดว่าตัวเองโชคดีอีกเช่นกัน
โชคดูเหมือนจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานอย่างพี่เล็กและคุณไพบูลย์ ถ้าเช่นนั้นคนที่โชคไม่ดีก็โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็น่าจะยากอยู่ไม่น้อย
1
แล้ว “โชคดี” นี่มันสามารถเสาะแสวงหาได้หรือไม่ หรือว่าต้องเป็นพระเจ้าจัดสรรแต่อย่างเดียว หลายคนที่รู้สึกว่าตัวเองโชคไม่ดีนักคงมีคำถามแบบนี้อยู่ในใจ
มีหนังสือชื่อ luck factor ที่เขียนโดย โปรเฟสเซอร์ ริชาร์ด ไวสแมนเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งโปรเฟสเซอร์ไวสแมนที่ทำงานวิจัยอย่างจริงจังด้วยการศึกษาคนหลายพันคน ทั้งคนที่ให้คะแนนตัวเองว่าเป็นคนโชคดี มีโชคปานกลาง และโชคร้าย โดยจากงานวิจัยนั้น โปรเฟสเซอร์ไวส์แมนพบว่า คนที่โชคดีนั้นมีลักษณะคล้ายกันอยู่สี่ประการที่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของความ “โชคดี” ได้
ประการแรก คนโชคดีนั้นมักจะวิ่งหาโอกาสใหม่ที่เข้ามาเสมอ ไม่แน่ใจอะไรก็มักจะลองทำไปก่อน มีความยืดหยุ่นสูงไม่ยึดติดกับวิธีการมากนัก ลองผิดลองถูกแล้วค่อยๆหาทางที่ใช่
ส่วนคนที่คิดว่าตัวเองโชคร้ายมักจะออกแนววางแผนให้รอบคอบอย่างที่สุด ต้องชัวร์มากๆถึงค่อยทำ คนที่โชคดีมักจะมีบุคลิกที่เปิดกว้าง เป็นมิตร ดูมีความสนุก ผ่อนคลาย และพูดคุยพบเจอกับคนแปลกหน้าอยู่บ่อยๆ คนทั่วไปก็มักจะชอบคุยด้วย พอเจออะไรเยอะก็มักจะมีโอกาสเข้ามา มีโอกาสก็มักจะลองๆ ไปก่อน
เป็นลักษณะที่คนโชคดีนั้นมีคล้ายๆกัน
ประการที่สอง คนที่โชคดีนั้นมักจะตัดสินใจอะไรโดยใช้ guts feeling เป็นส่วนใหญ่ ใช้ความรู้สึกเป็นตัวนำ รู้สึกว่าอันไหนใช่ก็จะมุ่งไปทางนั้น ถ้ารู้สึกว่าไม่ใช่ ต่อให้ข้อมูลดูจะไปทางตรงข้ามก็จะไม่ทำ 80% ของคนที่คิดว่าตัวเองโชคดีในงานวิจัยใช้วิธีคิดแบบนี้
ประการที่สาม คนที่โชคดีจะมองโลกในแง่ดี (optimist) รู้สึกมั่นใจว่าตัวเองโชคดี ลองทำอะไรไปเดี๋ยวก็หาทางเอาตัวรอด หรือ “พระเจ้าก็น่าจะเข้าข้างเรา” ได้
คุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม อากู๋แกรมมี่ของผมเป็นตัวอย่างในเรื่องนี้อย่างชัดเจน แม้ในตอนที่มืดมิดที่สุดที่ดูเหมือนไม่มีทางออก ผมยังจำได้ว่าคุณไพบูลย์พูดขึ้นมาในวันที่ทุกคนสิ้นหวังว่า ตอนนี้คิดไม่ออกแต่เดี๋ยวพระเจ้าก็เข้าข้างเราเอง ซึ่งพอเวลาผ่านไป ทางออกที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีก็มาถึง ซึ่งเดิมผมก็คิดว่าคุณไพบูลย์นี่ช่างโชคดีเสียจริงๆ แต่พอมาฟังงานวิจัยนี้ก็เริ่มคิดกลับทางว่า เพราะคุณไพบูลย์มองโลกในแง่ดีมีความหวังต่างหากที่ทำให้ เกิดพลังที่ไม่ยอมแพ้ไปง้างประตูแห่งโชคไม่ให้ปิดลง
ประการที่สี่ คนที่โชคดีมักจะมีความอึดถึกทน ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ (resilience) ด้วยทัศนคติล้มลุกเรียนรู้ คิดว่าเหตุการณ์ร้ายๆมักจะมีเรื่องดีซ่อนอยู่ในนั้นเสมอ ประมาณทัศนคติแบบ quote ของคุณ seligman ที่กล่าวไว้ว่า “ optimists endure the same storms in life as pessimists but they weather them better and emerge from them better off “
มีทัศนคติแบบที่เรียกว่า growth mindset เมื่อเทียบกับคนที่คิดว่าตัวเองโชคร้ายที่มีแนวโน้มจะมี mindset แบบ fixed เป็นส่วนใหญ่
1
พอได้มาอ่านหลักการสี่ข้อของคนโชคดีจากงานวิจัยแล้วย้อนมามองพี่เล็ก บุษบา และคุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรมแห่งแกรมมี่ก็เริ่มเห็นชัดว่า พี่เล็กและคุณไพบูลย์มีสี่ข้อนี้อย่างชัดเจน ทั้งคู่เป็นคนสนุกสนาน มีเพื่อนฝูงหลากหลายวงการ มีความยืดหยุ่นสูง ลองอะไรใหม่ๆอยู่เรื่อยๆ ไม่ยึดติดกับกรอบใดๆ ตัดสินใจอะไรก็ใช้ความรู้สึกมาโดยตลอด ( แน่นอนว่าธุรกิจอย่างแกรมมี่ที่เป็นศิลปะ ความรู้สึกมาก่อนเหตุผลอยู่บ่อยครั้ง)
ทั้งคู่มองโลกในแง่ดีอย่างสุดๆ แม้แต่ช่วงที่แย่มากๆก็คิดว่าเดี๋ยวพระเจ้าก็เข้าข้าง ไม่เคยยอมแพ้เมื่อถึงทางตัน และทั้งคู่ก็ประกาศตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าตัวเองช่างเป็นคนโชคดีเสียเหลือเกิน
พอมองโชคดีอย่างเป็นวิทยาศาสตร์เหมือนหนังสือ luck factor ความคิดที่มีต่อเรื่อง “โชค” เดิมที่คิดว่าเป็นเรื่องที่แล้วแต่ชะตาของแต่ละคนนั้นอาจจะไม่ใช่อย่างที่คิดก็ได้ เราอาจจะสามารถเพิ่มความโชคดีให้กับชีวิตเราได้ถ้าลองสังเกตและเปลี่ยนวิธีคิดและการกระทำบางอย่างจากหลักการสี่ข้อนี้
เพราะในที่สุดแล้วก็เคยมีคนให้สมการ “โชคดี” ไว้ว่า โชคนั้นประกอบด้วย การเตรียมพร้อม (preparation) บวกกับโอกาส (opportunity) ซึ่งทั้งคู่ก็อยู่ในวิสัยที่เราจะสร้างมันขึ้นมาได้ไม่มากก็น้อย…
ขอให้ทุกท่าน”โชคดี” ปีใหม่ไทยนะครับ
โฆษณา