23 เม.ย. เวลา 03:34 • ไลฟ์สไตล์

ปีจูเลียน (Julian Year)

เป็นระบบการนับปีที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์และการคำนวณทางดาราศาสตร์ โดยถูกนำมาใช้ครั้งแรกในสมัย “จูเลียส ซีซาร์” จักรพรรดิแห่งโรมัน เมื่อประมาณ 45 ปีก่อนคริสตกาล
ซึ่งเดิมทีโรมันใช้ปฏิทินแบบจันทรคติที่มีความคลาดเคลื่อนและไม่สอดคล้องกับฤดูกาลตามธรรมชาติ จูเลียส ซีซาร์จึงปฏิรูปมาใช้ปฏิทินสุริยคติแทน โดยอ้างอิงการคำนวณตามคำแนะนำของโซซิเจเนส นักดาราศาสตร์ชาวกรีก
ปีจูเลียนประกอบด้วย 365.25 วัน ใกล้เคียงกับความยาวของปีตามการโคจรรอบดวงอาทิตย์จริง (365.2422 วัน) โดยในทุกๆ 3 ปี จะมี 365 วัน และในปีที่ 4 จะเป็นปีอธิกสุรทิน มี 366 วัน เพื่อชดเชยส่วนต่างที่เกิดจากการปัดเศษทิ้ง
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ปีจูเลียนมีความแม่นยำและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติมากกว่าปฏิทินอื่นๆ ในยุคนั้น
อย่างไรก็ตาม ความยาวปีตามปฏิทินจูเลียนก็ยังคงยาวกว่าความเป็นจริงอยู่ 11 นาที 14 วินาที ส่งผลให้เกิดความคลาดเคลื่อนประมาณ 1 วันในทุกๆ 128 ปี
ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปนานๆ วันในปฏิทินก็จะไม่ตรงกับฤดูกาลอีกต่อไป
จนกระทั่งในปี 1582 สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 13 จึงได้ทำการปฏิรูปมาใช้ปฏิทินเกรกอเรียนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีการปรับแก้ให้เที่ยงตรงยิ่งขึ้น
ถึงแม้ปัจจุบันจะไม่ได้ใช้ปฏิทินจูเลียนอย่างเป็นทางการแล้ว แต่ระบบปีจูเลียนก็ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการคำนวณเวลาทางดาราศาสตร์
องค์กรดาราศาสตร์ระหว่างประเทศ (IAU) ได้นิยามวันจูเลียน (Julian date) เป็นตัวเลขที่ใช้ระบุช่วงเวลาที่ผ่านไปตั้งแต่เที่ยงของวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 4713 (ปีจูเลียน -4712) ตามเวลาสากล
ซึ่งวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2000 จะมีค่าวันจูเลียนเป็น 2451545.0 การใช้หน่วยวันแบบต่อเนื่องเช่นนี้ช่วยให้การคำนวณทางดาราศาสตร์ทำได้ง่ายและแม่นยำขึ้น
เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการบันทึกเวลาของปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ต่างๆ จนถึงปัจจุบัน
ปีจูเลียนจึงเป็นหลักชัยสำคัญของวิวัฒนาการแห่งปฏิทินโลก นับเป็นก้าวแรกของมนุษยชาติในการพยายามประสานจังหวะกาลเวลาให้สอดรับกับจังหวะธรรมชาติ
แม้ยังไม่สมบูรณ์แบบนัก แต่ก็วางรากฐานสำคัญให้เกิดการพัฒนาต่อยอดเรื่อยมา
ขณะเดียวกัน แนวคิดของมันก็ยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญในการบอกเล่าเรื่องราวแห่งจักรวาลผ่านปลายปากกาของเหล่านักดาราศาสตร์ จวบจนทุกวันนี้
:)
โฆษณา