23 เม.ย. 2024 เวลา 07:27 • ครอบครัว & เด็ก

"10 เคล็ดลับเรื่องเงินเมื่อต้องใช้ชีวิตคู่"

แม้จะไม่มีสูตรตายตัวในการใช้ชีวิตคู่ แต่ก็มีเคล็ดลับเล็กๆที่อาจช่วยให้ชีวิตคู่ยืนยาวขึ้น มีความสุขมากขึ้นได้ โดยเริ่มจากเรื่องเงินๆทองๆนี่ละ
#ความรัก”กับ #เงิน” แม้ฟังดูเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนไปสักหน่อย คู่รักบางคู่อาจไม่ค่อยกล้าพูดคุยกันเรื่องนี้ แต่ถ้าคุณอยากสร้างอนาคตร่วมกันอย่างจริงจัง ก็คงหลีกเลี่ยงที่จะพูดคุยไม่ได้ค่ะ เพราะ “เงิน”เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้หลายคู่ไปกันไม่รอด ต้องเลิกรากันในที่สุด
มาดูกันค่ะ "10 เคล็ดลับ เรื่องเงิน เมื่อต้องใช้ชีวิตคู่" มีอะไรบ้าง ลองดูเป็นแนวทางแล้วนำไปปรับใช้กันดูนะคะ หรือใครคิดเห็นยังไง มาแชร์กันค่ะ
1️⃣ เปิดเผยข้อมูลการเงินให้อีกฝ่ายรับรู้
ไม่ว่าจะเป็นรายได้ หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อ ค่าใช้จ่ายต่างๆ เพราะหากอีกคนมีปัญหา ย่อมกระทบอีกฝ่ายแน่นอน เพราะคุณคงไม่ปล่อยให้สามี หรือภรรยาต้องลำบากคนเดียวแน่ๆ
2️⃣ พูดคุย ปรึกษา เมื่อต้องตัดสินใจ “เรื่องเงิน”
สิ่งสำคัญคือทั้งคู่ได้ช่วยกันคิด และรับฟังความคิดเห็นของอีกฝ่าย ซึ่งอาจจะเห็นไม่ตรงกันได้ ไม่เป็นไร ขอให้ตั้งใจฟัง เพราะคุณจะได้ความเห็นในอีกมุมมอง หากไม่คุยกันไม่ปรึกษากัน อาจเกิดภาวะเครียด มึนตึงใส่กัน ทำให้ทะเลาะกันได้
3️⃣ สร้างข้อตกลง และมีเป้าหมายร่วมกัน
ควรตกลงกันว่าจะมี”บัญชีร่วม” หรือ “บัญชีกองกลาง” เพื่อเก็บเงินครอบครัวหรือไม่ (แนะนำให้มี) สัดส่วนการเก็บของแต่ละคนเป็นเท่าไร รวมถึงพูดคุยถึงเป้าหมายอื่นๆ เช่น จะมีลูกไหม มีลูกเมื่อไร มีกี่คน โรงเรียนแบบไหน เพราะกระทบแผนการเงินของทั้งคู่แน่นอน หมั่นพูดคุย อัพเดทอยู่เสมอเพื่อให้เห็นสถานะการเงินของครอบครัว
4️⃣ แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ “เรื่องเงิน”
ไม่ว่าจะมี”บัญชีกองกลาง”หรือไม่ ค่าใช้จ่ายต่างๆของครอบครัว เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าน้ำค่าไฟ ควรช่วยกันดูแล ไม่คิดหรือทึกทักเอาเองว่าอีกฝ่ายควรจะจ่าย คุยกันให้เข้าใจว่า ค่าใช้จ่ายส่วนไหนที่ใครต้องรับผิดชอบหรือดูแลร่วมกัน ทางออกของแต่ละบ้านไม่เหมือนกัน ไม่มีคำตอบตายตัว แต่ขอให้ผ่านการปรึกษาหารือร่วมกันแล้ว
5️⃣ ทำบัญชีรายรับรายจ่ายของครอบครัว
ปกติเราควรทำบัญชีรายรับรายจ่ายของตัวเองอยู่แล้ว เมื่อแต่งงาน จึงควรทำของครอบครัวด้วย เพราะทำให้เรารู้ที่มาที่ไปของเงิน รู้ว่ารายจ่ายไหนมากเกินไป เป็นคู่รักนักกิน หรือคู่รักนักเที่ยว
บางคนบอกว่าทำงานมาตั้งนาน รายได้ก็มาก แต่ทำไมไม่มีเงินเก็บเลย การทำบัญชีนี้จะช่วยให้เราเห็นว่าเงินเราหายไปไหน ที่สำคัญทำให้เรามีวินัยทางการเงินด้วย
6️⃣ ไม่วิจารณ์การใช้เงินของอีกฝ่าย
ก่อนอื่นเราต้องเปิดใจยอมรับว่า แต่ละคนมีความชอบ มีรสนิยมแตกต่างกัน สามีหรือภรรยาของเราเองก็อาจมีนิสัยการใช้เงินที่แตกต่างกับเราโดยสิ้นเชิง เค้าอาจจะชอบใช้เงินสด แต่เราชอบรูดการ์ดสะสมแต้ม หรือเค้าไม่เคยบันทึกรายจ่ายๆใดใดเลย แต่เราต้องทำบัญชีรายรับรายจ่ายทุกวัน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย ค่อยๆคุยค่อยๆอธิบาย ถึงข้อดีข้อเสีย
อย่าไปวิจารณ์ หากเห็นภรรยาของคุณหมดเงินไปกับกระเป๋าหลายใบ หรือเสื้อผ้าหลายชุด เพราะนั่นอาจเป็นความสุขเล็กๆน้อยๆของเธอ หรือไม่ไปต่อว่าสามีหากหมดเงินไปกับ gadget ต่างๆหรือซื้อแผ่นเกมแทบทุกอาทิตย์ ตราบใดที่รายจ่ายก้อนนั้นไม่สร้างความเสียหายต่อการเงินของครอบครัว
7️⃣ ใช้ชีวิตบนความพอดี
แม้คุณจะมีเงินซื้อบ้านหลังใหญ่ราคา 10ล้านได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า คุณจะมีความสุขมากกว่าการอยู่บ้านราคาหลังละ 5ล้าน แม้คุณจะซื้อมือถือรุ่นใหม่ล่าสุด แต่มันจะเป็นรุ่นล่าสุดอยู่ได้แค่ไม่กี่เดือน
1
เราอาจไม่จำเป็นต้องเลือกเพียงเพราะ #เราสามารถจ่ายมันได้ การจัดเต็มกับงบซื้อบ้าน อาจทำให้งบตกแต่งบ้านของคุณน้อยลง งบเที่ยวปีนี้หายไป หรือเริ่มแผนเก็บเงินให้ลูก แผนเกษียณของตัวเองช้า หรือน้อยเกินไป!!
8️⃣ เรียนรู้เรื่องการลงทุน
แม้เราสามารถหารายได้ตั้งมากมาย เก็บเงินเก่งแค่ไหน แต่ถ้าไม่เรียนรู้เรื่องการลงทุนเลย การเก็บเงินให้ได้ถึงเป้าหมายที่เราต้องการ อาจจะต้องเหนื่อยหน่อย หากเราเก็บเงินสำรอง(ฝากธนาคาร)เพื่อใช้จ่ายยามจำเป็นครบแล้ว ควรแบ่งเงินมาลงทุนตามความเสี่ยงที่รับได้ และสอดคล้องกับระยะเวลา, เป้าหมายที่ต้องการใช้เงิน เช่น ลงทุนเพื่อการศึกษาบุตรในอีก 6 ปีข้างหน้า ก็ควรมีสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงที่น้อยกว่า การลงทุนเพื่อเกษียณในอีก 20 ปีข้างหน้า เป็นต้น
อย่าลืมว่าสามีหรือภรรยา อาจรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน จึงควรแยกพอร์ต(เพื่อใช้ส่วนตัว) ตามความเสี่ยงที่แต่ละคนรับได้จะดีกว่านะคะ ยกเว้นพอร์ตลงทุนของครอบครัว ต้องพูดคุย ปรึกษากันถึงความเสี่ยงที่เหมาะสม
9️⃣ การมีประกันที่เพียงพอ
ในช่วงวัยสามสิบกว่า คนส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเนื่องจากทำงานเก็บเงินมาสักระยะหนึ่งแล้ว เป็นช่วงสร้างครอบครัว หลายคนแต่งงาน มีลูก มีชีวิตที่ต้องรับผิดชอบ
“ชีวิตคู่”ไม่เพียงแค่ผูกพันกันทางอารมณ์ ความรู้สึกเท่านั้น สถานะทางการเงินก็มีความเชื่อมโยงด้วยเหมือนกัน หากมีอะไรเกิดขึ้นกับสามีหรือภรรยา คงจะดีกว่าถ้าฝ่าย(ที่ยังอยู่)สามารถมีชีวิตต่อไปได้(อย่างดี)
การมีทุนประกันที่เพียงพอเพื่อครอบคลุมหนี้บ้าน ค่าเรียนลูก ค่าใช้จ่ายต่างๆในบ้านจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย
🔟 การทำพินัยกรรม
อาจเป็นเรื่องที่ถูกมองข้ามไป แต่ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดปัญหา ความขัดแย้งในครอบครัวที่อาจตามมาได้ในภายหลัง เพราะสามารถระบุการแบ่งทรัพย์สินอย่างชัดเจน การดูแลบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เป็นต้น
สุดท้ายนี้ ผู้หญิงอย่างเรา ในฐานะภรรยา ไม่ได้ต้องการอะไรนอกไปจาก ความรัก ความเอาใจใส่ และ เวลาที่คุณผู้ชาย(สามี) มอบให้
การเปิดใจคุยกันเรื่องเงินนั้น เพื่อตกลงกันว่าเราจะร่วมจัดการกับมันอย่างไร เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันและไม่เกิดปัญหาต่อไปในอนาคต
เราไม่ได้ต้องการเงินของคุณค่ะ แต่ถ้าคุณยินดีมอบให้ ก็ไม่ขัดข้องนะคะ 🤣😚
#ด้วยรัก ❤️
แม่อุ้ย #KanyaweeCFP
กัลยวีร์ โรจน์สุขพัฒนา
นักวางแผนการเงิน CFP®
📩 พูดคุยปรึกษาวางแผนการเงินแบบองค์รวม m.me/financeformom หรือ add line https://lin.ee/1jcI2lx
โฆษณา