24 เม.ย. เวลา 13:02 • บันเทิง
พัทยา

“เธอ ฟอร์ แคช สินเชื่อ..รักแลกเงิน” นิยามแห่งหนี้ที่ไม่ได้มีแค่ตัวเลข

“การเป็นหนี้ล้วนมีราคาที่ต้องจ่าย
ที่นอกจากการคืนเงิน
เรายังต้องแลกอะไรอีกมากมาย
เพื่อให้ได้มาซึ่งอิสระ
และเป้าหมายที่ต้องการ”
.
.
.
เช่นกันกับ “เธอ ฟอร์ แคช สินเชื่อ..รักแลกเงิน”
หนังใหม่แกะกล่องที่จะพาเราไปสำรวจ
นิยามแห่งคำว่าหนี้ในหลายแง่มุมด้วยกัน
กับเรื่องราวของ “โบ้ (ไบรท์ วชิรวิชญ์)"
หัวโจกแก๊งทวงหนี้นอกระบบสุดห่าม
จากปกติที่เจ้าหนี้มักจะ
ข่มขู่หรือใช้กำลังกับลูกหนี้
แต่พี่คนนี้มีวิธีการทวงสุดเพี้ยนพิสดาร
ด้วยการหยิบไรก็ได้มาฟาดหัว
ถ้าไม่จ่ายก็ตายไปด้วยกันนี่แหละ!
กลายเป็นจิตวิทยาสุดโหดที่ปั่นประสาทอีกฝ่าย
จนอกสั่นขวัญผวายอมควักเงินคืนกันเป็นแถบ
แต่คนเรามักจะมีอะไรที่ “แพ้ทาง” อยู่
เมื่อโบ้จับพลัดจับผลูตามทวงหนี้ลุงคนหนึ่ง
ซึ่งดันมีเหตุบางอย่างที่ส่งผลให้แกคืนเงินไม่ได้
จนภาระตกมาที่ลูก “อิ๋ม (ญาญ่า อุรัสยา)”
สาวแบงก์คนสวยงามสะพรั่ง
ทำเอานักเลงหนุ่มแทบคลั่ง
เปลี่ยนบทบาทจากเจ้าหนี้
มาเป็นลูกหนี้ร่วมที่ใช้สัญญาเดต
จ่ายรักมาเพื่อแลกเงินใช้หนี้กลับไป
จะเทใจให้เธอแบบทบต้นทบดอกเลย
ด้วยสัญญาเดตตลอดหนึ่งเดือน
รักวุ่นๆ ระหว่างคน 2 คน
ที่เชื่อมโยงกันด้วยหนี้
จึงเริ่มขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้
คนหนึ่งเว้าวอน ส่วนอีกคน
กล้ำกลืนฝืนทนเพื่อพ่อ
ท่ามกลางอำนาจมืดที่คอยจ้องรอ
กลายเป็นบททดสอบสำคัญว่า
จะรักไม่รักหรือจะไปต่อ
รอให้เวลาและการกระทำเป็นตัวพิสูจน์
เลยอยากเล่าเรื่องราวระหว่างทาง
จากที่ผมได้ไปดูรอบสื่อมาสักหน่อย
อ่านสบาย ไม่มีสปอยล์ พร้อมแล้วก็
ควบมอเตอร์ไซค์ ออกไปไล่ทวงหนี้กันเลย!
.
.
.
1. ความน่ากลัวของ “หนี้นอกระบบ”
- อย่างที่เราเห็นกันในชีวิตจริงตามข่าว ซึ่งหนังได้ฉายภาพเรื่องราวตรงนั้นออกมาขยี้ให้เห็นชัดขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้ในแวดวงนี้ที่บางทีชีวิตเขาก็เลือกไม่ได้ กู้ในระบบไม่ผ่านก็ต้องมาทางนอก จ่ายไปก็เจอดอกเพิ่มที่แพงลิ่ว ต้องใช้ชีวิตด้วยความหวาดหวั่นเสี่ยงปลิว มีโอกาสโดนข่มขู่ถูกทำร้ายได้ทุกเมื่อ
2. อยู่ในสังคมแบบไหน เราก็จะเป็นแบบนั้น
- แบบเดียวกับโบ้ที่เรียนไม่จบ โอกาสน้อย ก็ต้องตกเป็นเบี้ยให้ “เจ๊วรรณ (พี่เบนซ์ พรชิตา)” มาเฟียใหญ่คอยบงการชักใย บีบให้เขาต้องใช้ชีวิตอย่างไม่มีทางเลือก ต้องอยู่ท่ามกลางนักเลงหัวไม้ชอบใช้ความรุนแรง เลยติดร่างแหตาม ทั้งที่จริงตัวเขาอาจมีอะไรดีๆ ซ่อนไว้ข้างใน รอให้จังหวะโอกาสนำพา
3. ความเจ็บปวดของชนชั้นกลาง-ล่าง
- หนังยังสะท้อนแง่มุมชีวิตของลำดับชนชั้นให้เห็นภาพชัดเจน ตั้งแต่คนชั้นล่างที่ปากกัดตีนถีบ หาเช้ากินค่ำ ซ้ำยังเป็นหนี้ คนชั้นกลางที่แม้มีดีกรีปริญญาก็ใช่ว่าจะการันตีเงินเดือนดีๆ และความสำเร็จในชีวิตได้ กลายเป็นต้องตกอยู่ในกรงขังสี่เหลี่ยมของคำว่า “พนักงานประจำ”
ทำงานออฟฟิศ เข้างาน ตอกบัตร เงินเดือนเข้าได้ไม่นานก็กลายเป็นเงินทอน หมดไปกับหนี้ที่มาด้วยภาระ และเส้นแบ่งถึงสังคมคนชั้นสูงที่เป็นยอดปรารถนาของใครหลายๆ คน ที่อยากจะทำงานเก็บเงินแล้วไปให้ถึงคุณภาพชีวิตดีๆ ที่เฝ้ารอ
ซึ่งหลายครั้งชีวิตจริงมันก็ไม่ง่าย แม้ภาพความพรีเมียมเหล่านั้นจะเป็นสิ่งที่เราเห็นกันบ่อยๆ ตามสื่อโฆษณา หรือเดินทางผ่าน เหมือนอยู่ใกล้แต่ก็แอบไกลเกินเอื้อมสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่ทำงานสร้างตัวใช้หนี้ เพื่อจะไปให้ถึงความสำเร็จตามนิยามที่ครอบครัวและกรอบสังคมกำหนด
ทั้งหมดคือความจริงว่าคนเราล้วนแล้วแต่ “เป็นหนี้” เพียงเพื่อสนองเป้าหมายมาเติมเต็มชีวิตในด้านต่างๆ เป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความสุข แล้วส่งความทุกข์ตามมาติดๆ ทุกครั้งที่ทำงานเหนื่อยอยากพักก็ต้องหยุดคิดว่ามีหนี้รออยู่ เคลียร์ทันก็ดีไป เคลียร์ไม่ได้ หลายปัจจัยไม่เอื้อก็มีแต่จะเครียดขึ้นเรื่อยๆ นี่คือสัจธรรมที่เห็นผ่านทั้งในจอและชีวิตจริงว่า “คนไทยส่วนใหญ่เป็นหนี้”
ไม่เว้นแม้แต่เมืองท่องเที่ยวอย่างพัทยาที่เงินสะพัดตลอดปี ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมเคลือบแฝงอยู่ไม่ต่างจากที่อื่นๆ เลย
4. นิยามคำว่า “หนี้” ที่ไม่ได้มีแค่เม็ดเงิน
- นับเป็นจุดที่ผมชอบสุดในเรื่องเลย คือการสอดแทรกกิมมิคของคำนี้ได้อย่างแยบคาย นำเรื่องด้วยความหมายตรงตัวคือหนี้ที่เป็นเม็ดเงินชัดเป็นรูปธรรม กับหนี้ในด้านอื่นที่เราอาจติดค้างใครบางคนหรืออะไรบางอย่าง แต่จะเป็นหนี้อะไรบ้าง ต้องไปดูให้รู้กันครับ หนังหยอดประเด็นนี้ไว้หลายมุมทีเดียว
นับเป็นหัวใจสำคัญ 4 ข้อ
ที่เราจะได้จากเรื่องนี้ไม่มากก็น้อย
แต่ละจุดก็พลอยทำให้คิดตาม
ถึงแง่มุมต่างๆ ในชีวิตจริง
และตกผลึกกลับมา
แม้ช่วงแรกถึงค่อนกลางเรื่อง
อาจมีจุดขัดใจบ้าง
กับการดำเนินเรื่องที่
เหมือนขาด “จุดเชื่อม” ระหว่างทาง
เลยทำให้การเดินทางและพัฒนาการ
ของตัวละครต่างๆ จาก A ไป B ถึงบลาๆ
มันไม่สมูธเท่าที่ควรจะเป็น
เพราะเราไม่ได้เห็นว่า “กว่าจะ” เป็น
แบบนั้นหรือแบบนี้ พวกเขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง
และก็มีบางช่วงที่เนือยๆ หน่อยจนเกือบหลับ
แต่แล้วก็กลับมาได้ด้วยไฮไลท์
ที่ค่อยๆ ไต่ระดับอารมณ์ขึ้น
อัดดราม่าเข้มข้นเข้ามาเต็มที่
พร้อมเสียงดนตรีคลอกระตุ้น
แล้วยิ่งได้การแสดงที่ทรงพลัง
จากตัวหลักอย่าง “ไบรท์-ญาญ่า”
ก็ยิ่งทำให้เรารู้สึกเหมือนกำลัง
เดินทางไปกับตัวละครและรู้สึกไปด้วยกัน
อย่างไบรท์ที่งานนี้มาในบทแบดบอย
ก็ทำได้ดีเลยนะครับ ทั้งสีหน้า แววตา
อารมณ์ และมาดนักเลงที่ขึงขังตึงตัง
เป็นเสือนักล่าหนี้ผู้เปี่ยมด้วยจิตสังหาร
บวกกับลูกบ้าที่แตกต่าง
แต่เมื่ออยู่ในอ้อมกอดนางเอก
ก็กลายเป็นแมวน้อยกลอยใจ
อยากจะใช้หนี้และใช้ชีวิตไปด้วยกัน
ดูเป็นความ Contrast ที่แตกต่างอย่างน่ารัก
เวลาจีบ หยอด โชว์ลูกเล่นลูกอ้อน
มันชวนฟินจิกหมอนแอบเขินแทนเบาๆ
ตามฟีลแบดบอยเวลาอยู่กับคนที่รัก
คงหวานประมาณนี้เลย
ส่วนฉากร้องเพลงก็ยังเสียงดีเหมือนเดิม
นับเป็นคนที่เก่งทั้งงานเพลงและแสดงจริงๆ
ส่วนญาญ่านี่เรียกได้ว่ายังคง
ความเป็นยอดนักแสดงเอาไว้ได้ดีไม่มีตก
ตีบทแตกในการสวมบทบาทเป็นอิ๋ม
ที่มีอะไรมากมายในใจแต่แสดงออกไม่ได้
เจอบททดสอบมากมายทั้งดีร้าย
เวลาสุขก็สดใสเปล่งประกาย
จนแอบอมยิ้มตาม เวลาเศร้าก็หม่นเทาจับใจ
และเมื่อไปถึงจุดบางอย่างขึ้นมา
หัวใจเราก็เหมือนถูกบดขยี้ไปกับเธอด้วย
(แอบเสียดายเล็กๆ ที่ไม่ได้ฟังเสียงหวานๆ เลย ><)
รวมถึงทีมนักแสดงสมทบอย่าง
“พี่เบนซ์ พรชิตา” ที่สวมบทเจ๊ใหญ่
ได้ดุ เถื่อน แซ่บสะใจมาก
จากที่เคยเห็นแกเล่นเป็นนางเอก
มาตั้งแต่สมัยละครยุคแรกๆ
พอมาเล่นร้ายก็กร้าวใจสุด
ส่วนท่านอื่นๆ ก็นับเป็นส่วนเติมเต็ม
ที่ขาดไม่ได้เลยในเรื่อง
อีกจุดที่อยากชมคือไอเดียการเล่นคำ
นำคาร์ฟอร์แคชมาเป็นเธอฟอร์แคช
แล้วประยุกต์กิมมิคเดียวกันออกมาให้ต่าง
แค่เปลี่ยนจากรถมาเป็นรัก แล้วเล่ามันออกมา
รวมถึงเรื่องของ “ความสมจริง”
อย่างเวลาตัวละครป่วย เครียด
เศร้า หรือเข้า รพ. ก็ปล่อยนักแสดง
ให้หน้าสดหรือปรับให้ซีดลงหน่อย
ขอบตาดำ หน้าหมอง ปากซีด
ไม่ใช่ตามสูตรละครไทยเดิม
ที่ฉากตื่นหรือเข้านอนก็ยังหน้าเต็ม
พอมาเห็นเขาทำสมจริงก็อุทานในใจ
เออ นี่สิวะ! คอนเทนต์ที่ควรจะเป็น
แบบที่เห็นกันในหนังต่างประเทศเขาทำ
โดยรวมนับเป็นหนังที่ทำออกมาได้ดี
เกือบจะหลับแต่กลับมาได้
และให้แง่มุมมากมายกลับมา
เข้าโรงพรุ่งนี้แล้วครับ (25 เม.ย.) ไปดูกัน!
(ไม่ต้องดูต้นฉบับของเกาหลีก็เข้าใจง่าย)
ขอบคุณ Filmment เพจพาร์ทเนอร์ใจดีที่ชวนไปดูเช่นเคยนะครับ 😉
โฆษณา