24 เม.ย. เวลา 08:00 • สิ่งแวดล้อม

พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส จากฟาสต์แฟชั่น สู่แฟชั่นมือสอง

(บทความจาก : กรุงไทย SME FOCUS Issue 42 คอลัมน์ SME Go Green)
รู้หรือไม่...อุตสาหกรรมสิ่งทอผลิตเสื้อผ้าใหม่มากกว่า 100,000 ล้านชิ้นในแต่ละปี และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 1.2 พันล้านตันต่อปี
เยอะขนาดที่ว่ามีภาพถ่ายจากดาวเทียมจับภาพกองภูเขาเสื้อผ้าในทะเลทราย Atacama ประเทศชิลี หรือ หาด Jamestown ประเทศกานาที่เต็มไปด้วยเสื้อผ้า จนชาวประมงแถวนั้นถึงกับบอกว่า พวกเขาออกไปตกปลาแต่กลับได้ผ้าขึ้นมาแทน เห็นปริมาณมหาศาลขนาดนี้ แต่ตัวเลขนี้มาจากแค่เสื้อและกางเกง ยังไม่รวมเครื่องประดับต่าง ๆ อีก
พอเกิดปัญหาขยะจากอุตสาหกรรมแฟชั่นที่มากขึ้นจนเข้าขั้น “วิกฤติ” หลายแบรนด์ชั้นนำไม่ว่าจะเป็น H&M, Nike, Uniqlo ฯลฯ ก็ต้องปรับตัวเพื่อลดทอนกระแสสังคมที่กดดันให้แสดงความรับผิดชอบ จึงเริ่มหยิบเอาขยะพลาสติกมารีไซเคิลเป็นเสื้อผ้าหรือรองเท้า บ้างก็มีจุดให้นำเสื้อผ้าเก่ามาหย่อนเพื่อนำไปรีไซเคิล
ส่วนสตาร์ตอัปด้านแฟชั่นหน้าใหม่ก็หันมาเริ่มธุรกิจโดยนำเอาวัสดุที่ถูกทิ้งมาผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์ ดีไซน์เป็นสินค้าชิ้นใหม่ที่มีเอกลักษณ์ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ทรัพยากรในการทำ ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันที่มีความตระหนักรู้ และให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ตัวอย่างที่เด่นชัดก็คือแบรนด์ Freitag สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ ที่ปัจจุบันมีหน้าร้านมากกว่า 400 แห่งทั่วโลก รายได้ต่อปีอยู่ราว ๆ หนึ่งพันล้านบาท โดยวัตถุดิบมีที่มาจากของเหลือใช้ล้วน ๆ
  • ธุรกิจที่กล้าขายความเป็นขยะ
เมื่อพูดถึงธุรกิจระดับโลกอย่างแบรนด์ Freitag ที่เปลี่ยนขยะจากผ้าใบคลุมรถบรรทุกเก่ามาทำเป็นกระเป๋าที่มีกระเป๋าราคาหลักพันไปจนถึงหลักหมื่นแล้ว ในประเทศไทยก็มีธุรกิจที่ใกล้เคียงกันอย่าง Rubber Killer ที่นำยางในล้อรถยนต์มาทำเป็นกระเป๋า หรือแบรนด์ Pipatchara ที่นำฝาขวดมารีไซเคิลเป็นของประดับตกแต่งกระเป๋าหนังผสมผสานกับงานหัตถกรรมของไทย ให้กลายเป็นกระเป๋าราคาหลักหมื่น ธุรกิจเหล่านี้กล้าที่จะบอกว่า สินค้านั้นทำมาจาก “ขยะ” และสร้างภาพจำให้กับผู้บริโภคว่าสินค้านั้นมีดีทั้งคุณภาพและดีต่อสิ่งแวดล้อม
  • ธุรกิจจากการ “ใช้-ใส่ซ้ำ”
เมื่อพูดถึงการใช้ซ้ำ หลายคนอาจจะนึกภาพไม่ออกว่าจะเป็นธุรกิจทำเงินได้อย่างไร เมื่อไม่มีการผลิตของใหม่ ๆ มาขาย แต่ยังมีธุรกิจที่สนับสนุนให้ผู้คนหันมาใช้ซ้ำอย่าง Loopers หรือ Hangles แพลตฟอร์มซื้อ-ขายเสื้อผ้ามือสองสภาพดี Reviv ผู้ให้บริการซ่อมแซม ปรับแต่งเสื้อผ้าออนไลน์ สำหรับคนที่มีเสื้อผ้าตัวโปรดแล้วไม่อยากทิ้ง
หรือ SwapShop ซึ่งสร้างพื้นที่ให้ผู้คนมาแลกเปลี่ยนเสื้อผ้ากัน การสร้างสังคมการส่งต่อดูเหมือนจะเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จของธุรกิจประเภทนี้ เพราะอุปทานของมือสองนั้นมีเหลือล้น แต่อุปสงค์นั้นก็ยังคงจำกัดอยู่ในวงแคบ
  • ธุรกิจจากการมองเห็นคุณค่าของสิ่งไร้ค่า
วงการแฟชั่นไม่ได้มีเพียงเสื้อผ้าเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเครื่องประดับอีกด้วย ซึ่งสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่น้อยจากการขุดเหมือง แต่เครื่องประดับก็เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนได้เหมือนกัน เช่น ร้าน Eastern Antiques นำเศษกระเบื้องโบราณที่แตกแล้วมาทำเป็นเครื่องประดับ ตั้งแต่ตุ้มหู สร้อยคอ แหวน แต่ละลายมีเพียงชิ้นเดียวในโลก
ยังมีแบรนด์เบญจกลาย ที่นำถ้วยชามเบญจรงค์แตกแล้ว หรือมีตำหนิไม่สามารถส่งขายได้มาทำเป็นเครื่องประดับเช่นกัน และสุดท้ายแบรนด์ sarr.rai (สา-หร่าย) ที่ใช้แก้วเจียระไนจากขวดแก้วเหลือใช้ แทนอัญมณีที่ต้องขุดจากเหมือง ให้ความแวววาวเหมือนกัน ต่างกันที่ยั่งยืนกว่า
แม้ว่าวิกฤติของขยะจากอุตสาหกรรม Fast Fashion คงยังไม่หมดไปภายในเร็ววันนี้ ตราบใดที่แบรนด์ใหญ่ ๆ ยังคงผลิตสินค้าคอลเล็กชันใหม่ออกมาตามกระแสและทุกฤดูกาลอย่างไม่หยุดหย่อน แต่ก็อาจเป็นโอกาสให้ธุรกิจเล็ก ๆ ที่ไม่ต้องตามกระแส หากแต่ใช้มุมมองที่ต่างออกไป เห็นสิ่งที่ไม่มีค่าของใครหลายคน นำกลับมาเปลี่ยนให้เป็นสินค้าที่สร้างรายได้ ที่สำคัญคือ ช่วยลดปริมาณขยะที่จบลงในหลุมฝังกลบได้ด้วย
โฆษณา