Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
มลคิดเพลิน
•
ติดตาม
25 เม.ย. เวลา 00:19 • ประวัติศาสตร์
วัดอินทรวิหาร พระอารามหลวง (บางขุนพรหม)
อริยสงฆ์จอมอาคมกสิณ "หลวงปู่ภู" วัดอินทรวิหาร
เปิดประวัติหลวงปู่ภู วัดอินทรวิหาร
หลวงปู่ภู วัดอินทรวิหาร
พระครูธรรมานุกูล หรือ หลวงปู่ภู เกิด ณ หมู่บ้านวังหิน อ.เมือง จ.ตาก เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๓ ตรงกับปีขาล บิดา-มารดา ชื่อ นายคง- นางอยู่ อายุได้ ๙ ขวบ บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดท่าคอย ศึกษาอักขระสมัย (ภาษาขอม) และหนังสือไทย กับพระอาจารย์คำ วัดท่าแค พออายุ ๒๑ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมา วัดท่าคอย มี พระอาจารย์อ้น เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์คำ วัดท่าแค เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์มา เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา “จนฺทสโร”
เมื่อบวชแล้วได้จำพรรษาอยู่สำนักวัดท่าแคชั่วระยะหนึ่งก็ได้ออกเดินธุดงค์จากจังหวัดตากมาพร้อม กับพระพี่ชาย คือ หลวงปู่ใหญ่
สำหรับวัดท่าแค ในสมัยที่หลวงปู่ภูจำพรรษาอยู่นั้น ยังเป็นวัดเล็กๆ เข้าใจว่าโบสถ์ยังไม่ได้สร้าง ท่านจึงได้มาอุปสมบท ที่วัดท่าคอยแล้วกลับไปจำพรรษาอยู่ที่วัดเดิมอีก ปัจจุบันวัดท่าแคนี้ตั้งอยู่ตรงเชิงสะพานกิตติขจรฝั่งตัวจังหวัดตาก ตำบลเชียงเงิน อำเภอเมือง ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดชนะสงคราม
ในสมัยที่หลวงปู่ภูเดินธุดงค์มากรุงเทพฯ ครั้งแรก ท่านได้เล่าให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังว่า ได้มาปักกลดอยู่ ณ บริเวณที่ตั้งวังบางขุนพรหม (ธนาคารแห่งประเทศไทย)
วัดอินทรวิหาร
สมัยนั้นพื้นที่บริเวณนั้นยังเป็นป่ารกร้างว่างเปล่าและเปลี่ยวมาก มีแต่ต้นรังต้นตาลที่ขึ้นระเกะระกะไปหมด นอกจากนี้ยังมีทางเกวียนทางเท้าเป็นช่องเล็กๆ พอเดินไปได้เท่านั้น ท่านได้มาปักกลดอยู่บริเวณชายแม่น้ำเจ้าพระยา พอตกกลางคืนได้นิมิตฝันไปว่า ได้มีคนนำเอาตราแผ่นดินมามอบถวายให้ท่าน ๓ ดวง เมื่อท่านตื่นขึ้นมาก็ได้พิจารณาถึงนิมิตนั้นพอจะทราบว่า ท่านเองจะมีอายุยืนยาวถึง ๑๐๓ ปีเศษ
การเดินธุดงค์ของหลวงปู่นับตั้งแต่เดินทางออกมาจาก วัดท่าแคเข้าจำพรรษาที่วัดในกรุงเทพฯ สันนิษฐานจากคำบอกเล่าของท่านที่ได้เล่าให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังว่า ได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดสระเกศฯ ได้ช่วยชีวิตรักษาคนป่วย เป็นอหิวาตกโรคไว้ ๖ คน ซึ่งยุคนั้นถือว่าอหิวาตกโรคร้ายแรงมาก ยังไม่มียาจะรักษาถ้าใครเป็นมีหวังตายลูกเดียว และในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ ซึ่งเป็นปีที่อหิวาตกโรคระบาดหนัก จนเป็นที่กล่าวขวัญเรียกกันจนติดปากว่า “ปีระกาห่าใหญ่”
ต่อมาท่านได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดสามปลื้ม ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวัดจักรวรรดิ์ราชาวาสและได้ย้ายไปจำพรรษาอยู่ วัดโมลีโลกยาราม (วัดท้ายตลาด) ตามลำดับ
กาลต่อมาได้ย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดอินทาราม (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น วัดอินทรวิหาร) ซึ่งในสมัยนั้นยังใช้ชื่อวัดบางขุนพรหมนอก ในปีพ.ศ. ๒๔๓๒ และได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๓๔
ส่วนสมณศักดิ์ที่หลวงปู่ได้รับไม่ปรากฏ หลักฐานว่าได้รับตำแหน่งในปีใด เข้าใจว่าได้รับก่อนปีพ.ศ. ๒๔๖๓ เพราะตามหลักฐาน ศิลาจารึก เกี่ยวกับการสร้าง พระศรีอริยเมตไตรยมีข้อความตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่าถึง พ.ศ. ๒๔๖๓ ท่านพระครูธรรมานุกูล (ภู) ผู้ชราภาพอายุ ๙๑ ปีพรรษาที่ ๗๐ ได้ยกเป็น กิตติมศักดิ์อยู่ในวัดอินทรวิหาร ท่านจึงได้มอบฉันทะ ให้พระครูสังฆบริบาล ปฏิสังขรณ์ต่อมาจนสำเร็จ
หลวงปู่ภู นับว่าเป็นศิษย์ใกล้ชิดกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ รูปหนึ่ง เมื่อครั้งที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ จัดสร้างพระเครื่องที่วัดบางขุนพรหม ก็ได้มาพักอยู่กับหลวงปู่ภู และได้สร้าง ‘พระศรีอริยเมตไตรย (พระหลวงพ่อโต)’ ไว้ที่วัดอินทร์แห่งนี้ โดยมี หลวงปู่ภู เป็นกำลังสำคัญ แต่สร้างได้เพียงครึ่งองค์ก็มรณภาพไปเสียก่อน
หลวงปู่ภู ท่านได้มรณภาพลงเมื่อวันเสาร์ที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ตรงกับวันขึ้น ๑๓ ค่ำเดือน ๖ ปีระกา เวลา ๐๑.๑๕ น. รวมสิริอายุได้ ๑๐๔ ปี ๘๓ พรรษา
หลวงปู่ภู วัดอินทรวิหาร
จากบันทึก จริยาวัตร ของหลวงปู่ภู
จริยาวัตรซึ่งลูกศิษย์รุ่นสุดท้ายที่ได้อยู่ปรนนิบัติรับใช้ท่าน จนถึงบั้นปลายชีวิตได้บันทึกเรื่องราวของ หลวงปู่ภูไว้โดยละเอียดเกี่ยวกับการเดินทางธุดงค์และการสร้างอิทธิวัตถุมงคลต่างๆ ของท่านไว้ สมบูรณ์ที่สุด ข้าพเจ้าจะขอนำมากล่าวไว้เพื่อเป็นเกียรติประวัติแด่ท่านเป็นบางส่วน ณ ที่นี้
การถือธุดงค์เป็นกิจวัตร
สมัยที่หลวงปู่ยังแข็งแรงดี ท่านจะถือธุดงค์วัตรมาโดยตลอด พอออกพรรษา ท่านจะออกรุกขมูลมิได้ขาด ท่านเคยเล่าให้ลูกศิษย์ฟังเสมอว่า ได้ร่วมเดินธุดงค์ไปกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เป็นบางครั้งบางคราว บางทีท่านออกธุดงค์ก็มีพระภิกษุติดตามไปด้วย ท่านได้เล่าให้ฟังถึงเรื่องราวแปลกๆ ที่ได้ออกรุกขมูลไปตามป่าเขามากมายหลายเรื่อง แต่ละเรื่องล้วนแล้วน่าตื่นเต้นทั้งสิ้น
ผจญจระเข้
ในสมัยที่เดินธุดงค์มีอยู่คราวหนึ่ง ท่านได้ปักกลดพักอยู่ใกล้บึงใหญ่แห่งหนึ่ง ใกล้บริเวณนั้นมีหมู่บ้านเล็กๆ ที่ชาวบ้านปลูกอาศัยอยู่ ๒-๓ หลัง ขณะนั้นเป็นเวลาใกล้เที่ยงวัน อากาศร้อนอบอ้าว ท่านจึงได้ ผลัดผ้าอาบ และลงสรงน้ำในบึงใหญ่ พอดีชาวบ้านแถบนั้นเห็นเข้า จึงได้ร้องตะโกนบอกท่านว่า "หลวงตาอย่าลงไป มีจระเข้ดุ" แต่ท่านมิได้สนใจ ในคำร้องเตือนของชาวบ้าน ท่านกลับเดินลงสรงน้ำ ในบึงอย่างสบายใจ
ในขณะที่กำลังสรงน้ำอยู่นั้น ท่านได้แลเห็นพรายน้ำเป็นฟองขึ้นเบื้องหน้า มากมายผิดปกติเมื่อได้เพ็งแลไปจึงได้เห็นหัวจระเข้โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ ห่างจากตัวท่านประมาณ ๓ วา พร้อมกันนั้นเจ้าจระเข้ยักษ์มันหันหัวมุ่งตรงรี่มาหาท่าน แต่ท่านก็มิได้แสดงกิริยาหวาดวิตกแต่ประการใด กลับยืนสงบตั้งจิตอธิษฐานเจริญภาวนาจนจระเข้ว่ายมาถึงตัวท่าน พร้อมกับเอาปากมาดุนที่สีข้างของท่านทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ข้างละ ๓ ครั้ง แล้วก็ว่ายออกไป มิได้ทำร้ายท่าน เรื่องนี้เป็นที่น่าอัศจรรย์ต่อชาวบ้านที่ยืนดูอยู่บนฝั่ง
เมื่อท่านขึ้นจากน้ำชาวบ้านต่างบอกสมัครพรรคพวก เข้าไปกราบนมัสการด้วยความเลื่อมใสศรัทธายิ่งนักและได้ขอของดีจากท่านคือ ตะกรุด ท่านได้บอกกับลูกศิษย์ว่าในขณะที่เผชิญกับจระเข้ท่านได้เจริญภาวนา “อรหัง” เท่านั้น
ผจญงูยักษ์
เนื่องจากการเดินธุดงค์ของท่าน ออกจะแปลกสักหน่อย ตรงที่ไม่ค่อยเลือกเวลา เพราะว่าส่วนมากพระภิกษุองค์อื่นๆ มักจะเดินกันตอนกลางวัน ก่อนตะวันตกดินถึงจะหาสถานที่ปักกลด
ส่วนหลวงปู่ภู ท่านมิได้เดินเฉพาะกลางวันเท่านั้น ตอนกลางคืนท่านก็ออกเดินด้วย เพราะท่านเชื่อมั่นในตัวเอง อีกทั้งวิชาอาคมที่ได้ร่ำเรียนมา ท่านก็ถือว่า สามารถคุ้มกายท่านได้ มีอยู่คราวหนึ่ง ท่านได้ออกเดินธุดงค์ในเวลากลางคืน โดยอาศัยแสงจันทร์เป็นเครื่องส่องนำทาง แต่ก็ไม่สว่างมากนักพอจะมองเห็นบ้าง ทั้งนี้ เพื่อจะมุ่งหน้าไปถึงหมู่บ้านตอนเช้า เพื่อรับบิณฑบาต การเดินทางกลางป่าดงดิบรกรุงรังไปด้วยแมกไม้นานาชนิด อีกทั้งเถาวัลย์ระเกะระกะเต็มไปหมด แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อท่านนัก
ในขณะที่ท่านกำลังเดินผ่านสถานที่แห่งหนึ่ง ก็ได้ยินเสียงซู่ๆ และเสียงใบไม้ดังกรอบแกลบคล้ายเสียงสัตว์เลื้อยคลานผ่านท่านก็หยุดเดิน เพื่อดูให้แน่ว่าเป็นเสียงอะไร พอท่านหยุดเดินเจ้างูยักษ์ก็โผล่หัว ออกมาจากดงไม้ตัวโตเท่าโคนขาและตรงเข้ารัดลำตัวของท่านโดยรอบ ท่านตั้งสติยืนตรงพร้อมกับ เอากลดยันไว้มิได้ล้มลง เจ้างูยักษ์ยังพยายามจะฉกกัดใบหน้าของท่าน แต่ท่านได้สติยืนนิ่งทำสมาธิจิต เจริญภาวนาอยู่ครู่หนึ่ง เจ้างูใหญ่ตัวนั้นมันก็คลายจากการรัดร่างของท่านแล้วเลื้อยเข้าป่ารกไป มิได้ทำอันตรายอันใดแก่ท่าน
กิจวัตรประจำวัน
ตลอดระยะเวลาที่หลวงปู่ภูมีชีวิตอยู่ ท่านมิได้ใช้เวลาให้ว่างเปล่า ทุกเวลาของท่านมีค่ามาก มุ่งหน้าปฏิบัติมีพุทธภูมิเป็นที่ตั้ง การร่ำเรียนวิชาอาคมมา ก็เพียงเพื่อช่วยเหลือ ผู้ที่กำลังทุกข์จากโรคภัยไข้เจ็บ นับว่าท่านมีเมตตาธรรมสูงส่ง
การที่ท่านมุ่งมั่นเรียนวิชา ดูเมฆ หรือเรียกกันว่า วิชาเมฆฉาย ในพจนานุกรม หมายความว่า "การอธิษฐาน" โดยบริกรรมด้วยมนต์คาถาจนเงาของคนเจ็บลอยขึ้นไปในอากาศ แล้วพิจารณาดูคนเจ็บนั้นเป็นอะไร ส่วนวิชากสิณนั้นหมายถึง อารมณ์ที่กำหนดธาตุทั้งสี่ มีปฐวี อาโป เตโช วาโย อันมีวรรณ ๔ คือ นีล ปีต โลหิต โอกทาต อากาศแสงสว่าง ก็คือ อาโลกกสิณ ซึ่งวิชาทั้งสอง ที่ท่านได้เพียรพยายามศึกษาเพื่อมุ่งช่วยเหลือมวลมนุษย์ที่ประสบเคราะห์กรรมเป็นต้น
การบำเพ็ญปฏิบัติของท่านจะเริ่มขึ้นหลังจาก ท่านได้ฉันจังหัน(อาหาร)แล้ว คือเวลาเช้า ๗ โมงตรงตลอดชีวิต ท่านฉันเพียงมื้อเดียว (ถือเอกา) มาโดยตลอด ผลไม้ที่ขาดไม่ได้คือ กล้วยน้ำว้า ท่านบอกว่าเป็นโสมเมืองไทย
ท่านออกบิณฑบาตทุกวัน ซึ่งถือเป็นกิจวัตรของพระสงฆ์ที่พึงปฏิบัติทั้งๆ ที่ท่านไม่จำเป็นจะต้องออกก็ได้เพราะเจ้าฟ้าสมเด็จกรมพระนครสวรรค์พินิจ ได้จัดอาหารมาถวายทุกวัน แต่ท่านก็ได้บอกว่าการออกบิณฑบาตโปรดสัตว์เป็นกิจของสงฆ์
เมื่อท่านฉันจังหัน(อาหาร)เสร็จแล้ว ก็จะครองผ้าลงโบสถ์และลั่นดานประตูเพื่อมิให้ผู้ใดเข้าไปรบกวนท่าน จะเจริญพุทธมนต์ถึง ๑๔ ผูก วันละ ๗ เที่ยวแล้วจึงนั่งวิปัสสนากรรมฐานต่อไปจนถึงเที่ยงทุกๆวัน
ท่านเคยเล่าให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังว่า ขณะที่นั่งกรรมฐานอยู่พอได้เวลาเที่ยง ทางการจะยิงปืนใหญ่ (เพื่อบอกเวลาว่าเที่ยงแล้ว) ในขณะที่ยิงปืนใหญ่กูหงายหลังทุกทีพอท่านพักได้ชั่วครู่ก็จะบำเพ็ญเจริญภาวนาต่อไปจนถึงตีหนึ่ง จึงจะจำวัด ถึงแม้ตอนท่านชราภาพ ท่านก็มิได้ขาดจากการลงทำวัตร เว้นแต่ท่านจะอาพาธหนักจนลุกไม่ไหว ท่านก็จะเจริญวิปัสสนาโดยการนอนภาวนาแทน ซึ่งในพระธรรมวินัยได้กล่าวไว้ในเรื่องวิปัสสนากรรมฐานการปฏิบัติ ด้วยอิริยาบถ ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ก็ปฏิบัติได้เป็นต้น
ท่านเคยเปิดก้นให้ลูกศิษย์ดูพร้อมกับถามลักษณะก้นของกูเป็นอย่างไร ลูกศิษย์ก็ตอบว่า ก้นหลวงปู่ ด้านเหมือนกับก้นของลิง หรือ เสน ท่านจึงได้บอกว่า "ปฏิบัติอย่างนี้ไม่ได้ดีแล้วจะดีเมื่อไหร่ คนที่เป็นอาจารย์เขา "จริง" อย่างเดียวไม่พอต้อง "จัง" ด้วยคือ ต้องทั้งจริงและจังควบคู่กันไป (ต้องรู้แจ้ง แทงตลอด)
หลวงปู่ภูมีเมตตาต่อสัตว์
ในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ จะมีอีกาบินมาเกาะต้นพิกุลตอนเช้า พอท่านฉันอาหารเสร็จ มันก็จะบินมาเกาะที่หน้าต่างกุฏิ ท่านจะปั้นข้าวสุกเสกแล้วยื่นให้มันกิน พอมันคาบข้าวสุกปั้นก้อนนั้น ท่านจะเอามือตบหัวมันเบาๆ แล้วมันก็จะบินออกไป เป็นเช่นนั้นอยู่เป็นประจำ ที่กุฏิของท่านจะมีไก่วัดมาอยู่บริเวณหน้ากุฏิท่านจำนวนมาก
วันหนึ่งขณะที่ท่านเดินมาหน้ากุฏิยืนดูลูกไก่ที่เพิ่งออกจากไข่ใหม่ๆ ท่านให้ศิษย์เอาข้าวสารมา ๑ กำมือ พร้อมกับโปรยให้ลูกไก่กิน และยืนดูอยู่สักครู่แล้วจึงออกเดินพร้อมกับพูดว่า "กูไปละนะ กุ๊กๆ" ลูกไก่กลับวิ่งตามท่าน เมื่อท่านเห็นดังนั้น จึงพูดว่า "เจ้ามาตามกูทำไมไปอยู่กับแม่มึง" ลูกไก่ถึงได้วิ่งกลับไปอยู่กับแม่ไก่
นี่เป็นแค่เพียงตัวอย่างที่ข้าพเจ้านำมาเล่าเกี่ยวกับประวัติของหลวงปู่ภูเท่านั้น ยังมีเรื่องราว ความศักดิ์สิทธิ์อีกมากมายเกี่ยวกับหลวงปู่ภูที่ยังกล่าวได้ไม่หมด
คาถาบูชาหลวงปู่ภู
กล่าวนะโม ๓ จบ แล้วสวดพระคาถาดังนี้
ภูตะยัง วะหะโย กิตติมาธิการภูฐานุ
ตะริ โกเถโร เสสาติวัสสะสิโก อะโหสิ
กัสสะ ศิษสานุศิษย์เส หิคาระวะ กัสสะ
มานะเกหิ จะปูชิตัสสะ ทีฆะรัตนัง เตเยนะ
อายุวัณโณ สุขัง พะลัง ปฏิภานันติ ปัญจหิ
วรธัมเมหิ วุฒฒิตันติ
คาถาบูชา
ให้ว่านะโม ๓ จบ แล้วระลึกถึงหลวงปู่ภูแล้วท่องคาถาล้อม ว่าดังนี้
“ ฆะเตสิ ฆะเตสิ กิงกะระณัง ฆะเตสิ อะหังปิตัง ชานามิ ชานามิสี่คนเดินหน้า ห้าคนเดินหลัง โอมกะรัง กะรัง ”
เดินภาวนาไปเรื่อยๆ ปลอดภัยทุกประการ
วัดอินทรวิหาร พระอารามหลวง (บางขุนพรหม)
วัดอินทรวิหาร พระอารามหลวง (บางขุนพรหม) หรือวัดหลวงพ่อโต กรุงเทพมหานคร วัดอยู่ใกล้ๆ สะพานพระราม ๘ ฝั่งพระนคร หลวงพ่อโต องค์ใหญ่ ที่ตั้งเด่น เห็นชัดเจนอยู่ในบริเวณวัด เป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรขนาดใหญ่ สร้างโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)
เมื่อก่อนเป็นรูปปั้นและพระพุทธรูปที่สูงที่สุดในกรุงเทพมหานคร (สูงที่สุดเป็นอันดับที่ ๑๐ ของประเทศไทย) แต่ในปัจจุบันเป็นรูปปั้นที่สูงที่สุดในกรุงเทพมหานครอันดับที่ 2 รองมาจากพระพุทธธรรมกายเทพมงคล วัดปากน้ำภาษีเจริญ ด้านบนยอดพระเกศ มีพระบรมสารีริกธาตุศักดิ์สิทธิ์ ที่ไว้ให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะด้วยค่ะ
พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร
การเดินทาง
รถโดยสารประจำทางถนนวิสุทธิกษัตริย์ สาย ๔๙
รถโดยสารประจำทางถนนสามเสน สาย ๓,๙,๓๐,๓๒,๓๓,๔๙,๕๓,๖๔,๖๕,๕๒๔
มาจากทางบางลำพู ลงป้ายหน้าธนาคารแห่งประเทศไทย
มาจากทางตลาดเทเวศน์ป้ายตรงข้ามธนาคารแห่งประเทศไทย
1 บันทึก
1
1
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย