25 เม.ย. 2024 เวลา 10:33 • ข่าว

สำรวจกองกำลังชาติพันธุ์ในพม่า และหนทางสู่สงครามกลางเมือง

กองทัพพม่า เปิดฉากโจมตีทางอากาศถล่มหมู่บ้านกะเหรี่ยงในฐานที่มั่นของสหภาพกะเหรี่ยงแห่งชาติ (The Karen National Union: KNU) เมื่อวันที่ 27-28 มีนาคมที่ผ่านมา ตามติดด้วยการถล่มเหมืองทอง ส่งผลให้พลเรือนจำนวนมากเสียชีวิต และอีกเกือบ 3,000 คนต้องอพยพหนีภัยสงครามข้ามแดนมายังฝั่งไทย ก่อนถูกผลักดันกลับไป เป็นเสมือนการจุดไฟสงครามกลางเมืองของพม่าให้คุโชนออกมาอีกครั้ง ทำลายความหวังที่จะเห็นสันติภาพถาวรในพม่าไปจนหมดสิ้น
การปะทะกันในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ยังดำเนินต่อไป ทั้งในรัฐกะเหรี่ยง รัฐคะฉิ่น และคาดว่าจะเกิดขึ้นในรัฐฉานเร็วๆ นี้
แม้ล่าสุดกองทัพพม่าจะประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวตลอดเดือนเมษายน แต่กองทัพคะฉิ่นอิสระ (Kachin Independence Army: KIA) บอกกับสำนักข่าว Myanmar Now ว่า ในเมื่อกองทัพพม่าไม่ได้หยุดปฏิบัติการปราบปรามผู้ประท้วง พวกเขาก็จำเป็นต้องเปิดฉากโจมตีฐานที่มั่นของฝ่ายรัฐบาลเพื่อเป็นการตอบโต้
กองทัพพม่า หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ‘ตัตมาดอว์’ (Tatmadaw) ตัดสินใจเปิดศึกกับกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์อีกครั้งหนึ่ง หลังจากเห็นว่ากลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มได้เข้าร่วมขบวนประท้วงต่อต้านรัฐประหารกับประชาชนชาวพม่าตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา และได้เรียกร้องในสิ่งที่ตัตมาดอว์คัดค้านอย่างแข็งขันมาโดยตลอด นั่นคือ ‘การปกครองแบบสหพันธรัฐ’
พม่า เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางด้านชาติพันธุ์อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นกะเหรี่ยง ไทใหญ่ มอญ จับอาวุธต่อสู้เพื่อสิทธิในการปกครองตนเองมานานกว่า 70 ปี นับแต่ได้เอกราชจากอังกฤษ ตัตมาดอว์เองก็ถือว่าการปราบปรามชนกลุ่มน้อยเพื่อความเป็นเอกภาพของสหภาพพม่าเป็นอุดมการณ์หลักของทหาร และเป็นข้ออ้างสำคัญที่จะควบคุมการเมืองเสมอมา
ตัตมาดอว์ และกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ต่อสู้และเจรจาหย่าศึกกันเรื่อยมานับแต่ทหารภายใต้การนำของ พลเอกตาน ฉ่วย เข้าควบคุมการเมืองหลังการลุกฮือโค่นล้ม นายพลเน วิน ในปี 1988 โดยกลุ่มแรกที่ได้ลงนามหยุดยิงคือ กองทัพสหรัฐว้า (United Wa State Army: UWSA) ในปี 1989 ตามด้วยองค์กรคะฉิ่นอิสระ (Kachin Independence Organization: KIO) ปี 1994 และพรรคมอญใหม่ (New Mon State Party: NMSP) ของชาวมอญในปี 1995 ถัดจากนั้นก็มีชาวไทใหญ่หลากหลายกลุ่มทำสัญญาสงบศึกกับกองทัพพม่า
แต่สัญญาสงบศึกกันคราวนั้นก็ล่มสลายไปเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เพราะหลายกลุ่มปฏิเสธคำสั่งตัตมาดอว์ที่ให้กลุ่มชาติพันธุ์หลอมรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังป้องกันชายแดน (Border Guard Force) ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ปี 2008 ที่กองทัพเป็นคนร่างขึ้น คะฉิ่นเป็นกลุ่มแรกที่ตัดสินใจฉีกสัญญาสงบศึก และจับอาวุธต่อสู้อีกรอบใหม่ในปี 2011 รัฐบาลของ พลเอกเต็ง เส่ง ที่กองทัพให้การหนุนหลัง จึงริเริ่มสัญญาสงบศึกรอบใหม่ขึ้นในปี 2013 และเจรจาจนกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ 8 จาก 15 กลุ่มยอมลงนามด้วยในเดือนพฤศจิกายน ปี 2015
พัฒนาการสำคัญของสัญญาสงบศึกเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล ออง ซาน ซูจี เพราะไม่เพียงมีอีก 2 กลุ่มคือ พรรคมอญใหม่ และสหภาพประชาธิปไตยลาหู่ (Lahu Democratic Union: LDU) เข้าร่วมในสัญญาสงบศึกในปี 2018 แต่ ออง ซาน ซูจี ได้เปิดประชุมปางโหลงแห่งศตวรรษที่ 21 และเชิญกองกำลังชาติพันธุ์ในส่วนที่ยังไม่ได้ลงนามในสัญญาสงบศึกเข้าร่วมด้วย อีกทั้งยังมีผู้สังเกตการณ์ระดับโลกอย่าง บัน คีมูน เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติในเวลานั้นมาเป็นสักขีพยาน
ออง ซาน ซูจี พยายามทำให้ที่ประชุมปางโหลงเป็นจุดเปลี่ยนให้สัญญาสงบศึก กลายเป็นสัญญาสันติภาพถาวรในพม่า แต่น่าเสียดายตลอดระยะเวลา 5 ปีของรัฐบาลซูจี มีการประชุมปางโหลงเพียง 4 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2020 ก็เป็นแค่การพยายามสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน และปูพื้นไปสู่การเจรจาเรื่องสหพันธรัฐ กลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มก็มีความหวังว่าหลังการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2020 เพื่อโอกาสสานต่อการประชุมให้ไปสู่กระบวนการสันติภาพในที่สุด
แต่เมื่อเกิดการรัฐประหารแล้ว ตัตมาดอว์กลายเป็นผู้คุมเกมทั้งหมดแต่เพียงฝ่ายเดียว โอกาสที่จะได้หารือกันในทางการเมืองเรื่องสหพันธรัฐก็เลือนรางเต็มทน มาถึงวันนี้กองกำลังชาติพันธุ์ทุกกลุ่มต่างประกาศว่าพร้อมที่จะต่อสู้กับกองทัพพม่าอีกครั้ง เพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนของพวกเขา กองทัพอาระกัน กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอั้ง (ปะหล่อง) และกองทัพพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติพม่า (โกกั้ง) ประกาศเมื่อวันที่ 30 มีนาคมว่า พร้อมที่จะร่วมมือกับกองกำลังของชาติพันธุ์กลุ่มอื่นๆทำสงครามกับกองทัพพม่า
ปัจจุบันมีกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์อยู่ประมาณ 25 กลุ่ม มีกำลังตั้งแต่ 100 คนไปจนถึง 30,000 คน ผู้เชี่ยวชาญทางด้านความมั่นคงประเมินว่า กลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมดอาจมีกำลังรวมกันตั้งแต่ 70,000-100,000 คน
แต่ต่อให้กองกำลังทั้งหมดสามารถรวมกันได้ ก็ยังไม่อาจจะเทียบกองทัพพม่าที่มีกำลังพลอยู่ถึง 400,000 คน อีกทั้งยังมีพลเรือนติดอาวุธหรือกองกำลังอาสาสมัครที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของกองทัพอีกกว่า 100,000 คน ภายใต้สายการบังคับบัญชาที่เข้มแข็ง และมีระเบียบวินัย พร้อมด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ครบครัน โอกาสที่กองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์จะเอาชนะกองทัพพม่าได้แทบจะไม่มี
เมื่อทั้งสองฝ่ายเปิดศึกกันแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนหลังจากนี้คือสงครามกลางเมืองที่จะดำเนินต่อไปอย่างยืดเยื้อยาวนาน อันจะนำมาซึ่งโศกนาฏกรรม การสูญเสียและพลัดพรากอย่างเหลือคณานับ
โฆษณา