26 เม.ย. เวลา 02:02 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เปิดสถิติล่าสุด คนไทยมีเงินฝากในบัญชีเท่าไหร่

ข้อมูลสถิติจากธนาคารแห่งประเทศไทย พบเดือน ก.พ. ปี 2567 คนไทยมียอดเงินฝากรวมในสถาบันการเงินภายในประเทศสูงถึง 16,053,586 ล้านบาท จากจำนวนบัญชีทั้งหมด 129,724,194 บัญชี ทุบสถิติสูงสุดอย่างต่อเนื่องจากอดีตที่ผ่านมา รายละเอียดเพิ่มเติมจะเป็นอย่างไร ติดตามได้ที่บทความนี้ค่ะ
3
• ภาพรวมเงินฝากคนไทย 10 ปี เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด
เมื่อพิจารณาสถิติในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ ณ สิ้นปี 2557 จนถึง ก.พ. ปี 2567 เงินฝากคนไทยในภาพรวมทั้งประเทศมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งจำนวนบัญชีและยอดรวมเงินฝาก โดยในเดือน ก.พ. ปี 2567 มียอดเงินฝากรวมทะลุ 16 ล้านล้านบาท จากจำนวนบัญชีทั้งหมด 129.7 ล้านบัญชี
ซึ่งหากเปรียบเทียบช่วงเริ่มเกิดวิกฤตโควิด-19 (ณ สิ้นปี 2562) กับ เดือน ก.พ. ปี 2567 จะพบว่ามียอดรวมเงินฝากเพิ่มขึ้น 2,781,577 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 21.0 %) ขณะที่จำนวนบัญชีเงินฝากทุกประเภทเพิ่มขึ้นถึง 28,088,659 บัญชี (เพิ่มขึ้น 27.6 %)
1
ปัจจัยหนุนที่ส่งผลให้คนไทยมีแนวโน้มฝากเงินเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์ภายในประเทศที่จูงใจ, การลงทุนที่มีการผันผวนรุนแรงในปัจจุบัน, การระมัดระวังการใช้จ่ายหลังเกิดวิกฤตโควิด-19 เป็นต้น
• ปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่มีเงินฝากเป็นอย่างไร รวยกระจุก-จนกระจาย จริงหรือ?
เงินฝากเดือน ก.พ. ปี 2567 จำแนกตามขนาดแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก มีรายละเอียดดังนี้
-ฐานเงินออมไม่เกิน 50,000 บาท จำนวน 115,114,050 บัญชี (สัดส่วน 88.7%) ยอดเงินฝากรวม 457,628 ล้านบาท (สัดส่วน 2.9%)
-ฐานเงินออม 50,001-500,000 บาท จำนวน 11,003,125 บัญชี (สัดส่วน 8.5%) ยอดเงินฝากรวม 1,809,597ล้านบาท (สัดส่วน 11.3%)
-ฐานเงินออมเกินกว่า 500,000 บาท จำนวน 3,607,019 บัญชี (สัดส่วน 2.8%) ยอดเงินฝากรวม 13,786,361 ล้านบาท (สัดส่วน 85.9%)
1
แม้แนวโน้มการฝากเงินจะเพิ่มขึ้นจากอดีตทั้งจำนวนบัญชีและยอดเงินฝากรวม แต่สัดส่วนคนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังคงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้มีเงินออมน้อยกว่า 50,000 บาท มากถึง 88.7% ขณะที่มูลค่าเงินออมส่วนใหญ่มาจากกลุ่มผู้มีบัญชีเงินออมมากกว่า 500,000 บาท คิดเป็น 85.9%
เมื่อย้อนกลับไป 10 ปีก่อน ข้อมูล ณ สิ้นปี 2557 พบกลุ่มผู้มีเงินออมน้อยกว่า 50,000 บาท มีสัดส่วน 86.6% และมูลค่าเงินออมส่วนใหญ่มาจากกลุ่มผู้มีบัญชีเงินออมมากกว่า 500,000 บาท คิดเป็น 83.4%
กล่าวได้ว่าโครงสร้างการออมเงินจำแนกตามขนาดเงินฝากของคนไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากจากเดิมเมื่อเทียบกับอดีตเมื่อ 10 ปีก่อน บัญชีเงินฝากของกลุ่มผู้มีรายได้สูงจำนวนไม่ถึง 3% ของบัญชีเงินฝากทั้งหมด ยังคงมีมูลค่ามากกว่า 80% ของเงินฝากทั้งหมดในระบบ อีกทั้งยังมีแนวโน้มเหลื่อมล้ำรุนแรงมากยิ่งขึ้นจากสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน
ผู้เขียน: เพ็ญพิชชา สกลวิทยานนท์ Economics Data Analytics
ภาพประกอบ : บริษัทก่อการดี
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย Bank of Thailand
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
โฆษณา