27 เม.ย. 2024 เวลา 03:00 • การตลาด

อธิบาย Neuromarketing จิตวิทยาการตลาด วิธีขายของให้ถูกใจ “สมอง” ของลูกค้า

- ทำไมลูกค้าถึงไม่สนใจสินค้าของเรา ?
- ทำไมลูกค้าถึงไม่มีภาพจำของแบรนด์เราเลย ?
- ทำไมถึงปิดการขายไม่ได้ ?
คำถามยอดนิยมของคนทำธุรกิจเหล่านี้ ถ้าตอบอย่างง่าย ๆ ในเชิงประสาทวิทยาก็เป็นเพราะว่า
สมองของลูกค้า “ปฏิเสธการเข้าหาเราด้วยเหตุผลบางอย่าง”..
แล้วจะทำอย่างไร ให้ลูกค้าตอบรับหรือมีปฏิสัมพันธ์กลับมาหาเราบ้าง ?
ง่าย ๆ เลยก็คือ เราต้องขายของให้ถูกใจสมองของลูกค้า
เพราะแท้จริงแล้วสมองเป็นอวัยวะสำคัญ ที่กำหนดการตัดสินใจต่าง ๆ รวมถึงการตัดสินใจว่าจะซื้อ หรือไม่ซื้อสินค้าชิ้นหนึ่งด้วย
ซึ่งการศึกษาการตลาดร่วมกับประสาทวิทยานี้เอง เป็นบ่อเกิดของสาขาวิชาที่ชื่อว่า Neuromarketing
โดยถ้าเราอยากเข้าใจเบื้องหลังการตัดสินใจของมนุษย์ วิชา Neuromarketing คือคำตอบ..
Paul Donald MacLean แพทย์และนักประสาทวิทยาชาวอเมริกัน เป็นผู้พัฒนาทฤษฎีสมอง 3 ส่วน (The Triune Brain) ขึ้นมา
เพื่อใช้อธิบายวิวัฒนาการของสมอง และพฤติกรรมในสัตว์มีกระดูกสันหลัง
โดยทฤษฎีนี้ระบุว่า สมองของมนุษย์แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
4
1. Reptilian Brain
ทำหน้าที่เกี่ยวกับพฤติกรรมประเภท “สัญชาตญาณ” เป็นหลัก
รวมถึงลักษณะนิสัย ความเคยชิน การเอาตัวรอด และพฤติกรรมที่อยู่ในจิตใต้สำนึก
สมองส่วนนี้เริ่มพัฒนามาตั้งแต่เรายังเป็นเด็กทารก เพื่อตอบสนองความต้องการเรื่อง “ความปลอดภัย” ในการใช้ชีวิต
โดยถ้าสมองส่วนนี้ได้รับการตอบสนองขั้นพื้นฐานอย่างเพียงพอ จะเกิดความรู้สึก “สงบ”
แต่ถ้าไม่ได้รับการตอบสนองขั้นพื้นฐาน เราก็จะเกิดความรู้สึก “กลัว” ขึ้นมา..
2. Limbic System
เป็นสมองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์และความรู้สึกเป็นหลัก เช่น แรงผลักดันในชีวิต และความชอบ
สมองส่วน Limbic System เมื่อได้รับการตอบสนองขั้นพื้นฐานอย่างเพียงพอ จะเกิดความรู้สึก “พึงพอใจ”
แต่ถ้าไม่ได้รับการตอบสนองขั้นพื้นฐาน จะเกิดความรู้สึก “ไม่พอใจ”
3. Neocortex
เป็นสมองส่วนที่มีการพัฒนาสูงในมนุษย์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมเพียงไม่กี่ชนิด
ทำหน้าที่เกี่ยวกับภาษา ตรรกะ การให้เหตุผลที่ซับซ้อนมากขึ้น สิ่งที่เป็นนามธรรม และจินตนาการ
แล้วสมองทั้ง 3 ส่วน ทำงานได้อย่างไร ?
การทำงานของสมองทั้ง 3 ส่วน จะเริ่มจากการส่งกระแสประสาทไปที่ Reptilian Brain ก่อนเป็นที่แรก
ถ้าเป็นเรื่องที่ใช้สัญชาตญาณหรือจิตใต้สำนึกในการตอบสนอง ร่างกายก็จะตอบสนองทันที
โดยไม่ผ่านสมองส่วนอื่น ที่เกี่ยวกับอารมณ์หรือเหตุผล
แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการให้เหตุผล กระแสประสาทจะถูกส่งต่อไปที่ Limbic System ซึ่งเป็นสมอง
ส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และความรู้สึก และ Neocortex หรือสมองส่วนที่เกี่ยวกับเหตุผล ตามลำดับต่อไป
ดังนั้น การทำการตลาดที่มีประสิทธิภาพด้วยความรู้ในสาขาวิชา Neuromarketing
จึงต้องอาศัยสิ่งเร้าที่ส่งผลต่อสมองส่วน Reptilian Brain หรือสมองส่วนสัญชาตญาณให้มากที่สุด
เพื่อให้ลูกค้าเกิดความสนใจ จดจำได้ และกระตุ้นการตัดสินใจซื้อสินค้าอย่างรวดเร็ว
ซึ่งสิ่งเร้าสำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อสมองส่วนสัญชาตญาณมี 6 ประเภท ดังนี้
1. สิ่งที่เกี่ยวกับตัวผู้ชม
เนื่องจาก สมองส่วนสัญชาตญาณวิวัฒนาการมาเพื่อตอบสนองเรื่อง “ความปลอดภัย” เป็นหลัก
เพื่อให้มนุษย์ในยุคโบราณ สามารถ “เอาชีวิตรอด” จากสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายได้
ซึ่งสัญชาตญาณการเอาตัวรอด ทำให้มนุษย์ทุกคนมี “ความเห็นแก่ตัว” เป็นพื้นฐาน
มนุษย์จึงมักแสดงพฤติกรรมสนใจในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวเองก่อนเสมอ
ลองจินตนาการว่า หากเรากำลังเลื่อนดูคอนเทนต์ในเฟซบุ๊ก
แล้วลองคิดสิว่า เราจะหยุดอ่านเนื้อหาคอนเทนต์แบบไหนกันบ้าง ?
หนึ่งในคอนเทนต์ที่เราน่าจะหยุดอ่านกันแน่ ๆ ก็คือ คอนเทนต์ที่มีเนื้อหาที่มีความเกี่ยวข้องกับตัวเราเอง
นั่นก็เพราะ มันอาจส่งผลกระทบกับเราได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ตัวอย่างเช่น
- ข่าวรัฐบาลเคาะแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท (เราสนใจว่าเราจะได้เงินไหม)
- ข่าวโรงงานย่านบางซื่อซุกแคดเมียม (เราสนใจเพราะมันอันตรายต่อเราและอยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด)
หรืออย่างเช่น ถ้าคุณอ่านถึงตรงนี้ แสดงว่าเรื่องนี้ก็มีความเกี่ยวข้องกับคุณเหมือนกัน..
ดังนั้น การสร้างโฆษณาหรือคอนเทนต์ จึงควรเล่าในมุมมองที่เกี่ยวกับลูกค้า
3
โดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง แล้วค่อย ๆ ขยายเรื่องราวว่า ลูกค้ากำลังเผชิญกับปัญหาอะไรอยู่
จากนั้นจึงเสนอวิธีแก้ปัญหาให้ลูกค้า ผ่านสินค้าของเรา
เพียงเท่านี้ ลูกค้าก็จะอินไปกับเรื่องราวที่เราเล่า และอยากลองหาซื้อสินค้ามาใช้บ้าง
ซึ่งดีกว่าการพูดถึงแต่สินค้า ธุรกิจ หรือสิ่งอื่น ๆ ที่แบรนด์อยากเล่าเพียงอย่างเดียว
2. สิ่งที่จับต้องได้
สมองส่วนสัญชาตญาณชอบสิ่งที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ และทำความเข้าใจได้ง่าย ไม่ต้องใช้ความพยายามในการทำความเข้าใจมาก
ลองจินตนาการว่า เรากำลังเข้าเรียนในคลาสเรียนหนึ่ง
แน่นอนว่า เราก็คงคิดในใจ ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบายเนื้อหาให้เข้าใจง่าย ๆ
คงไม่มีใครยกมือขึ้น แล้วบอกอาจารย์ว่า
“อาจารย์สอนเข้าใจง่ายไป ช่วยอธิบายให้ซับซ้อน เข้าใจยากกว่านี้หน่อยครับ” จริงไหม..
การทำคอนเทนต์เพื่อทำการตลาดโปรโมตสินค้าก็เช่นเดียวกัน
นักการตลาดจะต้องหาวิธีลดการใช้ความพยายามทางความคิดให้มากที่สุด
โฆษณาจะเป็นอะไรก็ได้ แต่ต้องเรียบง่ายเข้าไว้ และไม่ซับซ้อนจนเกินไป
โดยถ้าโฆษณาเป็นข้อความ ก็อาจใช้วิธีอุปมาอุปไมย เปรียบเทียบให้เห็นภาพ
หรือถ้าสินค้ามีความซับซ้อน ก็ต้องเล่าเป็นลำดับขั้นตั้งแต่พื้นฐานอย่างละเอียด
ซึ่งบางที การหลีกเลี่ยงการใช้คำศัพท์ทางเทคนิค หรือคำศัพท์เฉพาะที่ไม่จำเป็น ก็ช่วยให้ลูกค้าเข้าใจสิ่งที่เราจะสื่อได้ง่ายขึ้น
รวมทั้งการใช้คำพูด เรื่องราว วิธีการเล่า ที่คิดว่าลูกค้าคุ้นเคย ก็เป็นวิธีที่ดีเช่นกัน
ยิ่งสิ่งที่นำเสนอมีความเข้าใจง่ายมากเท่าไร ความประทับใจครั้งแรกของลูกค้า
ที่เกิดขึ้นในสมองส่วนสัญชาตญาณก็ยิ่งมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัวด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างเช่น คอนเทนต์วิดีโอขายกระเป๋าเดินทาง
ถ้าเราโพสต์รูปสินค้ากระเป๋าเดินทาง
แล้วเขียนแคปชันอธิบายว่า กระเป๋าเดินทางทำจากวัสดุชนิดพิเศษ แข็งแรง ทนทานต่อการกระแทก
การทำคอนเทนต์แบบนี้ ลูกค้าจะมองไม่เห็นภาพเลยว่า สินค้ามันแข็งแรงทนทานจริงหรือไม่
แต่เคยมีคนทำคอนเทนต์เอากระเป๋าเดินทางมาทุบด้วยค้อน โยนทุ่มใส่พื้น
กระโดดขึ้นไปยืนบนกระเป๋า แล้วพบว่ากระเป๋านั้นไม่บุบเลยสักนิด จนทำให้มีคนสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก
ซึ่งจะเห็นได้ว่า การทำให้ลูกค้าเห็นภาพ มีส่วนทำให้คนสนใจมากกว่าการใช้ตัวอักษรอธิบาย
นั่นก็เพราะ สิ่งเร้าที่ตามองเห็นไปกระตุ้นสมองส่วนสัญชาตญาณให้สนใจง่ายขึ้นนั่นเอง
3. สิ่งที่แตกต่าง
เมื่อสมองส่วนสัญชาตญาณไม่ชอบการคิดอะไรที่ซับซ้อน
ดังนั้น การสร้างคอนเทนต์เปรียบเทียบความแตกต่างให้ลูกค้าเห็นภาพได้ชัดเจน จึงเป็นตัวเลือกที่ดีมาก
โดยการสร้างความแตกต่าง อาจจะเป็นการเปรียบเทียบสินค้าของเรากับของคู่แข่งในมุมต่าง ๆ
จะทำให้ลูกค้าเห็นภาพความแตกต่างชัดเจนขึ้น
4. สิ่งที่จำง่าย
สมองของมนุษย์ชอบเรื่องราวที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน
โดยเฉพาะจุดเริ่มต้นและจุดจบของเรื่องราว จะเป็นส่วนที่สมองจดจำได้มากที่สุด
ดังนั้น คอนเทนต์ที่ดี ควรจะเริ่มด้วยผลลัพธ์ หรือเล่าสิ่งที่เราอยากบอกลูกค้าไปเลย โดยไม่ต้องเกริ่นก่อน
เพราะจุดนี้ คือ 1 ใน 2 จุด ที่ลูกค้าจะโฟกัสให้ความสนใจ และจดจำได้มากที่สุด
อีกจุดที่ควรใส่ใจคือ ก่อนจบคอนเทนต์ ควรมีการสรุปให้ชัด เช่น สรุปเป็น Bullet เพื่อให้ลูกค้าจดจำได้ง่ายขึ้น
ลองสังเกตว่า ทำไมคอนเทนต์วิดีโอสั้นใน TikTok หรือ Reels ใน Instagram ถึงมีเอนเกจเมนต์สูง ?
นั่นก็เพราะว่า คอนเทนต์เหล่านี้มีเวลาจำกัดในการนำเสนอเนื้อหาข้างใน
อีกทั้งผู้ชมส่วนใหญ่ก็พร้อมปัดทิ้งทันทีที่เห็นว่าคอนเทนต์นั้นไม่น่าสนใจ
จึงทำให้คอนเทนต์ครีเอเตอร์เหล่านั้น ต้องรีบเข้าประเด็นที่ต้องการสื่อสารทันทีตั้งแต่เปิดคลิป
บางคนก็เอาข้อมูลที่สำคัญที่สุดมาพูดตั้งแต่แรก หรือมาตั้งเป็นชื่อคลิปกันเลยก็มี
ถึงแม้ว่าคอนเทนต์เหล่านี้จะมีข้อจำกัดเรื่องความยาวในการนำเสนอ
แต่มันก็มีข้อดีคือ กระตุ้นสมองส่วนสัญชาตญาณได้ดี คนจึงเกิดความสนใจและจดจำเนื้อหาได้ง่าย
1
5. สิ่งที่มองเห็นได้
รู้หรือไม่ว่า สมองส่วนสัญชาตญาณตอบสนองต่ออันตรายจากการมองเห็น ด้วยเวลาเพียง 13 มิลลิวินาที
ขณะที่สมองส่วนเหตุผลจะใช้เวลามากถึง 500 มิลลิวินาที หรือมากกว่าราว 40 เท่า
สมองส่วนเหตุผลจึงจะตอบสนองต่อสิ่งเร้านั้น
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมเราจึงวิ่งหนีอย่างไม่คิดชีวิต เมื่อเห็นอะไรก็ไม่รู้ที่มีลักษณะคล้ายงู
โดยที่เราไม่สนใจเลยว่ามันคือตัวอะไรกันแน่
โดยสมองจะข้ามการทำงานส่วนเหตุผลไปทันที และเอาตัวเองให้รอดก่อน
แล้วค่อยไปคิดหาเหตุผลทีหลังว่าเราตกใจ และวิ่งหนีตัวอะไรกันแน่
1
จะเห็นได้ว่าสิ่งที่เรามองเห็น ส่งผลต่อกระบวนการเริ่มต้นการตัดสินใจของคนอย่างมาก
ซึ่งนั่นก็รวมไปถึงการทำการตลาดอีกด้วย
เพราะความสนใจของลูกค้า เริ่มต้นจากการมองเห็นคอนเทนต์ของเรา เป็นลำดับแรก
เราจึงควรให้ความสนใจเกี่ยวกับคอนเทนต์ที่ใช้โฆษณามากเป็นพิเศษ
ซึ่งสิ่งเร้าผ่านการมองเห็นที่ดึงดูดความสนใจของคนได้ดีที่สุด เรียงตามลำดับ คือ
วัตถุเคลื่อนไหว 3 มิติ > วัตถุนิ่ง 3 มิติ > ภาพเคลื่อนไหว 2 มิติ > ภาพนิ่ง 2 มิติ
โดยภาพถ่ายจะดึงดูดความสนใจได้ดีกว่าภาพวาด
เพราะภาพถ่ายคือรูปเสมือนจริงที่คนคุ้นเคยมากกว่า เป็นรูปธรรมมากกว่า และไม่ต้องตีความใด ๆ
ส่วนข้อความ แผนภาพ แผนภูมิ กราฟ และอื่น ๆ จะดึงดูดความสนใจได้น้อยกว่า
เพราะสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจ และการตีความเพิ่มเติมจากสมองส่วนเหตุผลด้วย
6. สิ่งที่ทำให้เกิดอารมณ์
หากเราจะซื้อของสักชิ้นหนึ่ง เราใช้ “อารมณ์” หรือ “เหตุผล” ในการตัดสินใจซื้อมากกว่ากัน ?
คำตอบก็คือ อารมณ์ เพราะอารมณ์เป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจ
ไม่ใช่แค่เรื่องการตัดสินใจซื้อสินค้าเท่านั้น แต่รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตประจำวันด้วย
โดยอารมณ์ของคนนั้น แท้จริงแล้วเกิดจากการหลั่งสารสื่อประสาทและฮอร์โมน
จากการทำงานร่วมกัน ของระบบประสาทและระบบต่อมไร้ท่อในร่างกาย
เช่น สารเอนดอร์ฟินและเซโรโทนิน ที่ทำให้เกิดความสุข
โดปามีน ทำให้เกิดความคาดหวัง ความพึงพอใจ
อะดรีนาลิน ทำให้เกิดความโกรธ ความตื่นเต้น ความตกใจ
และออกซิโทซิน ทำให้เกิดความรัก ความผูกพัน
ดังนั้น การกระตุ้นอารมณ์จึงทำให้คนเกิดความสนใจและตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว จากการหลั่งสารสื่อประสาทและฮอร์โมน ที่ร่างกายหลั่งออกมา
แล้วเราจะใช้ประโยชน์จากอารมณ์ของมนุษย์ได้อย่างไร ?
เนื่องจากสมองส่วนสัญชาตญาณจะถูกกระตุ้นด้วยอารมณ์เชิงลบมากกว่าอารมณ์เชิงบวก
เพราะมันส่งผลต่อความอยู่รอดของมนุษย์มาตั้งแต่อดีต
ทำให้มนุษย์มีอคติทางความคิด เรื่องกลัวการสูญเสีย (Loss Aversion) ในสัญชาตญาณ
การทำการตลาดจึงควรกระตุ้นอารมณ์กลัวและเสียใจก่อน
เช่น ขยี้ปมปัญหาที่กลุ่มเป้าหมายประสบพบเจอ
ซึ่งจะทำให้พวกเขาเกิดความสนใจ และจดจำสิ่งที่พวกเขากำลังรับชมได้อย่างรวดเร็ว
เพราะมันส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของพวกเขาโดยตรง
หลังจากนั้นจึงค่อยกระตุ้นอารมณ์แห่งความคาดหวัง
ว่ากลุ่มเป้าหมายจะได้ความสุข ความสบายใจ และความพึงพอใจ จากการใช้สินค้า
เพียงเท่านี้ ก็ทำให้หลาย ๆ คน เกิดความสนใจและจดจำสินค้าได้เป็นอย่างดี
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า ทำการตลาดจำเป็นต้องใช้สิ่งเร้าครบทั้ง 6 องค์ประกอบหรือไม่
เรื่องนี้ก็คงต้องบอกว่า จำเป็นต้องใช้สิ่งเร้าทั้ง 6 อย่าง จึงจะกระตุ้นสมองส่วนสัญชาตญาณได้มากที่สุด
ซึ่งทำให้ การทำความเข้าใจกระบวนการทำงานของสมองมนุษย์นั้น มีความสำคัญมาก ไม่แพ้ทฤษฎีความรู้วิชาการตลาดในหัวข้ออื่น ๆ เลย
ถ้าใครมีเวลา การศึกษาความรู้เกี่ยวกับ Neuromarketing เพิ่มเติม ก็เป็นตัวเลือกที่ดี
เพราะมันจะทำให้เราเข้าใจเบื้องหลังความคิด และการตัดสินใจของลูกค้าได้ดีมากขึ้นนั่นเอง..
5
โฆษณา