28 เม.ย. เวลา 03:05 • ข่าว

ร่วมลงชื่อค้านยาบ้า 5 เม็ด มีโอกาสสำเร็จหรือล้มเหลวมากกว่า

เป็นประเด็นใหญ่ในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้ หลังจากชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดให้สามารถครอบครองยาบ้าได้ 5 เม็ด ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ จนทำให้สังคมต่างวิพากษ์วิจารณ์ว่ากฎกระทรวงนี้จะส่งผลให้มีคนเสพยาบ้ามากขึ้น มีผู้ค้ายาบ้ารอยย่อยมากขึ้น และอาจกระทบกระเทือนต่อชีวิตร่างกายของผู้ที่ถูกกระทำจากผู้เสพที่มีอาการคุ้มคลั่งออกเป็นวงกว้าง
พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นหนึ่งคนที่ออกมาต่อต้านกฎกระทรวงนี้อย่างหนักตั้งแต่ต้น และเคยประกาศว่าจะเดินหน้าให้มีการแก้ไข หรือทบทวนกฎกระทรวงเสียใหม่ จนล่าสุดได้เปิดตัวเว็บไซต์ www.vichaitam.com เพื่อเป็นช่องทางในการล่ารายชื่อจากประชาชน ซึ่งคาดการณ์ว่าต้องการให้ประชาชนลงชื่อในเว็บไซต์นี้อย่างน้อย 2 หมื่นรายชื่อ ซึ่งทีมข่าวได้ตรวจสอบเมื่อวันที่ 27 เม.ย.2567 เวลา 14.45 น.ปรากฎว่ามีคนเข้าไปลงชื่อแล้วจำนวน 10,746 คน
ทำไม? ต้อง 2 หมื่นรายชื่อ แล้วจะได้ผลสำเร็จหรือไม่?
ก่อนอื่นต้องมาตั้งต้นที่ต้นเหตุก่อนว่า “เหตุเกิดจากอะไร” นั่นคือกฎกระทรวงใช่หรือไม่? การออกกฎกระทรวง ถือว่าเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการโดยตรง แต่ต้องผ่านมติ ครม.เห็นชอบ ก่อนจะประกาศในราษกิจจานุเบกษา ถึงจะมีผลบังคับใช้ ถ้าหากต้องการยกเลิกเลยก็ไม่ได้อีก เพราะกฎกระทรวงออกมาเพื่อรองรับกฎหมายแม่ หรือออกตามพระราชบัญญัติ ในที่นี่คือ พ.ร.บ.ยาเสพติด แต่หากต้องการให้ทบทวนเพื่อแก้ไขสาระบางอย่างในกฎกระทรวง
ก็สามารถทำได้โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะเอง แล้วเสนอต่อ ครม.เห็นชอบอีกครั้ง หรือขอให้ ครม.เอง มีมติให้ รมว.สาธารณสุขทบทวนกฎกระทรวง ก็สามารถทำได้ แต่ในช่องทางนี้ไม่มีกฎหมายใดกำหนดว่าต้องยื่นรายชื่อประชาชน จำนวน 2 หมื่นรายไปด้วย แต่หากจะยื่นรายชื่อเพื่อสนับสนุนข้อเสนอให้มีน้ำหนักมากขึ้น ก็ไม่ผิดอะไร แต่หากรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีปฏิเสธที่จะแก้ไข หรือทบทวน ก็เอาผิดไม่ได้
ช่องทางที่ผู้การแต้มใช้ในการยื่น คือยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งเข้าไปดูหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามมาตรา 230 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่และอำนาจแค่การเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐ ตาม (1) และ (2) หรือเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี แต่ไม่มีอำนาจลงโทษได้ หาก ครม.หรือรัฐไม่ทำตามคำเสนอแนะนั้นๆ ซึ่งอย่างมากที่สุดก็คือสามารถยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครอง ตามมาตรา 231 (1) และ (2) เท่านั้น
แต่ก็ยังไม่มีอำนาจลงโทษได้เองเช่นกัน ซึ่งในขั้นตอนนี้ก็ไม่มีกฎหมาย หรือระเบียบใดว่าให้มีรายชื่อของประชาชน 2 หมื่นรายชื่อ ยื่นประกอบไปด้วย
แนวทางนี้ พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เคยได้อธิบายว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถดำเนินการได้ใน 2 กรณี คือ กรณีแรกหากพบว่าขัดต่อกฎหมาย ผู้ตรวจการแผ่นดินก็จะเสนอเรื่องต่อศาลปกครอง มีกรอบระยะเวลาการดำเนินการภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่อง ส่วนกรณีที่ 2 หากพบว่ากฎกระทรวงนี้ยังไม่เหมาะสมหรือมีข้อบกพร่อง ก็จะส่งเรื่องกลับไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนอีกครั้ง
นั่นก็เป็นไปตาม ม.230 และ ม.231 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ให้อำนาจผู้ตรวจการแผ่นดินไว้เท่านั้น
ซึ่งเมื่อใช้ช่องทางนี้ ก็ต้องลุ้นว่าคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน จะเป็นคุณต่อคำร้องของผู้การแต้มหรือไม่ หากเป็นคุณก็ยื่นให้ รมว.หรือ ครม.ทบทวนกฎกระทรวงและแก้ไขออกกฎกระทรวงขึ้นมาใหม่ในเรื่องนี้ แต่หากวินิจฉัยว่ากฎกระทรวงขัดหรือแย้ง หรือไม่ชอบต่อรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้ก็ยากเพราะเมื่อนำกฎกระทรวงตัวใหม่ กับตัวก่อนหน้านี้มาเทียบเคียงกัน ก็ต่างกันแค่ 5 เม็ด กับ 15 เม็ด หากสู้กันในประเด็นนี้ฝ่ายรัฐก็ได้เปรียบในข้อต่อสู้ว่าชอบต่อรัฐธรรมนูญ
เพราะเคยใช้กฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดลักษณะ ชนิด ประเภทและปริมาณยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2547 ที่ออกโดยสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.สาธารณสุขในสมัยนั้น
ถ้าคาดเดาว่าเป้าหมายของผู้การแต้ม คือศาลปกครอง สิ่งที่ต้องการรวบรวมรายชื่อ 2 รายชื่อนั้นอาจจะมาถูกทาง แต่ข้อมูลที่รวบรวมอาจจะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เพราะการกรอกลงชื่อนั้นเอาแต่ชื่อและช่องทางติดต่อ แต่ไม่มีเอกสารประจำตัวที่ราชการออกให้เพื่อยืนยันตัวตน และที่สำคัญไม่มีรายละเอียดชี้แจงรายบุคคลว่ามีผลกระทบกระเทือนอะไรจากผลของการออกกฎกระทรวงนี้
การยื่นตรงต่อศาลปกครอง เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เปิดช่องให้ทำได้ หากมีการตีความได้ว่ากฎกระทรวงที่ประกาศใช้นี้ เป็นคำสั่งทางปกครองหรือไม่ ซึ่งเมื่อดูจากพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 5 ความหมายของคำสั่งทางปกครอง ได้ระบุไว้ใน (2) วรรค 1 กฎ หมายความว่า พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ฯ ที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ
หากตีความได้ว่ากฎกระทรวงดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองและมีผู้ได้รับผลถูกกระทบกระเทือนซึงมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ก็เข้าข่ายให้ยื่นต่อศาลปกครองได้
หรือไม่ก็ร้องต่อคณะกรรมการตามหมวด 1 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตาม มาตรา 11 (4) เพื่อให้มีผลอย่างใดอย่างหนึ่ง และนำไปประกอบกับการยื่นศาลปกครองต่อไปได้ แต่ก็มีอุปสรรคเพราะต้องใช้เวลาในระยะหนึ่งกว่าจะมีการพิจารณาของคณะกรรมการ ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ฉบับ พ.ศ.2539
ก็กลับมาเน้นย้ำอีกว่า หากต้องการผลที่รวดเร็วที่สุด ที่จะกดดันให้ ครม.หรือ รมว.สาธารณสุข มีการทบทวนกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ.2567 ก็ขอให้คำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผลดีต่อคำร้องของผู้การแต้ม แต่หากไม่เป็นเช่นนั้น ก็เหลือทางที่จะยื่นต่อศาลปกครอง ตามมาตรา 42 วิธีพิจารณาคดีปกครอง
แต่หากข้อมูลที่ผู้การแต้มรวบรวมแค่รายชื่อนั้นอาจไม่เพียงพอและสมบูรณ์ และจะต้องมีคำร้องเป็นรายบุคคลก่อนด้วย และค่อยรวมฟ้องตามมาตรา 45 (5) วรรค 2 นั่นก็ใช้เวลานาน อาจนานไปจนสิ้นรัฐบาลชุดนี้ไปแล้วก็ได้
โฆษณา