29 เม.ย. เวลา 01:34 • ประวัติศาสตร์
เส้นทางรถไฟสายมรณะ

ไขข้อสงสัยที่มาของอุโมงค์ที่สังขละบุรี คืออะไร ใครเป็นคนสร้าง แล้วสร้างทำไม?

สืบเนื่องจากในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมามีกระแสข่าวว่า มีการพบอุโมงค์ที่ถูกมนุษย์ขุด ในบริเวณ อ.สังขละบุรี
โดยอุโมงค์ขุดเหล่านี้อยู่บริเวณภูเขาข้างถนนที่จะมุ่งหน้าไปทางด่านพระเจดีย์สามองค์
ต้องขอบอกก่อนว่าในหมู่ชาวบ้านท้องถิ่นนั้นรับรู้กันมานานแล้วว่ามันเป็นอุโมงค์ขุดจากมนุษย์ แต่ก็ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าใครเป็นคนขุด และขุดเมื่อไหร่ จุดประสงค์การขุดเพื่ออะไร
จากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลของผมพบว่า
อุโมงค์ที่พูดถึงกันคือ เครือข่ายอุโมงค์แนวตั้งรับของกองทัพญี่ปุ่นใกล้กับชายแดนไทย-พม่า ที่ อ.สังขละบุรี กาญจนบุรี
ปากอุโมงค์ขุด
อุโมงค์นี้ที่จริงถูกพบมานานมากแล้วในกลุ่มคนในพื้นที่แถบนั้น แต่ก็ไม่ได้มีการเผยแพร่  เพราะไม่มีคนสนใจ
จนมีชาวต่างชาติ(ลูกหลานของเชลยศึก ตลอดจนนักประวัติศาสตร์) เข้ามาศึกษาตามหาข้อมูลของอุโมงค์เหล่านี้
ซึ่งข้อมูลที่พวกเขาใช้ในการค้นหาอุโมงค์พวกนี้ก็มาจากข้อมูลที่บรรดาเหล่าเชลยศึกได้เขียนบันทึกไว้
จนมีการเข้าสำรวจอย่างจริงจังของชาวออสเตรเลียในปี 2005 จนพบอุโมงค์แห่งนี้ และอีกครั้งโดย TBRC ในปี 2010 โดยชาวบ้านในพื้นที่ได้ชี้ตำแหน่งอุโมงค์ให้กับนักประวัติศาสตร์ชาวตะวันตกได้เข้าไปสำรวจ
ตั้งแต่ปี 2020 ตัวผมเองก็ได้ไปสำรวจอุโมงค์ในบริเวณนี้มาหลายครั้ง พวกเราพบอุโมงค์ในลักษณะคล้ายกันกระจายอยู่ทั่วไปตามแนวภูเขาทั้งสองฝั่งของทางรถไฟสายมรณะ อยู่ที่ว่าจะลึกมากน้อย ขุดทะลุภูเขาบ้าง บางอุโมงค์ก็ไม่ทะลุ จากคำบอกเล่าของคนในพื้นที่บอกว่าเมื่อก่อนมีอุโมงค์ใหญ่ๆ และมีทางเข้าออกหลายทางแต่บริเวณนั้นถูกขุดเอาดินไปถมทำถนนเมื่อหลายปีมาแล้วเป็นที่น่าเสียดาย
กลับมาที่เนื้อหาทางประวัติศาสตร์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกี่ยวข้อง
ในช่วงกลางปี 1944 กองทัพญี่ปุ่นได้เปิดยุทธการครั้งใหญ่ที่ชื่อว่า U-go โดยมีจุดมุ่งหมายในการส่งกำลังทหารญี่ปุ่นรุกเข้าไปทำลายกองทัพอังกฤษและยึดเมือง Kohima และ Imphal ที่อยู่ใกล้กับชายแดนพม่า
หลังจากนั้นญี่ปุ่นจะใช้สองเมืองนี้เป็นฐานในการรุกเข้าตีและยึดที่ราบลุ่มแม่น้ำพรหมบุตรต่อไป
แต่ด้วยสภาพพื้นที่ป่าทางชายแดนวันตกของพม่าติดกับอินเดียนั้น เป็นพื้นที่ทุรกันดาร โรคภัยมากมาย
ตลอดจนการตั้งรับของกองทัพอังกฤษและอาณานิคมอินเดียที่วางแผนเป็นอย่างดี
ทุกอย่างส่งผลให้ยุทธการ U-Go จบลง ด้วยการพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นในสมรภูมิ Imphal และ Kohima
ทหารญี่ปุ่นที่ถอนทัพจากยุทธการ U-go
หลังจากที่ทหารญี่ปุ่นพ่ายในยุทธการ U-Go ทหารอังกฤษก็รุกไล่ บดขยี้ กองทัพญี่ปุ่น จนกองทัพญี่ปุ่นต้องทำการถอนทหารออกจากภาคตะวันตกและทางภาคเหนือของพม่า ลงมายังภาคใต้ กำลังบางส่วนถูกส่งเข้ามาพักปรับกำลังในประเทศไทย
แต่ก็ยังมีบางส่วนก็ยังคงต้องทำการวางแนวตั้งรับเพื่อหยุดการรุกของกองทัพอังกฤษที่กำลังเดินทัพตามเข้ามา
กองทัพญี่ปุ่นมีการประเมินสถานการณ์ว่า ถึงแม้ทหารญี่ปุ่นจะถอนกำลังจากพม่าซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เข้ามาอยู่ในเขตแดนประเทศไทยทั้งหมด
แต่กองทัพอังกฤษก็จะต้องรุกเข้ามาที่ประเทศไทยเพื่อกวาดล้างกองทัพญี่ปุ่นต่ออย่างแน่นอน
โดยหนึ่งในเส้นทางหลักหากทหารอังกฤษจะรุกเข้าตามตีกองทัพญี่ปุ่นในไทยก็ต้องผ่านทางด่านพระเจดีย์สามองค์
กองทัพญี่ปุ่นจึงวางแผนสร้างแนวป้องกันการรุกของทหารอังกฤษ โดยเลือกเอาพื้นที่ลาดทางตะวันออกของด่านพระเจดีย์สามองค์เป็นพื้นที่สร้างแนวป้องกัน
เส้นทางรถไฟบริเวณ ด่านพระเจดีย์สามองค์
ที่เลือกบริเวณดังกล่าว เนื่องจากบริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การยิงถล่ม และในขณะเดียวกันพื้นที่บริเวณนี้รกและเป็นอุปสรรคสำหรับฝ่ายรุก
แนวป้องกันของฝ่ายญี่ปุ่นประกอบไปด้วยรังปืนกล หรือบังเกอร์สำหรับติดตั้งอาวุธชนิดต่างๆ จะถูกสร้างไว้ตามยอดเนินในบริเวณนั้น
จะมีการขุดอุโมงค์เชื่อมระหว่างรังปืนกล,บังเกอร์เข้าด้วยกัน และยังมีการขุดอุโมงค์ที่เก็บอาหารรวมไปถึงยุทธปัจจัยอื่นๆด้วย
และบริเวณพื้นราบใกล้ทางรถไฟ ก็ยังมีการขุดคูดักรถถัง และสร้างสิ่งกีดขวาง เพื่อป้องกัน ยานเกราะ รถถัง จะเคลื่อนผ่านพื้นที่นี้โดยสะดวก (คูดักรถถังคือ การขุดคูขนาดกับความลึกสัมพันธ์กัน ขุดเป็นแนวยาว เมื่อรถถังศัตรูวิ่งมาโดยไม่ระวัง หากรถถังตกลงไปก็จะไม่สามารถถอยหลังหรือเดินหน้าขึ้นจากคูได้ และรถถังจะติดค้างในคูครับ)
กำหนดงานในการก่อสร้างเครือข่ายแนวตั้งรับและอุโมงค์นั้นเริ่มจากเดือนมิถุนายน 1945 และกำหนดให้แล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 1945
แรงงานที่ใช้ในการก่อสร้างคือแรงงานเชลยศึกชาติตะวันตกที่ถูกกักกันอยู่ที่ค่ายเชลยศึกนครปฐม
เพื่อความเข้าใจที่ครบถ้วนจะขอกล่าวถึงเรื่องเชลยศึกก่อนเล็กน้อย
เชลยศึกสัมพันธมิตรที่ถูกส่งมาที่ประเทศไทยเพื่อสร้างทางรถไฟทั้งหมดมีประมาณ 60,000 คน เสียชีวิตไปประมาณ 13,000 คน
เมื่อสร้างทางรถไฟแล้วเสร็จช่วงปลายปี 1943 เชลยศึกส่วนหนึ่งจะถูกกักกันไว้ตามค่ายเชลยศึกในพื้นที่ตลอดแนวเส้นทางรถไฟ เพื่อทำงานในการซ่อมแซมทางรถไฟที่ได้รับความเสียหายจากไฟป่า น้ำป่า หรือแม้กระทั่งการโจมตีทางอากาศที่ทำลายสะพาน
ปากอุโมงค์ที่ถูกถล่มเหลือช่องแค่นิดเดียว แต่ภายในยังคงอยู่ในสภาพดี
เชลยศึกบางส่วนถูกส่งตัวมายังค่ายเชลยศึกที่ตัวเมืองกาญจนบุรี ท่าม่วง บ้านโป่ง นครปฐม
อีกส่วนหนึ่งจะถูกส่งไปกักกันที่สิงคโปร์ และก็มีบางส่วนถูกส่งลงเรือไปใช้แรงงานที่ดินแดนญี่ปุ่น
เมื่อกองทัพญี่ปุ่นมีโครงการก่อสร้างอะไรในประเทศไทย เชลยศึกที่อยู่ตามค่ายกักกันในประเทศไทย ก็จะถูกเกณฑ์ไปตามสถานที่ต่างๆ
ในโครงการก่อสร้างแนวป้องกันของกองทัพญี่ปุ่นทางใต้ของด่านพระเจดีย์สามองค์นั้น
ทหารญี่ปุ่นมีการเลือกเอาเชลยศึกที่ถูกกักกันที่ค่ายนครปฐมไปใช้แรงงาน
โดยมีเชลยศึกอังกฤษประมาณ 200 คน เนเธอร์แลนด์ 300 คน ออสเตรเลียประมาณ 163 คน
เชลยศึกกลุ่มนี้มีชื่อที่เรียกในหมู่เชลยศึกว่า Tunnel party หรือเชลยศึกกลุ่มที่ถูกส่งไปทำงานขุดอุโมงค์
ปากอุโมงค์บางแห่งก็ยังอยู่ในสภาพดี เช่นจุดนี้ โดยส่วนตัวคาดว่า ที่สมบูรณ์เพราะมีรากของต้นไผ่ยึดเกาะดินไว้
เชลยศึกกลุ่ม Tunnel party โดยสารขบวนรถไฟจากสถานีนครปฐมไปยังพื้นที่ด่านพระเจดีย์สามองค์และซองกาเลีย
เมื่อลงจากขบวนรถไฟเชลยศึกก็เข้าอาศัยอยู่ที่ค่ายเชลยศึกซองกาเลียหมายเลข 2 หรือค่ายเชลยศึกเชิงสะพานข้ามห้วยซองกาเลีย ปัจจุบันเป็นพื้นที่ของโรงเรียนซองกาเลีย และลานจอดรถสำหรับคนที่มาท่องเที่ยวแพทานอาหารที่ห้วยซองกาเลีย
ตัวค่ายและอาคารกระท่อมเป็นของเก่าที่สร้างไว้คระงเมื่อมีเชลยศึกมามาทำการก่อสร้างทางรถไฟเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว (1942-1943) สภาพอาคารกระท่อมจึงมีลักษณะผุพังตามกาลเวลา หลังคามุงจากก็ทะลุหรือตับจากก็หายไป
โดยในการเดินทางไปที่ซองกาเลียครั้งนี้ไม่มีเชลยศึกที่เป็นแพทย์สนามติดตามไปด้วย จึงทำให้เชลยศึกต้องดูแลกันตามยถากรรม
ในระหว่างการก่อสร้างแนวป้องกัน เชลยศึกที่ล้มป่วยที่ต้องนอนพักในพื้นที่พักคนป่วย ก็จะถูกบังคับให้ทำงานบ่อยครั้ง
อาหารของเชลยศึกมีเพียงข้าวและผัก ที่มีปริมาณน้อยนิด
ลักษณะการทำงานของเชลยศึกกลุ่ม Tunnel party มีสองกลุ่มงานหลัก
คือกลุ่มแรก ขุดอุโมงค์
ในงานขุดอุโมงค์เชลยศึก อ้างอิงจาก เชลยศึกออสเตรเลียที่ชื่อ Fred Howe
กลุ่มเชลยศึกจะถูกแบ่งลักษณะงานเป็นสองกลุ่มย่อยคือ
1.งานที่ขุดอุโมงค์
2.งานที่เข้าไปตัดไม้เพื่อไปทำตัวเสาค้ำยันอุโมงค์
โดยทหารญี่ปุ่นจะแบ่งเชลยศึกทั้งหมดออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 20 คน
ในแต่ละวันเชลยศึกจะต้องเดินเท้าระยะทาง 5 กิโลเมตร มุ่งหน้าไปยังค่ายซองกาเลียเหนือหรือ Kami Sonkurai  (ปัจจุบันคือร้านกาแฟของนายก อบต.)
ภายในอุโมงค์
ช่วงแรกของถนนที่ต้องเดินไปทำงานเป็นทะเลโคลนที่สูงกว่า 50 ซม. แล้วหลังจากนั้นก็เป็นถนนที่แห้งสามารถเดินได้สะดวก แต่เชลยศึกที่ไม่มีรองเท้านั้นก็ค่อยข้างลำบาก
เมื่อเชลยศึกถึงบริเวณแถบค่ายซองกาเลียเหนือ จนถึงจันการายา เชลยศึกที่มีหน้าที่ขุดอุโมงค์ก็จะเดินขึ้นเขาไปทำงานขุดอุโมงค์ โดยบางส่วนก็ไปขุดอุโมงค์ฝั่งตะวันตกของทางรถไฟ และบางส่วนก็ไประเบิดเจาะภูเขาหินที่อยู่ฝั่งตะวันออกของเส้นทางรถไฟ
ภาพอุโมงค์ในจุดต่างๆ
งานขุดอุโมงค์และงานระเบิดอุโมงค์ถือเป็นงานอันตราย หากพลาดพลั้งอาจจะหมายถึงการจบชีวิต
ส่วนเชลยศึกที่มีหน้าที่ไปตัดไม้เพื่อมาทำเสาค้ำยันนั้น จะต้องเดินต่อไปอีกเป็นระยะทาง 7 กิโลเมตร เพื่อตัดไม้และขนนำเอามาทำเสาค้ำยันอุโมงค์
ซึ่งงานของกลุ่มนี้ถือเป็นงานที่ลำบากมากประมาณ เพราะเสาแต่ละต้นนั้นก็มีน้ำหนักมาก 100-200 กิโลกรัม ยากแก่การเคลื่อนย้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่ต้องขนไม้ขึ้นเนินเขาเพื่อนำไปใช้ค้ำยันอุโมงค์ที่ขุดบนเนินเขา
รอยการเซาะข้างข้างผนังอุโมงค์ ที่วางไม้ค้ำยัน
มีการทำงานตั้งแต่ 03.30 - 23.00 น. ส่งผลให้เชลยศึกได้พักผ่อนเพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน
ช่วงหลังตัว Fred Howe และพวกส่วนหนึ่งถูกส่งไปทางใต้ยังพื้นที่แถบเกริงกวยทะ (แก่งคอยท่า) เพื่อสร้างแนวป้องกันขุดคูดักรถถังในอีกจุดหนึ่ง
เชลยศึกใรกลุ่มงานหลักที่ 2 คือกลุ่มที่สร้างสิ่งกีดขวาง และคูดักรถถังตามข้างเส้นทางรถไฟ
ข้อมูลอ้างอิงจากเชลยศึกชาวอังกฤษที่ชื่อ Frank Tantum
กล่าวว่าในช่วงปลายสงครามพวกเขาถูกส่งไปยังชายแดนไทยพม่า โดยถูกใช้แรงงานในการขุดคูขนาดใหญ่
โดยขนาดความยาวแต่ละคู ยาวประมาณ 10 เมตร กว้าง 3.5 เมตร ลึก 3 เมตร
ทหารญี่ปุ่นไม่ได้บอกอะไรกับเชลยศึก เพียงแต่สั่งการให้เชลยศึกขุดดินให้ได้ตามรูปแบบและระดับความลึกที่กำหนด
แต่เชลยศึกเองก็พอที่จะคาดเดาได้ว่ามันคือคูที่ใช้สำหรับดักรถถัง
ตัวของ Frank ยังพูดว่า ตัวเขาและเพื่อนมีหน้าที่ขุดคูดักรถถัง ส่วนเชลยศึกออสเตรเลีย(น่าจะกล่าวถึงกลุ่มของ Fred Howeที่ทำหน้าที่ขุดอุโมงค์) บางส่วนเป็นเชลยศึกชาวเนเธอร์แลนด์ถูกใช้แรงงานขุดอุโมงค์ตามภูเขาในบริเวณแถบนั้นเช่นกัน โดยใช้ตะเกียงน้ำมันมะพร้าวให้แสงสว่างในการขุดลึกเข้าไปในอุโมงค์ที่มืดมิด
เชลยศึกกลุ่มของ Frank Tantum ทำงานขุดดินลึกท่ามกลางฝนตกหนักทำให้การทำงานยากลำบาก ต้องขุดดินและตักโคลนขึ้นจากก้นคู แล้วเชลยศึกอีกคนต้องนำเอาดินหรือโคลนตักไปทิ้งให้ห่างจากคูที่ขุดไม่เช่นนั้น โคลนก็จะไหลกลับลงไปในคูเช่นเดิม การทำงานตั้งกลางเช้ายันถึงเย็น 17.30 น. กว่าจะเดินถึงค่ายก็มืดค่ำพอดี
ด้วยสภาพการทำงานอย่างหนัก ประกอบกับอาหารที่มีปริมาณไม่มากนัก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเชลยศึก หลายคนซูบผอมน้ำหนักลด หลายคนต้องเสียชีวิต
การอาศัยในป่าลึกและขาดการดูแลเรื่องสุขลักษณะอนามัย ตลอดจนการป้องกันยุงกัด เป็นสาเหตุของโรคร้ายแรงที่คร่าชีวิตเชลยศึกหลายราย
งานสร้างแนวป้องกันกระจุกตัวบริเวณค่ายซองกาเลียเหนือไปจนถึงแถบจันการายา(หรือพื้นที่บ้านบ่อญี่ปุ่น ในประเทศพม่าปัจจุบัน)
ทางใต้ก็จะมาถึงทางเหนือจากสถานีนิเถะไปประมาณ 2-3 กิโลเมตร ก็มีเชลยศึกสร้างแนวป้องกันใกล้บริเวณนั้นเช่นกัน
สรุปได้ว่าอุโมงค์ที่เราเห็นเป็นข่าวเผยแพร่กันออกไป คืออุโมงค์ที่กองทัพญี่ปุ่นได้เกณฑ์ใช้แรงงานเชลยศึกให้มาขุด เพื่อใช้สำหรับวางกำลังต้านทานกองทัพอังกฤษที่คาดว่าจะรุกเข้ามาประเทศไทยผ่านเส้นทางนี้
ไม่ได้เกี่ยวกับตำนานทองคำญี่ปุ่น หรืออุโมงค์เหมืองแร่ หลุมเผาถ่าน รูงูยักษ์ตัวเท่าตู้กับข้าว หรือหนอนทะเลทรายชาไอฮูลูด ตามที่คนเข้ามาพูดอะไรกันไปเรื่อยเปื่อย
2
อุโมงค์ที่เป็นข่าวนั้นเป็นเพียงอุโมงค์เดียว
จริงๆแล้วอุโมงค์เหล่านี้ยังมีอีกมากครับ หลายอุโมงค์ดินที่บริเวณปากอุโมงค์ปถล่มลงมาปิดจึงเข้าไปไม่ได้ แต่ก็มีบางอุโมงค์ที่ยังเข้าไปได้บ้าง ทีมงานแอดมินเองก็เคยไปอีกอุโมงค์หนึ่งซึ่งขุดทะลุเขาเช่นกัน แต่ทางใต้จากอุโมงค์ที่เป็นข่าว
หากทางท้องถิ่นจะทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวต้องทำการสำรวจพื้นที่อย่างละเอียด ค้นหาอุโมงค์ทั้งหมดให้พบ ทำให้ปลอดภัย และพยายามสื่อสารกระจายข่าวไปในวงกว้าง
ในข้อมูลที่เกี่ยวกับเครือข่ายอุโมงค์แนวป้องกันของกองทัพญี่ปุ่นบริเวณนี้
ผมใช้เอกสารประวัติศาสตร์และหนังสืออ้างอิงดังนี้
อ้างอิงแรกเป็นข้อมูลในหนังสือ The Thailand Burma railway 1942-1946 เล่มที่ 3 โดย Paul Kratoshka
อ้างอิงที่สองเป็นเอกสารของ South East Asia Translation and Interrogation Center (SEATIC)
ศูนย์การสอบปากคำและการแปลประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของกองกำลังสัมพันธมิตร (ปล.ผมไม่ใช่นักแปลภาษาที่ดี ผมแปลตามที่ผมอ่านแล้วเข้าใจคิดคำสลวยๆไม่ออกนะครับก็ใช้คำนี้)
และที่จริงแล้วข้อมูลในเอกสารนี้ก็ถูกคุณPaul Kratoshka นำรวบรวมและเผยแพร่ในหนังสือ The Thailand Burma railway 1942-1946  เช่นกัน
อ้างอิงที่ 3 เป็นข้อมูลจากหนังสือ At war with my father หนังสือนี้
หนังสือ At war with my father.
ที่ถูกเขียนจากบันทึกของ Fred Howe เชลยศึกสัมพันธมิตร
Fred Howe มีลูกสาวที่ชื่อ Dianne Elliott ที่เกิดหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2
ในวัยเด็ก Dianne มีความทุกข์เนื่องจากต้องอยู่กับพ่อที่มีอารมย์ค่อนข้างโมโหร้าย โดยที่เธอเองก็ไม่ทราบสาเหตุ
แต่เมื่อพ่อเสียชีวิตลง เธอได้นำบันทึกของพ่อไปให้นักประวัติศาสตร์ช่วยศึกษาและค้นหาเรื่องราว เพื่อที่เธอจะได้รู้ว่าพ่อเธอผ่านอะไรมาในอดีต
นักประวัติศาสตร์ศึกษาและหาข้อมูลจากบันทึกของ Fred Howe จนพบเรื่องราวเกี่ยวกับการถูกส่งมาสร้างทางรถไฟสายมรณะและอุโมงค์
คุณ Dianne Elliott ต้องการที่จะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดของ Fred Howe ผู้เป็นบิดามาเขียนหนังสือ
Lynette Silver และ Dianne Elliott
แต่ในระหว่างที่รวบรวมเรียบเรียงหนังสือตัวของ Dianne Elliott ป่วยด้วยอาการมะเร็งสมอง
ก่อนที่ Dianne Elliott จะเสียชีวิตเธอได้ขอให้ Lynette Silver นักประวัติศาสตร์ทางทหารชาวออสเตรเลีย เขียนหนังสือ At the War with my Father ให้สำเร็จ
คุณ Lynette Silver จึงเขียนหนังสือเล่มนี้จนเสร็จและมีการเปิดตัวหนังสือไปเมื่อปี 2023
แหล่งอ้างอิงที่ 4 คือบทความเขียนโดย Fred Howe ลงหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น
ภาพพาดหัวในหนังสือพิมพ์ Burrowa News. เรื่องราวที่ Fred เขียนลง
ที่ชื่อหนังสือพิมพ์ Burrowa News ตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ.- 8 มีนาคม 1949 ในชื่อเรื่อง THE MALAYAN CAMPAIGN EXPERIENCES OF A PRISONER OF WAR IN SINGAPORE AND BURMA (BY SERGT. FRED HOWE, OF BOOROWA.)
และข้อมูลอ้างอิงสุดท้ายคือข้อมูลจาก COFEPOW หรือ Children and family of the Far East prisoner of war. ในบทความที่ชื่อว่า The Pits ซึ่งเป็นเรื่องราวของ Frank Tantum.
รวมภาพสำรวจของกลุ่มเราครับ
พี่ต้องและพวกเราหน้าอุโมงค์แห่งหนึ่ง
พี่บุญสิน และ น้อยในอุโมงค์
พี่เล็ก ท่าน้ำ หน้าอุโมงค์ที่มีกอไผ่เกิดขวาง
น้องคอปเตอร์ พี่ต้อง ผม พี่เล็กท่าน้ำ
โฆษณา