29 เม.ย. เวลา 03:16 • ข่าวรอบโลก
ถนน เยาวราช

เหตุใดคนบางคนที่ทำบุญมามากหรือปฏิบัติธรรม-สวดภาวนาเป็นประจำถึงมักโมโหร้ายเวลาถูกตำหนิ?

อันที่จริงแล้วการทำบุญ เช่น การบริจาคทาน การช่วยเหลือเกื้อกูลสรรพสัตว์-ผู้คน หรือช่วยวัดเล็กวัดน้อยสร้างอุโบสถสร้างวิหาร เป็นไปเพื่อลดความตระหนี่ถี่เหนียว ให้ไม่มองตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ หากใครบริจาคทานทำบุญด้วยปัญญาและมีสติก็จะพบว่าการลดความตระหนี่จะช่วยให้เราไม่เกิดความเห็นแก่ตัว เมื่อไม่เห็นแก่ตัวบ่อยเข้าๆ อัตตา หรือ ความรู้สึกว่านี่คือตัวกู-ของกูนะก็จะค่อยๆมลายหายไป(อาจใช้เวลามากหน่อย) อย่างเลิศก็อาจนำไปสู่การหลุดพ้นได้เลยนะเออ
ส่วนการถือศีล-เจริญภาวนาก็เป็นวิธีการที่ศาสนาพุทธทุกนิกายสอนให้ปฏิบัติต่อไปอย่างเป็นนิจ โดยการถือศีลจะทำให้เราหยุดทำบาปได้ ซึ่งศีลพื้นฐานมีง่ายๆ 5 ข้อดังต่อไปนี้คือ ห้ามฆ่าสิ่งมีชีวิต ห้ามโกหกคนอื่นด้วยเจตนาไม่ดีเช่นโกหกว่าตัวเองเป็นคนรวยคนเก่ง,โกหกเพื่อหลอกชิงทรัพย์ผู้อื่น ห้ามเป็นชู้หรือไปผิดลูกผัวลูกเมียเขา ห้ามลักขโมยทรัพย์สินและเงินทองผู้อื่น และข้อสุดท้ายห้ามดื่มสุรายาเมาและวัตถุชวนมัวเมา
องค์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร(กวนซีอิมผู่สัก,องค์กวนอิม) ปางบุรุษเพศ หรือ อาทิภาค
ส่วนการเจริญภาวนาในวิธีที่ง่ายที่สุดคืออยู่กับลมหายใจ ดูลมหายใจของตัวเอง ดูความคิดของตัวเองโดยไม่ต้องไปบังคับมัน(จนความคิดดับไปเอง) ดูการกระทำและพิจารณาความเป็นไปของร่างกายตัวเองว่ามันมีแต่ความน่าหน่ายแหนงเอือมระอาที่สร้างให้เราทรมานด้วยโรคด้วยภัย ด้วยความอยู่ไม่สุขเมื่อเกิดกามารมณ์ ด้วยง่วง-หิว-ปวดถ่ายก็ทรมาน ด้วยความเมื่อยล้าเจ็บปวดเมื่อเกิดโรค-อุบัติเหตุ ซึ่งวิธีการเจริญภาวนานี้จะช่วยพัฒนาให้จิตใจสงบลงจากกิเลสได้ อย่างเลิศก็อาจนำไปสู่การหลุดพ้นได้เช่นเดียวกับบุญชนิดอื่นๆ
แต่ทว่า เรามักจะเห็นคนที่จิตใฝ่หาทางธรรม เข้ารับการปฏิบัติเจริญภาวนา และทำบุญอย่างเนืองนิจ แต่สุดท้ายเมื่อต้องมาใช้ชีวิตทางโลกแล้วเจอกับปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาจากคนรอบข้าง ปัญหาสังคม ปัญหาจากงาน ปัญหาครอบครัว ฯลฯ แม้แต่ผู้เขียนเองก็เป็น เช่นเมื่อไปปฏิบัติธรรม-สวดมนต์ภาวนา-ทำบุญใหญ่-หรือบริจาคทานให้ผู้คนมาอย่างปริ่มเปรม พอกลับมาเจอคนที่บ้านพูดจาไม่เข้าหูเข้าหน่อยก็เกิดโทสะพล่านในจิต ด้วยความรู้สึกอัตคัดขัดสนจิตใจอย่างมากกว่าปรกติ
พระพุทธองค์ทรงเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ต้นจิกโดยมีพญามุจลินทนาคราชเป็นผู้แผ่พังพานบังแดดบังฝนให้
จนเกิดการทะเลาะเบาะแว้งขึ้นกับคนในครอบครัว จากความที่อัตตายังคงมีอยู่ เชื่อว่าผู้แสวงบุญทุกคนเป็นคล้ายๆกัน อธิบายปรากฏการณ์นี้ในภาษาพุทธที่ใช้คำว่าอัตตาคงฟังดูเข้าใจยากไปอีก แต่ถ้าพูดภาษาง่ายๆบ้านๆก็คือ พวกเขาคิดว่าตัวเองไปทำดีมาแต่ก็ยังไม่ได้ดีอีก จึงเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจขึ้นมา(จากโมหจริตที่แยบคายมาก ดูแทบไม่ออก) เมื่อกลับมาทำอะไรก็ผิดไปหมดในสายตาคนอื่น(แม้เป็นเรื่องเล็กน้อยก็ถูกตำหนิ) ความต่ำใจนั้นจึงทวีความรุนแรงขึ้นชั่วขณะกลายเป็นระเบิดขีปณาวุธที่พร้อมจะทิ้งลงมาจากใต้ท้องเครื่องบินรบ
หัวหน้าในที่ทำงานของผู้เขียนเองก็เป็นนักแสวงบุญสายปฏิบัติกัมมัฏฐานที่น่ารัก แต่ก็โมโหร้ายมากเมื่อเจอเรื่องที่ไม่ได้ดั่งใจหรือเมื่อมีใครมาทำให้รู้สึกเสียเปรียบ-เสียใจ-เสียความรู้สึก ผู้เขียนจับยามเฝ้าสังเกตหัวหน้ามาสักพักแล้วจึงพอจะวิเคราะห์อาการได้ว่า หัวหน้าตั้งเหตุ(การทำบุญ-กรรมฐานเจริญภาวนา)ไว้ว่าปรารถนาบุญ ปรารถนาสิริมงคลที่จะเข้ามาในชีวิต ซึ่งผลที่ได้จากเหตุนั้นก็เลยผิด กล่าวง่ายๆบ้านๆก็คือ เจริญสติไปในทางหวังบุญ หวังสิ่งดีๆมีมงคลสมปรารถนาเข้ามาในชีวิต พอไม่สมหวังก็เลยระเบิดลงนั่นเอง
ผู้เขียนเองก็เป็นเช่นนั้น มีความหวังนำไป แต่ต่างจากหัวหน้าตรงที่เราสร้างบุญก็เพราะหวังว่าบุญจะช่วยทุเลาเบาบางให้ความมีตัวตน ถือว่าตัวตนนั้นยังสำคัญ-ได้ลดลงไปบ้าง ความรักโลภโกรธหลงจะได้ลดต่ำลง แต่ปรากฏว่าตกม้าตายทุกรอบครับ สารภาพตามตรงโดยมิอายว่า-ถึงผมจะไปปฏิบัติบุญทานศีลภาวนามาด้วยความคาดหวังเพื่อให้สละละวางตัวตน เพื่อเจริญสติและอารมณ์ให้เป็นไปในทางสว่าง ลดโกรธ ลดหลง (ผู้เขียนไม่มีความโลภ กล้ายืนยันได้เลยอันนี้เรื่องจริง) แต่สุดท้าย...
พระโคตมพุทธเจ้า(องค์สิทธัตถะ โคตมะ ศรีศากยมุนี)
กลายเป็นว่าผู้เขียนก็คาดหวังอยู่ดี เพราะดันไปคาดหวังว่าตัวเองจะต้องเจริญในอารมณ์ เจริญในสติ สละละวางตัวเองได้ แต่สุดท้ายจิตของผู้เขียนก็ยังวกกลับมามีความมองเห็นตัวตนอยู่วันยังค่ำ เพียงแต่มันสำแดงออกมาอย่างแยบคายลึกล้ำจนผู้เขียนเองก็ไม่อาจรู้ตัวได้เลย ณ ตอนเกิดเหตุ
ตอนนี้ผู้เขียนก็ยังไม่สามารถละวางความรู้สึกว่ามีตัวตนและตัวตนฉันนี้ยังสำคัญอยู่ลงได้ ทำได้เพียงจับรู้ความรู้สึกเมื่อเกิดโทสะที่มาจากโมหะอีกทีนั้นไว้ให้ได้ มันน่าแปลกมากเลยที่ยิ่งคนที่พูดจาทำร้ายอัตตาของเรานั้นเป็นคนในครอบครัวที่เราให้เงิน-ดูแลและรับผิดชอบในกิจต่างๆที่เขาต้องการ ความโกรธเกรี้ยวยิ่งเพิ่มเป็นทวีคูณ(ซึ่งมาจากความน้อยเนื้อต่ำใจและความคาดหวังว่าคนที่ควรจะเข้าใจเราที่สุดกลับเป็นคนที่ไม่เข้าใจเราที่สุดไปได้อย่างไร)
สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนอยากจะบอกกับทุกคนเป็นวิทยธรรมทานก็คือ เห็นหรือไม่ว่าการเกิดนั้นเป็นทุกข์ เพราะเกิดมาแล้วเรามีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบมากมายเหลือเกิน หากใครมีแค่ตัวเองให้รับผิดชอบโดยไม่มีเรื่องอื่นนั้นผู้เขียนก็ขออนุโมทนาด้วย นับเป็นความโชคดีของท่านที่อยู่ตัวคนเดียว มีความรับผิดชอบน้อย ขอให้ใช้โอกาสนี้แสวงหาธรรมะเข้ามาในหัวใจเพื่อลดความมีตัวตนออกไป เพื่อจะลดจำนวนภพชาติให้น้อยลงต่อไปในอนาคตกาล จะได้มิต้องมีการสร้างเวรผูกกรรมกับใครๆอีกแล้ว
พระไวโรจนพุทธเจ้า(ณานิพุทธเจ้า มาจากพลังฌานของพระโคดมพุทธเจ้าของเรา)และเหล่าพระโพธิสัตว์
เมื่อจำนวนภพชาติของเราน้อยลง เราก็จะล่วงใกล้สู่โลกพระนิพพาน สุขาวดีหรืออริยภพ หรือโลกอุดร แล้วแต่คติของพุทธสาธุชนจะเรียกขานแตกต่างกันไป เมื่อไปสู่โลกอุดรแล้ว เราจะมีชีวิตที่เกิดวิมุตติบรมสุขเกษมเปรมปิติชั่วนิรันดร์
เราจะไร้ซึ่งตัณหา-ราคะ โลภะ โทสะและโมหะ มีเพียงความอุเบกขาอันเบาสบาย เย็น นิ่ง วิมุตติ์ เป็นมหาปรมัตถ์ ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายดิ้นรนในวังวนแห่งการตายแล้วเกิด-เกิดแล้วตายซ้ำไปซ้ำมาอีกแล้วตลอดกาลสมัย (บทความนี้เขียนขึ้นโดยแอดยักเขนทร์ แห่งเฟซบุ๊คเพจ "ธรรมะแฟนตาซี" สามารถคัดลอกไปใช้ได้โดยมิต้องขออนุญาตแต่ต้องให้เครดิตเพจธรรมะแฟนตาซีเพื่อไม่เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์นะครับ)
โฆษณา