1 พ.ค. 2024 เวลา 04:34 • ความคิดเห็น

ตัวเลขในบัญชีคือนิทาน ประสบการณ์วันต่อวันคือของจริง

เมื่อปี 2016 Seth Godin ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ The Tim Ferriss Show เอาไว้ว่า
1
“เงินคือนิทาน (Money is a story) หลังจากที่เรามีเงินเพียงพอสำหรับซื้อข้าวปลาอาหาร ดูแลคนในครอบครัว และเรื่องอื่นๆ อีกนิดหน่อย เงินก็จะกลายเป็นแค่นิทานที่เราเล่าให้ตัวเองฟัง
เราสามารถเล่านิทานเกี่ยวกับเงินได้ตามที่เราต้องการ และคงจะเป็นการดีถ้านิทานเรื่องนั้นเป็นนิทานที่เราฟังมันได้อย่างสบายใจ
เดี๋ยวนี้เงินส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นธนบัตรด้วยซ้ำ เหลือแค่เพียงตัวเลขบนหน้าจอ และจำนวนเงินที่เรามีก็ไม่ได้บ่งบอกคุณค่าของเราในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
ดังนั้น เมื่อเราค่อนข้างสุขสบายดีแล้ว เมื่อเราไม่ต้องกระเบียดกระเสียร เมื่อเรามีหลังคาคุ้มหัว เมื่อเรามีประกันสุขภาพ มันก็ถึงเวลาที่เราต้องตัดสินใจว่าเรายังต้องการเงินเพิ่มอีกแค่ไหน และเราจะยอมแลกอะไรบ้างเพื่อให้ได้มันมา เพราะทุกอย่างมีราคาของมันเสมอ”
2
-----
ผมเคยฟังสัมภาษณ์นี้แค่ครั้งเดียว แต่ประเด็นที่ Seth Godin จุดเอาไว้ก็สว่างอยู่ในใจผมตลอดมา
เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งเคยพูดกับผมว่า “Nobody dislikes more money.” ไม่มีใครไม่ชอบเงินเยอะขึ้นหรอกนะ
ซึ่งผมก็เชื่อว่าเป็นความจริงสำหรับพวกเราส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในโลกทุนนิยม ถ้าไม่มีเงินเราก็อยู่ลำบาก และความสามารถในการดูแลคนที่เรารักย่อมจำกัด
โหมด default ของเราก็คือหาเงินให้เยอะๆ เอาไว้ก่อน เพื่อสร้างอนาคตและความมั่นคง
แต่เส้นความรู้สึกมั่นคงของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนมีหนึ่งล้านก็พอใจ ในขณะที่อีกคนมีสิบล้านก็รู้สึกว่ายังไม่ปลอดภัย
และนี่คือความหมายของ “นิทาน” ที่ Seth Godin พูดถึง เพราะแต่ละคนเล่านิทานให้ตัวเองฟังคนละเรื่อง แม้จะมีเป้าหมายเดียวกันคืออยากให้นิทานของตัวเองมี Happy Ending
สิ่งที่ต้องระวัง ก็คือหากเรามัวแต่จับจ้องที่จะสร้าง Happy Ending เราอาจสูญเสีย Happy Being ไประหว่างทาง
10
สมมติว่าเราไม่ได้เดือดร้อนทางการเงิน แล้วมีคนมาเสนองานใหม่ที่ได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น 50% แต่มันไม่ใช่งานที่เราทำแล้วมีความสุขเลยแม้แต่น้อย เราจะยอมทุกข์ใจสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมงเพื่อ “สร้างอนาคตให้เสร็จเร็วขึ้น” หรือไม่?
2
หรือถ้าเราทำธุรกิจเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ แต่เราไม่เคยมีเวลาว่าง ไม่เคยได้พักผ่อนเพียงพอ และเรากลายเป็นพ่อที่ใช้ไม่ได้ มันจะยังคุ้มกันอยู่รึเปล่า?
4
แน่นอนว่าไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิด เพราะบริบทชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
1
สิ่งที่เรามีเหมือนกันแน่ๆ คือเวลาอันจำกัดบนโลกใบนี้ ที่ไม่มีใครล่วงรู้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่ เงินทองที่เก็บไว้จะได้ใช้หรือเปล่า อนาคตที่มั่นหมายเราจะอยู่ถึงวันนั้นหรือไม่
ในวันนี้ที่ "ยังไม่สำเร็จ" เราไม่คิดจะอนุญาตให้ตัวเองมีความสุขบ้างเลยหรือ
อย่างที่เซธบอกเอาไว้ ว่าเมื่อชีวิตเดินทางถึงจุดหนึ่ง เราต้องตัดสินใจว่าเรายังต้องการเงินเพิ่มอีกแค่ไหน และเราจะยอมแลกอะไรเพื่อให้ได้มันมา
เพราะตัวเลขในบัญชีคือนิทาน แต่ประสบการณ์วันต่อวันคือของจริงครับ
4
โฆษณา