ปวดหัวตอนเช้า ไม่ใช่เรื่องปกติ !!

ปวดหัวตอนเช้า ไม่ใช่เรื่องปกติ เพราะเมื่อตื่นนอนในตอนเช้าไม่สดใส ย่อมส่งประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตประจำวันอย่างแน่นอน ยิ่งวันนั้นทั้งวันมีอาการปวดหัวเป็นๆ หายๆ อาจจะกลายเป็นวันที่แสนจะแย่ อาการที่เราตื่นนอนแล้วปวดหัวตอนเช้า อาจจะรู้สึกปวดหัวตุบ ๆ ทุกเช้าหลังตื่นนอน หรือรู้สึกหนักหัวแทบลุกไม่ไหว เหมือนยังนอนไม่อิ่ม ซึ่งบ่งบอกถึง 'ความผิดปกติในการนอนหลับ' หากเกิดขึ้นทุกเช้าหลังจากตื่นนอน เรียกว่า Early morning headache
โดยปัญหาอาการปวดหัวนับเป็นหนึ่งในอาการที่ทุกคนพบเจอ ไม่ว่าจะปวดจากความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือปวดจากโรคไมเกรน โดยส่วนใหญ่แล้วอาการปวดหัวจะกลายเป็นเรื่องปกติที่ดูเหมือนจะไม่เป็นอันตราย แต่อาการปวดเหล่านี้ก็สามารถรบกวนการใช้ชีวิตได้เช่นกัน แต่อย่านิ่งนอนใจไปว่าอาการปวดหัวที่เราเป็นอยู่นั้นเป็นเรื่องปกติที่นอนพักกินยาแล้วก็หาย เพราะอาการปวดบางอย่างเหล่านี้ อาจจะเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง เนื้องอกในสมอง หลอดเลือดในสมองตีบตัน ฯลฯ ซึ่งอาจทำให้เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้
📌 ปัจจัยที่อาจทำให้มีอาการปวดหัว
● โรคปวดหัวที่เป็นอยู่แล้ว เช่น ไมเกรน
ไมเกรนเป็นโรคเรื้อรังที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวซ้ำ ๆ โดยอาการปวดหัวมักกำเริบในตอนเช้า และมักจะรุนแรงกว่าอาการปวดหัวในตอนเช้าทั่วไปมาก ทำให้หลายคนตื่นนอนแล้วปวดหัวข้างเดียว หรือปวดทั้งสองข้างอย่างรุนแรงเลยทีเดียว ในทางกลับกัน ก็มีรายงานว่า คุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดี และการนอนหลับมากเกินไป อาจเป็นตัวกระตุ้นอาการไมเกรนให้กำเริบได้อีกด้วย ดังนั้นเราควรระมัดระวังและเสริมสร้างสุขนิสัยการนอนที่ดี เพื่อลดโอกาสกำเริบของโรค
● โรคนอนไม่หลับเรื้อรัง (Chronic Insomnia)
โรคนอนไม่หลับ (insomnia) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคนอนไม่หลับเรื้อรัง (chronic insomnia) เป็นหนึ่งในสาเหตุของการตื่นนอนแล้วปวดหัวในตอนเช้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพักผ่อนของร่างกาย เนื่องจากไม่ได้รับการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ จึงนำมาสู่ปัญหาตื่นนอนแล้วปวดหัว รวมถึงผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่น อ่อนเพลีย สมาธิ และปัญหาความจำ เป็นต้น
● ปัจจัยทางด้านจิตใจ
ความเครียด อาจส่งผลต่อความตึงตัวของกล้ามเนื้อบริเวณต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณศีรษะ เช่น ในรายที่มีภาวะเครียดแล้วนอนกัดฟัน ก็อาจทำให้ตื่นนอนแล้วปวดหัวตอนเช้าได้ นอกจากนี้มีรายงานว่าผู้ป่วยที่มีภาวะวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า มักพบปัญหาตื่นนอนแล้วปวดหัวเรื้อรังในตอนเช้าด้วย แม้จะยังสรุปไม่ได้ว่าเป็นปัจจัยโดยตรง แต่มีการวิเคราะห์ว่าอาจสัมพันธ์กับภาวะผิดปกติอื่น ๆ รวมทั้งภาวะนอนไม่หลับเรื้อรัง ที่กระทบกับการนอนหลับ
● พฤติกรรมการใช้ชีวิตและการนอนหลับที่ไม่เหมาะสม
พฤติกรรมการใช้ชีวิตเป็นสาเหตุหลักประการหนึ่ง ที่มักสร้างปัญหาเกี่ยวกับการนอนของเรา และมีผลให้ทำให้ตื่นนอนแล้วปวดหัว
● การอดนอน นอนน้อยเกินไป
การนอนน้อยเกินไปที่เกิดจากพฤติกรรม เช่น ชอบทำงานหรือเล่นมือถือจนดึก แต่มีภารกิจต้องตื่นแต่เช้า หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้บ่อย ๆ ทำให้ชั่วโมงการนอนต่อวันมีน้อย กรณีนี้ให้ผลลัพธ์ไม่ต่างกับโรคนอนไม่หลับ เพราะเมื่อสมองไม่ได้รับการการพักผ่อนที่เพียงพอ ทำให้มีปัญหาตื่นนอนแล้วปวดหัว
● นอนหลับไม่เป็นเวลา
ร่างกายมนุษย์มีระบบการทำงานที่สม่ำเสมอ หรือที่เรียกว่า นาฬิกาชีวภาพ (Biological clock) ที่มีหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายให้ทำงานตรงตามเวลา ซึ่งนาฬิกาชีวภาพจะสัมพันธ์กับช่วงเวลาการตื่นนอนและเข้านอน
● เวลาการนอนเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาบ่อย ๆ
ร่างกายจึงต้องมีการปรับตัว โดยการปรับตัวของร่างกายนั้น มีความเกี่ยวข้องกับการหดหรือขยายตัวของหลอดเลือด เพื่อปรับอุณหภูมิให้เหมาะสมกับการตื่นนอนหรือการเข้านอน จึงไปกระตุ้นให้เราตื่นนอนแล้วปวดหัวตอนเช้าได้
● นอนมากเกินไป
การนอนหลับที่มากเกินไป ส่งผลให้เกิดปัญหาตื่นนอนแล้วปวดหัวได้ไม่ต่างกับการนอนหลับไม่เพียงพอ แต่มาจากสาเหตุที่แตกต่างกัน กล่าวคือ การนอนหลับมากเกินไป จะส่งผลต่อฮอร์โมนบางตัว ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง นอกจากนี้ยังเกิดภาวะขาดน้ำหรือมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ จึงทำให้เกิดอาการปวดหัวได้
การนอนหลับมากเกินไป อาจเป็นได้ทั้งพฤติกรรมและอาการของโรค แต่ในบางรายอาจเกิดจากโรคนอนเกิน (Hypersomnia) ซึ่งไม่เพียงตื่นยากกว่าคนทั่วไปเท่านั้น ยังมีอาการง่วงนอนตลอดวันและมักจะต้องกลับไปนอนซ้ำอีกบ่อย ๆ ให้สังเกตดูว่าตัวเองมีอาการเช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน ช่วงใดบ้าง ถ้ารู้สึกอยากนอนตลอดทั้งวัน เผลอแป๊บเดียวก็หลับ กรณีเช่นนี้อาจไม่ใช่แค่พฤติกรรมแต่เกิดจากโรค ควรปรึกษาแพทย์
📌 พฤติกรรมการใช้ชีวิตส่งผลต่อการปวดหัว
สาเหตุอื่น ๆ ที่ส่งเสริมให้ปวดหัวหลังตื่นนอน
● การดื่มคาเฟอีน หรือแอลกอฮอล์
เนื่องจากมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท และการหดหรือขยายตัวของหลอดเลือด ไม่ว่าจะเป็น ชา กาแฟ หรือแอลกอฮอล์ หากดื่มในปริมาณที่มากเกินไป หรือดื่มในช่วงเวลาไม่เหมาะสม เช่น ช่วงบ่ายแก่ ๆ ช่วงเย็น หรือก่อนเข้านอน จะเพิ่มความเสี่ยงให้ตื่นนอนแล้วปวดหัวได้
● การตั้งครรภ์
อาจทำให้ตื่นนอนแล้วปวดหัวได้ เนื่องจากการตั้งครรภ์ทำให้เกิดความเหนื่อยล้า อาจต้องงีบหลับบ่อยขึ้น ซึ่งหลาย ๆ ครั้งก็เป็นการงีบหลับที่ผิดเวลาหรือไม่เหมาะสม รวมถึงความเครียด และภาวะขาดน้ำหรือขาดน้ำตาล ทำให้คุณแม่มักตื่นนอนแล้วปวดหัวบ่อย ๆ
● การใช้ยาบางชนิด
ยาบางชนิดอาจทำให้เสี่ยงตื่นนอนแล้วปวดหัวมากขึ้น หากใช้เกินขนาด หรือใช้เป็นประจำเกินเหตุจำเป็น อีกทั้งยาบางชนิดก็ไม่ควรกินในช่วงใกล้เวลานอน เพราะจะไปรบกวนวงจรการนอน และกระตุ้นให้มีอาการปวดหัวหลังตื่นนอนได้ ทั้งนี้ ควรใช้ยา หรืออาหารเสริมด้วยความระมัดระวัง ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุต้นตอของโรค ในกรณีที่มีอาการปวดเรื้อรัง แทนการใช้ยารักษาเอง
📌 ฝึกฝนสุขนิสัยการนอนที่ดี ลดปัญหาตื่นนอนแล้วปวดหัว
นอกจากการรับการรักษาจากแพทย์แล้ว สิ่งที่จะสามารถช่วยได้ทั้งป้องกัน และอาจรักษาปัญหาตื่นนอนแล้วปวดหัวได้ คือการปฏิบัติตามสุขนิสัยการนอนที่ดี (Sleep Hygiene) เพราะเป็นหลักปฏิบัติที่ครอบคลุมพื้นฐานการนอนหลับที่ดี ทั้งในแง่ของพฤติกรรมก่อนเข้านอน พฤติกรรมการนอน และการจัดการสิ่งแวดล้อมการนอนให้เหมาะสม ได้แก่
● หลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่เหมาะสม
การสูบบุหรี่ ในบุหรี่มีสารนิโคติน ที่ไปกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง และยังกดสมองทำให้ร่างกายไม่ง่วงนอน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นอนหลับไม่มีคุณภาพ ตื่นนอนแล้วปวดหัว
● การออกกำลังกายช่วงเย็นหรือหัวค่ำ เปลี่ยนไปออกกำลังกายตอนเช้าดีกว่า
การใช้ยานอนหลับติดต่อกันเป็นเวลานาน การทำงานหรือคิดอะไรเครียด ๆ ก่อนนอน
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ รวมถึงเครื่องดื่มบำรุงกำลังต่าง ๆ ในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะช่วงบ่ายแก่ ๆ จนถึงช่วงเย็น ควรงดเด็ดขาด เนื่องจากสิ่งเหล่านี้อาจไปกระตุ้นให้นอนหลับได้ยากขึ้น หรือมีอาการกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับรุนแรงขึ้น
● งดการงีบหลับระหว่างวันนานเกิน 1 ชั่วโมง
ยกเว้นกรณีง่วงมาก ๆ อาจงีบหลับช่วงสั้น ๆ ให้พอสดชื่นได้ อย่านอนนานเกิน 1 ชั่วโมง และอย่างีบหลับในช่วงหัวค่ำ
● การกินอาหารมื้อหนักก่อนเข้านอน
รวมถึงการกินอาหารบางประเภท ที่ออกฤทธิ์กระตุ้นให้มีอาการตื่นตัว
● ส่งเสริมปัจจัยด้านบวกที่ดีต่อการนอนหลับ
การนอนหลับในที่ที่ป้องกันแสงและเสียงรบกวนต่าง ๆ การปรับอุณหภูมิให้เย็นสบาย ไม่หนาวหรืออุ่นเกินไปก่อนนอน แอร์รุ่นใหม่มักจะมีโหมดการทำงานที่ปรับอุณหภูมิให้เข้ากับช่วงเวลาการนอนของเราโดยอัตโนมัติ ลองศึกษาและใช้งานโหมดนั้นดู
● ปรับท่านอนให้เหมาะกับสรีระ
และเลือกหมอนที่เหมาะสมกับสรีระช่วงคอและหัวของเรา เพื่อลดแรงตึงของกล้ามเนื้อ โดยให้เลือกหมอนให้เหมาะสมกับท่านอนที่เราถนัด นอกจากนี้ หากมีอาการนอนกรน ควรเปลี่ยนจากท่านอนหงายมาเป็นท่านอนตะแคงเพื่อลดอาการดังกล่าว
● สร้างอุปนิสัยการนอนให้ตรงต่อเวลา
สม่ำเสมอ ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ควรนอนให้ได้อย่างน้อย 6 – 8 ชั่วโมงต่อวัน ไม่มากเกินไป และไม่น้อยเกินไป และพยายามเข้านอนก่อนเที่ยงคืน
● ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
โดยเลือกออกกำลังในช่วงเช้า หรือตอนที่ไม่ใกล้กับช่วงเวลาก่อนนอนมากเกินไป
📌 ปวดหัวแบบนี้ ก็อย่านิ่งนอนใจ
และนอกจากอาการหลักๆ สามอาการข้างต้น ยังรวมถึงอาการปวดหัวในสถานการณ์ต่อไปนี้ ที่ควรถือเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน ควรรีบไปพบแพทย์
1. มีอาการปวดหัวทันทีหลังจากกิจกรรมต่างๆ เช่นยกน้ำหนัก วิ่ง หรือกิจกรรมทางเพศ
2. ปวดหัวอย่างกะทันหัน และเกิดขึ้นอย่างรุนแรง
3. ปวดหัวพร้อมกับการพูดมีปัญหา พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง หรือสูญเสียสมดุลในการขยับแขนขา
4. สูญเสียความทรงจำไปกับอาการปวดหัว
5. ปวดหัวอย่างรุนแรงเป็นเวลา 24 ชั่วโมง
6. ปวดหัวในบริเวณที่บาดเจ็บที่ศีรษะ
7. มีอาการปวดหัวรุนแรงและมีรอยในดวงตาด้านหนึ่ง
8. มีอาการปวดหัวพร้อมกับปัญหาสายตา และความเจ็บปวดขณะเคี้ยว
9. มีประวัติมะเร็งและอาการปวดหัวรุนแรงมากขึ้น
📌 สาเหตุของอาการปวดหัวแบบรุนแรงเป็นอะไรได้บ้าง?
อาจมาจากปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือด และการมีเลือดออกในสมอง รวมถึงความผิดปกติทางเส้นเลือด หลอดเลือดในสมองโป่งพอง หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และสาเหตุอื่นๆ ของอาการปวดหัวที่ควรตรวจโดยผู้ให้บริการด้านแพทย์ในทันที ได้แก่ ปวดหัวจากความดันโลหิตสูงมาก เนื้องอกในสมอง การสะสมของของเหลวภายในกะโหลกศีรษะ ที่นำไปสู่อาการบวมของสมอง พิษคาร์บอนมอนอกไซด์ การติดเชื้อในสมองหรือเนื้อเยื่อรอบสมองรวมทั้งฝีในสมอง
ถึงแม้ส่วนใหญ่ของโรคปวดศีรษะจะไม่เป็นอันตราย แต่การรักษาอย่างถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การดำรงชีวิตเป็นปกติสุข การคอยสังเกตสัญญาณอันตรายหรือความผิดปกติจะทำให้การวินิจฉัยและรักษาได้ทันท่วงทีและส่งผลกระทบกับผู้ป่วยน้อยลงได้
โฆษณา