2 พ.ค. 2024 เวลา 04:03 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เฟดคงดอกเบี้ย ชะลอการปรับลดขนาดงบดุล (QT) ในส่วนพันธบัตรรัฐบาล

แต่ระบุว่าพัฒนาการเงินเฟ้อยังไม่มีความก้าวหน้า
-ในการประชุมนโยบายการเงินของเฟดวันที่ 30 เม.ย. เฟดมีมติเป็นเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ระดับ 5.25-5.50% อันเป็นการคงอัตราดอกเบี้ย ครั้งที่ 6 ติดต่อกันและส่งสัญญาณที่จะชะลอการลดขนาดงบดุล (QT) ในส่วนพันธบัตรจากระดับ 6.0 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนเหลือ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน ในวันที่ 1 มิ.ย. ขณะที่ไม่เปลี่ยนแปลงระดับของการปรับลดขนาดตราสาร MBS ที่ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนเช่นเดิม
- ด้านภาวะเศรษฐกิจ เฟดได้ระบุว่าในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมายังไม่มีความก้าวหน้าของพัฒนาการเงินเฟ้อในการกลับสู่เป้าหมายที่ 2% แม้ว่าพัฒนาการของเงินเฟ้อในปีที่ผ่านมาได้เคลื่อนตัวสู่ระดับที่สมดุลดีขึ้น (have moved toward better balance)
ทั้งนี้ ในการพิจารณาตัดสินใจนโยบายการเงิน คณะกรรมการจะพิจารณาข้อมูลเศรษฐกิจ (incoming data) พัฒนาการของคาดการณ์ (the evolving outlook) และความสมดุลด้านความเสี่ยง (balance of risk) โดยเฟดยังคงยึดมั่นใน Dual mandate การพิจารณาตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินจะขึ้นอยู่กับพัฒนาการข้อมูลเศรษฐกิจในแต่ละรอบของการประชุม (meeting by meeting)
- ทั้งนี้ ประธานเฟดระบุหลังการประชุมต่อคำถามนักข่าวที่ว่าในกรณีที่เงินเฟ้อยังคงค้างในในระดับนี้แบบ Side way เฟดจะยังคงระดับอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง และมองว่าการปรับเปลี่ยนนโยบายในครั้งหน้าไม่น่าจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมทั้ง ยังมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐไม่น่าจะเกิดภาวะ Stagflation นอกจากนี้ ประธานเฟดยังได้กล่าวว่า ยังเชื่อมั่นว่าเงินเฟ้อจะกลับมาปรับลดลงอีกครั้งในปีนี้
- การเงินสหรัฐฯ ในภาพรวมตอบรับในเชิงค่อนข้างบวก โดย Dow Jones +0.23% แต่ S&P และ Nasdaq ขยับลงเล็กน้อย -0.34% และ – 0.33% ขณะที่ CME Fedwatch บ่งชี้โอกาสประมาณ 43% เฟดอาจจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบ 18 ก.ย. 24 และอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพียง 1 ครั้งในปีนี้ ในส่วนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี ปรับลดลง 5 bps จาก 4.683% สู่ 4.628% หลังจากการประชุมเฟด รวมทั้ง การเปิดเผยปริมาณการขายพันธบัตรในไตรมาสถัดไป ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ
🎯 เรามองว่า ภาพรวมของผลการประชุมเฟดในรอบนี้ ยังมีทิศทางที่ข้างบวก และยังไม่ได้ปิดโอกาสที่เฟดจะพิจารณาปรับลดอัตตราดอกเบี้ยในปีนี้ อย่างไรก็ดี จังหวะของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยไม่น่าจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปีนี้ โดยอาจจำเป็นที่ต้องเห็นการชะลอตัวของทั้งเงินเฟ้อ
และตลาดแรงงานพร้อมกันจากระดับในปัจจุบันก่อนที่เฟดจะมั่นใจว่าถึงจังหวะที่เหมาะสมในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย อันหมายความว่าสภาวะที่อัตราดอกเบี้ยจะค้างในระดับสูงยาวนาน (Higher for Longer) น่าจะเป็นกรณีพื้นฐาน (Base case) โดยข้อมูลตลาดแรงงาน และเงินเฟ้อยังคงเป็นปัจจัยที่เฟดจับตามองอย่างใกล้ชิดในการตัดสินใจว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงไหนของปีนี้ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการเปิดเผย Dot-plot ในการประชุมเฟดวันที่ 11-12 มิ.ย. ว่าจะมีการส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยเหลือกี่ครั้งในปีนี้
โฆษณา