2 พ.ค. เวลา 06:21 • กีฬา

ชัยชนะจากจิตวิญญาณของ "เรา" : เบื้องหลังการไร้พ่ายในรังเหย้าของ แอตฯ มาดริด | Main Stand

แอตเลติโก มาดริด ไม่เคยแพ้เกมเหย้าในศึก ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก รอบน็อกเอาต์มาแล้วถึง 18 เกม โดยเกมล่าสุดคือการเอาชนะ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ 2-1 ในรอบ 8 ทีมสุดท้ายของฤดูกาล 2023/24
แข่ง 18 ชนะ 11 เสมอ 7 และเสียประตูเพียงแค่ 5 ลูก ... มันต้องมีเหตุผลอะไรซ่อนอยู่แน่ ๆ ที่ทำให้เกมในบ้านของพวกเขาโหดหินปานนั้น
ทีมที่จะไปเยือน แอตฯ มาดริด ต้องเจอกับอะไรบ้างที่พวกเขาเรียกว่า "ศิลป์และศาสตร์มืด" ... ถ้าคุณตกหล่นอะไรไป Main Stand จะทำให้คุณเข้าใจพร้อม ๆ กันที่นี่
ไม่แพ้ไว้ก่อน ไม่เสียประตูยิ่งดี
มีคำกล่าวจาก โยฮัน ครัฟฟ์ ตำนานลูกหนังชาวดัตช์ว่า "ฟุตบอลยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ของจริงจะเริ่มขึ้นในรอบ 8 ทีมสุดท้าย มันคือรอบที่คุณคาดเดาอะไรไม่ได้ เพราะรวมทีมที่เก่งที่สุดในแต่ละด้านของยุโรปไว้ที่นี่ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง"
สิ่งที่ ครัฟฟ์ บอกว่า "ความเก่งเฉพาะด้าน" เชื่อว่าทุกคนต้องหันไปมองที่ แอตฯ มาดริด เป็นพิเศษ ... พวกเขาไม่ใช่ทีมยิงเยอะ บุกกระจุย ครองบอลกระจาย แต่ก็เข้ามาถึงรอบลึก ๆ ได้เป็นประจำ ล้มยักษ์ให้เห็นเป็นกิจวัตร และสิ่งที่ทำให้พวกเขามาถึงจุดนี้ได้คือ "เกมรับ" ที่พิเศษกว่าเกมรับทั่วไป และเกมรับนี้กลั่นมาจากกึ๋นของชายที่ชื่อว่า "ดิเอโก้ ซิเมโอเน่"
ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก รอบน็อกเอาต์ คือฟุตบอลที่ใช้คลาสเข้าห้ำหั่นกัน นอกจากเรื่องของแท็คติกที่โค้ชแต่ละทีมวางมา มันเป็นเรื่องของการวัดกันว่าใครจะมีสมาธิ วินัย และความเด็ดขาดมากกว่ากัน
เชื่อว่าใครติดตามดูตลอดก็น่าจะเข้าใจได้ไม่ยาก ฟุตบอล แชมเปี้ยนส์ลีก โดยเฉพาะยุคก่อนปรับมาเป็นการเล่นแบบไม่มีกฎประตูทีมเยือน หรือ อเวย์โกล จะเป็นเกมที่ต่างฝ่ายต่างไม่เปิดเกมบุกห้ำหั่นเหมือนกับในฟุตบอลลีก โดยเฉพาะในเลกแรก ต่างฝ่ายจะเล่นอย่างใจเย็น รอจนกว่าจังหวะของตัวเองมา จากนั้นพวกเขาจึงเริ่มบุกตามแผนที่วางมา เพื่อไม่ให้เสียประตูก่อน เพราะทุกประตูล้วนส่งผลสำคัญต่อเกมเลกสองเป็นอย่างมาก
"ความหมายของกฎอเวย์โกลเปลี่ยนไปมากจากอดีต ผลกระทบของกฎตอนนี้ขัดแย้งกับจุดประสงค์เดิม ... เพราะในความเป็นจริง มันทำให้เหล่าทีมที่เล่นเกมเหย้าก่อนไม่ยอมเล่นหรือโฟกัสไปที่เกมบุก โดยเฉพาะในเลกแรก เพราะพวกเขากลัวที่จะเสียประตูที่จะทำให้คู่ต่อสู้ได้อเวย์โกล ข้อได้เปรียบที่สำคัญ" อเล็กซานเดอร์ เซเฟริน ประธาน ยูฟ่า ผู้เปลี่ยนกฎนี้พูดเองเมื่อปี 2022
จะเห็นได้ว่าเขาพูดแบบรวม ๆ ไม่ได้หมายถึง แอตฯ มาดริด ทีมเดียว เพราะด้วยกฎนี้ ทำให้แม้แต่ทีมที่ชอบเล่นเกมบุกก็ยังต้องระมัดระวังตัว ไม่สามารถเล่นแบบเสียแล้วเสียไป เดี๋ยวยิงคืนได้อีก
แม้ประธานยูฟ่าจะไม่ได้กล่าวถึง แอตฯ มาดริด โดยตรง แต่เชื่อว่าหลายคนก็พอจะบอกได้ว่า ตราหมี คือทีมที่เล่นเกมลักษณะนี้เก่งที่สุดทีมหนึ่ง นั่นคือเกมที่อึดอัด เน้นผลการแข่งขัน ไม่เสียไว้ก่อนเป็นดี มันน่าจะเป็นการปรับกฎที่เหมาะกับพวกเขามากที่สุด แต่ ซิเมโอเน่ กลับมองต่าง เขาไม่คิดแบบนั้น
ในปี 2020 เขาพา แอตฯ มาดริด เขี่ย ลิเวอร์พูล ตกรอบ 16 ทีมถึง แอนฟิลด์ แบบหักปากกาเซียน ด้วยการยิงประตูในช่วงต่อเวลาพิเศษ จากผลจบสองเลกเสมอ 1-1 (ต่างฝ่ายต่างบุกชนะคู่แข่งใน 90 นาที ด้วยสกอร์ 1-0 ทั้งสองเลก) กลายเป็น แอตฯ มาดริด ชนะด้วยสกอร์รวม 4-2 เพราะหลังจากที่ตราหมียิงประตูได้ในช่วงต่อเวลา หงส์แดงก็แรงหมด เมื่อพวกเขาต้องยิงเยอะกว่าเดิมเพื่อเอาชนะอเวย์โกล จนสุดท้ายก็เสียประตูเพิ่มคาบ้านไปอีก
แม้ทีมของเขาได้ผลประโยชน์จากอเวย์โกล แต่ ซิเมโอเน่ กลับให้สัมภาษณ์หลังเกมว่า
"ผมไม่เข้าใจ ทำไมในเลกที่ 2 ทีมเยือนจึงมีโอกาสได้ประโยชน์จากอเวย์โกลมากกว่าทีมเจ้าบ้านอีก 30 นาที (อเวย์โกล นับในช่วงต่อเวลาพิเศษด้วย) 1 ประตูของทีมเยือนในช่วงเวลานี้ มีค่ายิ่งกว่า 1 ประตูของทีมเจ้าบ้าน ... ดูเหมือนมันจะไม่แฟร์นะ" ซิเมโอเน่ สัมภาษณ์หลังเกมแบบนั้น
ตอนนั้นหลายคนคิดว่า เขาแค่ออกมาพูดเพื่อยั่วแฟนบอลลิเวอร์พูลที่กำลังโกรธกับวิธีการเล่นของ แอตฯ มาดริด และมีคอมเมนต์ค่อนขอดกันว่า ถ้าไม่มีอเวย์โกล แอตฯ มาดริด ก็บ้อท่าเหมือนกันล่ะวะ ... มันเป็นความรู้สึกประมาณนั้นที่หลายคนมอง
แต่หลังจากกฎอเวย์โกลถูกยกเลิก ซิเมโอเน่ ก็ทำให้เห็นว่า เขาเห็นเช่นนั้นจริง ๆ สำหรับเขา จะมีอเวย์โกลหรือไม่มี ทีมของเขาก็ยังคงเป็นทีมที่ต่อกรยากเสมอใน ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก รอบน็อกเอาต์
และสิ่งหนึ่งที่เขาบอกในปี 2020 มีบางอย่างไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือสิ่งที่เขาอธิบายแท็คติกของตัวเองที่โลกเกลียดชังว่า "อย่าว่ากันล่ะ ผมทำแบบนี้ก็เพื่อชัยชนะ"
นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่เราจะพูดถึงเกมเหย้าสุดแกร่งของลูกทีมซิเมโอเน่
เกมรับแบบใดห์ ?
ในช่วง 13 ปีภายใต้การคุมทีมของ ซิเมโอเน่ เกมรับของ แอตฯ มาดริด ถือเป็นเรื่องที่ทุกทีมบนโลกไม่อยากเจอ มันไม่ใช่แค่การเอาผู้เล่นลงไปอุดในเกมรับ แต่มันมีคลาสและวิธีการที่ซ่อนอยู่ภายใต้เกมรับของเขามากมาย
เหตุผลเบื้องต้น นอกจากเรื่องของชัยชนะแล้ว ต้องยอมรับว่า แอตฯ มาดริด เป็นทีมที่งบประมาณการทำทีมน้อยหากเทียบกับทีมดัง ๆ ในยุโรป อาทิ 8 ทีมในรอบควอเตอร์ไฟนอล ปีนี้ พวกเขาก็เป็นทีมที่งบประมาณทำทีมน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับทุกทีม แต่ภายใต้งบประมาณอันน้อยนิด เขาเลือกนักเตะที่อาจจะไม่ได้โด่งดังมากมายนัก แต่เลือกใช้นักเตะที่เล่นได้ตามแท็คติก และเหนือสิ่งอื่นใด หัวจิตหัวใจต้องถึง
ด้วยเหตุนี้เราจึงได้เห็นนักเตะของ แอตฯ มาดริด แต่ละคนในแต่ยุคของ ซิเมโอเน่ มีคุณสมบัติคล้าย ๆ กันคือ แข็งแกร่ง ขยัน เข้าใจเกมสูง และพร้อมเสี่ยงระดับเอาหัวเข้าไปบล็อกในจังหวะที่คู่แข่งกระโดดเตะหรือยกเท้าสูง
ต่อจากการคัดสรร คือการฝึกซ้อม ที่ ซิเมโอเน่ สุดจะเข้มข้นเรื่องการเล่นเกมรับและการยืนตำแหน่ง ระดับที่ใครยืนผิดนิดเดียวเขาเป่านกหวีดให้หยุดและเริ่มใหม่ทันที โดยเฉพาะก่อนเกมที่ทีมจะต้องใช้เกมรับเป็นพระเอกอย่าง แชมเปี้ยนส์ลีก
นอกจากซ้อมเกมรับหนักมาก ๆ เขายังจริงจังเรื่องความฟิตของนักเตะในทีมเช่นกัน เรื่องการกิน การออกกำลังกาย การเข้าโรงยิม เป็นสิ่งที่จะมีทีมงานคอยตามเช็กนักเตะของทีมตลอดว่า ได้ทำตามโปรแกรมที่กำหนดไว้หรือเปล่า ซึ่งการซ้อมแบบนี้แน่นอนว่า เครียด กดดัน และน่าเบื่อมาก ๆ นักเตะที่เคยร่วมงานกับเขามานานอย่าง อองตวน กรีซมันน์ และ โกเก้ พูดถึงเรื่องนี้ตรงกันเป๊ะแบบไม่รู้ว่านัดกันพูดหรือเปล่า
"พวกเขาพุ่งโหม่งสกัดในจังหวะอันตราย พยายามบล็อกลูกยิงของคู่แข่งอย่างสุดตัว พวกเขาเป็นกำแพงที่ทำให้แนวรุกของคู่แข่งไม่อาจเจาะเข้ามาได้เลย ความลับที่ทำให้แอตเลติกเป็นกำแพงมนุษย์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดก็คือ พวกเขาไม่ได้ต่างคนต่างทำ พวกเขาเชื่อเหมือนกันทั้งทีม มีความสามัคคีอย่างไม่น่าเชื่อ สิ่งเหล่านี้ปรากฏให้พวกเราได้เห็นเสมอนั่นแหละ" ปักซี่ เฟไรร่า เพื่อนร่วมทีมของซิเมโอเน่ สมัยที่ยังเป็นนักเตะของ แอตฯ มาดริด วิเคราะห์ทีมที่มี ซิเมโอเน่ กุมบังเหียน
1
ในเรื่องของแท็คติกเป๊ะ ๆ คงเป็นอะไรที่อธิบายยาก เพราะแต่ละยุค ซิเมโอเน่ ก็ใช้แผนที่แตกต่างกันออกไป เขาอาจจะเล่นด้วย 4-3-3 แต่ก็มีการเปลี่ยนมาเป็น 4-4-2 และเล่นแบบกองหลัง 5 ตัวแบบมีวิงแบ็กในเวลานี้
แต่ถึงแม้ตัวเลขของแผนจะเปลี่ยน วิธีการไม่เคยเปลี่ยน นักเตะแอตฯ มาดริด มี DNA ในการเล่นเกมรับโดยธรรมชาติ ไล่บอลตั้งแต่กองหน้า ไม่เปิดพื้นที่โดยเฉพาะเมื่อคู่แข่งเข้ามาในแดนของพวกเขา กองกลางกับกองหลังสัมพันธ์กันมากชนิดที่แต่ละคนยืนตำแหน่งกันแบบที่แทบไม่มีช่องไฟให้เกมบุกคู่แข่งได้เข้าทำง่าย ๆ
1
ส่วนในปีนี้ มีสื่ออย่าง Daily Mail วิเคราะห์เอาไว้ให้เราเห็นภาพชัดขึ้นว่า แอตฯ มาดริด ปรับมาเล่นแบบกองหลัง 5 ตัว และใช้โควตาเปลี่ยนตัวได้ 5 คนให้มีประโยชน์ หัวใจสำคัญคือ 3 เซ็นเตอร์แบ็ก โฆเซ่ ฆิเมเนซ, อักเซล วิทเซล, มาริโอ เฮอร์โมโซ่ ซึ่งเป็นเซ็นเตอร์แบ็กที่นอกจากจะเล่นเกมรับได้ดีแล้ว ยังเป็นคนที่ออกบอลจากแดนหลัง ช่วยให้ทีมแก้เพรสซิ่ง และเอาไปให้นักเตะตำแหน่งอื่น ๆ ไปเปลี่ยนเป็นเกมรุกได้ดี (มี เซซาร์ อัซปิลิกวยต้า และ สเตฟาน ซาวิช คอยเป็นตัวเปลี่ยนตามแท็คติกแต่ละนัด)
ส่วนตำแหน่งสำคัญที่รองลงมาที่เขาเปลี่ยนตัวบ่อยแทบทุกเกม คือ วิงแบ็ก ที่ต้องใช้พลังมากเป็นพิเศษ เพราะจะต้องเล่นเกมรับ และเติมเกมรุกตามจังหวะของทีม ในตำแหน่งนี้เขามีทั้ง เซซาร์ อัซปิลิกวยต้า, นาฮูเอล โมลิน่า, ซามูเอล ลิโน่, ไรนัลโด้ และ โรดริโก้ ริเกลเม่ คอยเปลี่ยนกันตลอด ... ถ้าตั้งใจเล่นเกมรับก็จะใช้แบ็กสายรับที่แข็งแรงแย่งบอลเก่งอย่าง โมลิน่า อยู่ขวา ลิโน่ อยู่ซ้าย ถ้าจะเล่นเกมบุกก็จะเอาตัวที่มีความเร็ว เลี้ยงกินตัวได้อย่าง ริเกลเม่ มาใช้งานเป็นต้น
5 ตำแหน่งนี้คือพระเอกของเกมรับ แอตฯ มาดริด ขณะที่เกมรุกต้องยกให้ 2 กองหน้าที่เล่นด้วยกันมาหลายปีอย่าง อองตวน กรีซมันน์ และ อัลบาโร่ โมราต้า ที่อาจจะเลยวัยพีกไปแล้ว แต่ยังเชื่อมือได้เสมอ เพราะเป็นนักเตะที่ช่วยทีมเพรสซิ่งตลอด รู้จังหวะในการเล่นบอล จังหวะไหนควรพักบอลไว้ก่อนเพื่อรอกำลังเสริม จังหวะไหนควรเอาบอลไปข้างหน้ากดดันเกมรับคู่แข่ง บางครั้งอยู่กัน 2 คนเล่นเกมบุกได้ เพราะเข้าขารู้ใจกันสุด ๆ
"กรีซมันน์ กับ โมราต้า คือ เดอะ เบสต์ ของผม คู่หน้าที่เป็นขุมพลังของเราเป็นแบบนั้นเสมอ ... ไม่มีความลับในความยอดเยี่ยม มันเรียบง่ายมาก พวกเขาแค่ยืดหยุ่นได้ในทุกสภาวะ ทั้งตอนเราเล่นเกมรุกหรือเกมรับ ... พวกเขาเด็ดขาด พวกเขาเข้าขารู้ใจ พวกเขาสามัคคีมีความเป็นทีม ถึงเวลาที่ต้องสังหาร พวกเขาก็มีความเด็ดขาด ทั้งหมดนี้แค่คุณดูทีมเราเล่น คุณก็จะรู้ได้เอง" ซิเมโอเน่ อธิบายแบบนั้น
จากหลังไปหน้า ความเข้าใจเกม ความฟิต และทัศนคติร่วมในการเล่นร่วมกัน คือหัวใจเกมรับของ แอตฯ มาดริด ... ทว่าแค่นี้ไม่พอหรอก ระดับ แอตฯ มาดริด มีของขึ้นชื่อที่ใครก็รู้กัน เปรียบเสมือนกับ 1 ตำบลต้องมี 1 ผลิตภันฑ์ และหนึ่งในคาแร็คเตอร์ที่โลกจำ แอตฯ มาดริด ก็คือ ... "เจ้าพ่อแห่งศาสตร์มืด" ซึ่งเสริมส่งกับแท็คติกรับเข้ม ๆ แล้วสวนแม่น ๆ อย่างที่สุด
ศาสตร์มืดของตราหมี
การเล่นเกมรับ เล่นตัดบอลหนัก ๆ ถือเป็นแท็คติกพื้นฐาน เหมือนกับเมนคอร์สที่เป็น สเต็กสันใน ย่างมากำลังดี แต่ถ้าจะให้อร่อย ต้องมีของแกล้มอย่างสลัดผัก มันบด หรือน้ำเกรวี่ ซึ่งเปรียบเสมือนกับ ศาสตร์มืด ที่เราจะพูดถึงต่อไปนี้
ศาสตร์มืดที่ว่าคือแท็คติกเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ปั่นประสาทคู่แข่งได้เป็นอย่างดี อย่างที่กล่าวไว้ แชมเปี้ยนส์ลีก คือเกมแห่งสมาธิ ต่อให้เก่งแค่ไหน เตรียมตัวดีมาขนาดไหน ถ้าคุมสมาธิไม่อยู่ สติขาดผึง ทุกอย่างก็จบ และสิ่งนี้มันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่เราได้เห็นเสมอในยามที่ แอตฯ มาดริด เล่นนบ้าน หลายทีมโดนมาแล้ว
ราล์ฟ รังนิก สมัยที่คุม แมนฯ ยูไนเต็ด เมื่อปี 2022 ยังส่ายหัวเมื่อมาเยือนที่นี่ นักเตะของเขาสติแตกเล่นตามเกมตัวเองไม่ได้ตลอด 2 เกมที่เจอกันในรอบ 16 ทีม จนเจ้าตัวออกมาสัมภาษณ์หลังเกมว่า
"ผมไม่รู้ว่าเกมนี้มันมีกฎที่ห้ามปล่อยเกมไหลเกิน 2 นาทีหรือเปล่านะ เพราะทุก ๆ 2 นาที เกมจะต้องหยุดเพราะถูกขัดจังหวะโดยมีคนนอนลงบนพื้นเสมอ"
เขากำลังบอกว่านักเตะ แอตฯ มาดริด แกล้งเจ็บเพื่อถ่วงเวลาในตอนที่พวกเขากุมสกอร์ที่ต้องการในมือ ขณะที่ แฮร์รี่ แม็คไกวร์ ก็เสริมต่อทันทีว่า "ทุกครั้งที่คุณโดนตัวพวกเขา พวกเขาก็ล้มลงไปนอนโอดโอยทันที ... โคตรจะน่าเกลียด"
ลิเวอร์พูล ก็โดนไม่ต่างกัน ในปี 2020 แอนดรูว์ โรเบิร์ตสัน ก็บอกว่า "ชัดเจนเลยว่า นักเตะ แอตฯ มาดริด แกล้งเจ็บเพื่อเข้ามาอยู่ในหัวและปั่นประสาทพวกเรา"
นักเตะ แอตฯ มาดริด ทุกคนแฝงไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมสารพัด คุณจะเห็นว่าจังหวะเข้าบอลแบบ 50-50 หรือ 60-40 พวกเขาเตะทั้งคนทั้งบอลเข้าแบบสุดตัว นอกจากจะไม่ได้ฟาวล์แล้ว คู่แข่งยังถึงกับสะดุ้ง ยิ่งเจอกับนักเตะไก่อ่อนใจไม่สู้แล้วยิ่งหวาน บางคนถึงกับถอดใจ เล่นด้วยความแหยงไปตลอดทั้งเกมเลยก็มี
ถ้าถามว่าอะไรพวกนี้มันมาจากไหน ? ก็ต้องบอกว่าจากโค้ชของพวกเขานี่แหละ ... "เอล โชโล่" คือฉายาของ ซิเมโอเน่ ซึ่งคำว่า "โชโล่" นั้นไม่ได้มีความหมายโดยตรง แต่มันคือคำแสลงของภาษาสเปนที่ใช้เรียกพวกนักเลงหรืออันธพาล และ ซิเมโอเน่ ก็ยอมรับว่าเขาเป็นคนบอกให้นักเตะเล่นแบบนี้เสมอ นั่นคือ 3 ข้อที่เป็นปณิธานของเขา "ดุดัน โหดเหี้ยม เล่ห์เหลี่ยม"
"แอตฯ มาดริด คือทีมที่มีนักเตะเก่ง ๆ เยอะ แต่ก็เต็มไปด้วยศาสตร์มืดมากมาย ผมว่ามันมาจาก ซิเมโอเน่ นี่แหละ จงใจแฮนด์บอล, ดึงเสื้อ, เหยียดหยามด้วยคำพูดกิริยา, ถ่วงเวลา หรือพุ่งล้ม นี่คือสิ่งที่น่าเกลียดมาก ๆ แต่ในทางเดียวกัน หมอนี่เป็นผู้ชายที่น่ากลัวที่ต้องเผชิญหน้าด้วย" เทรเวอร์ ซินแคลร์ นักเตะทีมชาติอังกฤษ ที่อยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกับ ซิเมโอเน่ และเคยเจอกันมาแล้วใน ฟุตบอลโลก 2002 ที่ทีมสิงโตคำรามชนะแบบหืดจับ 1-0 อธิบายสิ่งนี้
ยิ่งเวลาได้เล่นในบ้านในฟุตบอลยุโรป แฟนบอล แอตฯ มาดริด ก็จะเข้ามากันเยอะเป็นพิเศษ มีการตะโกนเชียร์แบบดุดันตามสไตล์ มันยิงกระตุ้นสัญชาตญาณดิบให้กับนักเตะทีมตราหมี พวกเขาสู้แค่ตายด้วยวิธีการสารพัดที่เตรียมมา ซึ่งก็กลับมาอีกที่ ซิเมโอเน่ ผู้เป็นนักกระตุ้นแฟนบอลตัวยง เขาทำมันเสมอ เพราะเขารู้ว่าเสียงเชียร์ของแฟน ๆ ปลุกลูกทีมของเขาให้ไต่ระดับการเล่นขึ้นไปได้
ทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้รังเหย้าของ แอตฯ มาดริด ไม่ใช่ที่ที่ใครจะเข้ามาเอาชัยชนะไปได้ง่าย ๆ ผลลัพธ์เหนือวิธีการเสมอสำหรับพวกเขา ไม่ว่าคุณจะรักหรือเกลียดพวกเขา คุณต้องยอมรับความจริงข้อนี้นั่นคือพวกเขา "แข็งแกร่ง" และ "ยากจะเผชิญหน้า" ไม่ว่าสถานการณ์ใดก็ตาม
ซึ่งหากถามว่า ครั้งล่าสุดที่ แอตฯ มาดริด แพ้คาบ้านในเกม แชมเปี้ยนส์ลีก รอบน็อกเอาต์ เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ? ... นู่นเลย ปี 1997 ที่พวกเขาแพ้ อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม ในรอบก่อนรองชนะเลิศ เลกสอง ด้วยสกอร์ 2-3 โดยทั้งสองทีมเสมอด้วยสกอร์ 1-1 ทั้งสองเลก ก่อนอาแจ็กซ์ยิงชนะช่วงต่อเวลา
และถ้าจะถามว่าทั้งหมดนี้ทำไปเพื่ออะไร คำตอบของ ซิเมโอเน่ ในปี 2020 ที่เขาพาทีมน็อกลิเวอร์พูล ที่เป็นแชมป์เก่านั้น ตอบได้ดีที่สุด
เพราะในขณะที่ เยอร์เก้น คล็อปป์ และลูกทีมของเขาคร่ำครวญถึงวิธีการอันน่ารำคาญของทัพตราหมี ขณะเดียวกัน เมื่อ ซิเมโอเน่ โดนนักข่าวถามว่า "คุณรู้สึกอย่างไรเวลามีคนมาวิจารณ์ปรัชญาของทีมคุณ ?"
เขาตอบสั้น ๆ ที่เฉลยทุกอย่างให้จบในบรรทัดเดียวว่า "ด้วยจิตวิญญาณทั้งหมดที่พวกเรามี ... สิ่งนี้เพื่อชัยชนะ"
บทความโดย : ชยันธร ใจมูล
โฆษณา