2 พ.ค. เวลา 07:20 • สุขภาพ

โรคตุ่มน้ำพองจากภูมิคุ้มกัน

บทความ โดยภาควิชาตจวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
โรคตุ่มน้ำพองจากภูมิคุ้มกัน เป็นโรคที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อผิวหนังและเยื่อบุของตนเอง ทำให้เกิดการแยกตัวของผิวหนัง ในชั้นหนังกำพร้า หรือบริเวณรอยต่อของหนังกำพร้า และหนังแท้ ทำให้เกิดตุ่มน้ำพองขึ้นที่ผิวหนัง หรือเยื่อบุต่าง ๆ เช่น ในปาก เป็นต้น ตัวอย่างของโรคเหล่านี้ คือโรคเพมฟิกัส (Pemphigus) และเพมฟิกอยด์ (Bullous pemphigoid)
สาเหตุ
เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย มีแนวโน้มทางพันธุกรรมเป็นปัจจัยพื้นฐานสิ่งแวดล้อม เช่น เชื้อโรค และสารเคมีเป็นปัจจัยกระตุ้นมีบทบาทร่วมกันในการก่อโรค โรคตุ่มน้ำพองจากภูมิคุ้มกันไม่ใช่โรคติดต่อ
อาการและอาการแสดง
โรคกลุ่มนี้บางชนิดพบในวัยเด็ก บางชนิดพบในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ พบได้ทั้งเพศหญิงและชาย มีตุ่มน้ำพองขนาดต่าง ๆ เกิดขึ้นที่ผิวหนัง บางรายอาจเกิดที่เยื่อบุต่าง ๆ ร่วมด้วย เมื่อตุ่มน้ำแตกจะเกิดแผลหรือรอยถลอก ทำให้มีอาการเจ็บ ถ้าเกิดตุ่มน้ำพองหรือแผลในปากจะทำให้เจ็บแสบกลืนอาหารไม่สะดวก บางรายผิวหนังที่ถลอกหรือเป็นแผล อาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นหนอง ถ้าเป็นรุนแรง เชื้อโรคอาจเข้าสู่กระแสโลหิตทำให้มีไข้ หรืออาการอื่น ๆ ได้
การรักษา
โรคตุ่มน้ำพองชนิดเพมฟิกัสและเพมฟิกอยด์ ยาหลักที่ใช้รักษาคือ ยากดภูมิคุ้มกัน หรือยามุ่งเป้า โดยอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ถ้าผู้ป่วยเกิดอาการข้างเคียงระหว่างรับประทานยาต้องรีบปรึกษากับแพทย์ผู้ดูแลและเพื่อพิจารณาปรับขนาดยาหรือเปลี่ยนไปใช้ยากลุ่มอื่น
การปฏิบัติตัวของผู้ป่วย
ผู้ป่วยควรทราบว่าโรคในกลุ่มนี้มีความรุนแรงต่างกัน บางคนอาจมีตุ่มน้ำจำนวนน้อย แต่บางคนก็อาจมีตุ่มน้ำจำนวนมาก ถึงแม้ว่าผู้ป่วยที่มีตุ่มน้ำจำนวนน้อยหากไม่ได้รับการรักษา อาการจะกำเริบมากขึ้นได้ โรคกลุ่มนี้เป็นโรคเรื้อรัง มีอาการของโรคอาจกำเริบและสงบสลับกันไป ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรรับการตรวจรักษา
โดยสม่ำเสมอ และต้องรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งโดยเคร่งครัด ไม่ควรหยุดยาหรือลดยาเองเพราะจะทำให้โรคกำเริบขึ้นได้ เนื่องจากผู้ป่วยมักจะได้รับยาที่กดระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง
ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรปฏิบัติตัวดังนี้
 
- หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อ ไม่ไปสาถนที่แออัด เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- ถ้ามีอาการที่บ่งถึงการติดเชื้อ เช่น ไข้สูง ไอ ปัสสาวะแสบขัด ควรปรึกษา
 
- ไม่รับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หรือไม่สะอาด
 
- ถ้าโรคยังไม่สงบ ไม่ควรตั้งครรภ์ เนื่องจากยาที่รับประทานเพื่อควบคุมโรคอาจมีผลต่อทารกในครรภ์ ถึงแม้ว่าโรคสงบแล้ว ถ้าจะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะแพทย์อาจจะยังให้ยาบางชนิดเพื่อควบคุมโรคไม่ให้กำเริบ ซึ่งอาจมีผลต่อทารกในครรภ์ได้เช่นกัน
1
- ผู้ป่วยที่ได้รับยาเพรดนิโซโลน ถ้ามีอาการปวดท้องอุจจาระดำ หรืออาเจียนเป็นเลือดควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
- ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ดื่มนมสด หรือ รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงป้องกันกระดูกพรุน
สำหรับผู้ป่วยทีมีตุ่มน้ำแตกเป็นแผลในปาก ควรปฏิบัติดังนี้
- ใช้น้ำเกลือ (Normal saline) อมกลั้วปากบ่อย ๆ หรือทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาบ้วนปากยาฆ่าเชื้อที่เข้มข้น
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด โดยเฉพาะอาหารเผ็ด หรือเปรี้ยว จะทำให้แสบหรือเจ็บแผลมากขึ้น
สำหรับผื่นที่ผิวหนัง ควรปฏิบัติดังนี้
- หลีกเลี่ยงการประคบหรือพอกแผลด้วยสมุนไพร ผงหรือยาใดที่แพทย์ไม่ได้เป็นผู้สั่ง
- ถ้าต้องการทำความสะอาดแผล ควรใช้น้ำเกลือ (Normal saline) เช็ดเบา ๆ อาจใช้ยาทา เช่น ยาครีมฆ่าเชื้อ ไม่ควรปิดแผลบ่อย ๆ เพราะจะทำให้ผิวหนังหลุดถลอก
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด โดยเฉพาะอาหารเผ็ด หรือเปรี้ยว จะทำให้แสบหรือเจ็บแผลมากขึ้น
โฆษณา