2 พ.ค. 2024 เวลา 11:40 • ธุรกิจ

Li Chaowang ขายกระดาษทิชชู ในจีน จนสร้างธุรกิจ 130,000 ล้าน

ถ้าใครเคยไปเที่ยวเมืองจีน อาจจะเคยใช้สินค้าของ Vinda International โดยไม่รู้ตัวก็ได้ เพราะทั้ง
- กระดาษชำระในห้องน้ำห้างสรรพสินค้า
- กระดาษเช็ดปาก ที่โรงแรม
- กระดาษทิชชูสี่เหลี่ยมในร้าน ​McDonald's
เป็นกระดาษทิชชูที่ผลิตโดย Vinda International
ที่น่าสนใจก็คือ กระดาษทิชชู Vinda ไม่เหมือนกระดาษทิชชูจีนในภาพจำของคนไทย ที่ต้องได้เยอะ ๆ และราคาถูก
เพราะ Vinda เน้นขายกระดาษทิชชูคุณภาพพรีเมียมในราคาแพง
1
และนั่นทำให้ Vinda มีมูลค่าบริษัทสูงถึง 133,000 ล้านบาท
หรือมากกว่าบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) ของไทย ที่ขายสินค้าอุปโภคบริโภคแทบจะทุกอย่างเสียอีก
เส้นทางของ Vinda International เป็นอย่างไร ?
ขายทิชชู ทำไมธุรกิจใหญ่โตได้ขนาดนี้
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
เปิดบัญชีแล้วเทรดวันนี้ มีสิทธิ์รับ e-Coupon มูลค่ารวมสูงสุด 800 บาท จาก บล. Zcom อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://bit.ly/4b0dF2b
╚═══════════╝
โดยคนที่ทำให้ Vinda International ยิ่งใหญ่แบบทุกวันนี้ได้ ก็คือคุณ Li Chaowang
คุณ Li เกิดเมื่อปี 1958 ในครอบครัวยากจน แต่เขาเป็นคนขยัน และชอบการแข่งขันมาตั้งแต่เด็ก
พอโตขึ้น คุณ Li ได้ไปทำงานที่โรงงานกระดาษของรัฐบาลท้องถิ่นในกวางตุ้ง ด้วยความขยันและความสามารถ ทำให้คุณ Li ได้ขึ้นเป็นผู้จัดการโรงงาน
ต่อมาในปี 1985 ทางการจีนได้รวมโรงงานกระดาษที่คุณ Li ทำอยู่ กับอีก 2 โรงงานที่ขาดทุนหนักเข้าด้วยกัน
กลายเป็นโรงงานกระดาษแห่งใหม่ที่ชื่อว่า Xinhui Daily ซึ่งก็คือ Vinda International ในทุกวันนี้นั่นเอง
ตอนนั้นคุณ Li ในวัย 27 ปี ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการโรงงานนี้เหมือนเดิม เขารู้สึกตื่นเต้น และมีความคิดอยากทำโปรเจกต์ครั้งใหญ่ขึ้นมา
ซึ่งก่อนหน้านี้ คุณ Li เคยไปคุยงานกับลูกค้าที่ฮ่องกง และได้รู้จักกับ “กระดาษทิชชูพกพาขนาดเล็ก” ที่พกพาสะดวก ใช้งานได้ดี และคิดว่าคนจีนน่าจะชอบกัน
ต้องบอกว่าในตอนนั้น กระดาษทิชชูพกพาขนาดเล็ก ในจีน ยังไม่ได้เป็นที่นิยมกันมากนัก โดยส่วนใหญ่แล้ว คนจีนมักพกผ้าเช็ดหน้าเวลาไปทานข้าวที่ร้าน
ส่วนกระดาษทิชชู จะนิยมใช้กันแค่ในโรงแรม และคุณภาพก็ไม่ดีเท่าไรนัก
คุณ Li เลยเห็นโอกาสในการทำตลาด และตัดสินใจผลิตกระดาษทิชชูพกพาขนาดเล็ก ที่คุณภาพดี ออกมาขาย
1
โดยคุณ Li สั่งเครื่องพับกระดาษมือสอง มาจากฮ่องกง
นอกจากนำมาผลิตสินค้าแบรนด์ตัวเองแล้ว โรงงานยังมีการรับ OEM ให้แบรนด์อื่น ๆ ด้วย
ซึ่งเป็นไปตามคาด เพราะกระดาษทิชชูพกพาของ Vinda ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่คนจีน และหลังจากนั้น ก็มีสินค้าอื่น ๆ ออกมาด้วย เช่น กระดาษทิชชูแบบม้วน
2
ต่อมาในปี 1987 คุณ Li ตัดสินใจทำกระดาษทิชชูเช็ดหน้าแบบกล่อง ซึ่งถือเป็นเจ้าแรกในจีน ที่เน้นคุณภาพ และขายราคาแพงกว่าเจ้าอื่น
และในปี 1990 คุณ Li ก็จดเครื่องหมายการค้าในชื่อ Vinda ที่กลายมาเป็นกระดาษทิชชูคุณภาพดีอันดับต้น ๆ ในประเทศจีน
แต่เส้นทางธุรกิจของคุณ Li ก็ไม่ได้ราบรื่น เพราะที่จีนไม่ค่อยมีเยื่อกระดาษคุณภาพดี สำหรับการผลิตกระดาษทิชชูแบบที่ต้องการ
ในปี 1993 คุณ Li เลยต้องทุ่มเงิน 150 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานผลิตเยื่อกระดาษคุณภาพดี โดยสั่งเครื่องจักรมาจากญี่ปุ่น
นั่นทำให้ กระดาษทิชชู Vinda มีจุดเด่นก็คือ ผลิตจากเยื่อไม้บริสุทธิ์ 100% เนื้อนุ่มและสัมผัสดี เลยขายได้ในราคาแพงกว่า เมื่อเทียบกับยี่ห้ออื่น นั่นเอง
1
และคุณ Li ยังมองว่าการโฆษณาสินค้าบนทีวี จำเป็นมาก จึงทุ่มงบการตลาดกับตรงนี้ โดยเน้นโฆษณาระหว่างซีรีส์ไต้หวันและฮ่องกง ที่ฮิตมากในหมู่คนจีนยุคนั้น เลยทำให้คนจำนวนมาก รู้จักและจดจำสินค้าของ Vinda ได้
นอกจากขายให้กับลูกค้ารายย่อยแบบ B2C แล้ว
Vinda ยังทำธุรกิจแบบ B2B ด้วย โดยเริ่มจากการผลิตกระดาษทิชชูพรีเมียมแบบมีโลโก ให้กับโรงแรมหรู
ตอนนั้นโรงแรมหรูในจีน ต้องสั่งมาจากฮ่องกง ซึ่งราคาแพง พอมี Vinda โรงแรมก็ได้ซื้อในราคาที่ถูกลง ส่วน Vinda ก็มีลูกค้าประจำเพิ่ม
2
และในปี 2000 Vinda ก็ได้ลูกค้าประจำคนสำคัญอีกราย นั่นคือ McDonald's โดยบริษัทเป็นผู้ผลิตกระดาษเช็ดปากสีน้ำตาลให้กับ McDonald's ในประเทศจีน
หลังจากนั้นคู่แข่งของ Vinda ก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และก็ต้องยอมรับว่า คนส่วนใหญ่เลือกกระดาษทิชชู จากปริมาณและราคา โดยเฉพาะกระดาษทิชชูแบบม้วน
ซึ่ง Vinda ยืนหยัดในจุดยืนของตัวเอง และเลือกที่จะไม่ลดราคา หรือลดคุณภาพลง
แต่เลือกที่จะเพิ่มเลเยอร์ของเนื้อกระดาษเป็นแบบ 3 ชั้นแทน หรือก็คือคุณภาพดีขึ้น นั่นเอง
กระดาษทิชชูนี้คือรุ่น ​Blue Classic กระดาษชำระแบบม้วน แพ็กเกจจิงสีน้ำเงิน ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณม้วนละ 20 บาท และยังขายดีมาจนถึงทุกวันนี้
บริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนในปี 2007 Vinda International ได้จดทะเบียนเข้าตลาดหุ้นฮ่องกง
และมาถึงวันนี้ ราคาหุ้น ก็ได้ปรับตัวขึ้นมาแล้ว 410% นับจากตอน IPO
จนมูลค่าบริษัท ณ ตอนนี้อยู่ที่ 133,000 ล้านบาท
ถ้าเราไปดูส่วนแบ่งตลาดของบริษัทผลิตกระดาษทิชชู ในประเทศจีน ของปี 2020 จะเห็นว่า
- อันดับ 1 Vinda สัดส่วน 8.8%
- อันดับ 2 Hengan สัดส่วน 8.5%
- อันดับ 3 Zhongshun สัดส่วน 5.8%
นอกจากในจีนแล้ว กระดาษทิชชูของ Vinda ยังได้รับความนิยมในฮ่องกง และบริษัทได้เริ่มขยายไปยังตลาดอื่น ๆ เช่น มาเลเซีย
ทีนี้เรามาดูผลประกอบการของ Vinda International กัน
ปี 2020
รายได้ 77,460 ล้านบาท กำไร 8,790 ล้านบาท
ปี 2021
รายได้ 87,610 ล้านบาท กำไร 7,690 ล้านบาท
ปี 2022
รายได้ 91,100 ล้านบาท กำไร 3,310 ล้านบาท
1
ปี 2023
รายได้ 93,840 ล้านบาท กำไร 1,190 ล้านบาท
จะเห็นว่ารายได้ของบริษัท ยังคงมีแนวโน้มเติบโตอยู่
โดยรายได้หลัก 83% ของ Vinda มาจากการขายกระดาษทิชชู ส่วนที่เหลือจะเป็นสินค้าส่วนตัว เช่น ผ้าอนามัย และผ้าอ้อมเด็ก
และสัดส่วนช่องทางการขายของ Vinda จะมาจาก
- ออนไลน์ สัดส่วน 46%
- ร้านค้าตัวแทนจำหน่าย สัดส่วน 23%
- ไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ต สัดส่วน 21%
- ลูกค้าธุรกิจแบบ B2B สัดส่วน 10%
แต่หากมาดูที่กำไรของบริษัท จะเห็นว่ากำลังลดลงทุกปี และนั่นทำให้อัตรากำไรสุทธิของบริษัท ลดลงอย่างมาก
ซึ่งสาเหตุเกิดจากต้นทุนของสินค้าที่แพงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนเยื่อกระดาษ ที่คิดเป็น 40% - 60% ของต้นทุนทั้งหมด
1
แต่ปัญหานี้เจอกันทั้งอุตสาหกรรม เพราะคู่แข่งอย่าง Hengan และ Zhongshun ก็เจอปัญหานี้ และอัตรากำไรสุทธิ ก็ลดลงอย่างมากเช่นเดียวกัน
สรุปแล้ว ความสำเร็จของ Vinda เริ่มมาจากการที่คุณ Li เห็นช่องว่างเล็ก ๆ ในตลาด แล้วค่อย ๆ พัฒนาสินค้าขึ้นมาเพื่อเติมเต็มช่องว่างนั้น
และที่สำคัญคือ การยืนหยัดในจุดแข็ง และแนวทางการดำเนินธุรกิจของตัวเอง ที่ไม่ยอมเปลี่ยนไปเล่นในเกมของคู่แข่ง หรือสงครามราคา
นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่ Vinda พิสูจน์ให้เห็นก็คือ สินค้าจีน ไม่จำเป็นต้องคุณภาพไม่ดี และราคาถูกเสมอไป
เพราะกระดาษทิชชูของ Vinda ที่มีคุณภาพดี และราคาพรีเมียมกว่าเจ้าอื่นในตลาด ก็ยังขายได้ดี จนสามารถครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ได้..
╔═══════════╗
เปิดบัญชีแล้วเทรดวันนี้ มีสิทธิ์รับ e-Coupon มูลค่ารวมสูงสุด 800 บาท
กับแคมเปญ Zuper คุ้ม ยิ่งเทรด ยิ่งได้ จาก บล. Zcom
ห้ามพลาดโปรดี ๆ ตั้งแต่วันนี้ถึงกรกฎาคมนี้เท่านั้น!!
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://bit.ly/4b0dF2b
หรือเปิดบัญชีคลิกเลย https://bit.ly/3U5qgez
*เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทฯ กำหนด
**การลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน
Line: @zcomsecurities (http://bit.ly/2TJtaIC)
#zcomsecurities
╚═══════════╝
โฆษณา