2 พ.ค. เวลา 11:22 • ธุรกิจ

จีนทำอย่างไรให้ SME เติบใหญ่ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จีนทำอย่างไรให้ SME เติบใหญ่ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน
เมื่อเร็วๆ นี้ ผมมีโอกาสไปบรรยายพิเศษในงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2566 ของชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอี ภายใต้การสนับสนุนของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในหัวข้อเรื่อง “จีนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SME ได้อย่างไร” ผมเลยถือโอกาสนำเอาสาระสำคัญที่พูดคุยในวันนั้นมาขยายผลแลกเปลี่ยนกับท่านผู้อ่านกันครับ ...
เราต่างทราบกันดีว่า ในภาพรวม SME เป็นเสมือน “กระดูกสันหลัง” ของเศรษฐกิจโลก โดยช่วยเสริมสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจในหลายส่วน อาทิ การสร้างงานเกือบ 70% ของตำแหน่งงานและระบบเศรษฐกิจโดยรวมของโลก
SME ยังเป็นแรงผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าทางสังคมและสิ่งแวดล้อม และเป็นพื้นฐานสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพการพัฒนาในทุกมิติ อาทิ การขับเคลื่อนนวัตกรรม และการส่งเสริมความยั่งยืนในระดับโลก ภูมิภาค และท้องถิ่น
ดังนั้น รัฐบาลของนานาประเทศและองค์การระหว่างประเทศจึงต่างให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจในระบบนิเวศและการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของ SME เพื่อให้สามารถปรับปรุงได้ถูกจุดและบรรลุเป้าหมายความสำเร็จได้
หลายฝ่ายยังพยายามพัฒนาโปรแกรมมากมายเพื่อสนับสนุนให้ SME เติบโตและเกิดความก้าวหน้าด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุผลดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงตระหนักถึงความสำคัญของการทำงานอย่างใกล้ชิดกับ SME เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในระดับโลกอย่างแท้จริง
ในกรณีของจีน กว่า 2 ทศวรรษแรกของการเปิดประเทศสู่โลกภายนอก รัฐบาลจีนกำหนดบริบทของการพัฒนาประเทศโดยมุ่งเน้นการสนับสนุนโครงการขนาดใหญ่ผ่านกิจการรายใหญ่ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นของรัฐ โดยมุ่งเน้นการสร้างตลาดในเชิงปริมาณ
ในเวลาต่อมา รัฐบาลจีนเริ่มปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาโดยหันมามุ่งเน้นการสนับสนุนกิจการเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SME ผ่านการดำเนินงานมากมาย อาทิ การสร้างการมีส่วนร่วมของกิจการเอกชน (Privatization) และการออกกฎหมายส่งเสริม SME เมื่อปี 2003
รัฐบาลจีนยังหันไปให้ความสำคัญกับการสร้างตลาดใหม่ในมิติเชิงคุณภาพ และพัฒนาไปสู่นวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้ลดต้นทุนทางสังคมและนำไปสู่การสร้างผลตอบแทนเชิงเศรษฐกิจแก่จีนโดยรวม
ผ่านมาถึงวันนี้ SME จีนนับว่ามีอิทธิพลและบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่สูงมาก โดยมีสัดส่วนคิดเป็นมากกว่า 50% ของแหล่งรายได้ด้านภาษี มากกว่า 60% ของจีดีพีจีน 70% ของพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยี และราว 80% ของการจ้างแรงงานโดยรวม
อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากภาครัฐอย่างเป็นระบบ จริงจัง และต่อเนื่อง แต่ SME จีนก็ใช่ว่าจะเป็น “เทวดา” ที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์ความท้าทายและแรงกดดันใดๆ จากภายนอก
การมีทรัพยากรที่จำกัดในหลายด้านทำให้ SME “เปราะบาง” และ “เสียเปรียบ” กิจการขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นด้านแหล่งเงินทุน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การวิจัยและพัฒนาเพื่อนำไปสู่นวัตกรรม การยกระดับการผลิต การขาย และอื่นๆ
ในด้านการเงิน SME จีนก็มีเงินทุนกระจุกอยู่เพียงไม่กี่แหล่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินทุนส่วนตัวและเครือญาติ ขณะเดียวกัน สินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ก็เป็นไปอย่างจำกัด จึงมักพึ่งพารายได้จากการขายสินค้าและบริการเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในระดับที่สูงกว่าของกิจการขนาดใหญ่
SME จีนจึงได้รับผลกระทบ “แรงและกว้างขวาง” มากจากการแกว่งตัวของเศรษฐกิจและการเผชิญกับวิกฤติ อย่างกรณีวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา ก็ทำเอา SME จีนอ่อนแรง ขาดสภาพคล่อง ปลดคนงาน หรือแม้กระทั่งต้องปิดกิจการไปเป็นจำนวนมาก กิจการที่เหลือรอดมาก็ยังอาจต้องใช้เวลานานกว่าจะสามารถกลับมาประกอบกิจการได้ดังเดิมอีกครั้ง
แม้กระทั่งสตาร์ตอัพที่รัฐบาลจีนพยายามเร่งพัฒนา ต่างก็ประสบปัญหาในระดับที่หนักหน่วงเช่นกัน สตาร์ตอัพถดถอยและประสบความสำเร็จลดลงในเชิงปริมาณและคุณภาพ ซึ่งอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อบทบาทของนวัตกรรมในเศรษฐกิจจีนในระยะยาว
ข้อมูลของหลายองค์กรระบุว่า ภายหลังวิกฤติโควิด SME จีนมีจำนวนราว 52 ล้านราย แต่การประเมินอย่างไม่เป็นทางการของบางแห่งก็ระบุว่า จำนวน SME จีนอาจลดฮวบลงเหลือเพียง 30 ล้านรายเท่านั้น ซึ่งเป็นระดับเดียวกับในช่วงปี 2018 เท่ากับว่า วิกฤติโควิดทำเอาการพัฒนา SME จีนถอยหลังไปถึง 6 ปีในเชิงปริมาณ
ขณะเดียวกัน หลายสิ่งก็เปลี่ยนแปลงไปมาก และอาจเป็นไปอย่างสิ้นเชิง ส่งผลให้ SME จีนต้องพัฒนาระบบการบริหารจัดการใหม่ อาทิ ระบบการทำงานออนไลน์ การเปิดให้บุคลากรทำงานจากที่ใดๆ ก็ได้ หรือ “Work From Anywhere” ที่ยากต่อการกำกับควบควบคุมผลงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากบุคลากรที่มีคุณภาพต่ำกว่า กลับกลายเป็นสิ่งที่ SME ไม่อาจปฏิเสธได้
ในหลายกรณี ผลจากการล็อกดาวน์ทำให้ SME ถูกสั่งปิด “หน้าร้าน” และไม่อาจประกอบธุรกิจได้ตามปกติ ทำให้ขาดกระแสเงินสดซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนหลัก
ภาคการผลิตก็หยุดชะงัก ส่งผลให้ SME ที่ส่งชิ้นส่วนอุปกรณ์ต้องหยุดสายการผลิต ขาดรายได้หลัก เราจึงเห็นห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรม “ขาดสะบั้น” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับระหว่างประเทศ
ขณะที่กิจการค้าปลีกที่อยู่ห่างจากฐานการผลิตหรือพื้นที่ตอนในก็ได้รับผลกระทบด้านการกระจายสินค้า ยิ่งในกรณีของร้านอาหารและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับระหว่างประเทศ ก็ดูจะได้รับผลกระทบรุนแรงมาก รวมไปถึงกีฬา บันเทิงทางวัฒนธรรม ลอจิสติกส์ และการก่อสร้าง
ครั้นวิ่งไปหาหน่วยงานภาครัฐและธุรกิจบริการหลัก เช่น ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งก็ลดระดับการให้บริการและการปล่อยสินเชื่อ ก็ทำให้ SMEs ที่ต้องการความช่วยเหลือและการสนับสนุนในระดับที่สูง ตกที่นั่งลำบากมากขึ้น
และเมื่อเมืองเริ่มเปิด ผู้คนจำนวนมากก็ไม่มั่นใจในความปลอดภัยและแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงไป และยังคงใช้เวลาอยู่ในบ้านในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การออกไปจับจ่ายใช้สอยและรับประทานอาหารนอกบ้านลดลง ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
ผู้คนใส่ใจใน “ความเป็นธรรมชาติ” และ “สุขอนามัย” ครั้นเมื่อออกนอกบ้าน ผู้คนก็เลือกไปใชชีวิต “นอกเมือง” ที่ผู้คนไม่แออัด ใช้เวลากลางแจ้ง สูดอากาศบริสุทธิ์ และเลือกบริโภคอาหารท้องถิ่นที่รู้สึกว่าปลอดภัยมากกว่า
ส่วนนี้ยังเปลี่ยนทัศนคติและโครงสร้างความต้องการ อันนำไปสู่การขยายตัวของอุปสงค์ในหลายสินค้าและบริการในระยะยาว อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าแบบประหยัดไฟ พลังงานสีเขียว และรถยนต์ไฟฟ้า รวมไปถึงเซมิคอนดักเตอร์ที่เป็นเสมือน “สมอง” ในสินค้าไฮเทคเหล่านี้
มีธุรกิจไหนอีกที่ได้รับประโยชน์จากวิกฤติโควิด และจีนพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของ SME ให้กลับมาเติบใหญ่ได้อย่างไร ไปติดตามกันในตอนหน้าครับ
ภาพจาก reuters
โฆษณา