24 มิ.ย. เวลา 04:51 • หุ้น & เศรษฐกิจ

Keep Calm & Stay Investedสูตรลับจากสวรรค์ยังใช้ได้หรือไม่?

พลาด 10 วันที่ผลตอบแทนดีที่สุด อาจทำให้ผลตอบแทนการลงทุนของคุณเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล ดังนั้นแล้วการ Stay Investedหรือ อยู่ในตลาดอยู่เสมอจะช่วยให้การลงทุนของเรามีโอกาสเติบโตได้ อย่างน้อยก็ได้ผลตอบแทนตามตลาดจะให้ได้ในระยะยาว ซึ่งหมายถึงอาจไม่ได้เยอะที่สุด แต่ก็ได้ในระดับที่ควรจะได้จากการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหุ้น และแค่นั้นก็ดีมากพอที่พอร์ตการลงทุนของคุณจะเปลี่ยนชีวิตยามเกษียณได้
หากพลาด 30 วันที่แย่ที่สุด จะเป็นอย่างไร?
ผลปรากฏว่า ผลตอบแทนที่ได้ห่างกันลิบลับ หากเราลงทุนเริ่มต้นที่ 100,000 บาทเมื่อ 30 ปีก่อนหน้า หากเราพลาดวันที่แย่ที่สุดเพียง 30 วันเท่านั้น จะส่งผลให้เงินต้นเติบโตสู่ระดับ 7.82 ล้านบาท สูงกว่าการ Stay Investedถึงเกือบ 7 เท่า และสูงกว่าพลาด 30 วันที่ดีที่สุดถึง 41 เท่า เนื่องจากการพลาด 30 วันที่ดีที่สุดนั้น เงินต้นเติบโตจาก 100,000 บาทสู่ 188,906 บาทเท่านั้น
แต่ช้าก่อน เห็นเช่นนี้แล้ว ไม่ได้ทำให้หลักการ Stay Investedถูกหักล้างแต่อย่างใด เพราะเมื่อพิจารณาการเกิดของ 30 วันที่ดี และ แย่ที่สุดนั้นจะพบว่า ช่วงเวลาที่ดีและแย่ที่สุดนั้น มักเกิดขึ้นใกล้ หรือ ต่อเนื่องกันเสมอ เนื่องจากช่วงเวลาเหล่านั้นมักเป็นช่วงเวลาที่อาจกล่าวได้ว่าเป็น Outlier หรือ ช่วง “สุดๆ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลัวสุดๆ เช่น ช่วงปี ค.ศ. 2008 และ ค.ศ. 2020 ที่ทั้ง 2 ช่วงเวลานั้นเกิดวิกฤติ Subprime และ COVID-19 ขึ้น
ทำให้การจับจังหวะเพื่อที่จะหลบเลี่ยงวันที่แย่ที่สุด อยู่เสมอก็ทำยากไม่แพ้กับความพยายามที่จะจับจังหวะการลงทุนยอดเยี่ยมที่สุด อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าผลการศึกษานี้จะไร้ประโยชน์เสียทีเดียว เพราะเมื่อพิจารณาจากตัวเลขการลงทุนที่จบช่วง 30 ปีนั้นพบว่าต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้อาจพอคาดเดาได้ว่าการบริหารความเสี่ยงนั้นมีผลต่อพอร์ตการลงทุนมากยิ่งนัก
หากพลาด 30 วันที่ดีและแย่ที่สุด จะเป็นอย่างไร?
ผลปรากฏว่า ก็ยังเอาชนะได้ทั้งการ Stay Invested
ทำไม
เพราะทุกๆ ครั้งที่ขาดทุนเงินทุนเราลดลงเสมอ ทำให้การเอาคืนกลับมาเท่าเดิมต้องใช้ความพยายามมากขึ้น เช่น การขาดทุน 50% หมายถึงต้องสร้างผลตอบแทน 100% เพื่อให้เงินต้นกลับมาเท่าเดิม ดังนั้นแล้วการพลาดวันที่แย่ที่สุด แม้เราจะพลาดวันที่ดีที่สุดไปด้วยก็ดีมากพอที่จะทำให้เงินต้นเติบโตได้อย่างโดดเด่นมากกว่าการ Stay Investedตลอดเวลา
เราควร Market Timing ตลอดเวลาอย่างนั้นหรือ
ต้องบอกว่าทั้งใช่และไม่ใช่ กล่าวคือ หากไม่แน่ใจต่อสถานการณ์ตลาด การออกจากตลาด หรือ ลดการลงทุน ยังเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดผลขาดทุนที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างทาง ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว อย่างไรก็ตาม การคาดเดาว่าจะเกิดวิกฤติขึ้นเมื่อใดนั้น เป็นเรื่องที่ยากเป็นอย่างยิ่ง ทำให้การที่บอกว่ายอมเสีย 30 วันที่ดีที่สุด เพื่อเลี่ยง 30 วันที่แย่ที่สุด ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
แต่สิ่งที่เราทำได้คือ การลดน้ำหนักหุ้น หรือสินทรัพย์เสี่ยงลงบางส่วนในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอน หรือ ช่วงที่ไม่สบายใจ เช่น เดิมทีอาจลงทุนในหุ้น 60% ตราสารหนี้ 40% เมื่อสถานการณ์ไม่ชัดเจน ก็อาจลดสัดส่วนหุ้นลงสู่ระดับ 40% หรือ 20% แล้วแต่ความกังวลในช่วงนั้นๆ
แต่เมื่อสถานการณ์จบลง หรือ ไม่เกิดวิกฤติอย่างที่เรากังวลนั้น ก็ต้องกล้าพอ ที่จะจัดน้ำหนักการลงทุนกลับมาสู่ระดับที่ตั้งใจอีกครั้ง เพื่อให้มั่นใจได้ว่า แม้ช่วงที่ผ่านมาจะพลาดโอกาสไปบางส่วน (เพราะลดน้ำหนักหุ้นลง) แต่ในระยะยาวเราจะเติบโตตามตลาดไป
สรุป
การ Stay Invested ยังจำเป็น แต่สถิติบ่งชี้ว่าการคุมความเสี่ยงสำคัญอย่างมาก แม้ความพยายามหลบวิกฤติ อาจทำให้เราพลาดวันที่ดีไปบ้าง แต่หากช่วยให้พ้นวิกฤติได้แม้แต่ครั้งเดียว จะสร้างความแตกต่างอย่างมหาศาล ดังนั้นเมื่อไม่มั่นใจอาจออกจากตลาดบางส่วน เพื่อลดขาดทุนจะช่วยพอร์ตได้อย่างมีนัยสำคัญ หากเกิดวิกฤติขึ้นจริงตามที่กังวล ซึ่งจะเป็นการรักษาสมดุลระหว่าง Stay Invested กับการบริหารความเสี่ยงเพื่อเพิ่มความยั่งยืนในระยะยาวเข้าไป
โฆษณา