10 พ.ค. 2024 เวลา 08:00 • ไลฟ์สไตล์

Chronoworking ทำงานตอนไหนก็ได้ที่มีสมาธิที่สุดของวัน ทลายกรอบเวลา ‘9 to 5’ แบบเดิมๆ

ความยืดหยุ่นในการทำงานและการสร้างสมดุลให้ชีวิต กลายเป็นความต้องการหลักของโลกการทำงานตั้งแต่ช่วงหลังโควิดเป็นต้นมา คนงานทั่วโลกต่างดิ้นรนเพื่อความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน ยกตัวอย่างรายงานจาก VoiceNation ที่ระบุว่า พนักงานในสหรัฐ 63% ได้พิจารณาเปลี่ยนงานเนื่องจากเจอความเครียดในที่ทำงาน ขณะที่พนักงานจำนวนไม่น้อยก็หันไปหางานที่ให้ความยืดหยุ่นมากกว่า นำไปสู่เทรนด์การทำงานใหม่ๆ หลากหลายรูปแบบที่เกิดขึ้นมาในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็น Coffee Badging, Shadow Policies และ Quiet quitting
ล่าสุด.. เกิดเทรนด์การทำงานใหม่อีกเทรนด์ที่เริ่มจะถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือ Chronoworking ซึ่งถูกพูดถึงกันมาสักพักแล้ว แต่ปีนี้เริ่มได้ยินว่ามีการผลักดันการทำงานรูปแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเอื้อให้พนักงานไม่ต้องกังวลกับกรอบเวลาทำงานแบบ 9 to 5 (เข้างาน 9 โมงเช้าเลิกงาน 5 โมงเย็น) อีกต่อไป
‘Chronoworking’ เป็นรูปแบบการทำงานที่ให้พนักงานสามารถปรับตารางเวลาทำงานตามจังหวะนาฬิกาชีวิตตามธรรมชาติของแต่ละคน หรือที่เรียกว่า โครโนไทป์ (Chronotype) ซึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานไปตลอดทั้งวันอย่างมีนัยสำคัญ
ทอว์น วิลเลียมส์ ที่ปรึกษาด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน และเป็นผู้ก่อตั้ง House of Anaya บริษัทด้าน Wellness อธิบายถึงเทรนด์นี้ว่า แทนที่จะยึดติดกับเวลาทำงานเดิมๆ แบบ 9 to 5 แต่แนวคิดนี้เปลี่ยนมุมมองเรื่องเวลางานใหม่ โดยมุ่งจัดลำดับความสำคัญในการรับรู้และเคารพวงจรตามธรรมชาติของร่างกาย ซึ่งก็คือการรู้จักช่วงเวลาพลังงานสูงและช่วงพลังงานต่ำของตนเอง แล้วเลือกทำงานในช่วงเวลาที่เรามีพลังงานสูง มีสมาธิ สมองลื่นไหลได้ดี
ทั้งนี้ ช่วงเวลาดังกล่าวของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน เช่น บางคนตื่นเช้าและมีพลังสูงสุดในช่วงเช้าหรือสาย แต่บางคนตื่นสายและมีสมาธิทำงานที่สุดตอนบ่ายหรือค่ำ หรือบางคนทำงานได้ดีตอนกลางคืน เป็นต้น การปรับตารางทำงานแบบนี้ช่วยให้กำหนดเวลาที่ยืดหยุ่นได้มากขึ้น ทั้งยังทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
“ด้วยการจัดเวลางานให้สอดคล้องกับเวลาที่เหมาะสมตามวงจรธรรมชาติของร่างกาย มันจึงสามารถช่วยส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีทั้งทางจิตใจ ร่างกาย และอารมณ์ของพนักงานได้อย่างกลมกลืน นำไปสู่ประสิทธิภาพการผลิตที่เพิ่มขึ้นและความพึงพอใจในงานโดยรวม” วิลเลียมส์ กล่าว
วิลเลียมส์บอกอีกว่า จากมุมมองด้านประสาทวิทยาศาสตร์และชีววิทยา การทำงานแบบ “โครโนเวิร์กกิง” อาจดูสมเหตุสมผล แต่ในความเป็นจริงแล้วปฏิเสธไม่ได้ว่า วัยทำงานส่วนใหญ่ยังคงต้องติดอยู่ในกรอบตารางการทำงานแบบเดิมในแทบจะทุกองค์กร แม้ว่าจังหวะการทำงานตามนาฬิกาชีวิตของแต่ละคนจะแตกต่างกันไปก็ตาม
โดยเฉพาะถ้าคุณทำงานให้กับบริษัทใหญ่ๆ นายจ้างของคุณอาจเรียกไปคุยหากคุณไม่ทำงานตามกรอบเวลามาตรฐานปกติ แต่คนที่สามารถทำงานในรูปแบบนี้ได้นั้น พบว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ และเจ้าของกิจการแบบ Solopreneur (ผู้ประกอบการที่ทำงานด้วยตัวเองคนเดียว ทำธุรกิจโดยไม่ต้องจ้างพนักงานประจำแต่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาทดแทน)
“ปัจจุบันมีการเสนอแนวคิดการทำงานแบบ Chronoworking ในหลายๆ องค์กรที่มองว่าความยืดหยุ่นเป็นสิ่งสำคัญต่อพนักงาน แต่ยังพบว่ามีน้อยอยู่ ส่วนองค์กรใหญ่ๆ ก็เริ่มเปิดรับแนวคิดนี้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานแบบไฮบริด แต่ก็อาจจะยังไม่มีความชัดเจนมากนัก อาจเป็นเพียงการวางโครงสร้างหลวมๆ ไว้เป็นหนึ่งในทางเลือกเท่านั้น” วิลเลียมส์อธิบาย
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มนี้ยังไม่พุ่งสูงขึ้นในองค์กรขนาดใหญ่แต่อย่างใด แต่วาทกรรมที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับเรื่องสุขภาวะทางจิตใจในที่ทำงาน หรือการมอบความยืดหยุ่นให้แก่พนักงาน ก็กำลังค่อยๆ เปลี่ยนมุมมองของนายจ้างในยุคนี้มากขึ้น ยิ่งบทสนทนาเหล่านี้เปิดเผยมากขึ้นเท่าไร ผู้นำทางธุรกิจก็เริ่มตระหนักถึงศักยภาพของโมเดลดังกล่าวมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งจะเอื้อต่อความเป็นอยู่และประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานที่ดีขึ้นตามไปด้วย”
อ้างอิง : Forbes https://shorturl.asia/kBg2h
โฆษณา