11 พ.ค. เวลา 03:02 • ประวัติศาสตร์

EP2/5 จุดเริ่มต้นและยุครุ่งเรืองของอาณาจักรพม่า

เมื่ออาณาจักรของชาวปยูเสื่อมสลาย ชนเผ่าพม่าที่อพยพมาจากตอนเหนือและตั้งถิ่นฐานบริเวณพม่าตอนบนตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 7-8 เริ่มมีอิทธิพลมากขึ้น จนกระทั่งปี พ.ศ.1392 "อาณาจักรพุกาม" จึงถือกำเนิดขึ้น นับว่าเป็นอาณาจักรแรกของชาวพม่า
1
ในช่วงแรกอาณาจักรพุกามไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากนัก จนถึงสมัยของ "พระเจ้าอโนรธา" ที่รวบรวมแผ่นดินพม่าได้สำเร็จ พุกามจึงกลายเป็นอาณาจักรที่เข้มแข็งที่สุดในดินแดนพม่ายุคนั้น
สิ่งที่บ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่ของพุกามคือ ระบบชลประทานที่ดีทำให้บริเวณนี้เป็นแหล่งปลูกข้าวขนาดใหญ่ มีกำลังทหารและแบบแผนการรบที่มีประสิทธิภาพ มีความเจริญรุ่งเรืองด้านศิลปวิทยาการ ก่อสร้างเจดีย์ขนาดใหญ่มากมาย
ที่มา http://www.nextsteptv.com/bagan-ดินแดนแห่งเจดีย์
ปี พ.ศ.1600 พระเจ้าอโนรธาได้รวมเอาอาณาจักรของชาวมอญเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพม่า ครอบครองทรัพย์สิน เมืองท่าสำคัญ รับวัฒนธรรมและพุทธศาสนาเถรวาทแบบมอญเข้ามาหลอมรวมกับอาณาจักรพุกามและชาวพม่า
การที่มอญเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรพุกามมีประโยชน์ต่อการรวมแผ่นดินและทำให้พุทธศาสนาเผยแผ่ไปทั่วอาณาจักร ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 17 ดินแดนสุวรรณภูมิเกือบทั้งหมดถูกครอบครองโดย 2 อาณาจักรเท่านั้นคือ อาณาจักรเขมรและอาณาจักรพุกาม
พุทธศตวรรษที่ 18 อาณาจักรพุกามเริ่มเสื่อมอำนาจลงและจักรวรรดิมองโกลเข้ารุกรานในปี พ.ศ.1820 จนในที่สุดปี พ.ศ.1840 อาณาจักรพุกามก็ล่มสลายและถูกยึดครองโดยมองโกล
หลังอาณาจักรพุกามล่มสลาย พม่าก็แยกออกจากกันเป็นอาณาจักรเล็กๆมากมาย ทำสงครามระหว่างกันเป็นระยะ จนภายหลังเกิดเป็น 2 อาณาจักรใหญ่คือ "อังวะ" ทางตอนกลางและ "หงสาวดี" ทางตอนใต้
อาณาจักรอังวะถูกสถาปนาขึ้นในปี พ.ศ.1907 โดยสืบทอดมาจากอาณาจักรเล็กๆหลังการล่มสลายของอาณาจักรพุกามคือ อาณาจักรมยีนไซ่ง์ อาณาจักรปี้นยะ และอาณาจักรซะไกง์ โดยทั้งหมดสืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์พุกามของชาวพม่า
ที่มา https://www.silpa-mag.com/history/article_40444
ทางตอนใต้ของพม่ามีอาณาจักรหงสาวดีของชาวมอญ ซึ่งมีอยู่ก่อนแล้วแต่กลับมาปกครองตนเองหลังอาณาจักรพุกามล่มสลาย จนในปี พ.ศ.1927–1964 "พระเจ้าราชาธิราช" ได้รวมอาณาจักรชาวมอญทั้งหมดเข้าเป็นหนึ่งเดียวและยังสามารถต้านทานการรุกรานของอังวะได้อีกด้วย
อาณาจักรหงสาวดีนั้นมีอำนาจมากที่สุดในกลุ่มอาณาจักรต่างๆหลังการล่มสลายของพุกาม แม้แต่อาณาจักรอังวะเองก็เสื่อมถอยลงหลังสงคราม 40 ปีกับหงสาวดีในปี พ.ศ. 1928–1967
ที่มา https://www.dooasia.com/info-myanmar/
ความอ่อนแอของอาณาจักรอังวะทำให้เกิดกบฏภายในและเมืองต่างๆโดยรอบก็ประกาศอิสรภาพ เช่น เมืองแปรทางใต้, รัฐฉานทางเหนือและตองอูทางตะวันออก ทำให้อังวะตกอยู่ในวงล้อมของศัตรู
อย่างไรก็ตามทั้งอาณาจักรหงสาวดีและอาณาจักรอังวะก็ถูกรุกรานโดยชาวพม่านั่นคือ "อาณาจักรตองอู" ที่มีความเข็มแข็งมากขึ้นหลังแยกตัวออกจากอังวะ จนในที่สุด "พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้" ได้รวบรวมทั้ง 2 อาณาจักรและอาณาจักรอื่นๆไว้ได้ทั้งทางเหนือและใต้ในช่วงที่ทรงครองราชย์ ปี พ.ศ. 2074 –2093
อาณาจักรตองอูได้ย้ายเมืองหลวงลงมาที่หงสาวดีเมืองเก่าของมอญทำให้การค้าขายเจริญรุ่งเรืองมาก เพราะในเวลานั้นอิทธิพลของพ่อค้าชาวโปรตุเกสเริ่มเข้ามาในบริเวณนี้ทำให้พม่ากลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญ
ที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/ราชวงศ์ตองอู
ปี พ.ศ.2094 "พระเจ้าบุเรงนอง" ขึ้นครองราชย์และได้เข้าครอบครองอาณาจักรและหัวเมืองใหญ่มากมาย เช่น มณีปุระ, เชียงใหม่, ฉาน, ล้านช้าง, กัมพุช และอยุธยา ทำให้ในยุคนี้พม่ามีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล ครอบคลุมตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำอิรวดี เจ้าพระยา ไปจนถึงลุ่มน้ำโขงในลาว จนพระเจ้าบุเรงนองได้รับการขนานนามว่า "พระเจ้าชนะสิบทิศ"
โฆษณา