14 มิ.ย. เวลา 07:08 • ประวัติศาสตร์

EP5/5 พม่าภายใต้อำนาจเผด็จการทหาร

หลังสถาปนาสหภาพพม่า รัฐบาลพลเรือนก็มีปัญหามากมายและขาดเสถียรภาพเนื่องจากความขัดแย้งภายในรัฐบาลเอง และยังขัดแย้งกับกลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์ ขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อยมุสลิมในรัฐยะไข่และชาวกะเหรี่ยงที่ต้องการสร้างรัฐอิสระ
อูนุจึงเชิญ "นายพลเนวีน" เข้ามาจัดตั้งรัฐบาลเพื่อทำให้สถานการณ์มั่นคงขึ้น ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2503 และอูนุได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง แต่ก็สงบอยู่ได้ไม่นาน เมื่อเจ้าส่วยแต้กซึ่งเป็นประธานาธิบดีในขณะนั้นพยายามเรียกร้องสิทธิถอนตัวของรัฐฉานจากสหภาพพม่าแต่ก็ไม่เป็นผล
ในที่สุดนายพลเนวีนก็ทำการรัฐประหารในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2505 ส่งผลให้ อูนุ นักการเมืองหลายคน และผู้นำชาติพันธุ์ถูกจับกุม ส่วนเจ้าส่วยแต้กถูกยิงเสียชีวิต หลังจากนั้นพม่าก็ถูกปกครองโดยระบอบเผด็จการทหาร
นายพลเนวีน (ที่มา https://www.nationtv.tv/news/378814840)
การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น เกิดปัญหาเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อ การขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค โดยรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ขณะเดียวกันประชาชนก็ไม่สามารถแสดงออกทางการเมืองได้เลย
ปี พ.ศ.2531 เกิดการประท้วงโดยนักศึกษาในย่างกุ้งหลายครั้ง รัฐบาลทหารพม่าก็ปราบปรามอย่างรุนแรงด้วยอาวุธเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แม้ต่อมานายพลเนวีนจะประกาศลาออกจากตำแหน่งแต่ก็ไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นและยังคงใช้ความรุนแรงกับผู้ประท้วงต่อไป
วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2531 นักศึกษา ประชาชน และพระสงฆ์ มากกว่า 1 ล้านคน พร้อมใจกันหยุดงานประท้วงทั่วประเทศหรือที่รู้จักกันในเหตุการณ์ "การก่อการปฏิวัติ 8888" นายพลเส่ง ลวิน ประธานาธิบดีที่รับช่วงต่อจากนายพลเนวีนก็ยังสั่งให้ปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างเด็ดขาดเช่นเดิม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 4,000 คน
ที่มา https://waymagazine.org/8888-uprising-novel/ และ https://www.prachachat.net/world-news/news-605366
ต่อมานายพลเส่ง ลวิน ยอมลาออก มีการยกเลิกกฎอัยการศึก แต่สถานการณ์ก็ไม่ดีขึ้น เกิดการปล้นสะดมในเมือง นักโทษจากเรือนจำถูกปล่อยตัว ผู้คนหวาดระแวงกับข่าวลือต่างๆ จนในที่สุดทหารก็กลับเข้ามายึดอำนาจอีกครั้งด้วยข้ออ้างว่าเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย
ปี พ.ศ.2553 พม่าเริ่มมีสัญญาณที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นหลังมีการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้ง แม้จะพบการทุจริตอย่างกว้างขวางและพรรคที่กองทัพสนับสนุนได้เป็นรัฐบาล
พม่าเริ่มมีการปฏิรูปประเทศ เปิดการค้า ปล่อยตัวนักโทษการเมืองหลายคนรวมถึง "อองซานซูจี" ผู้นำฝ่ายประชาธิปไตย และประชาชนก็สามารถแสดงออกทางการเมืองได้มากขึ้น
ที่มา https://mgronline.com/indochina/detail/9550000028730
การเลือกตั้งในครั้งต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2558 ชัยชนะกลับเป็นของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยแต่อองซานซูจีผู้นำพรรคไม่ได้เป็นประธานาธิบดีเพราะข้อห้ามในรัฐธรรมนูญ แต่อองซานซูจีก็ยังมีบทบาทสำคัญในรัฐบาลในฐานะที่ปรึกษาของรัฐ
ปี พ.ศ.2563 พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของอองซานซูจีชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย แต่ฝั่งกองทัพปฏิเสธผลเลือกตั้งแม้ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจะไม่พบสิ่งผิดปกติที่สำคัญ
ที่มา https://thaipublica.org/2015/11/varakorn-133/
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 กองทัพพม่านำโดยพลเอกอาวุโส "มิน อ่อง หล่าย" เข้ายึดอำนาจในวันประชุมรัฐสภา และประกาศภาวะฉุกเฉิน อองซานซูจี และประธานาธิบดี วี่น-มหยิ่น ถูกควบคุมตัว สมาชิกรัฐสภาหลายคนถูกขับออกจากกรุงเนปิดอว์
เกิดการประท้วงของประชาชนในย่างกุ้งและเมืองใหญ่ กองทัพเข้าปราบปรามด้วยความรุนแรงจนมีผู้คนล้มตาย นานาชาติต่างประณามผู้นำทหาร แต่การเข่นฆ่าก็ยังคงดำเนินต่อไป
ที่มา https://www.thaipost.net/main/detail/94502, https://www.thairath.co.th/scoop/world/2028427, https://mgronline.com/indochina/detail/9640000010673
ปัจจุบันประชาชนยังคงลุกขึ้นมาต่อต้านทั้งโดยสันติและบางพวกก็จับอาวุธขึ้นสู้เกิดเป็นฝ่ายต่อต้านหลายกลุ่มรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความขัดแย้งมาแต่เดิม ยิ่งทำให้สถานการณ์ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และยังไม่อาจประเมินได้ว่าความขัดแย้งนี้จะจบลงอย่างไร
กองทัพและฝ่ายต่อต้านจะจับมือกันและกลับมาเลือกตั้งอีกครั้ง หรือฝ่ายต่อต้านโค่นล้มทหารและนำไปสู่การสร้างสหพันธรัฐเหมือนที่กลุ่มชาติพันธุ์หวัง หรือฝ่ายทหารจะปราบปรามฝ่ายต่อต้านได้ทั้งหมดและกลับมารวบอำนาจอีกครั้ง
โฆษณา