4 ปีที่ผ่านมาในภาคไอดีเรียนอะไรมาบ้าง

ไอดีจุฬา (ID CU) หรือภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเป็นภาควิชาที่มีการเรียนหลากหลายรูปแบบให้ได้เลือกสรร เรียกได้ว่าเป็นการเรียนออกแบบเกือบทุกอย่าง ยกเว้นสถาปัตยกรรม มาดูกันว่าเราผ่านอะไรมาบ้าง
- ปีหนึ่ง ปีแห่งการเป็นเฟรชชี่น้องใหม่ เป็นปีแห่งการปรับตัวจากมัธยมสู่มหาวิทยาลัย ในภาคเรียนแรกคือช่วงที่ทุกคนต้องทำความเข้าใจในการออกแบบ และรับมือกับการตรวจแบบโดยอาจารย์ที่แตกต่างไปจากสมัยมัธยมโดยสิ้นเชิง โดยจะเริ่มเรียนจากพื้นฐานคือ วิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ เรียนรู้วัสดุท้องถิ่นชนิดต่าง ๆ การศึกษากระบวนการออกแบบ การออกแบบสองมิติ การเขียนแบบแปลน และการเขียนแบบสามมิติ และที่สำคัญคือวิชาวาดภาพ ที่ทุกคนต้องวาดรูปเพื่อถ่ายทอดความคิดเป็นภาพสองมิติได้ ทำให้คนอื่นสามารถเข้าใจ
งานออกแบบของเราได้
ถัดมาในภาคเรียนที่สอง บางวิชาจะมีเนื้อหาต่อจากภาคเรียนแรก เช่น การเรียนรู้วัสดุในระดับอุตสาหกรรม การออกแบบสามมิติ การออกแบบพื้นผิว และช่วงเวลาที่ตื่นเต้นที่สุด คือการได้เข้าห้องช็อปไปเรียนรู้วิธีการขึ้นรูปด้วยวัสดุและวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ไม้ โฟม ปูนปลาสเตอร์ อะคริลิก เรซิน ฯลฯ ซึ่งทุกคนจะได้มีชิ้นงานเป็นของตนเอง
- ในช่วงปีสอง การเรียนจะเริ่มเข้มข้นขึ้น อย่างวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ที่เข้าสู่ยุคใหม่ มีความเป็นยุคปัจจุบันมากขึ้น เปิดให้มีการให้ถกเถียง พูดคุย แสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นทางศิลปะและการออกแบบในคาบเรียน
นอกเหนือไปจากภาคทฤษฎี การเรียนออกแบบในภาคเรียนนี้ยังก้าวไปถึงการออกแบบสี่มิติ เป็นการออกแบบความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุ มนุษย์ เวลา และบริบทแวดล้อม การเรียนออกแบบสี่มิติยังมีการใช้เทคโนโลยีร่วมมากขึ้น เช่น การทำแอปพลิเคชัน การออกแบบประสบการณ์ การออกแบบรูปทรงโดยคำนึงถึงความสวยงามและประโยชน์ใช้สอย
ในภาคเรียนที่สอง การเรียนจะนำไปสู่ความเข้าใจเฉพาะทาง อย่างการเข้าใจสรีระ ขนาด สัดส่วน และพฤติกรรมของมนุษย์ เพื่อให้เราออกแบบผลงานได้ดีขึ้น อีกทั้งยังได้ทำโปรเจกต์ในวิชา Space and Time Design ซึ่งเป็นการออกแบบพื้นที่เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ให้ผู้ใช้งาน ถือว่าเป็นโปรเจกต์ที่ใหญ่มากสำหรับนิสิตปีสอง สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ ในภาคเรียนนี้และต่อ ๆ ไป เราสามารถเลือกวิชา Area Focus หรือวิชาเลือกที่สนใจได้ เช่น Ceramic, Graphic, UXUI, Style and Temporary Space design และอื่น ๆ ตามความสนใจของนิสิตแต่ละคน
โฆษณา