6 พ.ค. เวลา 11:32 • ประวัติศาสตร์

เช็กชื่อและที่มา รพ.ประจำจังหวัด แต่กลับไม่มีชื่อ "จังหวัด" เป็นชื่อ รพ.

ในระบบสาธารณสุขของประเทศไทย แต่ละพื้นที่จะมีโรงพยาบาลประจำอำเภอหรือโรงพยาบาลประจำจังหวัด ซึ่งมักจะใช้ชื่ออำเภอหรือชื่อจังหวัดมาเป็นชื่อโรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลขอนแก่น โรงพยาบาลแพร่ เป็นต้น
โดยโรงพยาบาลระดับจังหวัดมีทั้งโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป ที่จะมีศักยภาพในการรับส่งต่อผู้ป่วยในจังหวัดนั้นมาดูแล หรือหากเป็นระดับโรงพยาบาลศูนย์ก็อาจจะรับผู้ป่วยจากจังหวัดใกล้เคียงมาดูแลด้วย
แต่โรงพยาบาลประจำจังหวัดบางแห่งกลับไม่ได้ใช้ชื่อ "จังหวัด" มาตั้งเป็นชื่อโรงพยาบาล โดยพบว่ามีอยู่ถึง 13 แห่ง ส่วนจะมีโรงพยาบาลอะไรอยู่จังหวัดไหนบ้าง แล้วทำไมถึงไม่ได้ใช้ชื่อจังหวัดเป็นชื่อโรงพยาบาล มาเช็กชื่อกันดูเลยว่าใช่อย่างที่คุณรู้กันหรือเปล่า
1.โรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่
เมื่อปี 2484 รัฐบาลก่อสร้าง รพ.ประจำจังหวัดเชียงใหม่ บริเวณด้านนอกประตูสวนดอก ชื่อ "รพ.นครเชียงใหม่" ต่อมาปี 2503 รัฐบาลจัดตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงโอนกิจการ รพ.นครเชียงใหม่ ไปสังกัดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น "รพ.มหาราชนครเชียงใหม่"
ทำให้ จ.เชียงใหม่ไม่มี รพ.ประจำจังหวัดภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุขนานกว่า 20 ปี จนปี 2523 กระทรวงสาธารณสุขก่อสร้าง รพ.ประจำจังหวัดแห่งใหม่ขึ้น ตั้งอยู่ที่ ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ชื่อ "รพ.เชียงใหม่"
ก่อนที่ รพ.เชียงใหม่ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "รพ.นครพิงค์" เพื่อลดความสับสนกับ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2533
2.โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จเยือนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทรงเห็นโรงพยาบาลมีสภาพคับแคบทรุดโทรม จึงทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ และทรงสนับสนุนการก่อสร้างโรงพยาบาลประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอนแห่งใหม่ ซึ่งได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ว่า "โรงพยาบาลศรีสังวาลย์" ตามพระนามาภิไธยของสมเด็จพระบรมราชชนนี
3.โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จังหวัดนครสวรรค์
เดิมเป็นสุขศาลาของสุขาภิบาลเมืองนครสวรรค์เมื่อปี 2474 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลเทศบาลเมืองนครสวรรค์ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดอำเภอใหม่เป็นเทศบาล ต่อมาปี 2493 กระทรวงสาธารณสุขเข้าดำเนินงานของโรงพยาบาลในพื้นที่ส่วนภูมิภาคจากกระทรวงมหาดไทย และได้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงพยาบาลเมืองนครสวรรค์"
กระทั่งปี 2508 โรงพยาบาลได้รับเงินทุนเพื่อขยายโรงพยาบาลและจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ใหม่ ต่อมาปี 2513 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เปิดและพระราชทานนามว่า "โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์"
4.โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จังหวัดนนทบุรี
เดิมชื่อโรงพยาบาลนนทบุรี เปิดให้บริการวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2500 ก่อนที่ปี 2532 ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า" เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระราชชนนีสมเด็จพระศรีสุลาลัยเป็นชาวจังหวัดนนทบุรี
5.โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช จังหวัดลพบุรี
เดิมชื่อโรงพยาบาลลพบุรี โดยวันที่ 18 กันยายน 2552 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ เป็น “โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช” เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ผู้ทรงสร้างเมืองลพบุรีให้เป็นราชธานีแห่งที่ 2
อีกทั้งทรงเป็นผู้นำวิทยาการสมัยใหม่และความเจริญด้านต่างๆ เกือบทุกด้านมาสู่ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนวดไทย โดยมีการผสมผสานการรักษาด้วยแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนตะวันตก ปรากฏอยู่ในหลักฐานตำรา “พระโอสถพระนารายณ์” เป็นตำรายา 81 ตำรับ มีตัวยาปรากฏในตำรามากกว่า 300 ชนิด
6.โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรี
โรงพยาบาลแห่งนี้ไม่ได้มีชื่อเดิมว่า โรงพยาบาลกาญจนบุรี แต่อย่างใด แต่ใช้ชื่อ "โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา" มาตั้งแต่แรก สร้างขึ้นโดยกระทรวงมหาดไทย ตามมติของคณะรัฐมนตรี และเชิญชวนข้าราชการ ประชาชนทั่วประเทศ ให้มีส่วนร่วมบริจาคเงินสมทบเพื่อจัดสร้างโรงพยาบาลและอนุสาวรีย์ของพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาไว้เป็นอนุสรณ์ ทำพิธีเปิดฉลองเมื่อวันที่  3 – 5  พฤษภาคม พ.ศ. 2496
7.โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จังหวัดสุพรรณบุรี
โรงพยาบาลแห่งนี้ก็ไม่ได้ใช้ชื่อโรงพยาบาลสุพรรณบุรีมาก่อนเช่นกัน แต่เป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดสุพรรณบุรี โดยตามประวัติของโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช พบว่า ปี 2469 ท่านเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ได้บริจาคเงินจำนวนเงิน 40,000 บาท สร้างอาคารเจ้าพระยายมราชบริเวณใกล้เทศบาลเมืองสุพรรณบุรีในปัจจุบัน โดยหันไปทางแม่น้ำท่าจีน โดยด้านหลังเป็นถนนจึงรับบริการได้เป็นอย่างดีทางน้ำและทางบก
ได้รับการยกฐานะเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด  เมื่อปี 2478 ก่อนที่ได้รับการยกฐานะเป็นโรงพยาบาลศูนย์ประจำจังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อปี 2539 โดยมีการขยายหอผู้ป่วยและบริการอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา
8.โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี
เดิมชื่อโรงพยาบาลเพชรบุรี ก่อสร้างในปี 2491 ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้อัญเชิญพระนามาภิไธย ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นชื่อโรงพยาบาล ว่า “โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี” เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2532
9.โรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า จังหวัดสมุทรสงคราม
เดิมคือ โรงพยาบาลสมุทรสงคราม ต่อมาในปีงบประมาณ 2539 ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต พระราชทานพระปรมาภิไธยของรัชกาลที่ 2 ให้ใช้ชื่อของโรงพยาบาลเป็น "โรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า" เพื่อเป็นสิริมงคลแก่เจ้าหน้าที่และประชาชนจังหวัดสมุทรสงคราม
10.โรงพยาบาลพุทธโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา
เดิมปี 2478 เป็นสถานีอนามัยริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง ต่อมาปี 2482 ยกระดับเป็นรงพยาบาล ชื่อโรงพยาบาลเมืองฉะเชิงเทรา หลังโอนย้ายไปสังกัดกรมการแพทย์ และย้ายมาสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการพัฒนาศักยภาพและบริการเรื่อยมา เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2554 โรงพยาบาลได้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงพยาบาลพุทธโสธร" เพื่อแสดงความเคารพสักการะ "หลวงพ่อพุทธโสธร" ซึ่งเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา
11.โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี
ปี 2452 ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้ถูกสร้างขึ้นจากเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ด้วยประสงค์จะใช้เป็นที่ประทับ รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสที่เสด็จประพาสเมืองปราจีนบุรี แต่สวรรคตเสียก่อน ตึกหลังนี้จึงได้รับใช้รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
จากนั้นตึกหลังนี้เป็นมรดกตกทอดมาเป็นของพระยา อภัยวงศ์วรเชษฐ (ช่วง อภัยวงศ์) ต่อมาพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ซึ่งเป็นหลานของพระยาอภัยวงศ์วรเชษฐ ได้กรรมสิทธิ์จึงได้ประทานตึกหลังนี้แก่มณฑลทหารบกที่ 2 ตั้งเป็นสถานพยาบาล ต่อมาทางจังหวัดปราจีนบุรีขอโอนมาเปิดใช้เป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดใช้ชื่อว่า “โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร” เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2509
12.โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี
เดิมคือ "โรงพยาบาลจันทบุรี" เปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2483 ต่อมาปี 2497 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นการถาวร ทรงริเริ่มขยายโรงพยาบาลเพิ่มเติมทั้งการก่อสร้าง "ตึกประชาธิปก" ให้เป็นตึกผ่าตัดที่ทันสมัย การจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ต่างๆ คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบขยายโรงพยาบาลจากขนาด 50 เตียง เป็น 150 เตียง การก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2498 และคณะรัฐมนตรีมีมติให้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลพระปกเกล้า” เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
13.โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี
เดิมชื่อ "โรงพยาบาลอุบลราชธานี" ก่อสร้างเมื่อปี 2478 โดยหม่อมเจ้าอุปลีสานชุมพล ได้ประทานที่ดินของพระองค์แปลงหนึ่ง ที่สวนโนนดง มีเนื้อที่ 27 ไร่ มีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นที่ตั้งโรงพยาบาลประจำจังหวัดเท่านั้น เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ พระบิดาของพระองค์ ประกอบกับในช่วงเวลานั้น พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายที่จะสร้างโรงพยาบาลในจังหวัดชายแดนภาคอีสาน ที่อยู่ติดต่อกับลาว
กระทรวงมหาดไทย ได้รับอนุมัติงบประมาณ มาใช้ในการก่อสร้างโรงพยาบาลและให้กรมราชทัณฑ์เป็นผู้รับเหมาในการก่อสร้าง เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2478 เปิดทำการเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2479 และได้มีการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ในภายหลัง
นอกจากนี้ ยังมีโรงพยาบาลจังหวัดบางแห่งที่มีคำอื่นมาเติมหน้าหรือต่อท้ายที่เป็นชื่อจังหวัดอีกด้วย 10 แห่ง ได้แก่
1.โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จังหวัดเชียงราย
โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ มีคำว่า "ประชานุเคราะห์" ต่อท้าย เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจัดสร้างจากประชาชน โดยปี 2479 คุณพระพนมนครารักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย มีดำริที่จะสร้างโรงพยาบาลประจำจังหวัด คหบดี คุณพ่อสีห์ศักดิ์ และคุณแม่กิมเฮียะ โตไพบูลย์ ได้บริจาคที่ดินจำนวน 19 ไร่ ประชาชนซึ่งมีที่ดินข้างเคียงร่วมบริจาค และได้ขอความเห็นชอบจากกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการก่อสร้าง โดยได้รับเงินสนับสนุนเงินบริจาคจากประชาชนในจังหวัดเชียงราย เปิดโรงพยาบาลในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2480
2.โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดตาก
เดิมคือโรงพยาบาลตาก ก่อสร้างเดือนพฤศจิกายน 2482 เปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2487 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2527 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
3.โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก
เดิมชื่อ "โรงพยาบาลพิษณุโลก" แต่ พ.อ.หลวงยุทธสารประสิทธ์ ข้าหลวงประจำจังหวัดคนเดิมที่ดำริให้จัดตั้งโรงพยาบาลได้ขอให้เพิ่มคำว่า "พุทธชินราช" ขึ้นนำหน้าเพื่อเป็นสิริมงคล ดังนั้น จึงมีชื่อเป็นทางการว่า "โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก" เปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2485
4.โรงพยาบาลชัยนาทนเรนทร จังหวัดชัยนาท
เดิมชื่อโรงพยาบาล โดยปี 2552 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญพระนามสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร เป็นชื่อโรงพยาบาล ว่า "โรงพยาบาลชัยนาทนเรนทร" ตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2552
5.โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว
โครงการก่อสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเริ่มขึ้นในปี 2520 เพื่อเป็นโรงพยาบาลอำเภอ ในท้องถิ่นทุรกันดาร 20 แห่ง ทั่วทุกภาคของประเทศ เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นของขวัญแด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในโอกาสพระราชพิธีอภิเษกสมรส 3 มกราคม 2520 ซึ่งโรงพยาบาลอำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดปราจีนบุรี ได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว แต่เมื่อมีการแยกสระแก้วออกมาเป็นจังหวัด ทำให้โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว เป็นโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชแห่งแรกที่ยกฐานะเป็นโรงพยาบาลระดับจังหวัด
6.โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา
เดิมคือโรงพยาบาลสวนหม่อน เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2478 ได้โอนกิจการไปสังกัดเทศบาลเมืองนครราชสีมา มีชื่อว่า "โรงพยาบาลเทศบาลเมืองนครราชสีมา" เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2497 โอนกิจการไปสังกัดกรมการแพทย์ มีชื่อใหม่ว่า "โรงพยาบาลเมืองนครราชสีมา" จัดเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด และปี 2517 ได้รับการพิจารณาให้จัดตั้งเป็นโรงพยาบาลศูนย์แห่งหนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 5 กันยายน 2524 เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จึงขอพระราชทานชื่อเป็น "โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา"
7.โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร
เดิมชื่อ "โรงพยาบาลชุมพร" ก่อตั้งปี 2495 โดยเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2545 ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ใช้ชื่อว่า " โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ “ เพื่อน้อมรำลึกและเทิดพระเกียรติ พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่ทรงผูกพันกับจังหวัดชุมพร
8.โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
เดิมชื่อ "โรงพยาบาลนครศรีธรรมราช" ก่อสร้างในปี 2495  ต่อมาปี 2521 คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงสาธารณสุข เร่งสร้างโรงพยาบาลศูนย์ขนาด 1,000 เตียง ประจำภาคต่างๆ ของประเทศ และขอพระราชทานนามว่า "โรงพยาบาลมหาราช" เพื่อเฉลิมฉลองพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสครบ 200 ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งโรงพยาบาลนครศรีธรรมราชได้รับการคัดเลือกเป็น "โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช"
9.โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
เดิมคือ "โรงพยาบาลสุขาภิบาล" ภายใต้การบริหารของมณฑลเทศาภิบาลภูเก็ต ปี 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการให้สร้างโรงพยาบาลที่ใหม่และกว้างขวางกว่าเดิม ได้รับการตั้งชื่อว่า "วชิระพยาบาล" ตามพระนามพระมหากษัตริย์ เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2463 การจัดการได้รับความช่วยเหลือจากคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ต่อมาได้ตั้งชื่อโรงพยาบาลนี้ว่า "โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต" เพื่อป้องกันความสับสนกับ "วชิรพยาบาล" ที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร
10.โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส
เดิมชื่อโรงพยาบาลนราธิวาส ครั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอิสริยศักดิ์ขึ้นเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายในเป็น กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลจึงประสานไปยังกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขออนุญาตกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระนามใหม่ของโรงพยาบาล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์" เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540
โฆษณา