7 พ.ค. เวลา 02:10 • ประวัติศาสตร์
เส้นทางรถไฟสายมรณะ

สถานีและช่องตัด Konyu คันยู ชื่อนี้ได้แต่ใดมา?

สถานี Konyu คอนยู กิโลเมตรที่ 161.400 นับจากสถานีหนองปลาดุก
Konyu ที่มีเสียงเพี้ยนมาจากคำว่าหาดงิ้ว
เสียงคำว่าหาดงิ้วนั้นทหารญี่ปุ่นไม่สามารถออกเสียงได้ จึงเพี้ยนไป
เป็น カンニュウ Cannyu
เชลยศึกชาติตะวันตก ก็ได้เรียกตามทหารญี่ปุ่นว่า Konyu, Kanyu
แผนผังสถานีหาดงิ้ว
ซึ่งในอดีตพื้นที่แถบนั้นมีชื่อหาดงิ้วอยู่ครับ
ที่มาของชื่อหาดงิ้วมาจาก หาดทรายฝั่งซ้ายของแม่น้ำแควในช่วงบริเวณบ้านหาดงิ้ว
ในอดีต สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า ตามเสด็จรัชกาลที่ 5 ในการประพาสไทรโยคครั้งที่ 2 ได้มีการบันทึก เป็น กลอนไดเอรี ซึมทราบกับตามเสด็จไทรโยค
กลอนไดอารีซึมทราบกับตามเสด็จไทรโยค จากห้องสมุดวชิรญาณ
เขียนเป็นบทกลอนถึงเรื่องหาดงิ้วว่า
ต่อไปมีเกาะแก่งทั้งแอ่งห้วย
ชื่องิ้วด้วยกันทั้งหมดจดเปนแถว
ไม่เห็นต้นสิมพลีมีวี่แวว
จนคลาศแคล้วไปพ้นตำบลนี้
สิมพลี (อ่าน สิม-พะ- ลี) แปลว่า ต้นงิ้ว
งิ้วเป็นต้นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ อาจสูงได้ถึง 25 เมตร ลำต้นตลอดจนกิ่งก้านมีหนามแหลมคม ใบประกอบด้วยใบย่อย 5-7 ใบ เปลือกหนาสีเทา ดอกสีแดงหรือแสดแดง ดอกบานในฤดูร้อน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม
ผลของงิ้วคล้ายผลนุ่น เปลือกสีน้ำตาลยาวราว 15 เซนติเมตร แบ่งเป็น 5 พู ภายในมีปุยละเอียดเช่นเดียวกับปุยนุ่น มีเมล็ดสีดำมากมาย ชื่อทางพฤกษศาสตร์ของงิ้ว คือ Bombax malabaricum DC. ภาษาอังกฤษเรียก Silk cotton tree ชาวไทยเรียก งิ้ว งิ้วบ้าน งิ้วปง หรือปองิ้ว (ข้อมูลจาก เวปหมอชาวบ้าน)
ต้นงิ้ว อ้างอิงจาก ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
แปลความในกลอนได้ดังนี้
เมื่อมาถึงบริเวณ ที่มีทั้งเกาะ แก่ง ลำห้วย ล้วนตั้งชื่อต้นงิ้ว ทั้งหมด
แต่เมื่อดูในบริเวณนี้กลับไม่มีต้นงิ้วให้เห็นเลย จนขบวนเรือล่วงเลยจากบริเวณดังกล่าวก็ยังคงไม่เห็นต้นงิ้ว
แต่สถานีหาดงิ้วไม่ได้อยู่ใกล้กับตัวหาดงิ้วจริงๆ แต่อยู่ไกลออกไปหลายกิโลเมตร ซึ่งสถานีหาดงิ้วเชื่อว่าน่าจะอยู่ไม่ไกลจากโรงแรมมันตรา รีสอร์ทมากนัก
และชื่อหาดงิ้วหรือ Konyu ยังถูกเอาไปตั้งเป็นชื่อของช่องเขาขาด หรือช่องไฟนรก ที่มีชื่อเรียกที่เรียกว่า Konyu cutting ช่องหาดงิ้วหรือช่องตัดหาดงิ้ว
ภาพ Then and now ของช่องเขาขาด หรือช่องหาดงิ้ว
ภาพแผนที่ระบุท่าหาดงิ้ว
วัดหาดงิ้วในปัจจุบัน
จริงๆแล้วคำว่า Konyu นี้สร้างความสงสัยมาให้ผมตลอด ตั้งแต่ที่ศึกษาเรื่องเส้นทางรถไฟสายมรณะใหม่ๆ
ในหนังสือหลายๆเล่มของไทย ส่วนใหญ่จะเขียนทับศัพย์ไปเลยว่าสถานีคอนยู หรือคันยู
ปัจจุบันหนังสือไทยแทบทั้งหมดก็ยังเขียนในลักษณะแบบนี้
ซึ่งเอาเข้าจริงมันสร้างความสับสนให้กับคนไทยที่อ่านครับ เพราะถ้าเราไปถามหาสถานที่ที่ชื่อคอนยู Konyu กับคนในพื้นที่ เขาก็คงจะ งง งง
แต่เมื่อเราบอกว่าหาดงิ้ว ใครๆในพื้นที่ย่อมรู้จักดี
ด้วยความสงสัยเรื่องชื่อสถานี Konyu ว่าจริงแล้วชื่อนี้มันมาจากอะไรกันแน่ จึงเป็นที่มาของความพยายามในการตามหาประวัติที่มาของชื่อสถานีต่างๆบนเส้นทางรถไฟสายมรณะของผมครับ
โฆษณา