7 พ.ค. เวลา 05:26

เอเชียแปซิฟิกรับจบ ‘โลกเดือด’ พาคนตกงาน เด็กพลาดโอกาสการศึกษา

เราจะ (ร้อน) ตายกันหมด! ประเด็นที่ไม่พูดถึงไม่ได้ในตอนนี้คือระดับความร้อนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างประเทศไทยเองก็พุ่งสูงมากกว่า 42 องศา ขณะเดียวกันประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์ก็ต้องเผชิญอุณหภูมิเฉียด 50 องศา ชวนให้ตั้งคำถามว่ามนุษยชาติจะมีชีวิตผ่านพ้นหน้าร้อนนี้ไปได้หรือไม่
“ภาวะโลกเดือด” คือนามของปรากฏการณ์ผิดธรรมชาติที่กำลังส่งผลกระทบรุนแรงต่อชีวิตบนพื้นโลก โดยเฉพาะพื้นทวีปเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ตั้งอยู่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตรมากกว่าภูมิภาคอื่น หลายคนคงได้สัมผัสถึงความโหดร้ายของมันผ่านความอบอ้าวและเหงื่อบนผิว ไปจนถึงตัวเลขบนบิลค่าไฟที่พุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัว
ทว่าผลกระทบเหล่านั้นยังเป็นแค่ส่วนเดียวเท่านั้น ยังไม่ต้องพูดถึงผลกระทบกับ ‘ธรรมชาติ’ อย่างสัตว์ป่า แมลงตัวเล็กตัวน้อย แมวสุนัขจรจัด หรือทะเล ปะการังจนถึงภูเขาป่าไม้ ที่ฟังดูแล้วไกลตัวเกินกว่าจะนึกภาพเห็น เพราะหายนะที่แท้จริงจาก “เอลนีโญ” อาจเป็นภัยคุกคาม ‘เรื้อรัง’ ที่ใกล้ตัวคนทำงาน เยาวชนและสังคมภาพรวมมากกว่าที่คิด
ร้อนนี้เราจะตายกันหมด อาจไม่ใช่คำพูดเกินจริง
นอกจากภัยเฝ้าระวังที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุหรือกลุ่มคนทำงานกลางแจ้งอย่าง “ฮีตสโตรก” (Heat Stroke) แล้ว ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยการเสียชีวิตที่หลายคนคิดไม่ถึง กำลังก่อตัวเป็นภัยเงียบอยู่ภายในมุมมืดรอวันปะทุและกวาดล้างอนาคตของมนุษยชาติไปพร้อมกัน นั่นคือ “ความยากจน” (Poverty)
ความร้อนกับความจนเกี่ยวข้องกันอย่างไร? หากมองเพียงผลกระทบขั้นต้นก็คงจินตนาการความเชื่อมโยงของสองวิกฤตนี้ไม่ออก ทว่าจากรายงานของ UNDP แสดงให้เห็นแนวโน้มวิกฤตเศรษฐกิจและสังคมที่กำลังจะล้มเป็นโดมิโนของเอเชียแปซิฟิก สวนทางกับความรุ่งเรืองในช่วงเวลาที่ผ่านมา
ย้อนกลับไปช่วงก่อนหน้าการระบาดของโควิด-19 การเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียแปซิฟิกพุ่งทะยานจนสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนกว่า 1.5 พันล้านคนจนหลุดออกจากภาวะยากไร้หรือยากจนขั้นรุนแรง
ฟังดูเป็นผลลัพธ์ที่สวยงามแต่เบื้องหลังของการเติบโตก้าวกระโดดนั้นต้องอาศัยพลังงานฟอสซิลมหาศาล นับเป็นร้อยละ 85 ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น การผลิตกระแสไฟฟ้า กระบวนการขยายเส้นทางคมนาคมและการขยายเมือง โครงการสร้างรถไฟฟ้า เป็นต้น
นั่นเองคือจุดเริ่มต้นของหายนะที่เติบโตมาพร้อมเศรษฐกิจ แม้ว่าพลังงานที่ใช้จะมีส่วนเสริมภาวะเรือนกระจกและสาเหตุของภาวะโลกเดือดเพียง 0.01 เปอร์เซ็นต์ของทั่วโลก แต่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกลับเป็นพื้นที่แรกๆ ที่ต้องรับผลกระทบโดยตรงจากภัยธรรมชาติจากการแปรปรวนของสภาพอากาศ
ไม่เพียงแต่ภัยพิบัติโดยตรงอย่างแผ่นดินไหว ความร้อนจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพหรือผลผลิตทางการเกษตร ประมง ปศุสัตว์แปรปรวน แต่ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ภายใน 25 ปีหน้า สูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงประชากรในเอเชียแปซิฟิกยังมีแนวโน้มที่จะเกิดการโยกย้ายถิ่นฐานและการพลัดถิ่นเพื่อหนีอุปสรรคทางสภาพอากาศต่อสุขภาพ โอกาสการทำงานและต้นทุนทางสังคมเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
เพราะนอกจากจะต้องเป็นด่านหน้าในการรับมือกับภาวะโลกเดือดแล้ว ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่กำลังพึ่งพลังงานฟอสซิลในการสร้างความเติบโตยังต้องเผชิญหน้ากับแผนการรับมือทางสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกกำลังผลักดันอย่าง “เศรษฐกิจสีเขียว”
เพื่อปรับตัวให้สอดคล้องกับแผนการรับมือดังกล่าวอุตสาหกรรมจำนวนมากจึงต้องเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินงานและการใช้ทรัพยากร ส่งผลมาถึงคนทำงานในอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิลที่มีโอกาสตกงานเฉียบพลันและโอกาสในการหางานน้อยลงหากไม่สามารถปรับตัวเข้ากับความต้องการ “ทักษะสีเขียว” ของตลาดได้ทันท่วงที
ฟังดูเหมือนคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจและใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมจะสามารถก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงทางสังคมนี้ไปได้อย่างสบายๆ ทว่าหากพิจารณาค่าตอบแทนในอุตสาหกรรมสีเขียวจะต้องพบกับกำแพงที่ว่า “หากมัวแต่รักษ์โลกก็อาจเอาตัวไม่รอด” กล่าวคือองค์กรสีเขียวจำนวนมากมีงบประมาณค่าตอบแทนที่ค่อนข้างไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพในปัจจุบันนั่นเอง
สำหรับคนทำงานแล้ว ณ ตอนนี้มองไปทางไหนก็เจอแต่หลุมหายนะที่เคลื่อนที่เข้ามาหาเราแบบรอบด้าน แม้จะพอหาทางออกได้บ้างแต่ก็ต้องเจอกับทางตันด้านหลังประตู แต่หายนะของมนุษยชาติยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะปัญหานี้ไม่ได้กระทบเพียงปัจจุบันแต่ยังกระทบไปถึง “อนาคตของชาติ” ด้วยเช่นกัน
อนาคตน่ะมีจริงไหม? เมื่อโลกเดือดทำลายโอกาสทางการศึกษา
เชื่อว่าหลายคงเคยได้ยินข่าวการปิดโรงเรียนเพื่อลดการเดินทางของนักเรียน นักศึกษาในบางประเทศอย่างซูดาน ฟิลิปปินส์ อินเดีย หรือบังกลาเทศ เมื่ออากาศพุ่งสูงเกิน 45 องศานำมาซึ่งผลกระทบต่อสุขภาพแบบทันตาเห็น ไม่ว่าจะเป็นไมเกรน ปวดหัวหรือปวดท้องเรื้อรัง การติดเชื้อในทางเดินอาหารเนื่องจากความยากในการเก็บรักษาอาหารท่ามกลางอุณหภูมิที่พร้อมต้มเราจนสุกไปพร้อมอาหารนั่นเอง
จากรายงานของ UN พบว่ามีเยาวชนจำนวนกว่า 243 ล้านคนในเอเชียแปซิฟิกต้องทนทุกข์กับภาวะโลกเดือด ไม่ว่าจะจากอาการข้างเคียงจากคลื่นความร้อนข้างต้น ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคร้ายแรงจากความร้อน ไปจนถึงการเสียชีวิตจากอากาศร้อน
นอกจากเยาวชนเหล่านี้จะไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับวัฒนธรรมการอวดเสื้อกันหนาวยามฤดูหนาว หรือการวิ่งผ่าลมท่ามกลางอากาศ 16 องศาอีกต่อไปแล้ว พวกเขายังต้องเติบโตมาพร้อมกับ “สังคมหยุดชะงัก” มากมาย ทั้งชะงักจากโรคระบาด หรือการหยุดชะงักทางการศึกษาเนื่องจากอากาศไม่เอื้ออำนวย
การหยุดเรียนในช่วงอากาศร้อนนอกจากจะทำให้การเรียนรู้ของเยาวชนต้องชะงักและไม่ปะติดปะต่อ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้และเติบโตทางสังคมแล้ว ยังเพิ่มโอกาสที่เด็กจำนวนมากจะหลุดออกจากการศึกษาเพราะความรู้จากการเรียนที่ไร้ประสิทธิภาพนั้น “นำไปใช้ไม่ได้” ทั้งด้านการประกอบอาชีพทุกรูปแบบและด้านการคว้าโอกาสในการหางานเพื่อยกคุณภาพชีวิต
สุดท้ายแล้วนอกจากคนทำงานที่ต้องเผชิญกับหายนะโดยตรงแล้ว โอกาสที่เด็กรุ่นใหม่จะกลับมาพัฒนาหรือเดินหน้าสู่ความหวังก็ยังลดน้อยลงอีกด้วย แม้ว่าองค์กรระดับประเทศและระดับโลกมากมายจะกำลังดำเนินการรับมือกับอนาคตเหล่านั้น แต่ก็ยังเป็นคำถามที่น่าคิดว่าสุดท้ายแล้วมนุษย์จะอยู่รอดได้จริงหรือไม่
ที่มา
- For Asia-Pacific, climate change poses an ‘existential threat’ of extreme weather, worsening poverty and risks to public health, says UNDP report: UNDP Asia and The Pacific - https://bit.ly/4a5NYMs
- Extreme heat forces school closures across Asia, affecting millions of students: Mithil Aggarwal, NBC News - https://nbcnews.to/4dlXkqr
- Green jobs can address unemployment, fight climate change, say experts: Bernama, The Sun - https://bit.ly/4a6lfay
#trend
#globalboiling
#asiapacific
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
โฆษณา