20 พ.ค. เวลา 01:04 • ประวัติศาสตร์
เส้นทางรถไฟสายมรณะ

สถานีไทรโยค กม.ที่ 167.660 และ สถานีกิ่งไทรโยค กม.ที่ 171.720

สถานีไทรโยค กิโลเมตรที่ 167.660 และสถานีกิ่งไทรโยค กิโลเมตรที่ 171.720 (เป็น 1 ใน 6 สถานีใหญ่ในฝั่งประเทศไทย) บนเส้นทางรถไฟสายมรณะ ชื่อไทรโยคและกิ่งไทรโยคมาจากไหน
สถานีไทรโยค サイヨーク (Saiyōku) เชลยศึกตะวันตกเรียก Saiyok
สถานีกิ่งไทรโยค キンサイヨーク (Kinsaiyōku) เชลยศึกเรียก Kinsaiyok, Kinsayok
สถานีไทรโยคตามผังก็จะมีรางประธานและมีรางหลีกแบบ dead end แยกอีก1 ราง
ส่วนสถานีกิ่งไทรโยคซึ่งเป็นหนึ่งใน 6 สถานี มีผังรางหลีกจำนวนมากมายกระจาย รวมไปจนถึงมีรางที่สร้างแยกลึกเข้าไปในป่า เพื่อใช้อำพรางขบวนรถไฟ บางจุดมีการสร้างที่โครงสร้างป้องกันภัยทางอากาศให้กับหัวรถจักร
ตลอดจนค่ายที่พักทหาร สถานที่ต่อโทรศัพย์ โรงซ่อมรถไฟ สถานีเติมน้ำ อยู่ที่สถานีแห่งนี้
ผังสถานีไทรโยค
ผังสถานีกิ่งไทรโยค
มากล่าวถึงชื่อไทรโยค เมื่อได้ยินคำว่าไทรโยค คนทั่วๆไปคงอดคิดไม่ได้ว่าชื่อสถานีไทรโยคนั้นคงมาจากน้ำตกไทรโยคน้อยหรือไทรโยคใหญ่เป็นแน่
แต่ที่จริงแล้ว ข้อแรกน้ำตกไทรโยคน้อยชื่อเก่าคือน้ำตกเขาพัง ส่วนน้ำตกไทรโยคใหญ่อันที่จริงแล้วมีน้ำตกที่เรียกว่าพุน้ำโจน
แล้วชื่อไทรโยคนั้นมาจากไหน จากการศึกษาของผมพบว่าชื่อไทรโยคน่าจะมาจากชื่อเมืองครับ เพราะมีการพบชื่อไทรโยคอยู่ถึง 3 แห่ง
1.ไทรโยคโบราณ คือเมืองไทรโยคในสมัยรัชกาลที่ 1,2
2.ไทรโยคเก่า คือ อำเภอหรือกิ่งอำเภอไทรโยค (ปากแม่น้ำน้อย)
3.ไทรโยคใหม่ คือ บ้านไทรโยคที่แก่งประลอม
ด้านซ้ายคือไทรโยคปากแม่น้ำน้อย ด้านขวาคือบ้านไทรโยค
ก่อนอื่นต้องขอพูดถึงไทรโยคเก่าและไทรโยคใหม่ก่อนนะครับ
ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ได้ประพาสไทรโยค2ครั้ง ในยุคนี้มีการบันทึก อย่างน้อย 3 ฉบับที่พูดถึงเรื่องเกี่ยวกับไทรโยค
1.จดหมายเหตุระยะทาง เสด็จประพาสในรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสไทรโยคครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2431
2.กลอน ไดเอรี ซึมทราบกับตามเสด็จไทรโยค พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.2431
3.เอกสาร เรื่องเที่ยวไทรโยค โดยสมเด็จพระปิตุลา บรมพงศาภิมุก เสด็จประพาสเมื่อ พ.ศ.2464
ขอนำข้อมูลจากสามแหล่งมารวมกันและอธิบายในคราวเดียวครับ
ข้อมูลทั้งสามเอกสารระบุว่าเมื่อเลยจุดที่เรียกว่าบ้องตี้หรือบริเวณที่ห้วยบ้องตี้(ในเอกสารฉบับที่ 2 และ 3 ระบุว่า บ้องตี้เป็นภาษามอญแปลว่าห้วยข่า เอกสารเก่าสุดที่ผมมีคือแผนที่ต้นสมัยรัตนโกสินทร์เขียนชื่อห้วยนี้ว่าบองที)
ห้วยบ้องตี้ไหลลงมาบรรจบกับแม่น้ำแควน้อยแล้วก็จะถึงบริเวณที่เรียกว่าแก่งประรอม (หรือแก่งประลอมในปัจจุบัน)
แก่งประรอมนั้นในเอกสารระบุว่ามาจากภาษามอญเช่นกัน แปลว่า ดุร้าย อาจจะเป็นเพราะน้ำที่นี้ไหลแรงและเชี่ยวมากจึงถูกตั้งชื่อแบบนี้
ในเอกสารที่ 2 และ 3 ระบุตรงกันว่าแก่งประลอมเป็นบริเวณที่น้ำเชี่ยวมาก ยากแก่การเดินเรือ ถึงแม้ระดับน้ำจะไม่สูงมากนัก พอพ้นแก่งประลอมมาไม่ไกลก็จะเจอกับบ้านไทรโยค
บ้านไทรโยคแห่งนี้ในเอกสารที่ 1 เรียกบ้านไทรโยคใหม่ เนื่องจากมีคนที่เมืองไทรโยคเก่าย้ายถิ่นฐานมาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณนี้ ในเอกสารจึงระบุว่าเป็นบ้านไทรโยคใหม่ คนส่วนใหญ่ที่อาศัยที่นี่เป็นคนมอญ กะเหรี่ยง รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จขึ้นเยี่ยมเยียนชาวบ้านในหมู่บ้านนี้ด้วยครับ
ในเอกสารที่ 2 ระบุเพิ่มเติมข้อมูล ประมาณว่า ทำเลที่ตั้งไทรโยคเก่าไม่ดี มีโรคระบาด มีปีศาจดุร้าย (น่าจะหมายถึงความเชื่อคนโบราณเรื่องผีสางเทวดา) และห่างจากทางชักลากไม้
จึงทำให้คนส่วนหนึ่งย้ายจากไทรโยคเก่ามาที่ไทรโยคใหม่ ตามข้อความที่คัดมาด้านล่างนี้
อันบ้านนี้เดิมอยู่ที่เมืองไทรโยค
ว่าเกิดโรคปีศาจดุอยู่ไม่ได้
หากินยากห่างจากทางลากไม้
มาตั้งใหม่อยู่ที่นี่สองปีปลาย
ซึ่งสอดคล้องกับเอกสารที่ 3 ระบุว่าเมื่อล่องเรือเกือบถึงแก่งประลอมจะเห็นท่าเรือที่ใช้ขนส่งไม้ไผ่ และหลังจากนั้นเมื่อเลยแก่งประลอมมานิดหน่อยก็เจอกับท่าเรือ พื้นที่ที่เป็นของลูกหลานของพระยานิโครธาภิโยค เจ้าเมืองไทรโยค มาทำไม้และทำนา และเมื่อล่องเรือไปอีกสักหน่อยก็จะพบกับบ้านไทรโยค(ใหม่) อยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแควน้อย มีต้นมะพร้าว มะม่วง ขนุน
พระยานิโครธาภิโยคคือเจ้าเมืองไทรโยคครับ มีตระกูลลูกหลานสืบมาจนถึงปัจจุบัน โดยตระกูลนี้จะใช้นามสกุล นิโครธา
ส่วนตำแหน่งเมืองไทรโยคเก่านั้น ทั้งสามบันทึกบอกค่อนข้างตรงกัน โดยระบุว่าอยู่บริเวณใกล้กับจุดที่แม่น้ำน้อยไหลลงมาบรรจบกับแม่น้ำแควน้อย
เมืองไทรโยคเก่าตั้งอยู่บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแควในช่วงนั้น ในเอกสารที่ 1 ระบุว่าในช่วงที่ ร.5 เสด็จผ่านพบว่าเมืองไทรโยคเก่า มีหาดที่หน้าเมือง บ้านเรือนก็ไม่ค่อยจะมี มีเพียงต้นมะพร้าว มากมาย
ในเอกสารที่ 2 และ3 ระบุว่าเมืองไทรโยคเก่าอยู่เลยจากห้วยปรังตาขึ้นไปไม่มาก(ปรังตาแปลว่าต้นตาล ในแผนที่ที่ผมแนบก็มีจุดที่ระบุห้วยปรังตา) และเลยไปไม่ไกลก็จะถึงไทรโยคเก่า
ในเอกสารที่ 3 ระบุว่าชื่อเมืองไทรโยคเก่า เรียกว่า บ้านค่ายไทรโยค ซึ่งอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำแควน้อย (ฝั่งตะวันออก) จะมีที่ว่าการอำเภอ(น่าจะเป็นที่ว่าการกิ่งอำเภอ) โรงตำรวจภูธร และมีแพพักของคนในพื้นที่อยู่ 2 แพ มีต้นมะม่วง มะขาม มะพร้าว (คำว่าบ้านค่ายไทรโยคในเอกสารฉบับที่สองก็ตรงกับชื่อในแผนที่ฉบับหนึ่งของผมที่เขียนว่า B Khai Saiyok.)
และในช่วงที่เรือของ สมเด็จพระปิตุลา บรมพงศาภิมุก เสด็จผ่าน ก็มีตำรวจมาตั้งแถวรับเสด็จ เมื่อเลยจากตัวเมืองไทรโยคเก่านิดเดียวก็ถึงปากแม่น้ำน้อยที่ไหลลงมาบรรจบกับแม่น้ำแควน้อย
ตามข้อมูลประวัติของ อำเภอไทรโยค
กล่าวว่า
ในช่วงอดีตเมืองไทรโยคถูกตั้งเป็นหัวเมืองมอญไว้คอยรับศึกพม่า
ปี พ.ศ.2438
เมืองไทรโยคเก่าถูกลดสถานะเป็นอำเภอไทรโยค
ในปี พ.ศ.2449
มีการลดสถานะเป็นกิ่งอำเภอไทรโยค
สะพานที่ในบริเวณใกล้กับสถานีกิ่งไทรโยค
ตัวที่ว่าการกิ่งอำเภอกิ่งไทรโยคมีการย้ายไปยังบริเวณวังโพ ในปี พ.ศ. 2479 หรื ค.ศ. 1936 ตามเอกสารประกาศมหาดไทย เรื่องการย้ายที่ว่าการกิ่งอำเภอไทรโยคและการเปลี่ยนแปลงเขตตำบลและเขตอำเภอ
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 บริเวณเมืองไทรโยคเก่านั้น ผมเข้าใจว่าถึงแม้ตัวอาคารที่ว่าการกิ่งอำเภอไทรโยคจะย้ายไปที่วังโพแล้ว แต่คนในท้องถิ่นเองก็ยังอาจจะเรียกพื้นที่นี้ว่างกิ่งอำเภอไทรโยค หรือกิ่งไทรโยค ก็ยังคงถูกคนในพื้นที่กล่าวถึง
หรือคำว่ากิ่งไทรโยคอาจจะเพี้ยนจากค่ายไทรโยคซึ่งเป็นชื่อเดิมของบ้านค่ายไทรโยคก็เป็นได้ เพราะเอกสารของชาติตะวันตกบางฉบับระบุชื่อ Gai Zai Yok ซึ่งออกเสียงคล้ายกับค่ายไทรโยค
และญี่ปุ่นเข้ามาสร้างทางรถไฟ แน่นอนว่าพวกเขาได้นำเอาชื่อนี้ไปตั้งเป็นชื่อสถานีกิ่งไทรโยค
ซึ่งปัจจุบันบริเวณที่เคยเป็นสถานีกิ่งไทรโยคนั้นอยู่เลยออกไปไกลจากตัวเมืองไทรโยคเก่าหรือกิ่งไทรโยคไปพอสมควร
โดยตัวสถานีรถไฟจะอยู่ตรงทางเข้าอุทยานแห่งชาติไทรโยค และเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ แต่อาจจะไม่ได้เหลือรางแยกต่างๆให้เห็นชัดเจน
ส่วนบ้านไทรโยค(บ้านไทรโยคใหม่ซึ่งที่แก่งประลอม) ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ยังคงมีอยู่ที่นั้น เพราะในแผนที่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการระบุตำแหน่งบ้านไทรโยค ซึ่งตำแหน่งนั้นตรงกับเอกสารในสมัยของรัชกาลที่ 5
ทหารญี่ปุ่นก็ได้นำเอาชื่อหมู่บ้านไทรโยคไปตั้งชื่อสถานีไทรโยค ซึ่งสถานีเองก็อยู่ห่างจากหมู่บ้านไปทางทิศเหนือพอสมควร เข้าใจว่ามีการสร้างถนนทางหลวงชนบททับเส้นทางรถไฟในช่วงนี้ไปแล้ว
ก็เป็นไปตามรูปแบบที่ทหารญี่ปุ่นจะเอาชื่อสถานีที่สำคัญในพื้นที่มาตั้งชื่อสถานีใกล้เคียง
จึงทำให้มีทั้ง
สถานีไทรโยค
ญี่ปุ่นเรียก サイヨーク (Saiyōku)
เชลยศึกตะวันตกเรียก Saiyok
ซึ่งชื่อไทรโยคนี้น่าจะมาจากบ้านไทรโยคบริเวณแก่งประลอม (ซึ่งปัจจุบันไม่มีแล้ว)
และ สถานีกิ่งไทรโยค ทหารญี่ปุ่นเรียก キンサイヨーク (Kinsaiyōku)
เชลยศึกตะวันตกเรียก Kinsaiyok,Kinsayok
ซึ่งตั้งชื่อมาจากตัว กิ่งอำเภอไทรโยค ปัจจุบันเรียกบ้านแม่น้ำน้อย
ลูกหลานกรรมกรเอเชียที่ค่ายกิ่งไทรโยค ภาพจาก AWM.
แต่ที่น่าสนใจอีกอย่างจากการศึกษาครั้งนี้ผมพบว่า ก่อนที่จะมีการตั้งเมืองไทรโยคเก่าและใหม่นั้น
มันมีเมืองไทรโยคโบราณผมขอเรียกว่าไทรโยคโบราณแล้วกัน เพื่อไม่ให้มันไปสับสนกับไทรโยคเก่าที่ปากแม่น้ำน้อยที่ผมพูดมาก่อนหน้านี้ครับ
เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปในช่วงสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2329 รัชกาลที่ 1 ได้ทรงยกทัพสยามขึ้นไปตีค่ายทหารพม่าที่ท่าดินแดงและสามสบ(ในพื้นที่สังขละบุรีปัจจุบัน) โดยมีการบันทึกเป็นนิราศท่าดินแดง หรือ กลอนเพลงยาวนิราศ เรื่องรบพม่าที่ท่าดินแดง มีข้อความดังนี้
ถึงไทรโยคปลายแดนนัครา
มิให้หยุดโยธาเร่งคลาไคล
แต่เห็นทางท่าชลานั้น
เป็นเกาะแก่งขัดขั้นล้วนเนินไศล
ยากที่นาวีจะหลีกไป
จึงสั่งให้รอรั้งยั้งนาวา
เร่งรีบคชสารอัศดร
บทจรตามแถวแนวพฤกษา
ชมพรรณมิ่งไม้นานา
แปลจากบทกลอนได้ว่า เมื่อ ร.1 ยกทัพทางน้ำขึ้นไปจากกาญจนบุรี เมื่อถึงไทรโยคก็ได้เปลี่ยนจากเดินทัพทางน้ำ มาเดินทัพทางบกแทน ในบทกลอนนี้ไม่ได้ระบุว่าไทรโยคอยู่ที่ใด ทราบเพียงว่าอยู่เลยพุท้องช้างขึ้นไปเท่านั้น
แต่เมื่อศึกษาลงไปพบว่าไทรโยคโบราณแห่งนี้อยู่บริเวณทางเหนือของบ้านท่าทุ่งนา อ้างอิงจากหนังสือภูมิประวัติศาสตร์ ในมุมมองหมอพยงค์ ได้ระบุตำแหน่งของเมืองไทรโยคโบราณว่าน่าจะตั้งอยู่ทางเหนือเลย รพสต.ท่าทุ่งนาขึ้นไป (ขอบพระคุณ อ.ฟ้อน เปรมพันธุ์ที่ช่วยค้นหาข้อมูลนี้ให้ครับ)
ก็มีข้อมูลอีกชุดหนึ่งที่ระบุชี้ชัดว่าเมืองไทรโยคโบราณนั้นตั้งอยู่ที่วัดใหม่ดงสัก เหนือบ้านท่าทุ่งหน้าขึ้นไป อ้างอิงจากหนัง สงคราม 9 ทัพ มหายุทธ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ , เขียนโดย พลโท รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ และ อ.วรวุธ สุวรรณฤทธิ์
ซึ่งเมื่อตรวจสอบแผนที่เก่าสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 และช่วงสงครามโลกครั้งที่สองมีการระบุว่สตรงนั้นมีวัดโบราณอยู่ แต่แผนที่ฉบับหนึ่งระบุเป็นภาษาอังกฤษว่า Wat Tohapoeng
ส่วนอีกฉบับที่เก่ากว่าระบุชื่อคล้ายกันว่า Wat Tohapoeng และเขียนกำกับว่า Destroyed น่าจะมีการพบซากวัดร้างเก่ามาก่อน แล้ววัดใหม่ดงสักจึงไปสร้างในพื้นที่วัด Tohapoeng เดิม
คนในพื้นที่ ใครอ่านแล้วพอทราบชื่อวัด หรือรู้ชื่อวัดเดิมก็ช่วยบอกด้วยนะครับจะได้เป็นตัวต่อทางประวัติศาสตร์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆต่อไปได้
และเอกสารอีกฉบับที่ผมจะนำมาอ้างอิงถึงการมีอยู่ของไทรโยคโบราณ ซึ่งเป็นเอกสารเก่าที่สุดที่ผมมี ก็คือ ตำราทางยกทัพ สำรวจคราวเตรียมรบพม่า ในสมัยรัชกาลที่ 2
ซึ่งเป็นเอกสารที่สยามสำรวจระยะทางระหว่างตำบลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางบกหรือทางน้ำ เพื่อใช้ในการทำศึกกับพม่า
ซึ่งในเอกสารนี้มีการระบุระยะว่า
แต่ปากแม่น้ำน้อยถึงน้ำโจน 55 เส้น
แต่น้ำโจนถึงรอยช้าง 190 เส้น
แต่รอยช้างถึงเมืองไทรโยคเก่า (ซึ่งผมเองขอระบุในบทความผมเป็นไทรโยคโบราณ) 290 เส้น
รวมเส้นทางจากปากแม่น้ำน้อยถึงไทรโยคโบราณ เป็นจำนวน 535 เส้น
1 เส้นเท่ากับ 40 เมตร แปลงได้เป็น 21.4 กิโลเมตร
เมื่อวัดระยะทางทางน้ำ 21.4 กิโลเมตรโดยประมาณ ตำแหน่งที่ได้ใกล้เคียงกับโค้งน้ำรูปเกือกม้าที่วัดใหม่ดงสักตั้งอยู่
การวัดระยะทางทางน้ำ จากปากแม่น้ำน้อยไปยังจุดที่คาดว่าเป็นเมืองไทรโยคโบราณ
ซึ่งหากพิจารณาจากภูมิประเทศแล้วถือว่าเป็นบริเวณที่เหมาะแก่การตั้งเมืองและค่ายในสมัยโบราณ เพราะมีแม่น้ำแควน้อยล้อมรอบถึงสามด้าน การดูแลป้องกันจากข้าศึกค่อนข้างสะดวก และจุดนี้เป็นจุดที่อยู่ใกล้กับช่องกระบอก ซึ่งเป็นเส้นทางที่สามารถเดินทัพข้ามไปยังแม่น้ำแควใหญ่ได้อีกทาง จึงถือว่าจุดนี้เป็นจุดที่สำคัญเช่นกัน
อธิบายเพิ่มเติมคือ เมืองไทรโยคโบราณไม่ได้อยู่ปากแม่น้ำน้อยแน่นอน เพราะในเอกสารหลายฉบับนี้ระบุชัดเจน
แต่มีการย้ายเมืองจากไทรโยคโบราณมาตั้งเมืองไทรโยคเก่าบริเวณปากแม่น้ำน้อยในยุคหลัง ผมก็ไม่ทราบข้อมูลว่าเพราะเหตุผลใดจึงมีการย้ายเมือง
ประวัติเมืองไทรโยคโบราณนั้นค่อนข้างมีน้อยมากครับ
ท่าน อ.ศรัณย์ บุญประเสริฐ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ได้ช่วยกรุณาเสริมข้อมูลให้ผมว่า ในเอกสารฝ่ายพม่าของราชวงศ์คองบอง(ราชวงศ์สุดท้ายของพม่า) ระบุว่าเมืองไทรโยค มีชื่อเรียกในภาษาพม่าว่าเมือง ทรัย (ทะ-ไร) ซึ่งเป็นการถอดเสียงมาจากคำว่าไทร(ไซ)ในภาษาไทย
ผมลงทุนซื้อหนังสือเล่มหนึ่งมาครับราคาแพงน่าดู
เป็นหนังสือ เขียนเกี่ยวกับแผนที่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่พบในพระบรมมหาราชวัง มีการตีพิมพ์ในชื่อหนังสือ Royal Siamese maps: war and trade in nineteenth century Thailand มีระบุในแผนที่เมืองไทรโยค ว่า ไทรโยก สะกดด้วย ก.ไก่.
ในยุคสมัยต้นรัตนโกสินทร์ระบุไทรโยคที่อยู่บริเวณรอยช้างว่า ไทรโยคเก่า(หรือในบทความผมเรียกว่าไทรโยคโบราณ)
ส่วนไทรโยคใหม่ หรือไทรโยคไหมในแผนที่นี้นั้น ในบทความผมคือไทรโยคเก่า บ้านค่ายไทรโยค หรือกิ่งอำเภอไทรโยคเก่า
แผนที่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ในจดหมายเหตุรัชกาลที่ 2 มีการระบุว่าเมืองไทรโยค ในเอกสารบางฉบับเรียกเมืองนี้ว่าเมืองไชยโยค เมืองชั้นจัตวา และเป็นเมืองหน้าด่านฝั่งตะวันตก เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญตั้งแต่สมัยอยุธยา จนถึงรัตนโกสินทร์
ในสมัย รัชกาลที่ 4 เมืองไทรโยคมีตำแหน่งเจ้าเมืองไทรโยคคือ พระนิโครธาภิโยค
ในรัชกาลที่ 5 มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล เมืองไทรโยค จึงกลายเป็น อำเภอ และ ลดลงเป็นกิ่งไทรโยคตามลำดับ
ทั้งหมดคือที่มาของชื่อสถานีไทรโยค และสถานีกิ่งไทรโยคครับ กับชื่อเมืองโบราณของจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเมืองไทรโยคเองก็มีการย้ายจุดไปมาหลายครั้ง
จนปัจจุบันก็มีที่ว่าการอำเภออยู่ที่วังโพครับ และชื่อไทรโยคก็มีการนำเอาไปตั้งชื่อสถานที่ต่างๆมากมาย
และเป็นชื่อที่ถ้าใครพูดถึงคำว่าไทรโยค ต้องคิดถึงจังหวัดกาญจนบุรี
โฆษณา