Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
InfoQuestNews - สำนักข่าวอินโฟเควสท์
•
ติดตาม
8 พ.ค. เวลา 06:36 • สิ่งแวดล้อม
In Focus: อาเซียนยังร้อนทะลุปรอท สัญญาณส่งท้ายเอลนีโญ เตรียมรับมือลานีญาปีนี้
เผลอแป๊บเดียวอีกไม่กี่วันก็จะครบ 1 ปีพอดี หลังจากที่ In Focus เคยหยิบประเด็นคลื่นความร้อนมาเขียนเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมปีที่แล้ว ทว่าทุกวันนี้อากาศก็ดูเหมือนยังร้อนขึ้นกว่าเดิมแบบไม่ได้คิดไปเอง เพราะเดือนเมษายนที่ผ่านมาเดือนเดียวอากาศก็ร้อนทำสถิติใหม่ในบางประเทศแล้วอันเป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนีโญ เพราะมีเมฆน้อย จากเดิมที่เดือนเมษายนและพฤษภาคมก็ร้อนเป็นทุนเดิมอยู่แล้วสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
*ย้อนรอยปี 2566
นักวิทยาศาสตร์เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญได้เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว และรุนแรงถึงขีดสุดเมื่อเดือนธันวาคม ก่อนที่จะเริ่มอ่อนแรงลงหลังจากนั้น โดยเอลนีโญเป็นสาเหตุเบื้องหลังสภาพอากาศที่ร้อนรุนแรงและภัยแล้งในเอเชีย
รายงานจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ระบุว่า เอเชียเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติมากที่สุดในปี 2566 ซึ่งข้อมูลยืนยันแล้วว่าเป็นปีที่อุณหภูมิโลกร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ อันเป็นผลจากสภาพอากาศ ภูมิอากาศ และอันตรายจากน้ำ โดยพายุและน้ำท่วมส่งผลกระทบหนักที่สุด
นอกจากนี้ เอเชียมีอุณหภูมิสูงขึ้นเร็วกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก โดยมีจำนวนผู้เสียชีวิตและความสูญเสียทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากน้ำท่วม พายุ และคลื่นความร้อนที่รุนแรงยิ่งขึ้น
รายงานระบุว่า เทือกเขาอาระกันของเมียนมาและบริเวณตอนล่างของแม่น้ำโขงก็มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติ ในขณะที่จีนทางตะวันตกเฉียงใต้ประสบปัญหาภัยแล้ง โดยมีระดับฝนตกต่ำกว่าปกติเกือบทุกเดือนในปี 2566
*เมษาสุดร้อน ทุบสถิติเดิมในบางประเทศ
เดือนเมษายนปีนี้เป็นเดือนที่เอเชียเผชิญกับคลื่นความร้อนมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความร้อนที่ปะทุขึ้นมาอย่างรุนแรงนี้ไม่เพียงแต่ทำให้รู้สึกอยู่ไม่สุขเพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบสำคัญอีกด้วย ทั้งโรงเรียนถูกสั่งปิด โครงข่ายไฟฟ้าเกิดความตึงเครียดเพราะคนแห่ใช้ไฟฟ้า บางพื้นที่ขาดแคลนน้ำ หรือถึงขั้นเกิดอุบัติเหตุอันน่าสลดไปเลย ความรุนแรงของคลื่นความร้อนเช่นนี้เป็นเครื่องเตือนใจที่สะท้อนให้เห็นความเปราะบางของเอเชียได้อย่างชัดเจนในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
กรมอุตุนิยมวิทยาเกาหลีใต้ (KMA) เปิดเผยว่า เดือนเมษายนปีนี้เป็นเดือนเมษายนที่ร้อนที่สุดในรอบ 50 ปี โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยแต่ละวันอยู่ที่ 14.9 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าปีก่อน ๆ ถึง 2.5 องศา ทุบสถิติเดิม 14.7 องศาเซลเซียสเมื่อเดือนเมษายนปี 2541 นอกจากนี้ ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิสูงสุดในแต่ละวันยังทำสถิติใหม่ที่ 21.1 องศา สูงกว่าค่าเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2534-2563 ถึง 2.5 องศา
สำหรับลาวนั้นเมื่อปีที่แล้วก็เพิ่งร้อนทำสถิติใหม่ไป ปีนี้ก็ทำสถิติใหม่อีกครั้ง โดยเมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา เขตท่าง่อนร้อนถึง 43.6 องศา ส่วนเมืองเซโนก็ร้อน 43.6 องศาเช่นกัน ทุบสถิติเดิม 43.5 องศาที่หลวงพระบางเมื่อปีที่แล้ว
ส่วนเวียดนามเผชิญคลื่นความร้อน 3 ครั้งในเดือนที่ผ่านมา โดยมีอุณหภูมิทะลุ 44 องศาเซลเซียสในบางพื้นที่ นอกจากนี้ ภัยคลื่นความร้อนในเวียดนามยังส่งผลให้ปลาหลายแสนตัวตายเกลื่อนในอ่างเก็บน้ำด้วย โดยชาวบ้านและสื่อท้องถิ่นรายงานว่า ปลาหลายแสนตัวลอยตายเกลื่อนในอ่างเก็บน้ำแห่งหนึ่งในจังหวัดด่งนาย (Dong Nai) ทางตอนใต้ของเวียดนาม
อันเนื่องมาจากสภาพอากาศร้อนจัดและการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ เวียดนามตอนใต้และตอนกลางต่างเผชิญผลกระทบจากคลื่นความร้อนที่รุนแรง เช่นเดียวกับหลายพื้นที่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทางการได้สั่งปิดการเรียนการสอนในโรงเรียน รวมถึงยอดการใช้พลังงานไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้น
นอกเหนือจากปลาตายในเวียดนามแล้ว กัมพูชายังเกิดอุบัติเหตุสะเทือนใจ โดยเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา สภาพอากาศร้อนจัดจากผลพวงของคลื่นความร้อนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดเหตุคลังกระสุนระเบิดที่ฐานทัพแห่งหนึ่งในจังหวัดกำปงสปือของประเทศกัมพูชา จนทหารเสียชีวิตถึง 20 นายและบาดเจ็บอีกหลายราย ขณะเดียวกันมีเด็กถูกลูกหลงได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 1 ราย
ขณะเดียวกันอุณหภูมิพุ่งแตะ 50 องศาเซลเซียสในหลายพื้นที่ของประเทศฟิลิปปินส์ ส่งผลกระทบต่อนักเรียนนักศึกษากว่า 3.6 ล้านคน ส่วนสถานศึกษาถูกสั่งปิดเนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัด
ด้านรัฐบาลไทยระบุว่า อากาศร้อนจัดในประเทศทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 30 คนในปีนี้ ขณะที่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์
คลื่นความร้อนรุนแรงส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั่วเอเชีย โดยน่าจะได้เห็นอีกหลายประเทศในเอเชียที่ร้อนทำสถิติใหม่ เมื่อประเทศทางตอนเหนือของเอเชียเปลี่ยนจากฤดูใบไม้ผลิไปเป็นฤดูร้อนในอีกไม่กี่เดือนที่จะถึง
*เอลนีโญอ่อนแรงลงแล้ว แต่เอเชียน่าจะยังร้อนต่อ
ในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญนั้น กระแสลมที่พัดไปทางทิศตะวันตกตามแนวเส้นศูนย์สูตรจะเคลื่อนตัวช้าลง และกระแสน้ำอุ่นจะถูกพัดให้ไหลไปทางตะวันออก ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรอุ่นขึ้น
แวดวงนักวิทยาศาสตร์เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทำให้อุณหภูมิในหลาย ๆ ประเทศสูงทะลุปรอทนั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยสำนักอุตุนิยมวิทยาออสเตรเลียได้ประกาศตั้งแต่เดือนที่แล้วว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญที่เริ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อนปี 2566 ได้สิ้นสุดลงแล้ว
แม้ตามหลักการนั้น เอลนีโญสิ้นสุดลงแล้ว แต่อุณหภูมิในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังอยู่ในระดับสูงในช่วงนี้ เนื่องจากความร้อนต้องใช้เวลาในการถ่ายเทจากผิวน้ำทะเลสู่ชั้นบรรยากาศ
แม็กซิมิเลียโน เฮอร์เรรา (Maximiliano Herrara) ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศเปิดเผยผ่านทวิตเตอร์ @extremetemps ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับอุณหภูมิตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกว่า สถานการณ์ในปีนี้ “รุนแรงทำสถิติใหม่หลายพันรายการทั่วเอเชีย ซึ่งนับจนถึงขณะนี้น่าจะเรียกได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่สุดขั้วที่สุดในประวัติศาสตร์ภูมิอากาศโลก”
*ถึงคิวลานีญา
ที่ผ่านมานั้น เมื่อปรากฏการณ์เอลนีโญสิ้นสุดลง ก็จะเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านราว 3-5 เดือน ก่อนที่จะเปลี่ยนไปเป็นลานีญา
ด้วยเหตุนี้ อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นอันเป็นผลจากเอลนีโญจะยังคงอยู่ไปสักพัก และอาจดันอุณหภูมิให้สูงขึ้นอีกในปีนี้หากปรากฏการณ์ลานีญาที่ตามมานั้นอ่อนแรงกว่าที่คาด
เอลนีโญและลานีญามักเกิดขึ้นทุก 2-7 ปี และมักจะกินเวลาราว 9-12 เดือนต่อครั้ง ปรากฏการณ์ทั้งสองไม่ค่อยเกิดสลับกันมากนัก และลานีญาเกิดขึ้นน้อยกว่าเอลนีโญ
โดยทั่วไปนั้นอุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นในช่วงที่มีปรากฏการณ์เอลนีโญ และลดลงในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์ลานีญา
ในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ภาคใต้ของสหรัฐอเมริกาและอ่าวเม็กซิโกจะมีฝนตกชุก ส่วนภูมิภาคเขตร้อนอย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย และแอฟริกากลาง มักประสบกับสภาพอากาศแห้งแล้งกว่าเดิม แต่ในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์ลานีญา ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะกลับกัน
แม้ตามหลักการแล้ว ลานีญาเป็นขั้วตรงข้ามของเอลนีโญ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผลกระทบของทั้งสองปรากฏการณ์นี้จะตรงกันข้ามเสมอไป เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคของโลก
องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NOAA) ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ว่าเอลนีโญกำลังอ่อนแรงลงแล้ว และไทยจะเผชิญกับปรากฏการณ์ลานีญาในเดือนสิงหาคมนี้
สำหรับไทยนั้น กรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์ว่า ในปี 2567 นี้ฤดูร้อนของไทยจะยาวนานไปถึงกลางเดือนพฤษภาคม โดยปรากฏการณ์เอลนีโญจะยังมีผลกระทบต่อเนื่อง ทำให้อากาศแห้งแล้งและร้อนจัด ก่อนจะอ่อนกำลังลงเป็นกลางในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน และมีโอกาสถึง 60% ที่จะเข้าสู่ช่วงปรากฏการณ์ลานีญาในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคมซึ่งอาจทำให้เกิดฝนตกหนักติดต่อกันและน้ำท่วมได้
ทั้งนี้ สภาพอากาศรุนแรงที่ทั้งโลกได้เผชิญตลอดปีที่แล้วยาวจนถึงปีนี้ เป็นสัญญาณเตือนภัยที่ชัดเจนถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของทุกคน แม้ปรากฏการณ์เอลนีโญจะเริ่มคลายความรุนแรงลง แต่เรายังต้องเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบจากลานีญาที่กำลังจะมาถึง ซึ่งอาจทำให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมสูง
การรับมือกับปรากฏการณ์ธรรมชาติเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะเป็นแนวทางสำคัญเพื่อชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว ให้ผู้คนดำรงชีวิตได้อย่างปลอดภัยและยั่งยืน และให้โลกของเรายิ้มได้ไปนาน ๆ
อากาศ
ภาวะโลกร้อน
1 บันทึก
2
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย