Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ธเนศเล่าขาน"ทานทางปัญญา"
•
ติดตาม
8 พ.ค. 2024 เวลา 10:31 • ไลฟ์สไตล์
สมาธิ 2 กลุ่ม : อารัมมณูปนิชฌาน กับ ลักขณูปนิชฌาน
--------------------
มันมีเทคนิคเวลาเราหายใจ
อย่าจ้องที่ลม จุดสำคัญคือรู้สึกตัว รู้สึกตัวว่ากำลังหายใจออก รู้สึกตัวว่ากำลังหายใจเข้า
รู้สึกตัวได้พักเดียวจิตหนีไปคิดเรื่องอื่น อันเนี้ยไม่รู้ปัจจุบันรูปนาม เป็นปัจจุบันแล้ว ทิ้งปัจจุบันไปแล้ว หลงไปคิดอดีต คิดอนาคต คิดอะไร
อย่างนั้นหลงไปแล้ว ให้เรารู้ทัน
เฮ้ย! รู้ร่างกายหายใจอยู่ดีๆ ลืมร่างกายที่หายใจ
(จิตหนี)ไปคิดเรื่องอื่นแล้ว
หรือรู้ร่างกายหายใจอยู่ดีๆนะ
จิตมันเคลื่อนไปจ้องอยู่ที่ลม
หรือจิตเคลื่อนไปอยู่ที่ท้องพอง-ท้องยุบ
อันนี้จิตตกจากวิปัสสนาแล้ว
สมาธิชนิดเพ่งจ้องเกิดขึ้นแล้ว
สมาธิที่ใช้เพ่งอารมณ์เนี่ยเรียกว่า"อารัมมณูปนิชฌาน" เพ่งอารัมมะ อารัมมะ คืออารมณ์(สิ่งที่จิตไปรู้)
พอจิตไปเพ่งตัวอารมณ์เท่านั้นแหละ มันไม่สามารถทำวิปัสสนาได้แล้ว เพราะสมาธิที่ใช้ทำวิปัสสนานั้น ชื่อ"ลักขณูปนิชฌาน" (สมาธิ)คนละชนิดกัน
งั้นอย่างเรารู้ร่างกายอยู่นะ
แล้วจิตเราไหลไปจ้องอยู่ที่ลม ไปอยู่ที่ท้อง เดินจงกรม จิตไหลไปอยู่ที่เท้า ขยับมือ จิตไหลไปอยู่กับมือ อันนี้เป็นอารัมมณูปนิชฌาน ได้แต่สมถะเฉยๆ ไม่มีทางเดินปัญญาเลย
งั้นแยกให้ออกนะ รู้สึกตัวไว้
สมาธิต้องประกอบด้วยความรู้สึกตัวเสมอ ทั้งอารัมมณูปนิชฌาน ทั้งลักขณูปนิชฌาน
ต้องรู้สึกตัว
อย่างเวลาเราทำอารัมมณูปนิชฌาน จิตเราไหลไปอยู่ที่ลม ให้รู้สึกตัว อย่าเผลอ อย่าเพลิน
หลงเพลิน ๆ หรือคิดฝันอะไรไป (ให้)รู้สึกตัว ว่าจิตมันไหลไปแล้ว แล้วถ้าเราต้องการให้จิตพักผ่อนทจิตไหลไป แล้วไปพักผ่อนอยู่ในอารมณ์อันเดียว
ทำได้นะ อันนั้นเป็นสมถะ เป็นอารัมมณูปนิชฌาน
สมาธิมีสองกลุ่มใหญ่ๆ
กลุ่มหนึ่งคือ:- มิจฉาสมาธิ
มิจฉาสมาธิ คือสมาธิที่ไม่มีสติ
อย่างเรานั่งหายใจเคลิ้มไปนะเกิดแสงสว่าง แต่เราหลงไปอยู่กับแสงเราไม่เห็น หลงไกลกว่านั้นอีกนะ หลงไปเห็นผี เห็นเทวดา เห็นนรก เห็นสวรรค์
ใจมันเคลื่อนๆๆไป อย่างนั้นมันมิจฉาสมาธิ ถ้าขาดสติเป็นมิจฉาสมาธิ ถ้ามีสติอยู่ถึงจะเป็นสัมมาสมาธิ
สมาธิชนิดที่มีสติ(สัมมาสมาธิ)มีสองอัน (คือ) อารัมมณูปนิชฌาน กับลักขณูปนิชฌาน
อารัมมณูปนิชฌาน เนี่ยมีสติน้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว ที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง
อย่างหลวงพ่อใช้อานาปานสติมาแต่เด็ก เวลารู้ลมหายใจ รู้ร่างกายหายใจ การเห็นร่างกายหายใจเนี่ยเป็นการรู้อารมณ์นะ แต่ถ้า"รู้"ว่าจิตเคลื่อนไปในร่างกายเนี่ย
อันนี้เราจะได้จิตตั้งมั่น ได้ลักขณูปนิชฌาน
แต่ถ้าเราต้องการพักผ่อนอยู่กับลม ของหลวงพ่อไม่ต้องใส่ลมสั้น-ลมยาว เวลาหลวงพ่อจะทำอานาปานสติ หลวงพ่อรู้สึกเข้าตรงนี้เลย ลมมันระงับเลย มันสว่างขึ้นมาทันที อยู่ที่ชั่วโมงฝึกของเรา ฝึกมากๆ ลมมันจะระงับกลายเป็นแสง แล้วถ้าจะเล่นอารัมมณูปนิชฌานก็อยู่กับแสงไป แล้วถ้าใจอยากรู้อยากเห็นอะไรนะ จิตก็จะวิ่งออกไปรู้จิตคนโน้นคนนี้ รู้อะไรต่ออะไร นี้จิตมันออกนอกทั้งนั้นน่ะ
งั้นพวกเราไม่ควรนะ
ไปฝึกไปดูจิตคนอื่นเนี่ยอย่าพึ่งดู เอาไว้ได้พระโสดาบันแล้วค่อยดู เพราะพระโสดาบันเนี่ยรู้จักทางกลับบ้าน ของเราขืนไปดูมันจะเตลิดหนีไปเลย มันไม่ดูตัวเองอีกต่อไปแล้ว
งั้นยังเป็นปุถุชนอยู่อย่าไปดูจิตคนอื่น ดูจิตตัวเองไว้ ดูจิตคนอื่นแล้วชาตินี้ไม่ต้องภาวนาแล้ว ไม่มีทางดูจิตตัวเองได้แล้ว เพราะอะไร ? ดูจิตคนอื่นมันสนุก ดูจิตตัวเองมีแต่(เห็น)ทุกข์ ระหว่างเลือกดูหนังฟังเพลง กับเลือกทำงานที่ลำบาก เอาอะไร ? มันก็เอาสนุกหมด (จิต)ออกไปข้างนอก เสียหมด สติคุมไม่อยู่ เป็นบ้า
ลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์เป็นบ้าก็มีนะ บางคนเรียนรุ่นเดียวกับหลวงพ่อ เข้าข่ายเป็นรุ่นเล็ก ก็เป็นพระเป็นเณร หลวงปู่ก็ห้าม อย่าส่งจิตออกนอก พอคล้อยหลังหลวงปู่ก็เที่ยวดู
พระทั้งวัดใครจิตเป็นยังไงรู้หมดเลย
เมื่อคืนนี้ทำไมหลวงพี่นอนเร็วนัก อะไรอย่างนี้รู้หมด ไม่รู้ตัวเอง หลวงปู่ห้ามแล้วห้ามอีกไม่ฟัง พอสิ้นหลวงปู่นะ จิตมันออกนอกจนคะนองเลย คราวนี้ไม่มีใครคุมแล้ว ออกๆๆ กลับมาไม่ได้
มีเณรองค์หนึ่งนะภาวนาเก่งมากเลย น่าเสียดาย(จิต)แกออกนอกจนชิน วันหนึ่งแกอยู่ในวัดนะแกเห็นลิง ไปเห็นลิงอยู่บนต้นไม้ จิตวิ่งไปที่ลิงนะ แล้วก๊อปปี้จิตของลิงมาที่ตัวเอง หมดความรู้สึกว่าตัวเองเป็นคน เป็นเณร มีความรู้สึกว่าตอนนี้ตัวเองเป็นลิง
เค้าก็กระโดดขึ้นต้นไม้นะ ขึ้นได้เร็วมากเลย ปั๊บๆๆ ขึ้นถึงยอดไม้ พอขึ้นไปถึงยอดไม้แล้ว มองลงมาที่ท้องนารอบๆวัด เห็นควาย ก๊อปปี้จิตของควายเข้ามาแล้ว ไม่ใช่ลิงแล้ว คิดดูควายอยู่บนต้นไม้ อะไรจะเกิดขึ้น ไม่ตายตอนนั้นก็บุญแล้ว
สุดท้ายบ้า บ้านะ พอนั่งภาวนาปุ๊บ จิตเคลื่อนแล้วบ้าเลย คุมตัวเองไม่อยู่ พี่ชายท่านเป็นพระจับสึกส่งโรงพยาบาลบ้า รักษาอยู่ช่วงหนึ่ง พอหายกลับมาบวชอีก พอเริ่มลงมือภาวนานะ จิตออกนอกอีกแล้ว บ้าอีก
บวช-สึก บวช-สึก อยู่หลายๆรอบนะ
ครั้งสุดท้ายเลยผูกคอตายเลย เนี่ยโทษของการดื้อ ไม่เชื่อครูบาอาจารย์ ชอบส่งจิตออกนอก
อีกองค์หนึ่งเป็นพระ
รู้จักกันนะ ฤทธิ์เยอะ องค์นี้ฤทธิ์มาก มีฤทธิ์มีอะไรแพรวพราวเลย แต่ใจก็ชอบออกนอก คนนี้ไม่ได้ออกนอกดูจิตคนอื่นนะ ออกไปดูพวกเทพ-พรหมทั้งหลาย ไปดู ดูๆๆไปเรื่อย ในที่สุดก็หลง หลง หลงในฌาน คิดว่าตัวเองคือสยมภู
ใครรู้จักสยมภูมั้ย ?
สยมภูเนี่ยเป็นทฤษฎีของฮินดู
สยมภูคือผู้ที่เกิดเอง ไม่มีใครทำให้เกิด คือตัวปรมาตมัน ปฐมพรหม ยุคนี้หนังอินเดียใช้ปฐมพรหม ใครเคยดูบ้างหนังอินเดีย เป็นคนสร้างกระทั่งพระศิวะ พระนารายณ์
นี่ปฐมพรหมสร้าง เนี่ยตัวนี้เรียกว่าสยมภู ผู้เกิดเอง แล้วเป็นผู้ให้กำเนิดสิ่งอื่น
พระองค์นี้บ้า คิดว่าตัวเองเป็นสยมภู เพี้ยน พูดจาไม่รู้เรื่องเลย
งั้นอย่าส่งจิตออกนอก
ให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว
มีสติกำกับจิตไว้ตลอดเวลา
มีสติกำกับจิตใจของตัวเองไว้
อย่าให้มันร่อนเร่ไป
งั้นเวลาเราจะทำสมาธิเนี่ย
ถ้าต้องการทำสมาธิเพื่อพักผ่อนนะ น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว เรารู้ รู้ว่าเราจะทำอะไร เพื่ออะไร ทำอย่างไร ไม่ใช่หลงไปโดยที่ไม่รู้ ถ้าหลงไปโดยที่ไม่รู้ เรียกว่าไม่มีสติ
งั้นอย่างหลวงพ่อนี่ทำสมถะ
(จิต)หลวงพ่อมาอยู่...
จิตก็สงบว่าง สว่างขึ้นมา
เนี่ยเราจงใจสร้างภพ-ภพหนึ่งขึ้นมา เพื่อที่จะเป็นภพที่สงบเอาไว้พักผ่อน งั้นอย่างขนาดพระพุทธเจ้านะ (เข้า)นิโรธสมาบัติอะไรอย่างนี้
การเข้าสมาบัติ ๘ ท่านยังเห็นว่าเป็นภพเลย
งั้นเข้าฌานสมาบัติเนี่ยเป็นภพทั้งหมดเลยนะ เป็นภพทั้งสมาบัติ ๘ เลย ส่วนนิโรธสมาบัติเนี่ยพ้นภพไป
เพราะว่าดับจิตลงไป ดับจิตลงไป
อรูปฌานก็ยังเป็นภพ
แต่เป็นภพที่เอาไว้พักผ่อน
เพราะว่ายังมีธาตุมีขันธ์
อย่างสอนมากๆ ทำงานมากๆ เหน็ดเหนื่อย น้อมจิตไปพักอยู่ในภพ เพราะอะไร ? เพราะยังมีขันธ์อยู่
แต่ถ้าเจริญปัญญามันมีภพอีกชนิดหนึ่ง ทำลักขณูปนิชฌานก็เป็นภพนะ แต่เป็นภพที่ประกอบด้วยปัญญา
งั้นมันเป็นภพทั้งนั้นน่ะ ไม่ต้องกลัวภพ ยังไงมันก็เป็นภพ
กว่าจะพ้นภพนั่นแหละต้องถึงพระนิพพาน งั้นตอนนี้ใจก็สร้างภพไป ถ้าเราไม่เจตนาสร้างภพที่ดี จิตมันก็สร้างภพที่ชั่ว เพราะฉะนั้นจงตั้งใจปฏิบัติก่อน พยายามฝึกทุกวัน
_/|\_ _/|\_ _/|\_
พระธรรมเทศนา #หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
ธรรมะ
ธรรมะภาคปฏิบัติ
คำสอน
1 บันทึก
1
1
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย