9 พ.ค. 2024 เวลา 08:05 • สิ่งแวดล้อม

แนวทางจัดการขยะสู่อนาคตที่ยั่งยืน ในงาน Towards A Greener Future: Thailand's Zero Waste Practices

เพราะปัญหาการจัดการขยะเหล่านี้เป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ ทั้งขวดน้ำสีใส ถุงพลาสติก กล่องโฟมใส่อาหาร หลอดพลาสติกหลากสี เศษอาหารที่ทานไม่หมด แบตเตอรี่หมดอายุ เสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้ว และสารพัดขยะในชีวิตประจำวัน ในปี พ.ศ. 2565 ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติจึงได้มีการกำหนดให้วันที่ 30 มีนาคมของทุกปีเป็น “วันปลอดขยะสากล” หรือ “International Day of Zero Waste” เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของการจัดการขยะอย่างยั่งยืน
(ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
ในโอกาสนี้ กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme) โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Settlements Programme) และสำนักงานผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย (The UN Resident Coordinator’s Office in Thailand) ได้จัดงาน Towards a Greener Future: Thailand’s Zero Waste Practices ขึ้นในวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ
โดยเป็นงานเสวนาเกี่ยวกับแนวทางการจัดการขยะจากหลายหน่วยงานในประเทศไทย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมไปถึงการนำขยะรีไซเคิลถวายแก่พระครูธรรมธรอานนท์ วัดทอง จรัญสนิทวงศ์ 46 ตามโครงการ ถวายทอง ฉลองโบสถ์ พุทโธ Zero Waste ด้วย ในบทความนี้จะขอพาทุกท่านไปดูกันค่ะ ว่าในงานครั้งนี้มีกิจกรรมอะไรที่น่าสนใจบ้าง
(ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
ประเด็นหลักในการเสวนาครั้งนี้คือ การนำเสนอแนวทางจัดการขยะที่กำลังดำเนินการอยู่ภายในหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาขยะที่กำลังจะล้นโลก โดยจากผลสำรวจของ UNEP พบว่าตั้งแต่ปี 2564 มีปริมาณขยะมูลฝอยในประเทศไทยมากถึง 2,400 ล้านตัน หรือคิดเป็นประมาณ 68,000 ตัน/วัน ซึ่งเป็นปริมาณที่มากเกินจะจินตนาการ และหากประเทศไทยยังไม่มีแนวทางจัดการขยะที่ยั่งยืน ไม่แน่ว่าขยะจะล้นประเทศในเร็ววันนี้ก็เป็นได้
(รูปจากเว็บไซต์ Circle Waste)
แม้แต่ละภาคส่วนจะมีแนวทางการจัดการขยะที่แตกต่างกันออกไป แต่ทุกฝ่ายมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือการจัดการขยะให้เหลือศูนย์ (zero waste) ตามหลัก 5Rs (Reduce, Reuse, Repair, Rot, Recycle) ที่ขยายความมาจากการหลักการแยกขยะ 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) ที่มีการรณรงค์ในช่วงปี พ.ศ. 2563
โดยหลักการ 5Rs ประกอบด้วย
Reduce (R1) คือ การลดพฤติกรรมการซื้อสิ่งของที่ไม่จำเป็นเพื่อไม่ให้เป็นการสร้างขยะเพิ่ม
Reuse (R2) คือ การนำสิ่งของที่มีอยู่มาใช้ซ้ำ เพื่อยืดอายุการใช้งานและลดปริมาณขยะ
Repair (R3) คือ การซ่อมแซมสิ่งของให้กลับมาใช้ใหม่ได้แทนที่จะทิ้งไป เช่น ซ่อมจักรยาน พัดลม
Rot (R4) คือ การแยกเศษอาหารเพื่อนำไปหมักเป็นปุ๋ยสำหรับปลูกต้นไม้ หรือนำไปมอบให้หน่วยงานที่รับเศษอาหารไปใช้ประโยชน์ต่อ
Recycle (R5) คือ การแยกขยะและส่งไปยังโรงงาน เพื่อนำไปผ่านกระบวนการแปรรูปกลายเป็นของใหม่
โดยภายในงานบริเวณนอกห้องบรรยาย มีการจัดบูทกิจกรรมและให้ความรู้มากมาย ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เรียงรายกันไปจนสุดโถงทางเดินเลยทีเดียว เริ่มต้นที่หน่วยงานของรัฐซึ่งมีการนำถังขยะหลากสีมาตั้งเรียงกัน และติดแผ่นป้ายให้ความรู้เกี่ยวกับถังขยะแต่ละสี วิธีการคัดแยกขยะ และวิธีการจัดการกับขยะก่อนทิ้ง โดยแยกทิ้งตามสีของถังขยะ
(ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
- ถังขยะสีเขียวสำหรับขยะอินทรีย์ (Organic Waste) เช่น เศษอาหาร เศษผัก เศษผลไม้ ก้างปลา และเปลือกไข่
- ถังขยะสีน้ำเงินสำหรับขยะทั่วไป (General Waste) เช่น ถุงแกง กล่องโฟมใส่อาหาร ซองขนม ถ้วยบะหมี่ ถ้วยกาแฟ
- ถังขยะสีเหลืองสำหรับขยะรีไซเคิล (Recycle Waste) เช่น แผงยา เศษผ้า เศษยาง กระปุกครีม ขวดพลาสติก PET ฝาน้ำดื่ม ขวดแก้วต่างๆ
- ถังขยะสีแดงสำหรับขยะอันตราย (Harzardous Waste) เช่น หน้ากากอนามัยไม่ใช้แล้ว กระป๋องสเปรย์ ขวดน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
กิจกรรมภายในงานมุ่งสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจในการคัดแยกขยะทำให้ผู้เข้าร่วมสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ เมื่อขยะแต่ละชนิดถูกคัดแยกตามหลักการแล้วจะทำให้ขยะนั้นถูกนำไปรีไซเคิลและจัดการต่อสะดวกยิ่งขึ้น
ส่วนภายในห้องวิเทศสโมสร มีการจัดเสวนา 2 หัวข้อทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ได้แก่
1. Thailand's Path to Zero Waste เป็นงานเสวนาในภาษาอังกฤษโดยผู้แทนจากภาครัฐทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งเน้นไปที่นโยบายการคัดแยกขยะที่เข้าถึงประชาชนได้อย่างทั่วถึง เช่น นโยบายของออสเตรเลียที่มีถังขยะแบ่งตามสีไว้ในจุดบริการส่วนรวม เพื่อให้ประชาชนสามารถทิ้งขยะตามสีที่จำแนกไว้ รวมถึงการมีจุดบริการน้ำดื่ม เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนนำขวดน้ำดื่มพกติดตัวแทนการซื้อขวดน้ำพลาสติก ส่วนประเทศไทย ตามส่วนราชการต่างๆ นั้นก็เริ่มมีการตั้งจุดคัดแยกขยะภายในหน่วยงาน เพื่อให้ข้าราชการได้คัดแยกขยะของตนเองแล้ว
(ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
2. หนทางสู่ Zero Waste: ง่ายๆ ด้วยหลัก 5Rs (Reduce, Reuse, Repair, Rot, Recycle) เป็นงานสนทนาภาษาไทย โดยผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ที่มีบทบาทในการส่งเสริมการจัดการขยะในชุมชน และการใช้แนวทาง 5Rs ในการจัดการขยะให้เหลือศูนย์ เช่น โครงการ Chula Zero Waste ที่ดำเนินการในส่วนของมหาวิทยาลัยที่ปลูกฝังความรู้ความเข้าใจให้กับนิสิตนักศึกษา ให้คุ้นชินกับการคัดแยกขยะในชีวิตประจำวัน และโครงการพุทโธ Zero Waste ที่ส่งเสริมการคัดแยกขยะและทำบุญไปพร้อมกันทำให้การคัดแยกขยะเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น เป็นต้น
(ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
การจัดงาน Towards A Greener Future: Thailand's Zero Waste Practices ครั้งนี้ไม่ใช่แค่การจัดงานเพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงการคัดแยกขยะเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมุ่งสร้างแรงจูงใจในการคัดแยกขยะและชี้ให้เห็นถึงการช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อโลกที่น่าอยู่ ท่านผู้อ่านลองหลับตาและจินตนาการถึงอนาคตที่ทั้งประเทศและโลกของเรามีการจัดการกับขยะที่ดี ประชาชนทุกคนร่วมมือกันคัดแยกขยะ ทิ้งขยะให้ถูกที่ ไม่ปล่อยให้ขยะเกลื่อนกลาดตามถนน ปนเปื้อนลงทะเล หรือถูกนำไปกองไว้เป็นภูเขาในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งดูสิคะ
ถ้าเป็นแบบนั้นโลกของเราคงจะดูสะอาดเรียบร้อยและน่าอยู่ขึ้นมากเลยทีเดียว ดังนั้น เรามาเริ่มต้นด้วยการคัดแยกขยะแบบง่ายๆ ก่อนทิ้งตามสีของถังขยะกันเลยดีไหมคะ
โฆษณา