9 พ.ค. เวลา 12:00 • หนังสือ

ทำไมจอมปลวกจึงมีขนาดใหญ่ (ep.1/2)

ที่อุทยานแห่งชาติในเมืองลิทช์ฟิลด์ (Litchfield) ประเทศออสเตรเลียมีสิ่งก่อสร้างที่แปลกและสร้างความประหลาดใจให้กับผู้ที่พบเห็นอย่างมาก
3
เพราะถ้ายืนมองสิ่งก่อสร้างนี้จากระยะไกล เราอาจจะคิดว่าตัวเองกำลังยืนอยู่ในป่าช้าที่มีป้ายหินหลุมฝังศพขนาดใหญ่จำนวนมากตั้งเรียงรายอยู่ห่างกัน แต่เมื่อเราเดินเข้าไปใกล้ๆ สิ่งที่เห็นมันกลับไม่ใช่ป้ายหลุมศพ มันไม่ได้ทำจากปูนแต่มันถูกทำขึ้นจากดินและมีขนาดใหญ่กว่าป้ายหลุมศพทั่วไปมาก
ที่สำคัญคือมันไม่ได้ถูกสร้างขึ้นโดยฝีมือของมนุษย์ แต่กองดินเหล่านี้มันคือจอมปลวกที่สร้างโดยปลวกตัวเล็กๆ
คำถามที่เราคงจะอดสงสัยไม่ได้คือ ทำไมจอมปลวกทั้งหลายมันถึงได้มาเรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบเช่นนี้?
อย่างที่สองคือจอมปลวกทั่วๆ ไปที่เราคุ้นเคยมันจะเป็นกองดินที่มีรูปทรงเหมือนเจดีย์หรือกองทราย แต่ทำไมปลวกแถวนี้จึงมีรสนิยมในการสร้างบ้านแตกต่างไปจากปลวกที่อื่นๆ ทำไมบ้านของมันจึงมีรูปร่างเป็นแผ่นบางๆ
ก่อนที่เราจะไปพยายามหาคำตอบกัน เราจะเดินทางไปดูจอมปลวกอีกที่หนึ่งซึ่งมีความแปลกประหลาดไม่แพ้กัน การที่เราได้เห็นจอมปลวกที่แปลกสองที่ เราอาจจะได้คำอธิบายร่วมบางอย่างที่ทำให้ปลวกทั้งสองแห่งนี้สร้างบ้านที่แตกต่างไปจากปลวกที่อื่นๆ เราจะเดินทางออกจากทวีปออสเตรเลียมุ่งหน้าไปทิศเหนือเพื่อเดินทางไปยังทวีปแอฟริกา
สิ่งที่ทำให้จอมปลวกในทวีปแอฟริกาน่าสนใจคือ ขนาดที่ใหญ่มหึมาของมัน ขนาดของจอมปลวกที่เราเห็นกันทั่วไปนั้นมันก็ชวนให้แปลกใจอยู่แล้วว่าทำไมปลวกที่ตัวเล็กเท่ามดจึงต้องสร้างจอมปลวกใหญ่โตเกินตัวขนาดนั้น แต่จอมปลวกหลายแห่งในแอฟริกาทำให้จอมปลวกที่อื่นๆ กลายเป็นจอมปลวกเด็กเล่น ไปเลย เพราะจอมปลวกที่นี่สร้างบ้านที่สูงใหญ่พอๆ กับห้องแถว สองหรือสามชั้นที่เราอาศัยอยู่กัน ปลวกตัวเล็กๆ เสียแรงสร้างบ้านใหญ่โตไปเพื่ออะไร?
โดยทั่วไปสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติมักจะถูกออกแบบมาให้มีประสิทธิภาพ ประหยัด และยั่งยืน
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะระบบหรือพฤติกรรมใดๆ ก็ตามที่ทำงานได้เท่าๆ กัน ระบบหรือพฤติกรรมที่ฟุ่มเฟือยกว่าจะถูกคัดเลือกออกไปจากธรรมชาติ
เช่น ถ้ากวางวิ่งได้เร็ว 60 กม./ชั่วโมง หมาป่าที่วิ่งได้เร็ว 65 กม./ชั่วโมงก็เพียงพอแล้วที่จะล่ากวางเป็นอาหาร ถ้ามีหมาป่า ที่วิ่งได้ 100 กม./ชั่วโมง มันจะถูกคัดเลือกออกไป เนื่องจากการที่มันจะวิ่งเร็ว 100 กม./ชั่วโมงได้ มันต้องสร้างกล้ามเนื้อมากเป็นพิเศษ จะสร้างกล้ามเนื้อพิเศษมันก็ต้องกินมากกว่าปกติ
1
ดังนั้นการสร้างร่างกายที่เกินพอดีนี้จึงเป็นการลงทุนเกินความจำเป็น แต่ได้งานเท่าๆ กับหมาป่าที่วิ่งช้ากว่า แต่ถ้าเราพบลักษณะที่ฟุ่มเฟือยในธรรมชาติ ลักษณะเหล่านั้นน่าจะเกิดมาจากการคัดเลือกตามธรรมชาติอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่าการคัดเลือกทางเพศ (อ่านคำอธิบายเรื่องเหล่านี้ได้ในหนังสือ เรื่องเล่าจากร่างกาย บทที่ 7 ทำไมคนหล่อถึงหล่อ ทำไมคนสวยจึงสวย)
ถ้าเรามาลองคิดกันดู การสร้างจอมปลวกนี้มันเป็นการสร้างบ้านเพื่ออยู่อาศัยร่วมกันทั้งฝูงเช่นเดียวกับผึ้งและมด ไม่ใช่การสร้างบ้านเพื่อล่อตัวเมียให้ยอมผสมพันธุ์ด้วยเช่นที่พบในนกชนิดต่างๆ
ดังนั้นการสร้างจอมปลวกใหญ่โตนี้มันไม่น่าจะใช่การคัดเลือกทางเพศ
ถ้าอย่างนั้นแล้วพฤติกรรมที่สิ้นเปลืองเช่นนี้ของจอมปลวกมันถูกคัดเลือกมาได้อย่างไร?
การที่พฤติกรรมนี้ถูกคัดเลือกมาแสดงว่ามันน่าจะมีข้อดีบางอย่างที่คุ้มค่ากับแรงและเวลาที่สูญเสียไป? อะไรคือประโยชน์ของการสร้างบ้านที่ใหญ่โตเช่นนี้?
เราจะเห็นว่าทั้งสองบริเวณนี้มันมีลักษณะอย่างหนึ่งที่คล้ายกัน นั่นคือทั้งสองบริเวณนี้เป็นเขตที่มีอากาศแห้งแล้งมาก กลางวันร้อนจัด แต่พอตกกลางคืนอากาศก็เย็นจัด ซึ่งอากาศเช่นนี้ไม่เหมาะกับร่างกายของปลวกที่เล็กและบอบบาง ถ้าเราจับปลวกเหล่านี้ออกมาจากรังตอนกลางวันแล้วมาวางไว้กลางแดด ไม่ถึงชั่วโมงมันก็อาจจะแห้งกรอบตายอยู่ตรงนั้น
เมื่อปลวกมาอาศัยอยู่ในบริเวณที่สิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยเช่นนี้ได้แสดงว่ามันต้องพบวิธีที่จะควบคุมความชื้นและอุณหภูมิที่แกว่งขึ้นลงอย่างรุนแรงของบริเวณนี้
ปลวกพวกนี้มันทำได้อย่างไรกัน?
ในการจะเข้าใจความลับของปลวกเหล่านี้อย่างเห็นภาพ เราต้องไปเข้าใจหลักการของการถ่ายเทความร้อนกันก่อน
ข้าวต้มสองถ้วยขนาดต่างกันตักออกมาจากหม้อเดียวกันพร้อมกัน วางไว้ข้างกัน
ถามว่าข้าวต้มในถ้วยใบใหญ่หรือใบเล็ก จะเย็นเร็วกว่ากัน?
คำถามนี้เราตอบได้ไม่ยากว่าถ้วยเล็กจะเย็นเร็วกว่า เพราะเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกันดี
แต่คำถามที่น่าสนใจกว่าคือ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? คำอธิบายมันมีเรื่องราวอยู่สามส่วนย่อยด้วยกันคือ การถ่ายเทความร้อน พื้นที่ผิวสัมผัส และปริมาตร มันหมายความว่าอย่างไร เราจะค่อยๆ ไปดูกันทีละคำอธิบาย
แรกสุด เป็นเรื่องของหลักการถ่ายเทความร้อน เรารู้ว่าถ้าของร้อนกับของเย็นมันมาแตะกันความร้อนจะวิ่งจากของที่ร้อนกว่าไปหาของที่เย็นกว่า ของที่ร้อนกว่าก็จะเย็นลง ส่วนของที่เย็นกว่าก็จะร้อนขึ้น การถ่ายเทความร้อนนี้ มันจะไม่เกิดขึ้นด้วยความเร็วเท่ากันตลอดเวลา ถ้าเทียบการถ่ายเทความร้อนกับถุงชาที่หย่อนลงไปในน้ำร้อน ในช่วงแรกที่เราหย่อนถุงชาลงไปในน้ำ สีน้ำตาลของชาจะละลายออกมาค่อนข้างเร็ว ต่อมา เมื่อน้ำในถ้วยมีสีน้ำตาลของชาเข้มขึ้น การไหลของชาออกมาจากถุงก็จะค่อยๆ ช้าลง
1
การถ่ายเทความร้อนเองก็จะเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกัน นั่นคือแรกเริ่มเมื่ออุณหภูมิของวัตถุทั้งสองต่างกันมาก การถ่ายเทความร้อนจะเกิดขึ้นเร็ว ต่อมาเมื่อวัตถุทั้งสองมีอุณหภูมิ เข้ามาใกล้กันมากขึ้น การถ่ายเทความร้อนก็จะเกิดขึ้นช้าลง
ตัวอย่างของการถ่ายเทความร้อนที่เราเห็นในชีวิตจริงได้แก่ การที่ลมพัดมาแล้วเรารู้สึกเย็น เรารู้สึกเย็นเพราะอากาศ อุ่นที่อยู่รอบตัวเราถูกพัดออกไปแล้วอากาศเย็นเข้ามาแทนที่เมื่ออากาศเย็นมาล้อมอยู่รอบตัวเรา ความร้อนจากตัวเราก็ถ่ายเทไปสู่อากาศที่เย็นรอบๆ ตัวได้เร็ว ต่อมาไม่นานอากาศเย็น ที่ล้อมรอบตัวเราก็จะกลายเป็นอากาศที่อุ่น ความร้อนจากตัวเราก็ถ่ายเทไปสู่อากาศได้ช้าลง ความเย็นสบายที่เคยรู้สึกจึงหายไป
ด้วยหลักการเดียวกันนี้ เวลาอากาศหนาวขนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมหลายชนิดจะลุกตั้งขึ้น เมื่อขนตั้งขึ้น ขนก็จะทำหน้าที่เหมือนกำแพงกั้นไม่ให้อากาศอุ่นรอบตัวถูกพัดออกไปได้ง่ายๆ (การที่เรายังมีอาการขนลุกเวลาหนาวทั้งๆ ที่เราไม่มีขน เป็นตัวอย่างหนึ่งของลักษณะที่หลงเหลือมาจากวันที่เราเคยมีขน ทั้งตัวเหมือนลิงอื่นๆ)
และเช่นเดียวกัน ในวันที่อากาศหนาวๆ การใส่เสื้อบางๆ แต่ใส่หลายๆ ชั้นอาจจะทำให้อุ่นได้มากกว่า การใส่เสื้อหนาๆ เพียงตัวเดียว เพราะการใส่เสื้อหลายๆ ชั้น มันเหมือนกับเป็นการสร้างกำแพงอากาศอุ่นๆ หุ้มรอบตัวเราหลายๆ ชั้นนั่นเอง
ส่วนที่สองเป็นเรื่องของพื้นที่ผิวสัมผัส ถ้าของที่มีอุณหภูมิต่างกันมีพื้นที่ผิวที่แตะกันกว้าง การถ่ายเทความร้อนก็จะเกิดได้เร็ว ตัวอย่างที่เราเห็นในชีวิตจริงมีมากมาย เช่น เวลาต้องเดินเท้าเปล่าบนพื้นซีเมนต์ร้อนๆ เราจะเดินเขย่งเท้าเพราะเราหรือมีสัญชาตญาณที่จะลดพื้นที่ผิวของเท้าไม่ให้แตะพื้นที่ร้อน กิ้งก่าที่ต้องยืนบนพื้นซีเมนต์ในวันที่อากาศร้อนจัด ๆ มันจะลด พื้นที่ผิวของท้องที่แตะกับซีเมนต์ซึ่งร้อน โดยการชูคอตั้งขึ้นในวันที่อากาศหนาวเราและกระรอกจะหดแขนขาและนอนขดตัวด้วยสัญชาตญาณ
1
เราทำเช่นนั้นเพื่อลดพื้นที่ผิวที่ผิวหนังเราจะแตะกับอากาศเย็น แต่ในวันที่อากาศร้อนเราจะนอนแผ่หลาอยู่กับพื้น เพื่อที่จะเพิ่มพื้นที่ให้ผิวของเราให้สัมผัสกับอากาศได้มากขึ้น
หลักการของพื้นที่ผิวนี้นอกเหนือไปจากเรื่องความร้อนแล้ว เรายังเห็นในตัวอย่างอื่นๆ ได้อีก เช่น เวลาเราอมน้ำแข็งแล้ว เรากัดน้ำแข็งให้แตก เราจะรู้สึกสดชื่นกว่าหรือเย็นกว่า เพราะเมื่อน้ำแข็งแตกพื้นที่ผิวของน้ำแข็งที่สัมผัสกับปากเราจะเพิ่มขึ้นหรือเวลาเรากัดลูกอมให้แตกในปาก เราจะรู้สึกว่ารสหวานมันจะเพิ่มขึ้น เพราะพื้นที่ผิวของลูกอมที่สัมผัสกับปากเรามันเพิ่มขึ้น
1
ส่วนที่สามจะเป็นเรื่องของปริมาตร ของที่มีปริมาตรมากกว่าถ้าเราอยากให้มันร้อนเราต้องใส่ความร้อนเข้าไปนาน กว่ามันจะร้อนขึ้นมา และเมื่อมันร้อนแล้ว ของที่มีปริมาตรมากกว่าจะเก็บความร้อนได้นานกว่า
ตัวอย่างเช่น เวลาเราต้มน้ำ เรารู้ว่าถ้าใส่น้ำเยอะ กว่าเราจะต้มให้เดือดได้ต้องใช้เวลา นาน ที่เป็นเช่นนี้เพราะเราต้องใส่ความร้อนเข้าไปมากและเมื่อเราให้ความร้อนเข้าไปมาก ปริมาณของความร้อนที่เข้าไป สะสมอยู่ในน้ำก็จะเยอะกว่า เมื่อเราทิ้งไว้ให้มันเย็นลง น้ำที่มีความร้อนสะสมอยู่เยอะก็ต้องใช้เวลานานในการจะระบายความร้อนออกมาได้หมด
คราวนี้เราจะเอาทั้งสามข้อที่ว่านี้มารวมกัน...ข้าวต้มในถ้วย ใบใหญ่และใบเล็กต่างก็มีอุณหภูมิเท่ากันเพราะมันถูกตักออกมาจากหม้อใบเดียวกัน แต่ปริมาณความร้อนที่มีอยู่ในถ้วยใบใหญ่ จะมีมากกว่าถ้วยใบเล็ก
เมื่อเรานำข้าวต้มทั้งสองถ้วยมาวางไว้ ที่อุณหภูมิห้อง ความร้อนจากถ้วยข้าวต้มก็จะถูกถ่ายเทไปให้ อากาศที่อยู่รอบๆ ถ้วย แต่ความร้อนจะถ่ายเทออกมาจากถ้วยข้าวต้มได้เร็วมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นกับว่าช่องทางที่ให้ความร้อนมันออกมีความกว้างมากน้อยแค่ไหน ประตูทางออกที่ว่านี้ก็คือ พื้นที่ผิวของถ้วยข้าวต้มที่สัมผัสกับอากาศ
เราเคยคุยกันไปแล้วในบทความ “ทำไมอุลตราแมนและไฟฉายย่อส่วนเป็นจริงไม่ได้ “ ว่าเมื่อขนาดของถ้วย ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ “ปริมาตรที่เพิ่มขึ้น” จะเพิ่มขึ้นเร็วกว่า “พื้นที่ผิว ที่เพิ่มขึ้น” หรือเราอาจจะพูดอีกแบบได้ว่า เมื่อถ้วยข้าวต้มใหญ่ ขึ้น “ปริมาณของความร้อนที่มีอยู่ในถ้วยจะเพิ่มขึ้นเร็วกว่าช่องทางออกของความร้อน” เมื่อช่องทางออกขยายตามไม่ทันความร้อนที่เพิ่มขึ้นในถ้วยใหญ่จึงใช้เวลาในการระบายออกมาก ขึ้น
2
หรือถ้าจะพูดให้ฟังดูวิชาการหน่อยก็จะได้ว่า ถ้วยข้าวต้มที่ใหญ่กว่าจะร้อนนานกว่า เพราะถ้วยใบใหญ่มี “สัดส่วนของ พื้นที่ผิวต่อปริมาตร” น้อยกว่าถ้วยใบเล็ก
ถึงตรงนี้คุณพอจะเห็นแล้วใช่ไหมครับว่า ทำไมปลวกจึงสร้างจอมปลวกขนาดใหญ่?
แต่เรื่องราวมันยังไม่จบเท่านี้การจะทำให้อุณหภูมิและความชื้นภายในบ้านไม่แปรเปลี่ยนไปตามสิ่งแวดล้อมภายนอกนั้นบ้านใหญ่อย่างเดียวมันไม่พอ เพราะถ้าเราเปิดหน้าต่างทั้งบ้านบ้านใหญ่แค่ไหนก็ช่วยอะไรไม่ได้ ดังนั้นปลวกเหล่านี้จึงต้องสร้างผนังจอมปลวกให้หนาด้วยเช่นกัน และนั่นก็นำไปสู่ปัญหาใหม่ที่ปลวกทั้งหลายต้องหาทางแก้ไข ติดตามกันต่อได้ใน ep. 2 ครับ
💜 หมายเหตุ : เนื้อหาย่อและเรียบเรียงมาจาก หนังสือ “เหตุผลของธรรมชาติ”
เรียบเรียงโดย : แอดมินเอ็ม
ภาพโดย : แอดมินฝ้าย
กดซื้อหนังสือแบบ E-book ได้แล้ววันนี้ที่
💗 Chula book : https://bit.ly/3GdY7dO
💗 Bookcaze : https://bit.ly/40O6Cpl
💗 Naiin ebook : https://bit.ly/3OHiWTk
💗 ปิ่นโต ebook : https://bit.ly/3OSko5o
กดซื้อหนังสือแบบเล่ม ได้ที่
💚 Line My Shop : https://bit.ly/3PlxYyt
โฆษณา