สำหรับฮังการีนั้น ความสัมพันธ์ทวิภาคีกับจีนดีเรื่อยมานับตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการในปี 1949 และยกระดับเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมในปี 2017 แถมจีนยังเดินหน้าสร้างโรงงานผลิตรถ EV แห่งแรกใน EU ในฮังการีด้วย
การมารอบนี้ของสีจิ้นผิงยังมีการเซ็นข้อตกลงหลายฉบับที่มุ่งขยาย Belt and Road ในฮังการี ซึ่งจะนำไปสู่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและภาคพลังงานมูลค่ามากมายมหาศาล โดยจีนเล็งเห็นความสำคัญของฮังการีในฐานะหมุดเชื่อมต่อจากยุโรปกลางไปสู่ยุโรปตะวันตก
ทริป 6 วันของสีจิ้นผิง ด้านหนึ่งเป็นความพยายามของจีนในการฉายภาพให้เห็นสองทางเลือก ทางเลือกหนึ่งที่นำไปสู่โอกาสทางการค้าและการลงทุนใหม่ๆ กับอีกทางเลือกหนึ่งที่อาจนำไปสู่ทางตัน โดยในบทบรรณาธิการสื่อกระบอกเสียงคอมมิวนิสต์จีนอย่าง Global Times เตือนว่า ยุโรปควรเป็นอิสระในการกำหนดนโยบายโดยไม่ถูกควบคุมจากมือที่สาม ซึ่งแม้ไม่เอ่ยชื่อประเทศมาตรงๆ แต่ก็ชัดเจนว่าหมายถึงสหรัฐฯ
ทั้ง EU และจีนต่างยอมรับว่า ยุโรปกำลังเผชิญความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย จีนเองก็ต้องอาศัยคู่ค้าที่สำคัญอย่าง EU แต่ทางเลือกของยุโรปเหลือน้อยลงเรื่อยๆ ท่ามกลางแรงบีบคั้นทางภูมิรัฐศาสตร์ ในขณะที่จีนยังเหลือพื้นที่ในกระดานให้เลือกเดินหมากได้มากกว่า