10 พ.ค. เวลา 02:37 • การเมือง

ความเป็นกลางของสวิสแตก (1)

โดย
นิติการุณย์
มิ่งรุจิราลัย
1
สภาสหพันธ์รัฐบาลกลางสวิตเซอร์แลนด์ผ่านมติเข้าร่วม European Sky Shield Initiative (ESSI) หรือ 'ข้อริเริ่มโล่ท้องฟ้ายุโรป'
ข้อริเริ่มนี้เยอรมนีตั้งเมื่อ ค.ศ.2022 เพื่อเพิ่มศักยภาพการป้องกันของยุโรป เป็นโครงการป้องกันภัยทางอากาศ ที่ป้องกันไม่ให้ถูกรัสเซียโจมตี
ที่จริงสวิตเซอร์แลนด์ไม่น่าเลิกการวางตัวเป็นกลาง ทั้งที่รักษาสถานะความเป็นกลางมายาวนาน
2
ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ยุโรปเกิดสงครามใหญ่ เรียกว่าสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (ค.ศ.1870-1871)
คู่สงครามต่างเป็นมหาอำนาจที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่และอยู่ติดพรมแดนสวิส ตอนนั้นใครๆ ก็คิดว่าสงครามมาประชิดพรมแดนอย่างนี้แล้ว สวิสไม่มีทางหนีสงครามได้แน่นอน จะต้องเลือกเข้าข้างใดข้างหนึ่ง
แต่สวิตเซอร์แลนด์สามารถดำรงความเป็นกลางไว้ได้จนสิ้นสงคราม ต่อมามีสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ.1914-1918) ประเทศทั้งในและนอกยุโรปถูกดึงเข้าสู่สงคราม
คราวนี้ก็เหมือนกัน ความที่สวิตเซอร์แลนด์ตั้งอยู่ตรงกลางทวีปยุโรปซึ่งเป็นที่ตั้งของการสู้รบ รวมทั้งในสวิตเซอร์แลนด์เองก็ประกอบไปด้วยผู้คนชนชาติต่างๆ ที่ทะเลาะกันในสงครามโลกครั้งที่ 1 คนจำนวนไม่น้อยคิดว่า ยังไงสวิตเซอร์แลนด์ก็หนีสงครามไปไม่รอด
สวิตเซอร์แลนด์เก่งมาก หลีกเลี่ยงสงครามได้อย่างแนบเนียน ยืนหยัดความเป็นกลางได้อย่างยอดเยี่ยม ระหว่างรบพุ่งกัน อุตสาหกรรมของประเทศอื่นพัง แต่ของสวิตเซอร์แลนด์กลับขยายตัว
1
ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเครื่องจักรกล อุตสาหกรรมสิ่งทอ การแปรรูปอาหาร การเกษตร แม้แต่การผลิตนาฬิกา ความที่พื้นที่ไม่เสียหายจากการสู้รบ (ประเทศอื่นบ้านเรือนพังพินาศย่อยยับ)
1
สวิตเซอร์แลนด์ใช้ความไม่เสียหายจากสงครามสร้างตัวเองเป็นศูนย์กลางองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับมนุษยธรรมและการบรรเทาทุกข์ สวิตเซอร์แลนด์ยอมรับผู้ลี้ภัยให้เข้ามาอยู่ชั่วคราวในประเทศตนเอง ชื่อเสียงสวิตเซอร์แลนด์เริ่มดีจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 1
1
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง สนธิสัญญาแวร์ซายได้ให้การยอมรับสถานภาพความเป็นกลางของสวิตเซอร์แลนด์ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสันติภาพโลก ค.ศ.1920 มีการก่อตั้งสันนิบาตชาติ โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เฌอแนฟว์ ภาครอม็องดี ภาษาอังกฤษเรียกเมืองนี้ว่า ‘เจนีวา’ และสวิตเซอร์แลนด์ได้เข้าเป็นสมาชิกสันนิบาตชาติตั้งแต่เริ่มแรก
6
สมัชชาสันนิบาตชาติย้ำถึงความสำคัญของความเป็นกลาง ‘ตลอดกาล’ และ ‘บูรณภาพแห่งดินแดน’ ของสวิตเซอร์แลนด์ มีข้อความระบุชัดเจนว่า สวิตเซอร์แลนด์จะไม่ถูกเรียกร้องให้เข้าร่วมในการปฏิบัติการทางทหารใดๆ และจะไม่ยอมให้กองกำลังต่างชาติเข้าไปพำนักหรือหยุดพักในดินแดนสวิส
3
มีเรื่องหนึ่งที่สำคัญที่สวิตเซอร์แลนด์มีพันธะที่จะเข้าร่วมคือการแซงก์ชั่นหรือมาตรการบังคับต่อประเทศที่ละเมิดกติกาสัญญาของสันนิบาตชาติตามที่สันนิบาตชาติเรียกร้อง
สันนิบาตชาติอ่อนแอลงเรื่อยๆ มหาอำนาจไม่ยอมปฏิบัติตามมติของสมัชชาสันนิบาตชาติ พอมีการอภิปรายตำหนิติเตียนก็ลาออกจากสมาชิกภาพ ทำให้สันนิบาตชาติเป็นองค์กรที่ไม่มีบทบาท
1
ค.ศ.1939 ตอนที่เริ่มสงครามโลกครั้งที่ 2 สวิตเซอร์แลนด์มีประชากรเพียง 4 ล้านคน แต่สามารถเรียกระดมพลได้สูงถึง 8.5 แสนคน
ที่เป็นเช่นนี้เพราะรัฐบาลสวิสตระหนักแล้วว่า การที่จะธำรงความเป็นกลางให้ได้นั้น สวิตเซอร์แลนด์จำเป็นต้องมีความเข้มแข็งของตัวเอง ทั้งเรื่องการทหารและเศรษฐกิจ
ในสงครามโลกครั้งที่ 2 พวกนาซีของกองทัพเยอรมนีแข็งแรงมาก นาซีโจมตีประเทศโน้น บังคับประเทศนี้ สวิตเซอร์แลนด์กลัวนาซีจะมาเล่นงานประเทศตัวเอง จึงสร้างป้อมไว้บนเทือกเขาแอลป์ มีอาวุธ รวมทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาหาร น้ำ โรงผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ และโรงงานต่างๆ
4
สวิสเป็นประเทศที่มีการเตรียมพร้อมในทุกด้าน การสร้างป้อมปราการนี่ก็เหมือนกัน ถ้าทหารนาซีเยอรมันโผล่ออกมาก็เป็นต้องสู้กัน
2
เรื่องความเป็นกลางของสวิตเซอร์แลนด์น่าสนใจ วันจันทร์หน้ามาต่อครับ.
โฆษณา