24 มิ.ย. เวลา 12:00 • ไลฟ์สไตล์
Rimping Supermarket NimCity Branch

มีใครสงสัยไหมว่าอิทธิพลของเสียงดนตรีส่งผลต่อการรับรู้รสชาติของเราอย่างไร ?

หลายครั้งที่เราไปรับประทานอาหาร ร้านอาหารหลายแห่งมักจะเปิดเพลงที่แตกต่างกันออกไปตามรสนิยม และเอกลักษณ์ของแบรนด์ ทั้งนี้หลายคนอาจจะไม่เคยสังเกตว่าเสียงเพลงที่เหมาะสมกับบรรยากาศทำให้รสชาติอาหารที่เราทานอร่อยมากยิ่งขึ้น กลับกันหากเพลงที่เปิดไม่เหมาะสมกับบรรยากาศอาหารที่เราทานก็อาจจะมีรสชาติไม่ถูกปากตามไปด้วย
.
อิทธิพลของเสียงดนตรีต่อการรับรู้รสชาติของอาหารเป็นงานวิจัยที่ได้รับการศึกษามาเป็นอย่างดี ซึ่งในงานวิจัยต่าง ๆ เหล่านี้นอกจากจะค้นพบว่าเสียงดนตรีส่งผลต่อรสชาติแล้ว ยังพบว่าเสียงดนตรีส่งผลต่อจังหวะในการทาน รวมไปถึงการเลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่มด้วย
.
The right music makes for the right ambience
“เพลงที่ใช่จะสร้างบรรยากาศที่เหมาะสม” หมายความว่าเพลงมีอิทธิพลอย่างมากต่อประสบการณ์การทานและการเลือกอาหารของเรา ตัวอย่างเช่น งานวิจัยเกี่ยวกับอิทธิพลของดนตรีที่ส่งผลต่อการเลือกซื้อไวน์ของ Adrian C., David J. Hargreaves and Jennifer McKendrick พบว่าการเปิดเพลงฝรั่งเศสในซูเปอร์มาร์เก็ตในอังกฤษทำให้ไวน์ฝรั่งเศสมียอดขายเพิ่มขึ้น นอกจากนี้งานวิจัยของ Areni, C.S. and Kim ยังพบว่าการเปิดดนตรีคลาสสิกในร้านขายไวน์มักจะเกี่ยวข้องกับคุณภาพและความซับซ้อนทำให้ลูกค้าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น
.
งานวิจัยของ Zellner, Debra et al. ในโรงอาหารของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาพบว่าการเปิดเพลงสเปนทำให้นักเรียนเลือกทานปาเอญ่า (Paella) มากกว่าเมนูอาหารอิตาลี
1
งานวิจัยเกี่ยวกับเสียงดนตรีและรสชาติของ Klemens Knöferle & Charles Spence ที่ตีพิมพ์ในปี 2012 พบว่าเสียงที่แหลมสูงจะสัมพันธ์กับรสชาติหวานและเปรี้ยว ส่วนเสียงที่ต่ำจะสัมพันธ์กับรสชาติที่ขมและเผ็ด ด้วยเหตุนี้เองจึงมีการแต่งเพลงที่ถูกออกแบบมาเพื่อเสริมรสชาติของอาหารโดยเฉพาะ
.
นอกจากนี้งานวิจัยของ Ronald E. Milliman ที่ตีพิมพ์ใน Chicago Journals ยังกล่าวว่าใช้เวลากว่า 8 สัปดาห์ในการศึกษาพฤติกรรมของลูกค้าที่นั่งในร้านอาหาร พบว่าถ้าเปิดดนตรีในจังหวะที่ช้าลูกค้าจะนั่งในร้านโดยเฉลี่ย 29 นาที แต่ถ้าหากเปิดดนตรีในจังหวะที่เร็วขึ้นลูกค้าจะนั่งในร้านโดยเฉลี่ย 27 นาที เนื่องจากพบว่าการเปิดดนตรีที่ช้าจะทำให้ลูกค้าทานอาหารช้าลง กลับกันหากเปิดดนตรีเร็วลูกค้าก็จะทานอาหารได้เร็วขึ้น
.
Factors related to music and food taste
สภาวะทางอารมณ์ - ส่งผลต่อการรับรู้รสชาติอาหารของเราได้ ตัวอย่างเช่น หากเรากำลังฟังเพลงที่สนุกสนานเราอาจรู้สึกว่าอาหารนั้นน่ารับประทานมากขึ้น
จังหวะของดนตรี - ส่งผลต่อจังหวะที่เราทาน ดนตรีที่เร็วจะกระตุ้นให้เกิดการทานที่เร็วขึ้น ในขณะที่ดนตรีช้าจะกระตุ้นให้เกิดความผ่อนคลายสามารถทานอาหารได้ช้าลงและลิ้มรสชาติของอาหารได้อย่างเต็มที่
ระดับเสียงของดนตรี - ส่งผลต่อรสชาติ เช่น ระดับเสียงสูงอาจช่วยเพิ่มการรับรู้ถึงรสชาติที่หวานและเปรี้ยว ในขณะที่ดนตรีที่มีระดับเสียงต่ำอาจช่วยเพิ่มรสชาติที่ขมหรือเผ็ดได้
บริบทในการเล่นดนตรี - มีบทบาทสำคัญในการทานอาหาร ตัวอย่างเช่นหากเพลงใดเพลงหนึ่งมอบประสบการณ์เชิงบวกในการทานอาหาร การได้ยินเพลงนั้นอีกครั้งอาจทำให้เกิดความทรงจำเกี่ยวกับรสชาติที่ดีของอาหารได้
ความชอบส่วนตัว - ผู้คนมีความชอบเฉพาะตัวในเรื่องดนตรี และความชอบเหล่านี้ส่งผลต่อความเพลิดเพลินในการทานอาหาร เพราะหากเรากำลังเพลิดเพลินกับมื้ออาหารอยู่ แต่ในขณะเดียวกันร้านอาหารดันเปิดเพลงที่ไม่ตรงกับแนวทางที่เราชอบก็อาจจะทำให้ความสุขในมื้ออาหารนั้นลดลง
.
จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นจะเห็นได้ว่าอิทธิพลของดนตรีต่อการรับรู้รสชาติเป็นปรากฏการณ์ที่หลากหลายและน่าสนใจ โดยเน้นย้ำถึงความซับซ้อนระหว่างประสาทสัมผัสและวิธีการทานอาหาร ซึ่งร้านอาหารและซุปเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งต่างก็ตระหนักถึงศักยภาพของดนตรีในการเพิ่มรสชาติของอาหาร จนนำไปสู่การคัดสรรดนตรีอย่างพิถีพิถัน เพื่อสร้างบรรยากาศอันน่ารื่นรมย์ให้กับการทานอาหารและการเลือกซื้อสินค้า
สามารถหาซื้อวัตถุดิบและฟังเพลงที่เข้ากับบรรยากาศเพลิน ๆ ได้ที่ริมปิงทุกสาขานะคะ
โฆษณา