7 ก.ค. 2024 เวลา 12:00 • ไลฟ์สไตล์
Rimping Supermarket NimCity Branch

ทำความรู้จัก “Grappa" เครื่องดื่มแอลกอฮอล์สัญชาติอิตาลีที่ผลิตจากองุ่นที่เหลือจากการผลิตไวน์

ลึกลงไปในใจกลางของอิตาลีที่ซึ่งไร่องุ่นมีบทบาทสำคัญในการผลิตไวน์ที่แสนล้ำค่า แต่ทว่าไม่ได้มีเพียงแค่ไวน์เท่านั้นที่ถูกทำด้วยความหลงใหล แต่ชาวอิตาลียังรู้จักพลิกแพลงนำของเหลือมาพัฒนาให้มีคุณค่าอีกครั้ง โดยการนำเอาองุ่นที่เหลือจากการผลิตไวน์มาทำ “แกรปป้า” (Grappa) เครื่องดื่มที่เต็มไปด้วยภาพสะท้อนทางวัฒนธรรมของชาวอิตาเลี่ยน
.
แกรปป้าเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่งที่ผลิตโดยการนำเปลือก ก้าน และเมล็ดองุ่นที่เหลือจากการทำไวน์มากลั่นจนได้เป็นสุราบริสุทธิ์สีขาวใส ซึ่งในบางครั้งก็อาจจะถูกนำไปบ่มต่อในถังไม้โอ๊กทำให้มีสีเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทองหรือน้ำตาล มีรสชาติเข้มข้นและ Dry โดยทั่วไปแล้วจะมีปริมาณแอลกอฮอล์ที่ค่อนข้างสูง ตั้งแต่ 35-60%
.
ต้นกำเนิดของแกรปป้าต้องย้อนกลับไปในภูมิภาค Veneto ทางตอนเหนือของอิตาลี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตไวน์ที่มีความเจริญรุ่งเรืองมานานหลายศตวรรษ โดยแกรปป้าในยุคแรกสุดกล่าวกันว่าถูกผลิตขึ้นมาโดยผู้ผลิตไวน์ที่พยายามใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากหลังการบีบและบ่มองุ่นเพื่อผลิตไวน์จะมีเปลือก ก้าน และเมล็ดองุ่นเหลืออยู่ แทนที่พวกเขาจะนำไปทิ้ง แต่ชาวอิตาเลียนผู้รอบรู้ก็ค้นพบว่าสามารถนำองุ่นที่เหลือเหล่านั้นมากลั่นเพื่อทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ทรงพลังได้
.
บันทึกเก่าแก่ที่สุดของการผลิตแกรปป้ามีมาตั้งแต่ยุคกลาง นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าแกรปป้าเป็นหนึ่งในสุรากลั่นที่เก่าแก่ที่สุด โดยเวอร์ชันแรก ๆ มักจะมีรสชาติค่อนข้างรุนแรง ถูกบริโภคเนื่องจากเชื่อว่ามีคุณสมบัติช่วยในการย่อยอาหารและบรรเทาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ
เมื่อเวลาผ่านไปการผลิตแกรปป้าก็เริ่มมีวิวัฒนาการที่ดีขึ้น ด้วยความก้าวหน้าในเทคนิคการกลั่นทำให้สามารถควบคุมกระบวนการผลิตได้ รสชาติของแกรปป้าในยุคต่อมาจึงมีความนุ่มนวลและดื่มได้ง่าย ทั้งนี้ผู้ผลิตยังตระหนักถึงความสำคัญของสายพันธุ์องุ่นและคุณภาพขององุ่นที่เหลือจากการผลิตไวน์ด้วย โดยทดลองนำองุ่นสายพันธุ์ต่าง ๆ มากลั่น จึงส่งผลให้เกิดแกรปป้าหลากหลายประเภทซึ่งมีรสชาติและสีที่แตกต่างกัน
.
ในแถบชนบทของอิตาลีชาวบ้านมักจะทำแกรปป้ากันเองตามบ้าน ซึ่งแต่ละบ้านก็จะมีสูตรเฉพาะตัว เวลาแขกมาเยี่ยมเยียน ชาวอิตาเลี่ยนเจ้าของบ้านก็จะไม่พลาดเอาแกรปป้าที่ตัวเองทำออกมาโชว์ แล้วให้แขกได้ลิ้มลอง ซึ่งวัฒนธรรมนี้เป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งที่ตกทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ดังนั้นตลอดประวัติศาสตร์แกรปป้าจึงมีบทบาทสำคัญในวัฒนธรรมของอิตาลี ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นสัญลักษณ์ของการต้อนรับที่แบ่งปันกันในหมู่เพื่อนฝูงและครอบครัว เพื่อเฉลิมฉลองโอกาสพิเศษและสร้างความสัมพันธ์อันดีงาม
.
ปัจจุบัน Grappa เป็นชื่อที่ได้รับการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ในสหภาพยุโรป หากต้องการเรียกว่า Grappa จะต้องทำตามกฏเกณฑ์ดังต่อไปนี้ คือ ผลิตในอิตาลี โดยใช้กากองุ่นที่เหลือจากการผลิตไวน์เท่านั้น และต้องกลั่นโดยใช้วิธีการแบบดั้งเดิมไม่มีการเติมสารปรุงแต่งใด ๆ ลงไป ซึ่งกระบวนการกลั่นจะต้องส่งผลให้มีปริมาณแอลกอฮอล์ขั้นสุดท้ายอยู่ระหว่าง 35-60% นอกจากนี้มาตรฐานคุณภาพและวิธีการผลิตจะต้องได้รับการตรวจสอบโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือสมาคมอุตสาหกรรม
.
ทุกวันนี้แกรปป้าได้รับการเฉลิมฉลองไม่เพียงแต่ในอิตาลีเท่านั้น แต่ยังเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก สามารถพบได้ในบาร์ค็อกเทลและร้านอาหารชั้นเลิศ นิยมดื่มหลังอาหาร เพื่อช่วยย่อย ซึ่งปกติมักจะเสิร์ฟแบบแช่เย็นและดื่มแบบเพียว ๆ ค่อย ๆ จิบในแก้วลักษณะคล้ายกับแก้วแชมเปญมีขนาดเล็กรูปทรงดอกทิวลิป และนอกจากนี้ยังสามารถดื่มควบคู่กับกาแฟเอสเปรสโซ่ร้อนหรือว่าจะดื่มแบบผสมกันไปในนั้นเลยก็ได้
.
Grappa classifications and styles
Giovane (Young) แกรปป้าประเภทนี้จะถูกบรรจุลงขวดทันทีหลังจากผลิตเสร็จ ดังนั้นจึงไม่มีสีและมีความโปร่งใส มีกลิ่นหอม รวมไปถึงมีความ Dry และบริสุทธิ์
Aromatica (Aromatic) ทำจากองุ่นจำพวก Muscat, Gewürztraminer และ Malvasia โดยแกรปป้าชนิดนี้จะดึงเอากลิ่นหอมที่โดดเด่นเฉพาะตัวขององุ่นสายพันธุ์เหล่านี้ออกมา บ่มในถังไม้อย่างน้อย 12 เดือน
Affinata (Refined) แกรปป้าประเภทนี้จะถูกบรรจุลงขวดหลังจากบ่มในถังไม้อย่างน้อย 12 เดือน
Invecchiata or Vecchia (Aged or old) แกรปป้าประเภทนี้จะถูกบรรจุลงขวดหลังจากบ่มในถังไม้อย่างน้อย 12 - 18 เดือน
Stravecchia or Riserva (Very old or reserve) แกรปป้าประเภทนี้จะถูกบรรจุลงขวดหลังจากบ่มในถังไม้อย่างน้อย 18 เดือน
Single Variety แกรปป้าประเภทนี้ได้มาจากองุ่นเพียงสายพันธุ์เดียวเท่านั้น ซึ่งจะมีระบุอยู่บนฉลากว่าเป็นองุ่นสายพันธุ์ใด
Polivitigno (Poly-variety) ได้มาจากองุ่นเพียงสายพันธุ์เดียว จากผู้ผลิตเดียว แต่อาจแตกต่างกันในระยะเวลาการสุก ระยะเวลาเก็บเกี่ยว และวิธีการหมักไวน์
โฆษณา