10 พ.ค. เวลา 09:21 • ปรัชญา
ถนน สีลม

การนับถือเทพเพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจให้ละกิเลสสามารถทำได้ทั้งชายหญิงและเพศที่ ๓ แต่-ห้ามขอโชคลาภ!(EP3)

ในตอนที่ ๓ ของซีรี่ย์นี้ ผู้เขียนจะขอแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกับสัมมาเทพเจ้าองค์ที่ ๓ ผู้มีความเหมาะสมคู่ควรให้ชาวเกย์หรือชายรักชาย(รวมทั้งสตรีข้ามเพศ) และผู้มีราคะจริตกล้าแข็งได้นับถือ ตามอุดมคติของการนับถือสัมมาเทวดาในศาสนาพุทธ ที่มุ่งเน้นการนับถือเพื่อน้อมนำเอาศีลและธรรมะตามหลักพระพุทธศาสนามายึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นแบบอย่างแนวทางในการดำเนินชีวิตโดยไม่ต้องขอพรให้ปวดสมองนั่นเอง
สัมมาเทพเจ้าองค์นี้มีตัวตนจริงเช่นกันกับองค์ท้าวเวสสุวรรณและองค์พระแม่ธรณี เป็นตำแหน่งหน้าที่หนึ่งของกลุ่มอำมาตยะเทพที่พุทธศาสนิกชนโบราณเรียกขานกันว่า "กลุ่มเทพวิทยราชัน(วิทยราช)" กลุ่มเทพวิทยราชันเกิดขึ้นจากกลุ่มเทพสัมมาเทวดาที่ตั้งตนจะปกปักรักษาพระพุทธศาสนา โดยตั้งเป้าว่าจะปกปักคุ้มครองพระพุทธศาสนาให้อยู่ยาวนานตลอดไปจนกว่าโลกาจะวินาศสิ้นลงนั่นเอง(เกินห้าพันปี ต่างจากที่พระพุทธโคดมเคยตรัสพุทธทำนายเอาไว้ว่าศาสนาพุทธจะเสื่อมลงๆในทุก-สหัสวรรษ และจะสูญหายไปจากโลกภายในเวลาห้าพันปีนับจากการปรินิพพาน)
วิทยราชันหรือวิทยาราช วิทยะราชก็เรียก แปลว่า เจ้าแห่งความรู้แจ้ง วิทยราชเป็นกลุ่มเทพที่มีเพียงในศาสนาพุทธเท่านั้น กลุ่มเทพวิทยาราชเกิดขึ้นในภายหลังจากศาสนาพุทธเดิมมีการแยกนิกายออกไปตามจริตของสาธุชนที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่แล้วพวกวิทยราชจะเคยมีอดีตชาติเป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธด้วยความฮึกเหิม เมื่อสิ้นชีพจึงได้มาเกิดเป็นเทวาเสนาอำมาตย์แห่งสรวงสวรรค์ ศาสนาพุทธที่แตกออกจากศาสนาพุทธต้นฉบับ ก็ได้แก่ พุทธนิกายมหายาน และ พุทธนิกายวัชรยาน(หรือ มนตระยาน คุย-หะยานก็เรียก)
โดยวิทยราชจะมีทั้งที่เป็นสัมมาเทวดาแบบที่ ๑.ยังไม่บรรลุธรรม(แต่ไม่ประมาทในกรรมจึงสามารถประคองตนให้ไม่ไปอบายภูมิได้ทุกชาติ แต่ยังไม่สามารถหลุดพ้นสังสารวัฏได้) และ ๒.สัมมาเทวดาแบบที่บรรลุธรรมแล้ว(เป็นพระโสดาบัน,สกิทาคามีและอนาคามี กำลังจะหลุดพ้นแล้ว) ซึ่งวิทยะราชประเภทแรกจะสามารถเป็นผู้เปี่ยมไปด้วยโพธิเจตนารมณ์(เป็นพระโพธิสัตว์) หรือจะเป็นสัมมาเทวดาเพียงเฉยๆ โดยไม่ได้เป็นโพธิสัตว์ก็ได้
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สัมมาเทวดาก็คือสัมมาเทวดา เป็นเทพที่มีสัมมาทิฏฐิ จะเป็นพระโพธิสัตว์หรือไม่ เป็นอริยะหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ โดยทั่วไปแล้ว สัมมาเทวดามักจะเป็นเทพที่อยู่ในชั้นจาตุมหาราชิกาไปจนถึงชั้นดุสิต อาทิเช่น ท้าวเวทสุวรรณ(ชั้นจาตุฯ) ท้าวสักกะ(ชั้นดาวดึงส์) ท้าวผกาพรหม,ท้าวสุยามะ(ชั้นยามา) พระศรีเมตรัย,พระสันตะดุสติ(ชั้นดุสิต) เป็นต้น
หนึ่งในสมาชิกของกลุ่มวิทยราชัน มีองค์หนึ่งเป็นเทพเจ้าผู้มีความใกล้ชิดกับปุถุชนอย่างถึงที่สุด ถึงขนาดที่ว่าสถิตอยู่ในกายของเราแทบทุกคน โดยเฉพาะคนวัยรุ่นหนุ่มสาวช่วงวัยเจริญพันธุ์ เพราะคนวัยหนุ่มสาวใช้พลังอำนาจของเทพองค์นี้อยู่ในจิตารมณ์อยู่เกือบตลอดเวลา องค์เทพองค์นี้มีพระนามว่า "ราคราช"(อ่านว่าราคะราด) ในบริบทนี้ผู้เขียนจะขออธิบายถึงเทพองค์นี้โดยใช้คติวิสัยแบบเถรวาท(พุทธคติเดิมแท้)ในการให้เหตุและผลครับ
ราคราชเป็นเทวยักษ์เจ้าแห่งราคะ เป็นผู้คุ้มรองให้ปุถุชนที่มีความปรารถนาด้านกามราคะ ได้รับรสชาติอันสนุกเร่าร้อนของราคะ-เพศรส สมใจอยากโดยปลอดภัยและไม่ผิดศีลธรรม เป็นเทพเจ้าที่มีอีกชื่อว่ากามเทพ เป็นเทพแห่งการยับยั้งห้ามใจมิให้เกิดการผิดศีลข้อ ๓ เป็นเทพแห่งความรักแบบพิศวาส-เพลิดเพลินทางเพศ เป็นเทพอุปถัมป์การเสพสมสังวาสธรรม เป็นเทพผู้อุปถัมป์ความสวยหล่อและความงาม เป็นเทพตัวแทนกุศโลบายแห่งการน้อมนำกล่อมเกลาจิตใจให้ผู้ที่มีราคะ สามารถเปลี่ยนกามราคะเป็นความรักอันบริสุทธิ์(เมตตา)ได้
นอกจากนี้ ราคะราชยังเป็นผู้มีพลังงานที่ช่วยสนับสนุนแรงใจให้ผู้คนสามารถเปลี่ยนการรับรู้ตัณหาทางโลกไปเป็นการตื่นรู้ทางจิตวิญญาณได้ ราคราชมีชื่อในภาษาญี่ปุ่นว่าอัยเซ็มเมียวโอ ภาษาจีนเรียก อ้ายร่านมิ่งหวัง แปลได้ว่า ผู้เป็นใหญ่แห่งความบันเทิงในรัก(ความสำราญทางเพศอันแฝงธรรมะไว้) หรือจะแปลว่าเจ้าแห่งกามก็ไม่ผิด
ราคราชเป็นเทพเจ้าประเภทพญายักษ์ ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา พระองค์ทรงมีลักษณะเป็นยักษ์ ๓ ตาใบหน้าหล่อเหลาคร้ามคม นัยน์เนตรสีทองหมายถึงดวงตาเห็นธรรม ราคราชมีพระวรกายสีชมพูเกือบแดงอันหมายถึงความรัก ความเมตตา-กรุณา ความงามและความใคร่ มีพระเกศาเป็นเปลวเพลิงสีทอง แสดงถึงการรู้แจ้งเห็นจริง(โพธิจิต) เนตรอันดุดันถมึงทึงทั้ง ๓ ดวงหมายถึงปัญญาญาณแห่งพระพุทธ,พระธรรมและพระอริยสงฆ์ ที่แข็งกล้า และพร้อมจะสยบมาร ปราบปรามปุถุชนใจชั่วที่ลอบทำลายพระรัตนตรัยและผู้ที่ไม่ยอมจำนนต่อพระรัตนตรัย
บนพระเศียรมีมงกุฏรูปหัวสิงห์อ้าปากกว้างเห็นเขี้ยวแวบวาว แสดงถึงความกล้าหาญ และชนะมาร-ชนะกิเลส-ชนะภวตัณหาและวิภวตัณหา(รักโลภโกรธหลง) ชนะกามราคะ รวมทั้งปากที่กว้างของสิงห์ก็สามารถงับเอาความปรารถที่จะทิ้งกิเลสและอัตตาตัวตนของสาธุชนคนพุทธผู้ยังว้าวุ่นในกามคุณแต่ก็ใฝ่ธรรมะ
ยอดมงกุฏเป็นรูปสายฟ้า ๕ แฉกหมายถึงขันธ์ ๕ หรือ รูปกาย เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ อันเป็นต้นเหตุแห่งการเวียนว่ายตายเกิดมาทรมานในป่าดงพงแห่งกามไม่จบไม่สิ้นนั่นเอง ราคราชทรงมีพระพาหา ๖ ข้าง ข้างหนึ่งทรงถือไม้ตะขอไว้ในหัตถ์เพื่อเกี่ยวขึงดึงดูดผู้คนที่หลงใหลในกามคุณให้เดินตามราคะแล้วมาตกหลุมพรางแห่งการเปลี่ยนราคะไปเป็นรักอันบริสุทธิ์ ข้างหนึ่งทรงถือดอกบัวที่ยังไม่บานแต่รอวันเบิกบานเพื่อประทานความหวังให้แก่ปุถุชนที่ยังถูกกามและความรักเล่นงานได้หันกลับมาสงบระงับกามราคะ สู่การมองเห็นธรรมะแท้
กระดิ่งเพชรและสายฟ้า-วชิระในกรอีก ๒ ข้างหมายถึงการกำจัดภยันตรายโพยภัยทั้งปวง ช่วยให้ผู้นับถือมีแรงบันดาลใจที่จะฮึดเอาชนะศัตรูเภทพาลจนวินาศสันตุ
องค์วัชรสัตวาโพธิสัตว์ ผู้เนรมิตาธิษฐานให้องค์เทพยักษามหาราคะวิทยาราชันได้อุบัติขึ้น องค์วัชรสัตว์ เป็นสัมโภคกายหรือฌานิกายของพระโพธิสัตว์สมันตภัทระ เกิดจากการเข้าฌานของพระโพธิสัตว์สมันตภัทระอีกทอดหนึ่ง (พระโพธิสัตว์สมันตภัทระถือเป็นสัมมาเทวดาชั้นสูงพระองค์หนึ่งบนสวรรค์ชั้นดุสิต)
ส่วนธนูและลูกศร หมายถึงการยิงจิตเสน่หาอันเป็นอาวุธแห่งราคะ อีกนัยหนึ่งก็หมายถึงการยิงน้ำกามออกไปให้ถึงจุดสุดยอดแห่งกามสุขทางเนื้อหนัง เมื่อกามสุขได้สงบลงแล้วก็สามารถเอาใจไปโฟกัสในธรรมได้(กามเหมือนของหวาน ทำให้ติด แถมกินมากๆก็เป็นเบาหวานตาย) หรืออีกนัยหนึ่งก็หมายถึงการตกหลุมรัก และการช่วยให้สำเร็จสมหวังในด้านของความรักและความปรารถนาทางเพศสัมพันธ์ โดยมีความปลอดภัย ไร้อุปสรรค ไม่ผิดศีล และไร้คน-ครหา-ติฉินนินทา เป็นธนูแห่งการห้ำหั่น คร่าอุปสรรคในชีวิตรักและชีวิตทางเพศนั่นเอง
ลักษณะขององค์พญายักษ์ ๓ ตา มหาราคะราช คือ มหาบุรุษอย่างหนึ่งในหมู่เทวดา มีเรือนกายกำยำล่ำสันสูงสง่าตามคตินิยมของมหาชน มี ๖ แขนบึกบึน ประดับประดาเรือนพระกายด้วยดอกไม้หอม ๓๘ ชนิด ชนิดละดอก ตามคติตะวันออก ได้แก่ ๑.ดอกมะลิ ๒.ดอกกุหลาบ ๓.ดอกดาวเรือง ๔.ดอกกระดังงา ๕.ดอกราตรี ๖.ดอกพุด ๗.ดอกโมกข์ ๘.ดอกสาละ ๙.ดอกพุทธรักษา ๑๐.ดอกทานตะวัน ๑๒.ดอกแก้ว ๑๓.ดอกบัวหลวง ๑๔.ดอกรัก ๑๕.ดอกประดู่ ๑๖.ดอกลีลาวดี ๑๗.ดอกคูณ ๑๘.ดอกงิ้ว ๑๙.ดอกกัลปพฤกษ์ ๒๐.ดอกซากุระ ๒๒.ดอกบ๊วย ๒๓.ดอกบานไม่รู้โรย ๒๔.ดอกโป๊ยเซียน ๒๕.ดอกอาจิไซ
๒๖.ดอกท้อ ๒๗.ดอกกล้วยไม้ ๒๘.ดอกปีบ ๒๙.ดอกเบญจมาศ ๓๐.ดอกเข็มอินเดีย ๓๑.ดอกชัยพฤกษ์ ๓๒.ดอกเข็มไทย ๓๓.ดอกทับทิม ๓๔.ดอกกรรณิการ์ ๓๕.ดอกดาวกระจาย ๓๖.ดอกปาริชาติ ๓๗.ดอกทองกวาว และสุดท้าย ๓๘.ดอกมหาพรหม(ราชินีและเทวี) ซึ่งดอกไม้ทั้ง ๓๘ ชนิดนั้นเป็นตัวแทนของหลักธรรม "สิริมงคล ๓๘ ประการ" ตามพระพุทธวจนะนั่นเอง
โดยดอกไม้แต่ละดอกจะประดับประดาอยู่ตามกรองศอ สังวาลย์ กรรเจียกจอน พาหุรัดและกำไลข้อมือข้อเท้าขององค์ราคราช ดอกไม้ในคติของโลกตะวันออก เป็นสื่อแทนของความรักอันหลากหลาย ทั้งรักแบบราคะ รักบริสุทธิ์ไม่หวังสิ่งใด รักหวงแหน และรักแบบเมตตากรุณา รวมไปถึงความรักเทิดทูนในพระธรรมคำสอน สามารถใช้ในความหมายทางโลกหรือทางธรรมก็ได้ เวลาเรารักใครเราก็ให้ดอกไม้ ให้ดอกกุหลาบกับคนรัก ให้ดอกมะลิกับแม่ ให้ดอกพุทธรักษากับพ่อ ถวายดอกดาวเรืองและดอกกล้วยไม้แด่พระพุทธ,พระสงฆ์และเทพ ถวายดอกบัวแด่พระพุทธ เป็นต้น
ดังนั้น ดอกไม้จึงถือเป็นตัวแทนของความมงคลทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้ นอกจากนี้ยังเป็นตัวแทนของความรักแบบลุ่มหลงกามราคะ และรักแบบเอื้ออาทรเกื้อกูลเมตตา รวมไปถึงสัญลักษณ์แห่งการปล่อยวางตามการร่วงโรยราของดอกไม้ที่เหี่ยวเฉาลง อันมีอีกนัยยะหนึ่ง คือความหลุดพ้นไปจากห้วงโอฆะสังสารวัฏอีกด้วย
องค์ราคะราชจึงนำดอกไม้ทั้ง ๓๘ ชนิดมาประดับประดาเรือนพระกายเพื่อให้สัตว์โลกเกิดความสงสัย เมื่อสงสัยก็เกิดคำถามว่าเหตุใดจึงประดับดอกไม้ถึงสามสิบแปดชนิดไปทั่วทั้งกายเช่นนั้น โดยองค์ราคะราชก็จะสอนหลักธรรม มงคลสามสิบแปด ให้แก่เวไนยสัตว์ทุกหมู่เหล่าได้สดับทำความเข้าใจ ตั้งแต่เข้าในเบื้องตื้น เบื้องกลาง และเบื้องลึก จนกระทั่งเข้าสู่การหลุดพ้นจากกิเลสมารทั้งหลายทั้งปวง
มงคล คือเหตุแห่งความสุข-ความก้าวหน้าในการดำเนินชีวิต ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ให้พุทธศาสนิกชนได้พึงปฏิบัติ นำมาจากบทมงคลสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสตอบปัญหาเทวดาที่ถามว่า คุณธรรมอันใดที่ทำให้ชีวิตประสบความเจริญหรือมี "มงคลชีวิต" ซึ่งมี ๓๘ ประการได้แก่
๑. การไม่คบคนพาล
๒. การคบบัณฑิต
๓. การบูชาบุคคลที่ควรบูชา
๔. การอยู่ในถิ่นอันสมควร
๕. เคยทำบุญมาก่อน
๖. การตั้งตนชอบ
๗. ความเป็นพหูสูต(เป็นผู้รู้เพราะตั้งใจฟังความ)
๘. การรอบรู้ในศิลปะ(มีความปราณีต)
๙. มีวินัยที่ดี
๑๐.กล่าววาจาอันเป็นสุภาษิต
๑๑.การทะนุบำรุงบิดามารดาและผู้ปกครอง(อย่างไม่เดือดร้อนตนและคนอื่น)
๑๒.การสงเคราะห์บุตร(อย่างไม่เดือดร้อนตนและคนอื่น)
๑๓.การสงเคราะห์ภรรยา(อย่างไม่เดือดร้อนตนและคนอื่น)
๑๔.ทำงานไม่ให้คั่งค้าง
๑๕.การให้ทาน(อย่างไม่เดือดร้อนตนและคนอื่น)
๑๖.การประพฤติธรรม
๑๗.การสงเคราะห์ญาติ(อย่างไม่เดือดร้อนตนและคนอื่น)
๑๘.ทำงานที่ไม่มีโทษ
๑๙.ละเว้นจากบาป
๒๐.สำรวมจากการดื่มน้ำเมา
๒๑.ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย
๒๒.เคารพคน
๒๓.มีความถ่อมตน
๒๔.มีความสันโดษ
๒๕.กตัญญูต่อคนที่ควรค่า
๒๖.ฟังธรรมตามกาล
๒๗.มีความอดทน
๒๘.เป็นผู้ว่าง่าย(ในเรื่องที่ดี,ในกุศล)
๒๙.การได้เห็นสมณะ(พระปฏิบัติดีชอบ)
๓๐.การสนทนาธรรมตามกาละเทศะ
๓๑.การบำเพ็ญตบะ(ถือศีลตามโอกาส)
๓๒.การประพฤติพรหมจรรย์(ไม่เสพกามในวันที่ไม่ควรเสพ เช่น วันพระ วันวิสาขะ เป็นต้น)
๓๓.การเห็นอริยสัจ-๔
๓๔.การทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน(ปล่อยวาง-เจริญภาวนา)
๓๕.มีจิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม(ปล่อยวาง-เจริญสติ-เข้าใจธรรมชาติที่แท้จริง-ไม่ให้โลกีย์มาลวงหลอกเอาได้)
๓๖.มีจิตไม่เศร้าโศกหมองหม่น
๓๗.มีจิตปราศจากกิเลส
๓๘.มีจิตเกษม(อิ่มใจในธรรมะ)
จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่าเหตุใดองค์ราคะราชถึงได้ประดับประดาพระวรกายด้วยดอกไม้ถึง ๓๘ ชนิด นั่นก็เพราะเพื่อการดึงดูดคนรักสวยรักงามผู้มีราคะจริตแรงกล้าให้เข้ามาสนใจและไถ่ถามนั่นเอง เมื่อไถ่ถามแล้วได้คำตอบเป็นมงคล ๓๘ ประการ ผู้มีราคะจริตกล้าผู้หนึ่งผู้นั้นก็จะน้อมนำมงคลสามสิบแปดไปฝึกปฏิบัติ จนสุดท้ายก็สามารถเข้าถึงแสงสว่างแห่ง "นัตถิ ปัญญา สมา อาภา" ได้ นั่นคือ การตื่นรู้ทางจิตวิญญาณนั่นเอง
กุศโลบายดังกล่าวขององค์ราคะราชจะครอบคลุมตั้งแต่การเป็นกำลังใจให้คนที่มีกามราคะแรงกล้าได้สนุกกับกามราคะตามความปรารถนาโดยไม่ไปผิดประเวณีสรรพสัตว์ใดๆในโลกหล้า เป็นที่มาว่าโสเภณีชาวละโว้-ขอม,ฮั่นโบราณ,มองโกลโบราณและจีน-เกาหลี-แมนจูโบราณที่นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน-วัชรยาน-มนตราตันตระมักจะขอพรกับเทพราคะราชให้ตัวเองขายดิบขายดีและไม่ติดโรคจากการร่วมประเวณี
ไปจนถึงการใช้ความสง่างามเลิศลักษณ์ที่ชวนให้เกิดกำหนัด อันเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของเทพเจ้าราคะราชที่ใช้ในการดึงดูดให้ผู้มีราคะกล้าหลงเข้ามาหาพระองค์ จากนั้นพระองค์ก็จะสอนธรรมให้โดยผ่านตัวแทนแห่งสายธารธรรมะ อย่างเช่นพระสงฆ์ในนิกายต่างๆ หรือนักสอนธรรมในนิกายต่างๆ เช่น ครูธรรมในศาสนาพุทธนิกายนวรา(พุทธแบบเนปาล) ซึ่งวิธีการตรงนี้ลึกลับซับซ้อนนิดหน่อย ทำให้ค่อนข้างเป็นเรื่องเข้าใจยากสำหรับปวงปุถุชนที่ยังติดอยู่ในวังวนกิเลสทุกขณะจิต บางคนอาจจะมองราคะราชไปในทาง อกุศล ว่าเป็นเทพลามก แต่จริงๆแล้ว ไม่ใช่เลย!
เทพราคะราช ในคติจินตะนิมิตจิตรกรรมล้ำสมัย มีลักษณะเป็นพญายักษ์วรกายสีแดงอมชมพูนุ่งกางเกงเตี่ยวหนังเสือหนังวาฬสุดแสนยั่วกำหนัด มีพระคุยหชาตขนาดใหญ่สื่อถึงการวนเวียนในวังราคะอันกล้าแข็ง โดยนัยสื่อถือความเร่าร้อนแห่งกามารมณ์และความรักแบบวาบหวามระหว่างเพศชายกับเพศชาย
ราคะราชเป็นตัวแทนของธรรมะหนึ่ง ธรรมะแปลว่าธรรมดา-ปกติธรรมดา-ปกติธรรมชาติ ซึ่งความปกติธรรมชาตินี้รวมไปถึงเรื่องการเสพสังวาสหรือเซ็กซ์ด้วย ในยุคหนึ่งที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยกามราคะทุกแห่งหน ทำให้เกิดการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น-รบราฆ่าฟัน มีโทสะ โมหะและโลภโมโทสันสนั่นบ้านสนั่นเมือง พระพุทธศาสนจักรจึงจำต้องปราบดาสัมมาเทวดาองค์นี้ขึ้นมาเพื่อกล่อมเกลาจิตใจผู้โลภโมโทสันอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะการจะไปดัดแปลงกมลสันดานที่เคยตื้นเขินกร้าวแข็ง ด้วยไม้แข็งที่ซื่อตรงเข้มงวดนั้น จะยิ่งมีแต่เสียกับเสีย
ด้วยความที่เป็นสัมมาเทพเจ้าที่มีความหล่อเหลางดงามเปี่ยมสเน่หา ตรงจริตผู้มีราคะกล้าอย่างบรรดาเพศกระแสหลักกลาง(เกย์) ทำให้ราคะราชได้รับนับถือเป็นเทพเจ้าแห่งชายรักชายของชาวเอเชียบูรพามาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวญี่ปุ่น ในยุคหนึ่งบทสวดธารณีมนต์ราคะราชถูกใช้โดยเหล่านักบวช(ชาย)ที่สามารถมีคู่(เป็นชาย)ได้(เพราะเขาไม่ใช่พระสงฆ์) ในการสวดบริกรรม(พระกัณฑ์,คันโจ)เพื่ออัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐานในโบสถ์วัดพุทธนิกายชินงงนั่นเอง
นอกจากนี้นักแสดงละครคาบุกิชายที่หลงรักเพื่อนนักแสดงชายด้วยกัน ก็มักจะไปยังวัดที่ชื่อ "วัดราคะราชาแห่งเมืองนานิวะ" เพื่อเขียนคำขอพรใส่กระดาษแล้วเอาไปวางไว้ใต้ฐานเทวรูปขององค์ราคะราชเพื่อขอให้องค์ราคะราชดลบันดาลให้ผู้ชายที่ตัวเองหลงรัก รักตัวเองตอบ นอกจากนี้ราคะราชยังเป็นราชาแห่งความงาม จนหญิงชายชาวญี่ปุ่นโบราณเที่ยวขอพรกับราคะราชเพราะหวังว่าตัวเองจะหน้าตาดีมีเสน่ห์เหนือผองชน ถึงกับมีภาษิตญี่ปุ่นโบราณ ใช้เหยียดคนหน้าตาไม่ดีว่า เป็นผู้ที่ถูกราคะราชทอดทิ้งกันเลยทีเดียว
นอกจากนี้ยังมีหนุ่มนักแสดงละครเวทีในสมัยโบราณของญี่ปุ่นในยุคอาชิคางะคนหนึ่งที่ได้ยกย่องชายคนรักของตนว่ารูปหล่อ,สง่างามราวกับเทพราคะราชจนน่าร่วมรักด้วยกันทั้งวันทั้งคืน
บางคติของญี่ปุ่นโบราณก็เตลิดไปไกลถึงขั้นเชื่อกันว่าหากซามูไรคนใดถวายร่างกายเพื่อเสพสมกับเทพราคะราช หรือ ร่างทรงราคะราชในลัทธิตันตระแผลงที่ออกแนวงมงายในเวทมนตร์คาถา ซามูไรคนนั้นก็จะหล่อเหลาขึ้นและอ่อนเยาว์ สุขภาพดีปึ๋งปั๋งตลอดไป และยิ่งถ้าเข้าพิธีชูโด คือการเสพสมรูทวารหนักซามูไรรุ่นน้องในวันถัดไป ก็จะทำให้ซามูไรในกลุ่มเดียวกันเรืองอำนาจเกรียงไกรอย่างไม่หยุดยั้ง
ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นความเชื่อที่ผิด เนื่องจาก จริงๆแล้วองค์ราคะราช (จอมเทวดา) ไม่สามารถให้พรใครได้ เพราะสรรพสัตว์แห่งโลก ย่อมเป็นไปตามกรรม องค์ราคะราชเป็นเพียงตัวแทนของเครื่องน้อมนำกล่อมเกลาจิตใจสัตว์โลกให้ค่อยๆคลายจากราคะอันรุนแรงแล้วนำไปสู่เส้นทางธรรมอันสว่างไสวเท่านั้น
องค์ราคะราชเป็นเทพในกลุ่มวิทยาราชาที่กำเนิดมาจากการพุทธาธิษฐานขององค์เทวา วัชรสัตวะโพธิสัตว์(金剛薩埵菩薩Kongosatta-bosatsu) ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์แห่งการเจือจางบาป(เพราะบาปไม่สามารถลบล้างได้) ผู้ตั้งพุทธปณิธานอันแรงกล้าในการปัดเป่าความทุกข์ทางใจให้กับผู้ที่กระทำความผิดบาปแล้วอยากกลับตัวกลับใจ อาทิเช่น พระที่ต้องอาบัติแล้วสำนึกผิด โจรที่สำนึกผิดจนอยากกลับตัวกลับใจหันมาถือศีลเจริญภาวนา เป็นต้น เพียงระลึกนึกถึงมหาเมตตาขององค์เทวาวัชรสัตว์ ความรู้สึกได้รับการให้อภัยก็จะแผ่ซ่านท่วมท้นในหัวใจของผู้ที่ระลึก
พุทธปณิธานแห่งโพธิญาณขององค์วัชรสัตว์นั้นเต็มไปด้วยเมตตาอย่างเหลือประมาณเฉกเช่นพระโคดมพุทธเจ้า องค์วัชรสัตว์ทรงเมตตาปรานีด้วยความเข้าใจไม่ว่าสัตว์นั้นจะหลงกามราคะถึงเพียงไหน ก็ยังทรงปฏิบัติต่อสัตว์นั้นด้วยความเข้าใจ ยินยอมให้สรรพสัตว์เสพกามคุณ ๕ อย่างเพลินใจ ขณะเดียวกันก็ทรงยื่นมือให้ความช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากดาบสองคมอย่างกามคุณและราคะ ความเมตตามหาศาลนั้นจึงก่อกำเนิดรูป(สัมโภคกาย)ขึ้นแบบโอปปาติกะ กลายเป็นเทพเจ้าราคะราชนั่นเอง
พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ ผู้มีร่างในฌานร่างหนึ่งเป็น “พระวัชรสัตว์” พระสมันตะภัทรโพธิสัตว์ทรงเสด็จไปยังโลกธาตุต่างๆในอนันตจักรวาลเพื่อโปรดสัตว์โดยขี่ช้างไอยราวรรณที่มีหกงาทอง บางคติจะถือว่าพระสมันตภัทรโพธิสัตว์เคยเกิดเป็นพระอินทร์ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาแล้วถึงสองจักรวาลก่อนหน้า ปัจจุบันพระองค์ทรงมีภูมิธรรมเป็นพระสกิทาคามีในสวรรค์ชั้นดุสิตนั่นเอง
โฆษณา